แฉเบื้องลึกชุบชีวิตซากตึกร้างสนองกลุ่มนักธุรกิจการเมือง


ผู้จัดการรายสัปดาห์(17 กรกฎาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

*เปิดวงจรอุบาทก์ภาครัฐเดินหน้าแก้ปัญหาซากอาคารร้างทั่วกรุงฯ-ปริมณฑล 281 แห่ง ก่อนขยายทั่วประเทศ
*แผนปมชุบชีวิตซากอาคาร้างทั่วประเทศ มีการวางแผนอย่างแฉบฉล สั่งแบงก์ปล่อยกู้กลุ่มธุรกิจการเมือง และดอดเลือกตึกเกรด เอ หวังสร้างต่อแล้วขายทำกำไร
*จับตากลุ่มทุนทางการเมือง เข้าเทค โอเวอร์ซากอาคารร้างล็อตแรก

พลันที่รัฐบาลมีประกาศิตให้กระทรวงการคลังเป็นเจ้าภาพแก้ไขปัญหาซากอาคารร้าง หรืออาคารที่ก่อสร้างไม่เสร็จทั่วประเทศ โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่มีจำนวนมากถึง 281 แห่ง มีจุดประสงค์เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ต้องยอมรับว่า ช่วงนี้ภาวะเศรษฐกิจมีความผันผวน และน่าจะตกต่ำลงมากกว่านี้ ถึงกับทำให้มีการคาดการณ์ว่า GDP ในปีนี้ จะมีอัตราเติบโตแค่ 4-4.5% เท่านั้น และยังมีการประมาณการณ์ว่าในปี 2550 GDP จะเติบโตลดลงเหลือแค่ 3.5-4.5%

ตัวเลขการเติบโตที่คาดการณ์กันนั้น น่าจะเป็นการส่งสัญญาณให้รัฐบาลรู้ว่า หากไม่รีบหาแนวทางแก้ไข และปล่อยให้ภาวะเศรษฐกิจเดินไปเอง โดยไม่ใช้แรงขับเคลื่อน จะเป็นผลลบต่อภาวะเศรษฐกิจโดยรวม และรัฐบาลมาก

ชุบชีวิตซากตึกเครื่องมือฟื้นศก.

ดังนั้น รัฐบาลจึงเลือกที่จะใช้วิธีการชุบชีวิตซากอาคารร้างที่เห็นกลาดเกลื่อนอยู่ทั่วกรุงเทพมหานคร เพราะการเลือกฟื้นซากอาคาร นอกจากจะช่วยเพิ่มมูลค่าทรัพย์สินแล้ว ยังช่วยฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจโดยรวมอีกด้วย

ในช่วงเกิดวิกฤตในราวปี 2538-2539 ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ก้าวลงสู่จุดตกต่ำสุดขีดหรือที่เรียกกันว่า “ภาวะฟองสบู่” หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ธุรกิจก้าวสู่ยุคเฟื่องฟู มีการโหมลงทุนอย่างมหาศาล ทั้งโครงการแนวราบและแนวสูง ประเภทบ้านจัดสรร อาคารสูง โดยไม่สนใจว่ากำลังซื้อมีมากแค่ไหน จนทำให้เกิดปัญหาโอเวอร์ ซัปพลายในที่สุด

ประกอบกับ ในช่วงนั้น เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก ดอกเบี้ยสูง สถาบันการเงินหยุดปล่อยกู้ ทำให้โครงการต่าง ๆ ที่กำลังดำเนินการ ขาดเม็ดเงินที่จะมาสานต่อให้แล้วเสร็จ รวมถึงผู้ซื้อไม่มีเงินผ่อนต่อเพราะรายได้ลดลง หรือบางรายตกงาน จึงทิ้งดาวน์ ทำให้ผู้ประกอบการยิ่งขาดเงินมาพัฒนาโครงการต่อ จนทำให้เกิดซากตึกร้างจำนวนมาก กระจายอยู่ทั่วกรุงเทพฯและปริมณฑล

โดยในปี 2544 มีอาคารร้างอยู่ทั้งหมด 508 แห่ง และในช่วง 2-3 ปีก่อน ซากอาคารดังกล่าวถูกนำมาปัดฝุ่นพัฒนาต่อแล้วเสร็จจนใช้งานได้แล้ว 227 แห่ง ทำให้ในขณะนี้ ยังเห็นซากอาคารอยู่อีก 281 แห่ง คิดเป็นพื้นที่ใช้สอยรวม 6.2 ล้านตารางเมตร ซึ่งในจำนวนดังกล่าว กำลังจะได้รับการแก้ไขและกลับมาใช้งานได้เช่นเดียวกับอาคาร ทั่วๆไป

แหล่งข่าวในวงการอสังหาริมทรัพย์ กล่าวว่า “นโยบายการแก้ปัญหาซากอาคารร้างของรัฐบาลเป็นสิ่งที่ดี จะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม สถาบันการเงิน และผู้ประกอบการ แต่การแก้ปัญหาดังกล่าวไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ เพราะอาคารแต่ละแห่งมีปัญหาต่างกัน บางอาคารติดปัญหาเรื่องโครงสร้าง น้ำท่วมขัง เหล็กเป็นสนิมได้รับความเสียหาย บางอาคารมีปัญหาที่มีเจ้าหนี้หลายราย ทำให้การเจรจาต่อรองค่อนข้างล่าช้า ขณะที่บางอาคารเจ้าของต้องการขายในราคาสูงแต่ในสภาพความเป็นจริงผู้ซื้อต้องการซื้อในราคาถูก ซึ่งปัญหาดังกล่าวเป็นอุปสรรคในการชุบชีวิตอาคารร้างเหล่านั้น”

รัฐบาลจึงมีเป้าหมายชุบชีวิตซากอาคารดังกล่าว ซึ่งจะต้องมีการแก้กฎหมาย หรือผ่อนปรนกฎเกณฑ์บางข้อ เพื่อให้สามารถนำอาคารเหล่านั้น มาพัฒนาต่อให้แล้วเสร็จ โดยปัญหาสำคัญน่าจะเป็นเรื่องใบอนุญาตหมดอายุที่คาดว่าในจำนวนดังกล่าว ใบอนุญาตหมดอายุราว 70% อีกทั้งเมื่อกลางเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา กทม.ยังบังคับใช้ผังเมืองฉบับใหม่ด้วย ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นซากอาคารมาก จึงเชื่อว่ารัฐบาลน่าจะผ่อนปรนหรือแก้กฎหมาย เพื่อให้นำอาคารร้างมาก่อสร้างต่อได้

คลังเจ้าภาพพชุบชีวิต

โดยสั่งการให้กระทรวงการคลังเป็นแกนนำในการดำเนินการชุบชีวิตซากอาคารทั่วประเทศ และร่วมมือกับหน่วยงานราชการหลายแห่ง อาทิ สมาคมธนาคารไทย ธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.) ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ บริษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงิน (บบส.) รวมถึงขอความร่วมมือสถาบันการเงินปล่อยกู้เพื่อสานต่อโครงการให้แล้วเสร็จ ซึ่งกระทรวงการคลังจะใช้เวลา 2-3 สัปดาห์ สรุปแนวทางการแก้ปัญหา

สิ่งที่น่าคิดคือ“อยู่ดีๆ รัฐบาลก็ลุกขึ้นมาให้ช่วยแก้ปัญหาซากอาคารร้าง โดยไม่มีการส่งสัญญาณล่วงหน้า ทำให้คิดว่า การแก้ปัญหาครั้งนี้ น่าจะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับตัวเองและพวกพ้องมากกว่า ที่สำคัญคาดว่าจะมีการไปเลือกอาคารที่สนใจไว้เรียบร้อยแล้ว รวมถึงเตรียมเจรจากับสถาบันการเงินเพื่อปล่อยกู้มาพัฒนาโครงการต่อให้แล้วเสร็จ เพราะการแก้ปัญหานี้ ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่กลับให้หน่วยงานต่าง ๆ ไปสรุปข้อมูลมาภายใน 2-3 สัปดาห์”แหล่งข่าวตั้งข้อสังเกต

แหล่งข่าว กล่าวว่า จะเห็นว่าที่ผ่านมา การสั่งการของภาครัฐส่วนมากจะมีอะไรแอบแฝงอยู่เสมอ ที่สำคัญจะเอื้อประโยชน์แก่นักการเมือง เครือญาติ และพวกพ้องเสมอ อาทิ การปั่นราคาที่ดินรอบสนามบินสุวรรณภูมิ ,การสร้างข่าวโครงการเมืองใหม่นครนายก รวมถึงโครงการริเวียร่า ที่มีการไปกว้านซื้อที่ดินไว้ล่วงหน้า หลังจากนั้นก็ประกาศนโยบายที่จะทำโครงการริเวียร่า

ชี้กลุ่มทุนการเมืองได้ประโยชน์

กรณีการชุบชีวิตซากอาคารร้างในขณะนี้ก็เช่นเดียวกัน เชื่อว่าคนที่จะได้ประโยชน์มากที่สุด น่าจะเป็นกลุ่มทุนทางการเมือง ที่มีการไปเล็งไว้แล้วว่าจะซื้ออาคารไหน และน่าจะมีการเจรจากับสถาบันการเงินปล่อยกู้ เพื่อปรับปรุงให้แล้วเสร็จพร้อมใช้งานแล้ว

ส่วนเอกชนรายอื่นอาจจะเลือกซื้อไม่ทัน เพราะยังไม่ได้ดูไว้ล่วงหน้า กว่าที่จะศึกษาและเจรจากับเจ้าของ หรือเจ้าหนี้ ต้องใช้เวลานานพอสมควร ซึ่งอาจจะไม่ทันกลุ่มทุนการเมืองที่จะเลือกซื้ออาคารที่ดี เกรด เอ หรือ บี ตั้งในทำเลใจกลางเมือง(CBD) หรือไม่ไกลCBD มากนัก

“ในจำนวน 281 แห่ง น่าจะเป็นอาคารเกรด เอหรือ บี ประมาณ30% และเชื่อว่าอาคารเหล่านั้น จะถูกจับจองไว้เกือบหมด จากกลุ่มทุนทางการเมือง และผู้ใกล้ชิดนักการเมือง ส่วนที่เหลือ 70% เป็นอาคารที่ต้องลงทุนอีกมาก ทั้งในแง่ของตัวเงินและใช้เวลาในการพัฒนาต่อให้เสร็จ จึงเชื่อว่า อาคารเหล่านั้น จะไม่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนมากนัก”


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.