|

กลยุทธ์ 6ซี+3เอ ดัน "อีเอ็มซี" ขึ้นที่สอง
ผู้จัดการรายสัปดาห์(17 กรกฎาคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
อีเอ็มซีเผยความสำเร็จปี 45 เป็นผลมาจากการปรับกลุยทธ์ "6ซี 3เอ" ส่งผลให้ก้าวเบอร์สองตลาดระบบสำรองข้อมูลมูลค่า 2.2 พันล้านบาทภายใน 1 ปี ชี้โทรคมนาคม และการเงินธนาคารตลาดหลัก ระบุตลาดเฮลธ์แคร์มาแรง พร้อมบอก การเพิ่มข้อมูลและความสำคัญจัดการข้อมูล ปัจจัยหนุนตลาดโต
ดร.ธัชพล โปษยานนท์ ผู้จัดการทั่วไปประจำประเทศไทย บริษัท อีเอ็มซี จำกัดกล่าวว่า อีเอ็มซี แต่เดิมเป็นบริษัทผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ฮาร์ดแวร์ แต่ได้ปรับเปลี่ยนธุรกิจมาสู่การคิดค้นระบบซอฟต์แวร์เกี่ยวกับโซลูชั่นเพื่อการจัดการด้านข้อมูลขององค์กรขนาดใหญ่จนถึงองค์กรขนาดเล็กและทั้งภาครัฐและเอกชน โดยใช้เป็นเครื่องมือในการจัดการข้อมูลในองค์กรให้เป็นระบบ และสามารถนำมาใช้ได้สะดวก
"หลังจากที่อีเอ็มซ๊ได้ปรับเปลี่ยนนโยบายและการทำตลาดจากเดิมที่เน้นผลิตภัณฑ์ฮาร์ดแวร์อย่างเดียวมาสู่ผู้ให้บริการแบบครบวงจร ที่นำเสนอฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์และโซลูชั่นพร้อมการบริการไปพร้อมกัน ส่งผลให้อีเอ็มซี เติบโตขึ้นอย่างมากจากตัวเลขของไอดีซีระบุว่า มูลค่าของระบบสำรองข้อมูลภายนอกเมื่อปีที่แล้วมีประมาณ 55.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือ 2.2 พันล้านบาท อีเอ็มซีมีส่วนแบ่งตลาด 22.3 % รองจากไอบีเอ็มที่มีส่วนแบ่ง 29% แต่อีเอ็มซีก็สามารถก้าวขึ้นมาเป็นเบอร์ 2 ได้ จากเดิมที่อยู่ในอันดับ 4 ของปีที่แล้วภายในระยะเวลาเพียง 1 ปี โดยชิงส่วนแบ่งจากเอชพีและซัน"
เมื่อมองถึงมูลค่าตลาดซอฟต์แวร์สตอเรจเมื่อปีที่แล้วอยู่ที่ 16 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือประมาณ 640 ล้านบาท ซึ่งอีเอ็มซีมีส่วนแบ่งมากที่สุด 26% รองลงมาคือ ไซแมนเทคและเอชพีตามลำดับ ซึ่งก็เป็นไปตามตลาดโลกเช่นกัน โดยอีเอ็มซีเป็นเบอร์หนึ่งในตลาดดังกล่าว
สำหรับตลาดไอทีโดยรวมของปีนี้ ดร.ธัชพลบอกว่า คาดว่าจะโตอยู่ที่ 7-8% ส่วนตลาดสตอเรจปีนี้โตขึ้น 12% จากปีที่แล้ว และหากอีเอ็มซีสามารถสร้างยอดขายเพิ่มขึ้น 300% ในทุกไตรมาส แน่นอนว่าตำแหน่งเบอร์หนึ่งในตลาดแทนที่ไอบีเอ็มคงไม่ไกลเกินเอื้อม หลังจากที่ปีนี้อีเอ็มซีมีลูกค้าใหม่ถึง 42 ราย อย่างไรก็ตาม อีเอ็มซีได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่าภายในสิ้นปี 50 จะเป็นอันดับ 1 ของประเทศไทย
กลยุทธ์ที่ทำให้ อีเอ็มซีประสบความสำเร็จอย่างแท้จริงภายในระยะเวลา 1 ปีคือ กลยุทย์ 6 ซี นอกเหนือจากแนวคิดไอแอลเอ็ม ที่อีเอ็มซีมุ่งเน้นมานาน แต่ปีนี้และปีต่อไปอีเอ็มซี ปูพรมด้วยกลยุทย์ 6 ซี และ 3 เอหรือแอปพลิเคชั่น ประกอบไปด้วย ไมโครซอฟท์ ออราเคิล และเอสเอพีที่ไปพร้อมกับไอแอลเอ็ม เพื่อเจาะหาลูกค้าองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ ทั้งสถาบันการเงิน โทรคมนาคม อุตสาหกรรมการผลิต รวมไปถึงกลุ่มตลาดใหม่ๆ ที่กำลังมาแรง คือ การเงินการธนาคาร, โรงพยาบาล และอุตสาหกรรมการผลิต เป็นต้น
สำหรับกลยุทย์ 6 ซี ที่ทำให้อีเอ็มซีประสบความสำเร็จอย่างเกินคาด ดร.ธัชพลอธิบายว่า ซีตัวที่ 1 คลาสสิฟิเคชั่นหรือการจำแนกระบบและข้อมูลตามความสำคัญ การจัดการข้อมูลเข้ามาช่วยลูกค้า ซึ่งตรงนี้ เซเว่นอีเลฟเว่น ได้คลาสสิฟายด์ ข้อมูลตั้งแต่ระบบพีโอเอสหรือสมาร์ทการ์ดไปจนถึงแบ็กออฟฟิศ แบ่งเป็นชั้นๆ จัดเป็นระเบียบเหมือนจัดห้องสมุดให้เรียบร้อยซึ่งเป็นบิสซิเนส ชาลเลนจ์ของเซเว่นอีเลฟ เว่นเพื่อการจัดระเบียบของสินค้าให้ถูกตามความต้องการ
ซีตัวที่ 2 คอนโซริเดต เป็นเรื่องของการผนวกรวม ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของเซิร์ฟเวอร์กับอุปกรณ์จัดเก็บและสำรองข้อมูลหรือสตอเรจเพื่อประโยชน์ในการใช้ทรัพยากรรวมกัน ทำให้ใช้ทรัพยากรได้เต็มประสิทธิภาพ และเพิ่มความง่ายในการจัดการ นอกจากนี้ ผนวกรวมสองอุปกรณ์เข้าด้วยกันยังเป็นพื้นฐานในการจัดการข้อมูลในขั้นต่อไป
"โปรเจ็กที่อีเอ็มซีเพิ่งปิดไปของ ธนาคารทหารไทย ก็ใช้ระบบโอเฟ่น แอปพลิเคชั่นที่ศูนย์เดียวกัน เช่นระบบฝาก-ถอนเงิน เมื่อ นำมารวมศูนย์กันจะแชร์กันใช้ได้มากขึ้น"
ซีตัวที่ 3 คอนทินิวลิตี้ เป็นการทำธุรกิจแบบต่อเนื่อง โดยไม่ต้องหยุดหรือได้รับผลกระทบ ไม่ว่าจากกรณีฮาร์ดแวร์ล่ม โดยการใช้เทคโนโลยีการสำรองข้อมูลแบบการเชื่อมต่อผ่านเครือข่าย ซึ่งปัจจุบันการไฟฟ้านครหลวง ใช้อยู่สอดคล้องกับ KPI ในแง่ของความเสี่ยง ณ ปัจจุบันตลาดโซลูชันของอีเอ็มซี เป็นผู้พัฒนาโซลูชั่น
"ทรูเวิลด์ ได้นำเทคโนโลยีและโซลูชั่นของอีเอ็มซีไปจัดการคอนเทนต์ต่างๆ อาทิเช่น ทรูมูฟวี่ ทรูคอนเทนต์ ทรูเอนเตอร์เทนเมนต์ ทรูมิวสิค ซึ่งทรูจะซื้อตัวฮาร์ดแวร์ของอีเอ็มซีและนำไปจัดการในเรื่องของคอนเทนต์เอง"
ซีตัวที่ 4 คอมไพลแอนซ์หรือการจัดการระบบให้ตามกฎระเบียบข้อบังคับตามมาตรฐานสากลต่างๆ เช่น Sarbanes Oxley ซึ่งเป็นข้อกำหนดให้บริษัทมหาชนที่มีหุ้นกระจายอยู่ในตลาดหลักทรัพย์จะต้องจัดเก็บข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมอันก่อให้เกิดรายรับ และรายจ่ายซึ่งจำเป็นกับการตรวจสอบโดยรวมถึงข้อมูลของระบบอีเมล์ไว้ไม่น้อยกว่า 7 ปี ปัจจุบันซึ่ง เอไอเอสใช้ระบบนี้ ในการเก็บบิลโทรศัพท์ตั้งแต่คอลล์ ดีเทล คอลล์ เรคคอร์ดตั้งแต่โทรจนวาง โทรถี่ โทรนาน เพื่อเอาไปคำนวณบิล ซึ่งการเก็บแค่นี้ไม่เพียงพอ
ซีตัวที่ 5 แบ็กอัพ ริคัฟเวอรี่เป็นโซลูชั่นในการสำรองข้อมูลทั้งในส่วนของซอฟต์แวร์ แบ็กอัพ รวมไปถึงฮาร์ดแวร์ที่ใช้สำรองข้อมูลทั้งดิสก์และเทป นอกจากนั้นยังมีระบบการสืบค้นข้อมูลที่มาช่วยถ่ายโอนข้อมูลและลดระยะเวลาในการแบ็กอัพ หรือเรียกคืน ซึ่งจะเป็นการเปิดทั้งไซด์ ไลเซนส์ ทั้งองค์กร
"ดีแทคใช้ระบบแบ็กอัพ รีคัฟเวอรี่และอาร์ไคฟ์ เป็นกระบวนการลดต้นทุนมโหฬารของดีแทค และการบินไทยก็ได้ใช้โซลูชั่นสำหรับการเก็บไฟล์ระยะยาวซึ่งรองรับการจัดเก็บและสืบค้นข้อมูลระยะยาว โดยติดตั้งระบบกู้คืนข้อมูลภายในดาต้าเซ็นเตอร์ที่สำนักงานใหญ่และที่สนามบินสุวรรณภูมิ สำหรับการทำสำเนาข้อมูลระยะไกล เพื่อให้ข้อมูลพร้อมใช้งานอยู่ตลอดเวลาและเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยง
สุดท้าย ซีตัวที่ 6 คอนเทนต์ เมเนจเมนต์ ดร.ธัชพลบอกว่า เป็นระบบบริหารจัดการข้อมูลในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือทำข้อมูลให้อยู่ในระบบดิจิตอล รวมไปถึงการจัดเก็บ การสืบค้นและการทำเอกสารและนำเสนองาน ซึ่งทางมิซซูบิชิมอเตอร์ได้ทำเรื่องไอเอสโอ 9000 สินค้าที่ส่งออกจะมีการทำทัณฑ์บน กระบวนการมีระเบียบข้อบังคับหลากหลายมาก เพื่อรองรับความต้องการของผู้ใช้ภายในองค์กรและคู่ค้า รวมถึงการจัดการเวิร์กโฟลว์ โดยจะช่วยให้บริษัทสามารถปฏิบัติตามกฎระเบียบว่าด้วยการจัดการบันทึกข้อมูลได้อย่างครบถ้วน ตามมาตรฐานของอุตสาหกรรมยานยนต์
"โทรคมนาคม การเงินการธนาคาร ยังเป็นตลาดหลักของอีเอ็มซี ตลาดที่กำลังมาแรง ตลาดทางด้านเฮลธ์แคร์ทั้งโรงพยาบาล สาธารณสุข คลินิก ซึ่งเป็นองค์กรที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลเยอะไม่ว่าจะเป็นข้อมูลของคนไข้ เดี๋ยวนี้จำเป็นต้องมีกฎระเบียบข้อบังคับ ไม่ว่าจะเป็นการฟ้องร้องที่เกิดขึ้น ฉะนั้นจำเป็นต้องเก็บข้อมูลและหลักฐานจึงเป็นช่องทางให้อีเอ็มซีเข้าไปจัดการในส่วนของข้อมูลต่างๆให้เป็นระบบ"
ดร.ธัชพลยังบอกอีกว่า ปัจจัยแรกที่ทำให้ตลาดของอีเอ็มซีเติบโต "การเพิ่มขึ้นของข้อมูล" อันดับสอง การเข้าใจในแง่ความสำคัญของการจัดการด้านข้อมูลมากขึ้น ที่ขาดไม่ได้คือ พันธมิตรและทีมของบริษัท เมื่อไตรมาส 1 ปี 2549 มีการเติบโตขึ้น 3 เท่าตัว ถือว่าธุรกิจดีมาก ซึ่งทางอีเอ็มซีกล่าวว่าจะรักษาอัตราการเจริญเติบโตนี้ไปได้ตลอดทั้งปี
แนวโน้มการเติบโตของอีเอ็มยังสามารถเติบโตได้อีก อย่างมิติของข้อมูลโตเร็ว โดยเฉลี่ยต่อปีโต 70% เฉพาะแค่อีเมล์อิเล็กทรอนิกส์อย่างเดียวโตปีหนึ่ง 250% ปัญหาของลูกค้าที่อีเอ็มซีต้องการคำตอบคือ การจัดเก็บไอทีลดลง แต่ข้อมูลโตขึ้น โดยเฉลี่ย 70% ซึ่งเป็นปัญหาว่าจะเก็บไว้ในส่วนไหนที่จะสามารถจัดการได้ง่ายโดยไม่กระทบการดำเนินชีวิตประจำวันหรือธุรกิจเลย และทำให้การจัดการเป็นอัตโนมัติและถูกลง ซึ่งธุรกิจของอีเอ็มซีใช้กลยุทธ์ปากต่อปาก ไม่มีการโฆษณา
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|