ซีพีเอฟลดเสี่ยงตลาดส่งออกไก่ ทุ่ม6พันล.ปั้นธุรกิจหมูเรือธงใหม่


ผู้จัดการรายวัน(14 กรกฎาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

ซีพีเอฟ เบนเข็มผลิตเนื้อหมูพระเอกโกยรายได้ส่งออกแทนเนื้อไก่ หลังพบเทรนด์ตลาดยุโรป-ญี่ปุ่นเปลี่ยน ผวาโรคระบาดหันบริโภคเนื้อหมูแทน ล่าสุดทุ่ม 6,000 ล้านบาท ผุดโรงงานผลิตเนื้อหมูครบวงจร พร้อมระเบิดแคมเปญ”อาหารสัตว์ ซีพีเอฟ แจกโชคมโหฬาร 12 ล้าน”ครั้งใหญ่รอบ 15 ปี หวังเรียกความเชื่อมั่นหลังเกษตรกรผวาโรคระบาดในสัตว์ปีก สิ้นปีโต 20% กวาดรายได้ 4 หมื่นล้านบาท

นายวีรชัย รัตนบานชื่น รองกรรมการผู้จัดการบริหาร เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (ซีพีเอฟ) ผู้ดำเนินธุรกิจอาหารสัตว์และผลิตอาหารจากสัตว์ เปิดเผยว่า บริษัทฯได้เตรียมทุ่มงบลงทุน 5,000-6,000 ล้านบาท ลงทุนสร้างโรงงานหมูอย่างครบวงจร ไม่ว่าจะเป็น ฟาร์มเลี้ยงหมู โรงงานแปรรูป ทั้งนี้เนื่องจากบริษัทฯได้วางแนวทางดันธุรกิจเนื้อหมูขึ้นมาเป็นสินค้าเรือธงในการส่งออก จากเดิมรายได้จากการส่งออกจากมาจากเนื้อไก่เป็นหลัก อีกทั้งที่ผ่านมาการผลิตเนื้อหมูของซีพีเอฟส่วนใหญ่เพื่อป้อนตลาดภายในประเทศเท่านั้น จากการมีโรงงานแห่งเดียวที่จังหวัดกาญจนบุรี

ทั้งนี้ปัจจัยที่ส่งผลให้บริษัทฯต้องหันมาผลิตเนื้อหมูในเชิงรุกมากขึ้น เนื่องจากแนวโน้มตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะยุโรป อาทิ ประเทศอังกฤษ หรือกระทั่งในตลาดเอเชียอย่างประเทศญี่ปุ่น ผู้บริโภคเริ่มหันมาบริโภคเนื้อหมูแทนเนื้อไก่ เพราะหวั่นโรคระบาดในสัตว์ปีก สำหรับการส่งออกเนื้อหมูไปจำหน่ายตลาดต่างประเทศ บริษัทฯจะทำในลักษณะของการแปรรูป

ขณะนี้ทางอังกฤษได้ส่งเจ้าหน้าที่มาดูเกี่ยวกับระบบการเลี้ยง ล่าสุดบริษัทฯได้เตรียมหาพ่อพันธุ์และแม่พันธุหมู โดยคาดว่าปีนี้จะเริ่มส่งออกหมูแปรรูปได้ 400 ตัน หรือเพิ่มจากฆ่าเนื้อหมู 1,200 ตัวต่อวัน เป็น 1,600 ตัวต่อวัน

อัดแคมเปญแจก12ล.เรียกความเชื่อมั่น

นายวีรชัย กล่าวต่อถึงภาวะตลาดอาหารสัตว์ว่า หลังจากที่เกิดโรคระบาดในสัตว์ปีก ทำให้ผู้บริโภคขาดความมั่นใจ ขณะที่ตัวเกษตรกรก็ขาดความเชื่อมั่นเช่นกัน ดังนั้นเพื่อเรียกความเชื่อมั่นบริษัทฯจึงได้ทุ่มงบ 12 ล้านบาท เปิดตัวแคมเปญครั้งใหญ่ในรอบ 14-15 ปี ”อาหารสัตว์ ซีพีเอฟ แจกโชคมโหฬาร 12 ล้าน เพื่อเกษตรกรทั่วไทย” โดยเกษตรกร และตัวแทนจำหน่ายอาหารสัตว์ซีพีเอฟมีสิทธิ์ ส่งคูปองร่วมลุ้นของรางวัลเป็นรถโตโยต้าฟอร์จูนเนอร์ และรถกระบะวีโก้รวมทั้งสิ้น 17 คัน เริ่มตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคม ถึง วันที่ 10 ธันวาคม นี้

ทั้งนี้จากการเกิดโรคระบาดแพร่ในสัตว์เมื่อต้นปี 2547 ทำให้ภาครัฐต้องฆ่าสัตว์ปีกไป 8 ล้านตัวต่อสัปดาห์ แต่ขณะนี้สถานการณ์เริ่มกลับมาดีขึ้น ธุรกิจเลี้ยงสัตว์ปีกเริ่มฟื้นกลับคืนมา มีเกษตรกรเลี้ยงไก่เพิ่มเป็น 18 ล้านตัว จากสถานการณ์ปกติมีการเลี้ยงไก่เฉลี่ย 22 ล้านตัว

อย่างไรก็ตามสถานการณ์ในช่วงครึ่งปีหลัง เชื่อว่าหากมีการแพร่ระบาดโรคสัตว์ปีก จะไม่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรม เนื่องจากในช่วง 2ปีที่ผ่านมา ซีพีเอฟได้พยายามควบคุมและป้องกันโรคจากสัตว์โดยร่วมกับสาธารณะสุข รวมทั้งจัดสัมนาให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง

สำหรับภาพรวมตลาดอาหารสัตว์มูลค่า 1.1 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 9.5 ล้านตัน ปีนี้คาดว่าจะมีอัตราการเติบโต 14% หรือในเชิงปริมาณเพิ่มเป็น 10.9 ล้านตัน อย่างไรก็ตามในช่วงครึ่งปีหลังนี้หรือตั้งแต่เดือนสิงหาคม-กันยายน คาดว่าวัตถุดิบหลักการผลิตอาหารสัตว์ โดยเฉพาะข้าวโพดมีแนวโน้มว่าจะถูกลง จากเมื่อปี 2548 ราคาข้าวโพดราว 5.60บาท เพิ่มเป็น 6.40บาทในปี 2549 โดยซีพีเอฟมีรายได้จากธุรกิจอาหารสัตว์ 3.8 หมื่นล้านบาทต่อปี สำหรับในปีนี้บริษัทยอดขายของตั้งเป้ามีอัตราการเติบโต 20% หรือมีรายได้ 4 หมื่นล้านบาท


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.