ดำริห์ ก่อนนันทเกียรติ ในสายตาของขุนทอง ลอเสรีวานิช


นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2538)



กลับสู่หน้าหลัก

ผมพบดำริห์ ก่อนันทเกียรติ เป็นครั้งแรกเมื่อเกือบ ๆ 6 ปีที่แล้ว ตอนนั้นบริษัทยูนิคอร์ดซึ่งยังไม่ได้เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ เพิ่งเข้าซื้อบัมเบิ้ลบี ซีฟู้ดส์ มาไว่ในครอบครองได้ใหม่ ๆ และยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จักกันมากเท่าไรนัก รู้กันเพียงว่าเป็นผู้ผลิตปลาทูน่ากระป๋องรายใหญ่ที่สุดของประเทศไทยเท่านั้น

ยิ่งชื่อดำริห์ ด้วยแล้ว ยิ่งไม่มีใครรู้จัก ว่าเป็นใคร มาจากไหน

การเทคโอเวอร์ บัมเบิ้ลบี ทำให้ดำริห์ มีชื่อเสียงโด่งดังขึ้นมาอย่างรวดเร็ว ในฐานะนักธุรกิจไทยรายแรกผู้สร้างประวัติศาสตร์ซื้อกิจการต่างชาติด้วยมูลค่าสูงที่สุด

การพบกันครั้งแรกในฐานะคนข่าวกับแหล่งข่าว ที่ห้องทำงานของเขา บนตึกยูนิคอร์ดตรงข้ามวัดเทพศิรินทร์ เป็นการพูดถึงความสำเร็จอันน่าตื่นตาตื่นใจของธุรกิจครอบครัวคนจีน ที่สามารถเป็นเจ้าของบริษัทขายปลาทูน่าใหญ่เป็นอันดับสามของสหรัฐอเมริกา

ด้วยท่าทีที่เป็นันเอง พูดจาตรงไปตรงมา ใช้คำอธิบายง่าย ๆ ชัดเจน ดำริห์ เล่าให้ผมฟังถึงเหตุผลที่เขาต้องตัดสินใจซื้อบัมเบิ้ลบี

"ผมหวังว่า คงมีสักวันหนึ่งที่อุตสาหกรรมของไทย จะยกระดับขึ้นไปเป็นผู้ทำตลาด มียี่ห้อและช่องทางการจำหน่ายของตัวเอง แทนที่จะเป็นเพียงคนรับจ้างทำของตามออร์เดอร์ของลูกค้าเท่านั้น" นี่คือความฝันขงเขาของเขา ซึ่งผลักดันให้ยูนิคอร์ดตัดสินใจเทคโอเวอร์บัมเบิ้ลบี

จนถึงวันนี้ ในความเห็นส่วนตัวผมแล้ว ผมยังเชื่อว่า การตัดสินใจครั้งนั้นถูกต้องในเชิงยุทธศาสตร์ ความผิดพลาดที่เกิดขึ้น เป็นเรื่องการดำเนินกลยุทธ์ในเวลาต่อมา ซึ่งเป็นไปตามบุคลิก นิสัยใจคอของดำริห์

การพบกันครั้งแรกและอีก 2 ครั้งต่อมา ในระยะ 6 ปี ด้วยข้อสนทนาที่จำกัดเฉพาะเรื่องธุรกิจของยูนิคอร์ด คงไม่ทำให้ผม รู้จักเขาได้ดีพอที่จะบอกเล่าถึงตัวตนของเขาได้ แต่สิ่งหนึ่งที่สัมผัสได้คือ ความหลักแหลม ฉับไว และมีความเชื่อมั่นในตัวเองมาก ซึ่งคำนี้มีความหมายใกล้เคียงกับคำว่า " ดื้อ"

จากคำบอกเล่าของคนใกล้ชิด นิสัยส่วนตัวของดำริห์ เป็นคนบ้าบิ่น กล้าได้กล้าเสีย และมักจะไม่ค่อยเห็นคนอื่นอยู่ในสายตา

เมื่อนิสัยส่วนตัว ถูกนำมาใช้ในการตัดสินใจของธุรกิจสงครามราคาในตลาดปลาทูน่ากระป๋องของสหรัฐฯ จึงระเบิดขึ้นเพราะดำริห์ไม่หยุดยั้งความพอใจของตัวอยู่เพียงแค่การเป็นเจ้าของบัมเบิ้ลบีเท่านั้น แต่ความต้องการของเขาก้าวเลยไปถึงขั้นถล่มคู่แข่งให้ราบคาบ เพื่อเป็นที่หนึ่ง

ผลก็คือ ต่างฝ่ายต่างเจ็บตัวไปตาม ๆ กัน แต่บัมเบิ้ลบีเจ็บหนักที่สุด เพราะเดินเข้าสู่สนามรบในขณะที่ยังต้องแบกภาระหนี้สินไว้เต็มบ่า อาการบาดเจ็บจึงสาหัสต่อกว่าคู่ต่อสู้

แต่เขาก็รักศักดิ์ศรี กลัวการเสียหน้า เกินกว่าที่จะยอมรับเป็นความผิดพลาด และหาทางแก้ไขปัญหา จนกระทั่งไม่อาจฝืนความจริงต่อไปได้ แต่ก็สายเกินไปเสียแล้ว

ผมคิดว่า การแก้ไขปัญหาด้วยการตัดสินใจขายบัมเบิ้ลบี ออกไปนั้น เป็นเรื่องที่ทำให้เขาเสียหน้าพอสมควร แต่ผมไม่เชื่อเรื่องนี้ รวมทั้งปัญหาหนี้สินจะเป็นชนวนของการตัดสินใจฆ่าตัวตาย เพราะคนในยุทธจักรอย่างเขา ย่อมเคยชินกับการ " ได้มา-เสียไป"

ปัญหาของยูนิคอร์ดนั้น ไม่ได้มีเพียงหนี้สิน และขาดทุนเท่านั้น แต่ยังเป็นปัญหาของการบริหารงานภายในระหว่างพี่ ๆ น้อง ๆ กิจการการที่กำเนิดและเติบโตขึ้นมาในวิถีทางของธุรกิจครอบครัวคือ "กงสี" ที่เป็นสมบัติและเป็นที่มาของรายได้ของสมาชิกในครอบครัว ถ้าจัดการไม่ดีก็ย่อมเต็มไปด้วยมุ้งใหญ่มุ้งเล็ก

การตัดสินใจของเขาเป็นการ "หนี" อะไรบางอย่าง ที่มีแต่ตัวเขาเองและคนใกล้ชิดเท่านั้นที่รู้ว่า เขากำลังหนีอะไร



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.