|
"กองทุน"เหินฟ้าบินไป"ขุดทอง" พาเหรดเข็น FIF หอบเงินลงทุนนอก
ผู้จัดการรายสัปดาห์(17 กรกฎาคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
กองทุนรวมลงทุนในต่างประเทศ (FIF) เข้าสู่ยุคเบ่งบาน ธุรกิจจัดการลงทุนหนีภัยหุ้นร่วง เศรษฐกิจชะงักงัน ตลาดโลกยังไม่หยุดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เร่งรีบนำวงเงินที่ขอโควต้าจากแบงก์ชาติกว่า 1.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ ขนไปลงทุนในต่างประเทศ ก่อนจะหมดอายุ และเรียกคืนจัดสรรให้กับรายอื่น กว่า 6 บริษัท คือ กสิกรไทย เอ็มเอฟซี ธนชาติ ไอเอ็นจี กรุงไทย และแอสเซ็ทพลัส พาเหรดเข็น FIF หลากรูปแบบ ประชันขันแข่งแย่งชิงเม็ดเงินจากลูกค้ากันคึกคัก...
ช่วงที่บรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นไทยยังคงเต็มไปด้วยความไม่แน่นอนไม่รู้ว่าผลประกอบการไตรมาส 2 ที่กำลังจะออกมาบริษัทจดทะเบียนจะมีกำไรลูกผีลูกคนสักแค่ใหน อาการขวัญหนีดีฝ่อจากหุ้นรูดเป็นร้อยจุดในคราวที่แล้วก็ยังคงไม่จางหาย ทำให้นักลงทุนหลายคนมีความไม่มั่นใจเลือกที่จะใช้วิธีกระจายความเสี่ยง แบ่งพอร์ตการลงทุนย้ายเงินไปลงในตราสารหนี้และกองทุนประเภทอื่นๆมากขึ้น
กองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ (Foreign Investment Fund หรือ FIF) ก็ถือเป็นเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในช่วงที่ผ่านมาที่ได้รับกระแสตอบรับค่อนข้างดี เนื่องจากเป็นการเปิดโอกาสให้เงินได้ออกสู่โลกแห่งการแข่งขันลงทุนระดับสากลที่แท้จริง ไร้ขีดจำกัด ไม่มีพรมแดนเพื่อทำหน้าที่สร้างผลตอบแทนอย่างเต็มศักยภาพ
ประเภทของกองทุน FIF สามารถแยกตามวัตถุประสงค์การลงทุนได้เป็นหลายแบบด้วยกันคือ ลงทุนในหุ้น, ลงทุนในตราสารหนี้ ,ลงทุนแบบผสม และลงทุนในทองคำ
แต่ด้วยความพิเศษที่สามารถไปลงทุนในต่างประเทศได้นี้ ดังนั้นมันจึงมีกฎเกณฑ์กติกาและความเสี่ยงที่ซับซ้อนมากกว่าการลงทุนในประเทศเล็กน้อยทำให้มีสภาพคล่องต่ำกว่ากล่าวคือ นอกจากมีความเสี่ยงในตราสารที่จะไปลงทุนแล้วยังมีความเสี่ยงจากความผันผวนในเรื่องค่าเงินจึงทำให้ต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มในที่จะต้องไปซื้อประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน
ส่วนกองทุนในประเทศที่ไปลงทุนในกองทุนต่างประเทศก็เท่ากับว่าผู้ลงทุนมีโอกาสที่จะต้องเผชิญกับค่าธรรมเนียมที่มากกว่าปกติด้วย และสุดท้ายคือในการทำรายการขายกองทุนชนิดนี้ก็ต้องใช้เวลานานกว่ากองทุนทั่วไปกว่าที่จะได้รับเงิน
ข้อมูลของสมาคมบริษัทจัดการลงทุนพบว่า ณ วันที่ 19 มิถุนายน 2549 มีกองทุน FIF จำนวน 36 กอง และมีมูลค่าสินทรัพย์สุทธิ (NAV) รวมกว่า 7.8 หมื่นล้านบาท เมื่อย้อนกลับไปเทียบกับในปี 2545 ขณะนั้นมีกองทุนFIFเพียง 5 กอง มูลค่าสินทรัพย์เพียง 2.19 พันล้านบาท โดยปัจจุบันมูลค่าสินทรัพย์สุทธิของกองทุน FIF คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 9.1% ของกองทุนรวมในระบบทั้งหมด ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 8.55 แสนล้านบาท จากสัดส่วน 1.1% เท่านั้นของระบบกองทุนรวมปี 2545
หากพิจารณาตามนโยบายการลงทุนแล้วพบว่า กองทุน FIF ส่วนใหญ่จะมีนโยบายการลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศ(Fund of Fund)มากที่สุดถึง 16 กอง (ในจำนวนนี้เป็นการลงทุนในกองทุนรวมต่างประเทศเพียงกองเดียว หรือ Feeder Fund ถึง 11 กอง) มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวมประมาณ 1.28 หมื่นล้านบาท รองลงมาคือ กองทุนรวมตราสารหนี้ 12 กองทุน มูลค่าทรัพย์สินสุทธิประมาณ 5.5 หมื่นล้านบาท และกองทุนรวมผสมจำนวน 7 กองทุน มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิประมาณ 9.2 พันล้านบาท และกองทุนรวมตราสารทุน 1 กองทุน มูลค่าทรัพย์สินสุทธิประมาณ 892 ล้านบาท ตามลำดับ
ในรอบเดือนที่ผ่านมาตั้งแต่ต้นมิถุนายนจนถึงปัจจุบัน กองทุน FIF นับได้ว่าเป็นกองทุนที่มีการแข่งขันกันอย่างเผ็ดมันร้อนแรงมากขึ้นไปอีก มีบลจ.อย่างน้อยก็ 6 แห่งที่เปิดกองทุนใหม่ออกมาเสนอขาย ไม่ว่าจะเป็น บลจ.เอ็มเอฟซี, บลจ.กสิกรไทย, บลจ.ธนชาติ, บลจ.กรุงไทย บลจ.ไอเอ็นจี และ บลจ.แอสเซท พลัส
สำหรับ กองทุนปิดเอ็มเอฟซีอินเตอร์เนชั่นแนล สปอท (MFC INTERNATIONAL SPOT FUND) หรือ I-SPOT ถือเป็น FIF กองที่ 3 ในรอบปีนี้ของ บลจ.เอ็มเอฟซี และคาดว่าในไตรมาสที่ 3 นี้เอ็มเอฟซีก็จะมี FIF ออกใหม่ตามมาอีก 1 กอง
พิชิต อัคราทิตย์ กรรมการผู้จัดการ บลจ.เอ็มเอฟซี กล่าวว่า I-SPOT มีการตั้งเป้าหมายของผลตอบแทนร้อยละ 25 ในเวลา 3 ปีซึ่งเป็นจุดเด่นของเอ็มเอฟซีมาใช้ หากกองทุนสามารถบริหารได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ก่อนครบอายุโครงการ ก็สามารถที่จะเลิกกองทุนและคืนเงินให้กับผู้ถือหน่วยได้
กองทุนรวม I-SPOT มีมูลค่าโครงการ 800 ล้านบาท มีนโยบายลงทุนในหลักทรัพย์ประเภทตราสารทุนในตลาดต่างประเทศที่มีศักยภาพทั่วโลก ซึ่งจะเน้นลงทุนในแถบเอเชียเป็นหลัก โดยใช้เครื่องมือ (Quantitative Style) เพื่อคัดเลือกช่วงเวลาที่ควรลงทุนในหลักทรัพย์เพื่อให้ได้ผลตอบแทนสูงตามระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งการคัดเลือกตลาดตราสารทุนของแต่ละประเทศนั้นจะพิจารณาจาก GDP เป็นเกณฑ์ ซึ่งจะสามารถสร้างผลตอบแทนได้ดีกว่า Benchamrk (MSCI ALL Country Asia Index)
"สาเหตุที่กองทุนรวม I-SPOT เน้นลงทุนในประเทศแถบเอเชียเป็นหลัก เพราะมีอัตราการเติบโตของหุ้นที่โดดเด่นในช่วงสามปีที่ผ่านมา มีปัจจัยทางเศรษฐกิจเกื้อหนุนดี ไม่ใช่เติบโตในลักษณะการเก็งกำไร และไม่หวือหวาเมื่อเทียบกับตลาดในแถบละตินอเมริกาและประเทศกำลังพัฒนาในแถบยุโรป นอกจากนี้เงินทุนยังคงไหลเข้าประเทศแถบนี้อยู่ และตลาดหุ้นเอเชียยังมีโอกาสเติบโตได้อีก และน่าจะสร้างผลแทนที่ดีในอนาคต"
ขณะที่ บลจ.กสิกรไทย ก็ได้ออก FIF เช่นกันโดยถือเป็นกองที่ 2 แล้ว ใช้ชื่อว่า กองทุนเปิด เค โกลบอล อิควิตี้ (K GLOBAL-EQUITY FUND)หรือ K GLOBE มีมูลค่าโครงการประมาณ 840ล้านบาท หรือจำนวน 20 ล้านเหรียญสหรัฐ
วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ กรรมการผู้จัดการ บลจ.กสิกรไทยกล่าวว่า K GLOBE เป็นกองทุนประเภทที่ลงทุนในกองทุน(Fund of Fund) ไปในตลาดหุ้นทั่วโลก โดยจะไม่อิงตามเกณฑ์มาตรฐาน(MSCI World All Country)ทั้งหมด แต่กองทุนอาจจะให้น้ำหนักการลงทุนในภูมิภาคใดเป็นพิเศษ เช่น หาก MSCI ให้น้ำหนักภูมิภาคเอเชีย 10% กองทุนอาจจะลงทุนสูงกว่าเป็น 15-20% ทั้งนี้เพราะถ้าให้น้ำหนักการลงทุนเท่ากับ MSCI ผลที่ออกมาก็จะใกล้เคียงกัน
"จุดเด่นของ KGLOBE คือเป็นกองทุนที่จะไปลงทุนในหุ้นทั่วโลก และสามารถปรับเปลี่ยนน้ำหนักการลงทุนไปยังประเทศ หรือภูมิภาคต่างๆ ที่จะมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจได้ดี ซึ่งช่วยให้ผู้ลงทุนในประเทศได้กระจายการลงทุนไปยังต่างประเทศ เพื่อลดความเสี่ยงของการลงทุน"
สำหรับการบริหารจัดการ K GLOBE บลจ.กสิกรไทยจะเป็นผู้ลงทุนผ่านกองทุนของ IXIS ซึ่งเป็นบริษัทจัดการลงทุนชั้นนำที่บริหารสินทรัพย์ทั่วโลก 5.4 แสนเหรียญสหรัฐ โดยจะใช้บทวิเคราะห์การลงทุนจากรีเสิร์ชต่างๆมาเป็นข้อมูลในการตัดสินใจ
ทั้งนี้หาก KGLOBE ได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุน อาจจะมีการพิจารณาเปิดกองทุนในลักษณะคล้ายกันกับกองทุนดังกล่าวอีกประมาณไตรมาสที่ 3 ถึง 4
ด้าน บลจ.ธนชาติ บุญชัย เกียรติธนาวิทย์ กรรมการผู้จัดการ เปิดเผยว่า กำลังเตรียมเสนอขาย "กองทุนเปิดธนชาติ อินฟราสตรัคเจอร์ แอนด์ แน็ชเชอรัล รีซอร์สฟันด์ออฟฟันด์" ซึ่งเป็น FIF กองแรกของบลจ.โดยจะลงทุนในหุ้นกลุ่มโครงสร้างพื้นฐานและทรัพยากรธรรมชาติทั่วโลกเช่น กลุ่มพลังงาน กลุ่มสาธารณูปโภคพื้นฐาน น้ำมัน ทองคำ เทคโนโลยี สื่อสารโทรคมนาคม และเทคโนโลยีการแพทย์ ซึ่งถือได้ว่าเป็นเซ็กเตอร์ฟันด์กองแรกของประเทศ โดยมี Smith Barnery เป็นที่ปรึกษาการลงทุนและช่วยคัดเลือกหุ้นให้ ซึ่งจะร่วมกันพิจารณาสัดส่วนการลงทุนทุกไตรมาส มีมูลค่ากองทุน 450 ล้านบาท
"กองทุนนี้จะเน้นลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเฉพาะที่มีความสำคัญและเป็นพื้นฐานต่อเศรษฐกิจของโลก เพราะเป็นการลงทุนโดยพิจารณาจาก 3 ปัจจัยหลักคือ ลงทุนในสิ่งที่ทุกคนต้องใช้, ลงทุนในสิ่งที่ใช้แล้วหมดไป และ ลงทุนในสิ่งที่เป็นนวัตกรรมใหม่ๆของโลก ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกต่อการเติบโตในระยะยาวของหุ้นกลุ่มนี้"
นอกจากนี้ในไตรมาส 4 บลจ.จะตั้ง FIF อีกโดยจะเน้นลงทุนตราสารหนี้ในภูมิภาคเอเชีย ที่เศรษฐกิจยังมีอัตราการเติบโตต่อเนื่องเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก
ด้าน บลจ. กรุงไทย ก็มีการเปิด FIF เช่นเดียวกันในชื่อ กองทุนปิดกรุงไทยดอยซ์แบงก์ เอฟเอกซ์ คุ้มครองเงินต้น2 หลังจากที่ได้เปิดขายFIF กองแรก ไปเมื่อกลางเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมาโดยมีมูลค่าโครงการประมาณ 400ล้านบาท หรือ 10 ล้านเหรียญสหรัฐ
กองทุนนี้มีอายุประมาณ 4ปี 7 เดือนโดยกองทุนจะครบกำหนดอายุกองทุนในวันที่ 28 ธันวาคม 2554 และมีนโยบายจะนำเงินไปลงในหน่วยลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุน DB Platinum II ใน Class R2D Shares ที่ มีนโยบายลงทุนในตราสารหนี้ ซึ่งออกโดยสถาบันการเงิน หรือบริษัทชั้นดีและรัฐบาลของประเทศสมาชิกของ OECD หรือองค์กรระหว่างประเทศ
ทั้งนี้ผู้ลงทุนจะได้รับเงินต้นคืน100% และมีโอกาสได้รับผลตอบแทนจากการเพิ่มขึ้นของมูลค่าหน่วยลงทุน และมีโอกาสได้รับเงินปันผลปีละ 1 ครั้ง ภายในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี โดยเริ่มต้นตั้งแต่ปี2550 เป็นต้นไป
นอกจากนั้นแล้วยังมี บลจ.ที่มีการเปิดขายกอง FIF ที่ลงทุนในตราสารทุนอีกคือ กองทุนเปิดไอเอ็นจี โกลบอล ไฮดิวิเดนด์ มูลค่าโครงการ 400 ล้านบาทของ บลจ.ไอเอ็นจี รวมถึงไอเอ็นจี ไทย ออล เอเชีย อิควิตี้, กองทุนเปิดแอสเซทพลัสนิปปอนโกรท ของบลจ.แอสเซทพลัส มูลค่าโครงการ 1,470ล้านบาท
กองทุนประเภท FIF ที่กระหน่ำเปิดตัวมาเป็นอย่างมากในช่วงนี้และคาดว่าจะยังร้อนแรงอีกในช่วงครึ่งหลังของปีมาจากอิทธิพลของวงเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)อนุมัติทั้งหมดมีถึง 1.3 พันล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 5.2 หมื่นล้านบาท โดยทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) มีเงื่อนไขว่า บลจ.จะต้องนำเงินไปลงทุนต่างประเทศอย่างน้อย 50% ของวงเงินทั้งหมดที่ได้รับการจัดสรรภายในปีนี้ มิฉะนั้นจะเรียกโควต้าวงเงินที่เหลือคืน เพื่อนำมาจัดสรรให้กับ บลจ.อื่นๆแทน
ในเบื้องต้น ก.ล.ต.ได้อนุมัติให้บริษัทจัดการที่ยื่นทั้งในส่วนกองทุนรวม และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพรวม 430 ล้านเหรียญหรือประมาณ 1.7 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นวงเงินในส่วนของกองทุนรวม 340 ล้านเหรียญและในส่วนของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 90 ล้านเหรียญสหรัฐทั้งนี้ บลจ.อเบอร์ดีน ได้รับการจัดสรรเงินในส่วนของกองทุนรวมและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 35 ล้านเหรียญ,บลจ.ทหารไทย ได้รับวงเงินในส่วนของกองทุนรวมและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 35 ล้านเหรียญ, บลจ.บัวหลวง ได้รับวงเงินในส่วนของกองทุนรวม 25 ล้านเหรียญสหรัฐ บลจ.กรุงไทย 25 ล้านเหรียญสหรัฐ บลจ.ฟินันซ่า 25 ล้านเหรียญ, บลจ.เอ็มเอฟซี 25 ล้านเหรียญ, บลจ.กรุงไทย 25 ล้านเหรียญ, บลจ.ทิสโก้ 25 ล้านเหรียญ, บลจ.อยุธยาเจเอฟ 10 ล้านเหรียญ, ธนาคารกรุงเทพ 10 ล้านเหรียญ, ธนาคารกรุงศรีอยุธยา 10 ล้านเหรียญ ธนาคารทหารไทย 10 ล้านเหรียญ, บริษัทไทยประกันชีวิต 10 ล้านเหรียญ, บริษัทอินเตอร์แนชชั่นแนล แอสชัวรันส์ 10 ล้านเหรียญ, และ บล.บัวหลวง 10 ล้านเหรียญสหรัฐ
วงจรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยซึ่งมีสัญญาณว่าน่าจะถึงระดับสูงสุดแล้ว ในขณะที่อัตรา ดอกเบี้ยในหลายๆ ประเทศในเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น อินเดีย ไต้หวัน ตลอดจนกลุ่มยูโรยังมีแนวโน้มจะถูกปรับขึ้นต่อไปอีก เป็นปัจจัยที่จะช่วยหนุนการแข็งค่าของค่าเงินสกุลเหล่านั้น ส่งผลให้มีการกระจายการลงทุน ซึ่งเป็นโอกาสที่จะทำอัตราผลตอบแทนให้ได้ในระดับที่น่าพอใจ ทั้งในด้านอัตราผลตอบแทนจากหลักทรัพย์ที่เข้าไปลงทุน และด้านกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนในอนาคต
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|