|

ผู้บริโภคหมุนเงินผ่านบัตรเครดิต หนี้คงค้างพุ่ง - เบิกเงินสดล่วงหน้าเพียบ
ผู้จัดการรายสัปดาห์(17 กรกฎาคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
ผู้ถือบัตรเครดิตใช้บัตรเครดิตแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ ส่งผลยอดใช้บัตรเครดิตเพิ่มกว่า 19% ผู้ประกอบการเผยซื้อเท่าเดิมแต่จ่ายแพงกว่า หวั่นใจยอดสินเชื่อคงค้างสูง แถมยอดเบิกเงินสดล่วงหน้าพุ่งตาม ขณะที่บัตรใหม่เพิ่มสะท้อนทำเพิ่มหมุนเงิน-หาส่วนลด วอนรัฐหากผู้ประกอบการอยู่ไม่ได้ วิกฤติลูกโซ่ลามถึงวงการอื่น
ราคาน้ำมันเบนซินที่ทะลุ 30.10 บาทต่อลิตร และกระทรวงพาณิชย์อนุญาตให้มีการปรับราคาน้ำตาลทรายขึ้นอีก 0.50 บาทต่อกิโลกรัมหลังจากที่อนุญาตปรับเพิ่มมาก่อนหน้านี้แล้ว ยิ่งทำให้ค่าครองชีพของคนไทยสูงเพิ่มขึ้นไปอีก ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้จ่อคิวปรับขึ้นอีกหลังจากคณะกรรมการนโยบายการเงินได้ปรับอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตรเป็น 5% ไปเมื่อ 7 มิถุนายน 2549 ที่ผ่านมาและธนาคารกลางสหรัฐก็ได้ปรับอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นขึ้นไปอีก 0.25%
สิ่งที่สะท้อนถึงกำลังซื้อของผู้บริโภคได้เป็นอย่างดีคือตัวเลขการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเปิดเผยตัวเลขการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตของเดือนพฤษภาคม 2549 เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับตัวเลขเดือนพฤษภาคม 2548 พบว่า มีจำนวนบัตรเพิ่มขึ้น 14.49% ยอดสินเชื่อคงค้างเพิ่มขึ้น 21.13% ใช้จ่ายในประเทศเพิ่มขึ้น 20.89% ยอดเบิกเงินสดล่วงหน้าเพิ่มขึ้น 16.35% ทำให้การใช้จ่ายรวมผ่านบัตรเครดิตเพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อน 19.27%
เครื่องมือหมุนเงิน
ผู้บริหารบัตรเครดิตรายหนึ่งกล่าวว่า การเพิ่มขึ้นของจำนวนบัตรเครดิต บ่งบอกได้ประการหนึ่งว่า ประชาชนส่วนหนึ่งต้องการทำบัตรเครดิตเพิ่มเพื่อเป็นเครื่องมือในการหมุนเงินในยามภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ โดยผู้ที่ทำบัตรใหม่อาจจะมีบัตรเดิมอยู่แล้ว แต่ทำใหม่โดยกำหนดรอบการชำระเงินไม่ให้ตรงกับกำหนดชำระของบัตรเดิม หรืออาจทำเพิ่มเพื่อต้องการส่วนลด เช่น บัตรส่วนลดน้ำมันของเทสโก้โลตัสที่ให้ส่วนลดเดิมน้ำมันถึง 3%
นอกจากนี้เมื่อพิจารณาจากยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรในรอบ 1 ปีมีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นกว่าเดิมกว่า 19% นั้น เท่าที่ตรวจสอบจากฐานข้อมูลผู้ถือบัตรไม่ได้ใช้จ่ายมากไปกว่าเดิม แต่เป็นผลมาจากราคาสินค้าและบริการเพิ่มสูงขึ้น ยกตัวอย่างคนที่ใช้บัตรเครดิตเติมน้ำมัน เติมเท่าเดิมแต่ต้องจ่ายเพิ่มขึ้น เช่น เบนซิน 95 ราคาสูงกว่าสิ้นปี 2548 เกือบ 16% เบนซิน 91 เพิ่มขึ้นกว่า 16% และน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้นเกือบ 19% ไม่นับรวมสินค้าอุปโภค บริโภค ที่ปรับเพิ่มขึ้นไปแล้วไม่ว่าจะเป็นน้ำตาลทรายหรือน้ำอัดลม เป็นต้น
หวั่นลามทั้งระบบ
"ในแง่ของผู้ประกอบการก็ต้องประเมินความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ถือบัตรมากขึ้น หากพิจารณาแล้วเห็นว่าสามารถผ่อนชำระได้ก็อนุญาต" ผู้บริหารรายเดิมกล่าวพร้อมเพิ่มเติมว่า ในบางแห่งก็จำเป็นต้องอนุมัติให้เพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้ให้กับบริษัท หากมั่นใจในเรื่องกระบวนการในการติดตามหนี้สิน ซึ่งเป็นผลมาจากธนาคารแห่งประเทศไทยยังไม่อนุญาตให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ย(18%) และขอเสนอการลดการชำระขั้นต่ำจาก 10% เหลือ 5% ก็ไม่ได้รับการอนุมัติ
ดังนั้นโอกาสของการเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของผู้ประกอบการย่อมสูงมากขึ้น ตรงนี้เป็นเรื่องของมุมมอง หากมองว่าเมื่อชำระขึ้นต่ำที่ 5% แล้วผู้ประกอบการจะได้ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น ตรงนี้อาจจะจริง แต่ทางการก็ต้องมองภาพรวมทั้งระบบด้วยว่า หากลูกค้าผ่อนชำระไม่ไหวแล้วไม่มีความสามารถจ่ายได้ และถ้าผู้ให้บริการประสบปัญหาขาดทุนจนต้องปิดกิจการนั้นใครเสียหายตามมา
ต้องไม่ลืมว่าเงินที่นำมาใช้ในการปล่อยสินเชื่อก็เป็นเงินที่มาจากทั้งการกู้ยืมจากสถาบันการเงินและการออกหุ้นกู้ หากพวกเราไม่สามารถชำระหนี้กับสถาบันการเงินได้ หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL) ของสถาบันการเงินก็จะเพิ่มขึ้น จนอาจต้องเพิ่มทุน สิ่งเหล่านี้เราได้เห็นมาแล้วหลังจากวิกฤติการเงินปี 2540 ในส่วนของหุ้นกู้ผู้ที่ซื้อไปมีทั้งกองทุน สถาบันการเงิน องค์กรธุรกิจรวมถึงภาคประชาชน หากไม่มีรายได้ไปชำระดอกเบี้ยหรือเงินต้นก็อาจเกิดปัญหาได้อีกเช่นกัน
ตรงนี้อาจเป็นปัญหาที่ลามไปถึงจุดอื่น ซึ่งทางการน่าจะพิจารณาเรื่องนี้ให้รอบคอบ เพื่อป้องกันไม่ให้เหตุการณ์อย่างเช่นในอดีตย้อนกลับมาอีกหาเราอีก
NPL มาแล้ว
แต่สิ่งหนึ่งที่เราก็กังวลเช่นกัน คือตัวเลขสินเชื่อคงค้างโดยรวมที่เพิ่มขึ้นกว่า 21% นับว่าเป็นตัวเลขที่สูง แต่หากคิดเฉลี่ยต่อบัตรแล้วสินเชื่อคงค้างเพิ่มมาแค่ 5.8% เท่านั้น ตัวเลขดังกล่าวเป็นผลมาจากสภาพเศรษฐกิจที่มีปัญหาจากราคาน้ำมันและค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น ตรงนี้ผู้ประกอบการทุกรายต่างเคร่งครัดในเรื่องการติดตามมากขึ้นกว่าเดิม
ยิ่งเกณฑ์บังคับที่ต้องชำระขั้นต่ำ 10% ทำให้ต้องเข้มงวดในเรื่องการติดตามหนี้ของลูกค้ามากขึ้น
แต่ถ้าภาวะเศรษฐกิจไม่ดีต่อเนื่องยาวนานออกไป โดยที่ไม่มีมาตรการใด ๆ ของทางการออกมากระตุ้นหรือผ่อนปรน NPL ของบัตรเครดิตก็จะมากขึ้น นี่แค่เฉพาะบัตรเครดิตเท่านั้น แต่ยังมีตัวเลขของสินเชื่อบุคคลที่น่าจะมีโอกาสเป็นหนี้เสียมากกว่าบัตรเครดิตอีกหลายเท่าตัว เพราะฐานลูกค้ามีเกณฑ์รายได้ราว 6-7 พันบาทต่อเดือน แถมต้องแบกภาระดอกเบี้ยที่ 28% ต่อปี
เช่นเดียวกับตัวเลขการเบิกเงินสดล่วงหน้าที่เพิ่มขึ้น ถือเป็นเครื่องบ่งบอกถึงความจำเป็นของผู้ถือบัตรที่ต้องใช้เงินเร่งด่วน ส่วนจะไปใช้อะไรหรือนำไปแก้ปัญหาทางด้านการเงินหรือไม่ คงตอบยาก แต่ส่วนใหญ่แล้วผู้ที่ถือบัตรเครดิตหากไม่จำเป็นจริง ๆ จะพยายามไม่กดเงินสดล่วงหน้า เนื่องจากต้องเสียค่าธรรมเนียมค่อนข้างสูงและดอกเบี้ยจะเดินทันที แสดงว่าจะต้องมีความจำเป็นจริง
ตัวเลขของบัตรเครดิตบ่งบอกถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกับสภาพเศรษฐกิจของไทยได้ระดับหนึ่ง แต่ยังมีข้อมูลอีกหลายส่วนที่สะท้อนถึงความสามารถในการจับจ่ายใช้สอย รวมถึงความสามารถในการชำระหนี้ของประชาชนได้เป็นอย่างดี แต่ยังไม่มีการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะอย่างเป็นทางการ เช่น สินเชื่อบุคคล ที่ยังไม่มีการรวบรวมหรือเผยแพร่อย่างเป็นทางการ หรือตัวเลขการใช้บริการสินเชื่อที่ไม่ได้รับอนุญาตที่มีเป็นจำนวนมาก หากสามารถรวบรวมได้น่าจะช่วยทางการในการหาทางแก้ไขหรือช่วยเหลือทั้งประชาชนที่ใช้บริการได้เป็นอย่างดี
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|