หนี้ภาคครัวเรือนยังห่างจุดวิกฤติ ผลศึกษาเป็นการลงทุนในทรัพย์สิน


ผู้จัดการรายสัปดาห์(17 กรกฎาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

หนี้ภาคครัวเรือนอุณหภูมิไม่ร้อนระอุ เพราะยังไม่พร้อมปะทุเหมือนภูเขาไฟระเบิด เพราะผลการศึกษาจากธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) มองว่าหนี้ที่ก่อนั้นเป็นลักษณะการลงทุนในระยะยาว อย่างที่อยู่อาศัยและสินค้าคงทน แต่กระนั้นไม่อาจประมาทได้เพราะในประเทศที่มีระบบการเงินอยู่ความเสี่ยงของหนี้เสียเกิดได้ขึ้นทุกเวลา เพื่อหาคำตอบที่แจ่มชัด ทาง ธปท. และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)จะต้องศึกษาต่อไปในรายละเอียดระดับจุลภาค

เกียรติพงศ์ อริยปรัชญา ผู้แทนจากธนาคารแห่งประเทศไทย บอกว่า หนี้ภาคครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นในขณะนี้นั้นยังไม่เข้าข่ายน่ากังวล โดยผลการศึกษาวิจัยพบว่า การก่อหนี้ของภาคครัวเรือนที่เกิดขึ้นเป็นลักษณะของการนำไปลงทุนในทรัพย์สินคงทน หรือที่อยู่อาศัย อย่างเช่น บ้าน คอนโด รวมถึงรถยนต์ด้วย ซึ่งมองว่าการก่อหนี้ดังกล่าวเป็นอุปสงค์ที่แท้จริงในประเทศ หลังจากวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อปี2540ผ่านไป

เกียรติพงศ์ เล่าว่า ในปี 2540 ที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ทำให้ความต้องการบริโภคของครัวเรือนชะลอตัวลง ทั้งในส่วนของที่อยู่อาศัย และสินค้าคงทน แต่เมื่อเศรษฐกิจกลับมาดีขึ้น ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นจึงพร้อมที่จะบริโภคสินค้ามากขึ้น โดยเฉพาะที่อยู่อาศัย และสินค้าคงทน ซึ่งเป็นอุปสงค์ที่อั้นมาตั้งแต่เมื่อครั้งวิกฤติเศรษฐกิจแล้ว ดังนั้นเมื่อสบโอกาส การบริโภคสินค้าจึงเกิดขึ้น

"ดังนั้น ตนเห็นว่าหนี้ภาคครัวเรือนที่เกิดขึ้นเป็นหนี้ที่ลงทุนในทรัพย์สินระยะยาว และสินค้าคงทน ไม่ใช่การลงทุนในสินทรัพย์ที่ไร้ประโยชน์ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นหนี้ภาคครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นถึงจะมีความน่ากังวล แต่เบื้องต้นของการศึกษาครั้งนี้ยังเห็นว่าหนี้ภาคครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นยังไม่ถึงขั้นน่าเป็นห่วง"

เกียรติพงศ์ บอกอีกว่า ผลจากการศึกษาเรื่องงบดุลครัวเรือน พบว่าหนี้ที่เกิดขึ้นเป็นหนี้ลงทุนในทรัพย์สินระยะยาว ซึ่งหมายความว่า ครัวเรือนมีการก่อหนี้โดยขอสินเชื่อ เพราะการบริโภคทรัพย์สินคงทน หรือ ที่พักอาศัย โดยมากจะไม่ใช้เงินสด แต่จะเป็นการขอสินเชื่อแทน ดังนั้นหนี้สินที่ก่อขึ้นอีกด้านคือสินทรัพย์ของภาคครัวเรือนเช่นกัน

"อย่างไรก็ตาม ผลสรุปดังกล่าวเป็นการศึกษาในเบื้องต้นเท่านั้น ในเรื่องของการก่อหนี้ภาคครัสเรือนและพฤติกรรมการบริโภคต้องมีการศึกษาลึกลงไปอีก เพราะเบื้องต้นแม้จะบอกว่าการก่อหนี้ครัวเรือนขณะนี้ยังไม่น่าห่วง แต่ความเสี่ยงที่บางครัวเรือนจะก่อหนี้เกินตัวก็มี ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการเข้าถึงแหล่งเงินได้ง่ายขึ้น"

เกียรติพงศ์ สรุปทิ้งท้ายว่า เป็นไปไม่ได้เลยที่ประเทศใดประเทศหนึ่งจะไม่มีหนี้เสียเกิดขึ้น เพราะนั่นหมายถึงประเทศดังกล่าวไม่มีการปล่อยสินเชื่อ ซึ่งหมายถึงประเทศดังกล่าวก็ไม่มีระบบการเงินเช่นกันซึ่งเป็นไปได้ยากในยุคโลกภิวัฒน์เช่นนี้

สำหรับความเป็นจริงแล้วต้องยอมรับว่าเมื่อมีระบบการเงินก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเผชิญกับเรื่องที่คาดไม่ถึง ความเสี่ยงหนี้เสียที่เกิดขึ้น ดังนั้นในแง่ของการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมนั้นควรเจาะลึกลงไปในระดับจุลภาคด้วยเพื่อดูว่าอไรเป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดหนี้ครัวเรือน หนี้ดังกล่าวมีความเสี่ยงที่จะเป็นหนี้เสียมากน้อยเพียงใด หรือเป็นหนี้ที่ก่อให้เกิดทรัพย์สินในระยะยาว เป็นต้น

อรศิริ รังรักษ์ศิริวร เศรษฐกร 4 สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ศึกษาถึงพฤติกรรมครัวเรือนกับการก่อหนี้ โดยเห็นว่าปัจจัยที่ก่อให้เกิดหนี้เพิ่มขึ้นนั้นมาจากรายได้ครัวเรือนเป็นหลัก ซึ่งหมายถึงว่าการบริโภคของครัวเรือนนั้นแปรผันตามรายได้ ดังนั้นเพื่อให้เข้าใจในเชิงลึกของหนี้ครัวเรือน จึงจำเป็นต้องศึกษาพฤติกรรมของครัวเรือน เพราะเหตุใดครัวเรือนถึงก่อหนี้ ครัวเรือนนำเงินกู้ยืมไปใช้อย่างไร หนี้ที่เพิ่มขึ้นมีประโยชน์หรือไม่

จากผลการสำรวจโดยสุ่มเลือกกลุ่มตัวอย่าง 6 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา ลพบุรี บุรีรัมย์ ศรีษะเกษ สตูล แพร่ จังหวัดละ 240 ครัวเรือนตามชุมชนเมือง โดยการสัมภาษณ์ด้วยแบบสอบถามว่าในปีที่ครัวเรือนมีรายได้น้อยที่สุด การตอบสนองที่เกิดขึ้นจะเป็นอย่างไร โดยพบว่าจำนวน 33% จะกู้ยืม 24%ใช้เงินออมที่เก็บ และ 12%ลดการใช้จ่าย

ส่วนแหล่งการกู้เงิน 55%มาจากกองทุนหมู่บ้าน 14%มาจากเพื่อบ้านและญาติ และ7.8% มาจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

อรศิริ สรุปในภาพรวมว่า การบริโภคของครัวเรือนจะแปรผันไปตามรายได้ เมื่อรายได้ลดครัวเรือนก็จะมีการลดค่าใช้จ่าย หรือไม่เช่นนั้นก็เป็นการกู้ยืมในรูปแบบต่างกันไป

อย่างไรก็ตามผลการศึกษาเรื่องหนี้ครัวเรือน และพฤติกรรมการก่อหนี้ครัวเรือนเป็นขั้นตอนการศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น การสรุปของงานชิ้นนี้ยังไม่สามารถนำมาอ้างอิงได้ เพราะยังขาดรายละเอียดเชิงลึก ซึ่งทำให้หน่วยงานและผู้ที่เกี่ยวข้องต้องทำการศึกษาระดับลึกต่อไป

แม้ผลงานการศึกษาเรื่องหนี้ภาคครัวเรือนยังไม่อาจชี้วัดว่าหนี้ที่เกิดขึ้นจะมีผลกระทบต่อครัวเรือนมากน้อยเพียงใด แต่เชื่อว่าอย่างน้อยหนี้ที่ภาคครัวเรือนสร้างขึ้นก็เป็นส่วนหนึ่งที่สามารถทำลายระบบเศรษฐกิจได้เช่นกัน และเพื่อรับมือเรื่องดังกล่าว การศึกษาในขั้นต่อไปจึงควรทำควบคู่ไปกับการวางแผนแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในอนาคตด้วย


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.