เปิดทางต่างชาติฮุบแบงก์ให้สิทธิ์กองทุนฟื้นฟูฯเต็มที่-ถือได้49%


ผู้จัดการรายวัน(17 กรกฎาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

คลังเปิดไฟเขียวกองทุนฟื้นฟูฯ ขายหุ้นแบงก์พาณิชย์ให้ต่างชาติ แต่ต้องได้ราคาที่กองทุนฟื้นฟูฯ ไม่ขาดทุน พร้อมเสนอพรบ.สถาบันการเงินเข้าสู่สภาชุดใหม่เพื่อลงมติเปิดทางต่างชาติ ขณะที่ร่างพรบ.ฉบับเก่าถูกตีกลับ เพราะไม่ได้กำหนดส่วนต่างดอกเบี้ย ด้านแบงก์ชาติเชื่อฐานะแบงก์พาณิชย์ปัจจุบันแข็งแกร่งมีการบริหารความเสี่ยงที่ดี ระบุการขึ้นดอกเบี้ยพิจารณาทั้งเรื่องเงินเฟ้อ และภาวะการลงทุน

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้มีนักลงทุนต่างประเทศให้ความสนใจ ที่จะเข้ามาซื้อหุ้น ธนาคารพาณิชย์ของไทย ทั้ง ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (KTB) ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) (TMB) ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) (SCIB) และธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) (SCB) หลังจากล่าสุด กลุ่มจีอี แคปปิตอล ให้ความสนใจเข้ามาซื้อหุ้น ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) BAY อย่างไรก็ตาม ในส่วนของธนาคารที่กองทุนฟื้นฟูฯถือหุ้นอยู่ คงขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ว่าราคาขายหุ้นเหมาะสมหรือไม่ เพื่อไม่ให้กองทุนฟื้นฟูฯต้องรับภาระขาดทุนอีก

"การเจรจาซื้อขายหุ้นในแบงก์พาณิชย์ ที่กองทุนฟื้นฟูฯ ถืออยู่ ไม่จำเป็นต้องมาขออนุญาตกระทรวงการคลัง เพราะในฐานะผู้ถือหุ้น สามารถเจรจาซื้อขายหุ้นกันได้เอง แต่การเจรจาต้องได้ราคาที่กองทุนฟื้นฟูฯ ไม่ขาดทุนด้วย เพื่อให้มีภาระความเสียหายมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน"แหล่งข่าวกล่าว

ปัจจุบันสัดส่วนการเข้ามาถือหุ้นของต่างชาติในธนาคารพาณิชย์ ได้กำหนดให้ ต่างชาติเข้ามาถือหุ้น รวมกันได้ไม่เกิน 25% ของทุนจดทะเบียน แต่กรณี ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ที่กลุ่มจีอี เข้ามาถือหุ้นเกิน 25% สามารถทำได้ โดยจะต้องยื่นเรื่องขออนุมัติจากกระทรวงการคลัง โดยอาศัยอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แต่ทั้งนี้ การเข้ามาถือหุ้นของต่างชาติเกิน 25% จะมีกำหนดเวลาการลดสัดส่วนการถือหุ้นลงให้อยู่ตามเกณฑ์ที่กำหนดด้วย เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการครอบงำกิจการของกลุ่มทุนต่างชาติ

อย่างไรก็ตาม การแก้ไขกฎหมายเพื่อเปิดโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาถือหุ้นในธนาคารพาณิชย์ได้ถึง 49% นั้น สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) อยู่ระหว่างการศึกษาแนวทางดำเนินการที่เหมาะสมร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ส่วนเวลาของการนำมาใช้นั้นขึ้นอยู่กับความเหมาะสม และความพร้อมของธนาคารพาณิชย์ไทย ที่มีความแข็งแกร่งมากพอเพื่อรองรับการแข่งขันการเปิดเสรีการเงินหรือไม่ ขณะเดียวกัน ยอมรับว่ากระทรวงการคลังมีความพร้อมในการเสนอ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สถาบันการเงิน ฉบับใหม่ ต่อรัฐบาลชุดใหม่ที่เข้ามาบริหารประเทศ

ซึ่งภายหลังจาก พ.ร.บ. ธุรกิจสถาบันการเงิน ฉบับเดิม ไม่ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งได้ตั้งข้อสังเกตการแก้ไขกฎหมายในหลายประเด็น เช่น กรณีการกำหนดส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝาก (Spread) ไว้ในกฎหมาย โดยกระทรวงการคลัง ยังยืนยันที่จะไม่กำหนด ตัวเลขชัดเจนไว้ในกฎหมาย แต่ได้เปิดช่องให้ ธปท. ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแลเรื่องดังกล่าว เป็นการเฉพาะ และให้กำหนดสเปรด เป็นรายปีแทน ทั้งนี้เพื่อความเหมาะสมมากที่สุด

ธปท.เชื่อฐานะแบงก์แข็งแกร่ง

นางธาริษา วัฒนเกส รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่า การตั้งเป้าหมายสินเชื่อของสถาบันการเงินต่างๆ ควรให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจที่เป็นจริง และหากดูเศรษฐกิจโดยรวมของไทยในขณะนี้ยังไม่ได้มีปัญหาอะไรมาก ประกอบกับในปัจจุบันนี้ธนาคารพาณิชย์ก็มีความระมัดระวังมากขึ้นในการปล่อยสินเชื่อ ขณะเดียวกันผู้กู้เองก็มีวางแผนตั้งรับกับการลงทุนในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มขาขึ้นด้วย จึงไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัวอะไร ดังนั้นโครงการลงทุนที่ดีๆ ถือเป็นการสร้างรายได้ แต่ต้องมีการวางแผนการชำระดอกเบี้ยที่ดีประกอบด้วย

โดยในปัจจุบันนี้ฐานะธนาคารพาณิชย์เริ่มมีความแข่งแกร่งมากขึ้น รวมทั้งมีการบริหารจัดการความเสี่ยงที่ดี ขณะที่บุคลากรที่รับตำแหน่งกรรมการของธนาคารพาณิชย์เองไม่เหมือนกับในอดีตที่ผ่านมาที่ทำหน้าที่เพียงรับตำแหน่งแค่การนั่งเก้าอี้อย่างเดียว แต่ขณะนี้ก็มีการทำหน้าที่กำกับดูแลและวางแผนกลยุทธ์ในการทำธุรกิจให้สอดคล้องกับความเสี่ยงในปัจจุบัน ทำให้ภาคสถาบันการเงินก็เริ่มมีการดูแลตัวเองได้แล้ว ไม่ค่อยน่าเป็นห่วงมากนักและเชื่อว่าในอนาคตธุรกิจของธนาคารพาณิชย์จะเติบโตมากขึ้นด้วย

ขณะเดียวกันสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ (นอนแบงก์) แม้ไม่ได้รับเงินฝากจะประชาชน และนำเงินของเขาเองมาดำเนินธุรกิจเอง แต่ธปท.ก็ต้องมีการกำกับดูแลการดำเนินธุรกิจของนอนแบงก์เหล่านั้นไม่ให้กระทบต่อลูกค้าทั้งในเรื่องอัตราดอกเบี้ย เงื่อนไขต่างๆ ในสัญญาให้เกิดความเป็นธรรมต่อลูกค้าและตัวธุรกิจเอง

"แม้เราจะมีนโยบายปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อชะลอเงินเฟ้อ และอาจทำให้ธุรกรรมของธุรกิจในระบบหดตัวบ้าง แต่โดยรวมแล้ว ต้องพยายามดูทั้งผลกระทบและผลประโยชน์ที่มีต่อภาวะที่อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นด้วย จึงจำเป็นต้องให้น้ำหนักในเรื่องการดูแลทั้งสองเรื่องควบคู่กันไป"นางธาริษา กล่าว

นางธาริษา กล่าวว่า สถาบันการเงินที่ต้องการยกระดับก็มีการเตรียมความพร้อมทั้งแง่ธุรกิจเองและตัวองค์กรเอง แม้ในระยะสั้นจะต้องมีการปรับตัวเรื่องการทำงานที่หนักหน่อย แต่เชื่อว่าในอนาคตจะเป็นสถาบันการเงินที่แข่งแกร่งต่อไปได้ เห็นได้จากบริษัทเงินทุนบางแห่งที่ต้องการยกระดับเป็นธนาคารพาณิชย์เพื่อรายย่อย เดิมทีก็มีฐานที่แข่งแกร่ง เมื่อยกระดับขึ้นก็ยิ่งส่งผลดีต่อสถาบันการเงินนั้นๆ ทั้งแง่การทำธุรกรรมที่เพิ่มมากขึ้นและเครือข่ายสาขาที่รองรับการทำธุรกรรมต่างๆ มากขึ้นด้วย

สำหรับกรณีที่บริษัทขนาดใหญ่ของภาคธุรกิจที่มีการหาแหล่งเงินกู้จากต่างประเทศ ธปท.มีการดูแลภาระหนี้อย่างใกล้ชิดอยู่แล้ว และจากปัญหาในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ก็ถือเป็นบทเรียนที่ดีให้แก่ภาคธุรกิจต่างๆ ในการดำเนินธุรกิจ ดังนั้นสิ่งที่สำคัญผู้กู้ก็ต้องดูแลตัวเองในเรื่องการบริหารความเสี่ยงที่ดีในภาวะที่ค่าเงินที่เปลี่ยนไปอาจทำให้ภาระต่างๆ เปลี่ยนแปลงไปด้วย สิ่งเหล่านี้หากมีการบริหารจัดการที่ดีก็ไม่ใช่เป็นสิ่งที่น่าห่วงในการดำเนินธุรกิจ ถือเป็นการพัฒนาบริษัทให้ดีมากขึ้น ส่วนบริษัทต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย ธปท.ก็มีการติดตามอย่างใกล้ชิดเช่นกัน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมภายใต้การดำเนินธุรกิจในประเทศไทย


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.