|
โบรกเกอร์เล็กดิ้นเพื่ออยู่รอดเหตุภาวะซบหวั่นรายได้หด
ผู้จัดการรายวัน(17 กรกฎาคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
โบรกฯเล็กมาร์เกตแชร์ต่ำกว่า 1% ดิ้นปรับตัวในภาวะตลาดหุ้นซบเซา "ช่วงชัย" ชี้ธุรกิจหลักทรัพย์ต้องดูระยะยาว ระบุแม้ระยะสั้นรายได้จะหดแต่ในอนาคตจะดีขึ้น ยังตั้งเป้ามาร์เกตแชร์ปีนี้ 2% ขณะที่บล.กสิกรไทย เน้นขายสินค้าประเภทอื่นๆ เอื้อบริษัทในเครือมั่นใจธุรกิจโตต่อเนื่องเหตุมีฐานลูกค้าจากแบงก์แม่
สถานการณ์ในการแย่งชิงส่วนแบ่งการตลาด หรือ มาร์เกตแชร์ ของอุตสาหกรรมต่างชาติโดยเฉพาะบริษัทหลักทรัพย์ในภาวะที่ภาคการลงทุนในตลาดหุ้นไม่ได้อยู่ในช่วงที่นักลงทุนให้ความสนใจจะเข้ามาลงทุน ในทางกลับกันนักลงทุนกลับลดพอร์ตการลงทุนในสถานการณ์ที่ยังเต็มไปด้วยปัจจัยลบ ทั้งเรื่องภายในและต่างประเทศ โดยในเรื่องดังกล่าวทำให้บริษัทหลักทรัพย์ขนาดเล็กจะต้องเร่งปรับแผนกลยุทธเพื่อเป็นการรับมือในสภาวะการเช่นนี้
ทั้งนี้ ในช่วงตั้งแต่ 3 เมษายน-13 กรกฏาคม 2549 พบว่าบริษัทหลักทรัพย์ที่มีมาร์เกตแชร์ต่ำกว่า 1% มีจำนวน 9 บริษัท ประกอบด้วย บล.ไซรัส หรือ SYRUS มาร์เกตแชร์ 0.93%,บล.ไอ วี โกลบอล หรือ IVG มาร์เกตแชร์ 0.91%,บล.ยูไนเต็ด หรือ US มาร์เกตแชร์ 0.90%, บล.ฟินันซ่า หรือ FINANSA มาร์เกตแชร์ 0.76%, บล.ทีเอสอีซี หรือ TSEC มาร์เกตแชร์ 0.63%, บล.นครหลวงไทยหรือ SCIBS มาร์เกตแชร์ 0.54%, บล.กสิกรไทย หรือ KSEC มาร์เกตแชร์ 0.52%,บล.พรูเด้นท์ สยาม หรือ PSS มาร์เกตแชร์ 0.34%, บล.เมอร์ชั่น พาร์ทเนอร์ หรือ MERCHANT มาร์เกตแชร์ 0.13%
นายช่วงชัย นะวงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย ์ ฟินันซ่า จำกัด กล่าวว่า การปรับตัวของบริษัทหลักทรัพย์ขนาดเล็กในช่วงที่มูลค่าการซื้อขายปรับตัวลดลงค่อนข้างมากทุกแห่งจะต้องเร่งบริหารจัดการกับต้นทุนของบริษัทเพื่อเป็นการประหยัดค่าใช้จ่าย ซึ่งแม้ว่าในช่วงที่มูลค่าการซื้อขายลดลงจะส่งผลกระทบต่อรายได้ และอาจจะทำให้บริษัทหลักทรัพย์ต้องขาดทุนบ้างแต่ในธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ก็ยังต้องดำเนินต่อไปเนื่องจากธุรกิจนี้จะมีรอบที่นักลงทุนสนใจและหยุดพักเป็นรอบๆ
ทั้งนี้แม้ว่ามูลค่าการซื้อขายจะปรับตัวลดลงในช่วงที่ผ่านมา แต่เจ้าหน้าที่การตลาดหรือเจ้าหน้าที่มาร์เกตติ้งที่เพิ่งย้ายเข้ามาทำงานกับบริษัทจำนวนกว่า 100 คนยังสามารถทำงานจนทำให้อันดับมาร์เกตแชร์ของบริษัทปรับตัวขึ้น โดยบริษัทหวังว่าในปีนี้มาร์เกตแชร์ของบริษัทจะปรับขึ้นไปในระดับที่ตั้งเป้าไว้ที่ระดับ 2% ได้
นอกจากนี้บริษัทเตรียมที่จะศึกษาแผนงานเพิ่มเติมเพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพในการดำเนินธุรกิจ แต่จะต้องรอจังหวะที่ภาวะตลาดหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นก่อน
"การทำธุรกิจโบรกเกอร์จะต้องดูกันระยะยาว เพราะมันมีรอบของมันที่มูลค่าการซื้อขายอาจจะปรับตัวลดลง ตอนนี้เรามีการเพิ่มสาขาที่โอนมาจากบล.โกลเบล็กจำนวน 12 สาขา สาขาที่เปิดใหม่อีก 2 บริษัทและสาขาที่มีอยู่เดิมอีก 1 แห่ง"นายช่วงชัยกล่าว
นายรพี สุจริตกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัดกล่าวว่า แม้ว่าโบรกเกอร์จะได้รับผลกระทบจากมูลค่าการซื้อขายที่ลดลง แต่การปรับตัวของบล.กสิกรไทยจะเน้นในการเสนอขายสินค้าในประเภทอื่นให้กับลูกค้า เช่น การเสนอขายกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) หรือตราสารประเภทอื่นๆ เนื่องจากบริษัทในกลุ่มทั้งบริษัทหลักทรัพยจัดการกองทุน และธนาคารยังมีสินค้าประเภทอื่นที่รองรับให้ลูกค้าได้เลือกลงทุน
ทั้งนี้ในช่วงที่ผ่านมามาร์เกตแชร์ของบริษัทปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะส่วนหนึ่งบริษัทมีฐานลูกค้าที่ชัดเจนเนื่องจากจำนวนลูกค้าของธนาคารมีจำนวนมาก ประกอบกับบริษัทเริ่มมีลูกค้าประเภทสถาบันมากขึ้น
"เราไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงในภาวะที่ตลาดหุ้นซบเซา เพราะเรามีบริษัทในกลุ่มที่มีสินค้าและการให้บริการที่ครบวงจรทำให้เจ้าหน้าที่สามารถแนะนำลูกค้าเพื่อไปลงทุนในสินค้าประเภทอื่นๆได้ แม้ว่ารายได้จะไม่ได้เข้ามาที่บริษัทหลักทรัพย์โดยตรง อย่างไรก็ตามรายได้ของบริษัทก็ยังอยู่ในกลุ่ม"นายรพีกล่าว
นอกจากนี้ บริษัทอยู่ระหว่างการเตรียมยื่นเพื่อเป็นสมาชิกกับตลาดอนุพันธ์ เพื่อดำเนินธุรกิจซื้อขายตราสารประเภทอนุพันธ์ซึ่งถือว่าเป็นอีกช่องทางที่นักลงทุนจะสามารถเลือกลงทุนได้
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|