|
โลว์คอสต์แก้เกมต้นทุนพุ่งไม่เลิก ชูกลยุทธ์ใหม่หวังประทังชีวิตรอด
ผู้จัดการรายวัน(18 กรกฎาคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
โลว์คอสต์ ดิ้นสู้หลังภาวะราคาน้ำมันขึ้นไม่หยุด แตะ 80 ดอลล่าร์ต่อบาเรล แล้ว หันบริหารกระแสเงินสด เร่งกลยุทธ์ดึงเงินล่วงหน้าจากกระเป๋าลูกค้ามาใช้ก่อน แอร์เอเชียใช้หมัดเด็ด จัดงานแฟร์ จองตั๋วเครื่องบินราคาถูก ลดความเสี่ยงช่วงโลว์ซีซั่น การันตีมีลูกค้าแน่ๆกว่า 1.5 หมื่นที่นั่ง
กระแสโลว์คอสต์แอร์ไลน์ หรือสายการบินต้นทุนต่ำ ได้เกิดขึ้นในประเทศไทยเมื่อสองปีก่อน จากเดิมที่ธุรกิจนี้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูงมาแล้วในอเมริกา แต่การเกิดขึ้นของธุรกิจโลว์คอสต์ในเอเชีย และแม้แต่ในประเทศไทย ดูเหมือนจะไปได้สวยในช่วงแรก หลังจากที่ สายการบิน ไทยแอร์เอเชีย เข้ามาบุกเบิกนำร่องให้คนไทยได้รู้จักความหมายของสายการบินต้นทุนต่ำ แต่ปัจจุบันสายการบินต้นทุนต่ำกลับต้องมาประสบปัญหาเรื่องต้นทุนน้ำมัน ที่ปรับราคาขึ้นอย่างต่อเนื่องในระยะหนึ่งปีที่ผ่านมา
การปรับขึ้นของราคาน้ำมันส่งผลให้ต้นทุนการทำธุรกิจของสายการบินโลว์คอสต์พุ่งขึ้น20-30% และเป็นปัจจัยที่นอกเหนือการควบคุม ขณะเดียวกัน การย้ายสนามบินจากดอนเมืองไปอยู่ที่สนามบินสุวรรณภูมิ สิ่งที่สายการบินโลว์คอสต์จะต้องประสบอีก คือ ต้นทุนค่าเช่าพื้นที่ และค่าปฎิบัติการที่จะต้องจ่ายแพงกว่าที่สนามบินดอนเมืองอีกเช่นกัน
ดังนั้นเพื่อความอยู่รอดทางธุรกิจ รวมถึงการแสวงหาผลกำไรให้แก่ผู้ถือหุ้น สายการบินโลว์คอสต์จึงต้องมีวิธีบริหารจัดการที่อาจจะเหมือน หรือแตกต่างกันออกไปและแต่ยุทธวิธีของแต่ เปิด Ticket to Go ดึงเงินสดล่วงหน้า
โดยประธานกรรมการ บริษัท วัน ทู โก แอร์ไลน์ จำกัด และ บริษัท โอเรียนท์ ไทย แอร์ไลน์ นายอุดม ตันติประสงค์ชัย กล่าวว่า การบริหารกระแสเงินสดหมุนเวียน เป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ ที่จะนำมาใช้ เพื่อให้ธุรกิจเกิดสภาพคล่องเพิ่มมากขึ้น ล่าสุดจึงได้เปิดตัว Ticket to Go ตั๋วเครื่องบินสะดวกซื้อที่คล้ายกับบัตรเติมเงินโทรศัพท์ เพียงขูดรหัสหลังบัตรแล้วโทรเข้าไปจองที่นั่งก็สามารถเดินทางผ่านได้
โครงการนี้ได้ร่วมกับ 3 พันธมิตร ได้แก่ เซเว่น อีเลฟเว่น , เอ็ม-ชอป และ ไทย ทิกเก็ต มาสเตอร์ ให้เป็นช่องทางการจำหน่ายตั๋วใหม่ให้ลูกค้าสะดวก รวดเร็ว และเป็นการประหยัดเวลาในการสั่งจองทางโทรศัพท์หรือการออกไปซื้อที่เคาร์เตอร์ ทั้งนี้ยังจัดโปรโมชั่นซื้อครบ 10 ใบ แลกฟรี 1 ใบ
“โครงการนี้ จะเป็นบริการที่เพิ่มความสะดวกให้แก่ลูกค้า และยังเหมาะกับผู้ที่เดินทางเป็นประจำ ซึ่งบริษัทเชื่อว่า บริการนี้จะช่วยเพิ่มยอดจองตั๋วล่วงหน้าได้อีกเท่าตัว จากปัจจุบันยอดจองตั๋วล่วงหน้าของ วัน ทู โก อยู่ที่ 3 หมื่นที่นั่งก็จะเพิ่มเป็นไม่ต่ำกว่า 6 หมื่นที่นั่ง ซึ่งบริษัทสามารถนำเงินสดจากยอดจองตั๋วที่เพิ่มขึ้นไปใช้บริหารจัดการ หรือเป็นหลักประกันทางธุรกิจ”
นอกจากนี้วันทูโกยังจะเน้นการเพิ่มช่องทางการขาย ให้หลากหลาย เข้าตรงถึงมือผู้บริโภคในทุกเซกเมนต์ เช่น บัตร One to go for University ซึ่งเป็นบัตรที่ตอบสนองความต้องการขององค์กรทางการศึกษาที่สามารถเลือกเดินทางได้เป็นหมู่คณะและมีตราสัญลักษณ์ของสถาบันประทับอยู่ในบัตรเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว รวมถึงบัตร ATM Card ที่สามารถจัดการซื้อตั๋วผ่านเอทีเอ็มได้ทุกแห่ง
จัดงานแฟร์ลดความเสี่ยงเพิ่มยอดตั๋วจอง
ทางด้านสายการบินไทยแอร์เอเชีย ซึ่งมีนโยบายชัดเจนในเรื่องของการใช้กลยุทธ์ด้านราคา เป็นจุดขายและดึงดูดลูกค้าให้เข้ามาใช้บริการ ล่าสุดเมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา สายการบินไทยแอร์เอเชีย ได้จัดงานแฟร์ “Thai Air Asia Travel Fair” ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในธุรกิจสายการบินที่จัดงานแฟร์ขึ้นเป็นของตัวเอง และแน่นอน ไทยแอร์เอเชีย ได้นำกลยุทธ์ตั๋วเครื่องบินราคา 9 บาทมาเป็นจุดขาย ดึงความสนใจให้ลูกค้าเข้ามาร่วมงาน
ภายหลังจากงานดังกล่าว นายทัศพล แบแลเว็ลด์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบิน ไทยแอร์เอเชีย กล่าวว่า ผลตอบรับจากการจัดงานดีมาก มีลูกค้าเข้ามาจองตั๋วเครื่องบินภายในงานจำนวนมาก ส่งผลให้ในระยะ 3-4 เดือน จากนี้ไป สายการบินไทยแอร์เอเชีย มียอดลูกค้าจองตั๋วเครื่องบินล่วงหน้ามากถึง 1.5 หมื่นที่นั่ง ซึ่งถือว่าการเดินกลยุทธ์นี้นอกจาก ช่วยให้ ไทยแอร์เอเชีย มีเงินสดหมุนเวียนเพิ่มขึ้นแล้ว ยังเป็นกลยุทธ์ที่ช่วยแก้ปัญหาช่วงโลว์ซีซั่นได้เป็นอย่างดี
ผนึกบัตรเครดิตเปิดบริการใหม่
สำหรับสายการบินนกแอร์ ซึ่งแม้จะไม่มีแคมเปญแปลกใหม่ออกมาในช่วงนี้ แต่นกแอร์ได้ให้ความสำคัญด้านบริการ เช่น การจับมือเป็นพันธมิตรกับ บัตรเครดิตธนาคารไทยพาณิชย์ , บริการนกเอ็กซ์เพรส PDA ช่วยลูกค้าเช็คอินได้รวดเร็วในเวลาเร่งด่วน , บริการระบุที่นั่งได้เมื่อมีการจองตั๋ว และ บริการเทเลโฟนเช็คอิน โดยจุดประสงค์ เพื่อหวังสร้างแบรนด์รอยัลตี้ให้เกิดกับลูกค้าที่ต้องเดินทางด้วยสายการบินเป็นประจำ ซึ่งในสถานการณ์ของการแข่งขันในธุรกิจสายการบินที่รุนแรง เช่นปัจจุบัน การรักษาฐานลูกค้าเก่า และขยายฐานลูกค้าใหม่ เป็นอีกหนึ่งหัวใจหลักของการดำเนินงานในทุกธุรกิจ นกแอร์จึงเล็งเห็นแล้วว่าการให้บริการที่ดีย่อมเกิดการบอกต่อ หรือกลยุทธ์ Word of Mouth
อย่างไรก็ตาม การแข่งขันในธุรกิจสายการบินโลว์คอสต์ ยังไม่ได้หมายความว่าตลาดจะโอเวอร์ซัพพลาย เพราะยังมีอีกหลายเดสสิเนชั่นที่ยังมีความต้องการใช้บริการสายการบิน เนื่องจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และการลงทุน ทำให้การเดินทางเพื่อธุรกิจ และท่องเที่ยวขยายตัวไปพร้อมๆกัน แต่การเปิดเส้นทางใหม่ๆของแต่ละบริษัท ต้องก้าวอย่างมั่นคง และ มีการสำรวจตลาดอย่างแน่ชัดถึงดีมานด์ เพราะในภาวะต้นทุนน้ำมันและค่าปฎิบัติการที่สูง ย่อมหมายความว่า ในทุกเที่ยวบินต้องมีผลกำไร หรือขาดทุนให้น้อยที่สุด
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|