บรรณวิทย์ บุญญรัตน์ การเริ่มต้นของรีเทลแบงกิ้ง


นิตยสารผู้จัดการ( มกราคม 2543)



กลับสู่หน้าหลัก

เขาจากโลกนี้ไปแล้วอย่างสงบ เมื่อเดือนตุลาคม ด้วยโรคมะเร็งร้ายในตับ ที่ ทำให้อาการของเขาทรุดหนักลงอย่างรวดเร็ว และเป็นการปิดฉากชีวิตลงอย่างถาวร หลังจากลาออกจากกลุ่มสยามมีเดีย แอนด์คอมมิวนิเคชั่น เพื่อมาพักรักษาตัว ที่บ้านในเวลาเพียงไม่กี่เดือน

แต่สิ่งที่ไม่ได้ตายจากไปด้วยก็คือ ผลงานของการเป็นผู้บุกเบิกนำ เครื่องเอทีเอ็มมาใช้ในธนาคารไทยพาณิชย์ และแม้ว่าเขาจะประสบความล้ม เหลวการบริหารงานในสยาม มีเดีย แอนด์คอมมิวนิเคชั่นในช่วงหลายปีมานี้ ที่ แบงก์ไทยพาณิชย์ต้องสูญเงินไปไม่น้อย แต่ก็ไม่อาจลบตำนานความสำเร็จ การเป็นผู้บุกเบิกครั้งนั้น ไปได้ เพราะมันคือ ข้อต่อของการเข้าสู่ธุรกิจรีเทล แบงกิ้งตราบจนถึงวันนี้ ที่เอทีเอ็มก็ยังเป็นยุทธศาสตร์ ที่สำคัญ ที่แบงก์มองข้ามไม่ได้ และจำเป็นต้องให้ความสำคัญมากขึ้นไปอีก

บรรณวิทย์ได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่ชื่นชอบศิลปะเขมร พอๆกับชอบพูดเรื่อง เทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology) เขาสะสมงาน ที่เป็น ศิลปะของขอมเป็นจำนวนมาก ทั้งงานปั้น ภาพวาด และมักจะเล่าถึงตำนาน ความเป็นมาของสะสมเหล่านี้ให้ผู้สื่อข่าว ที่ไปสัมภาษณ์เขา สมัย ที่ยังนั่งทำงานอยู่ ที่สำนักงานใหญ่ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ ได้พอๆ กับการพูดถึงเรื่องอนาคตของไอที และสร้างให้เขาได้ชื่อเป็นผู้ที่มีวิสัยทัศน์ในเรื่องเหล่านี้ได้ดีที่สุดคนหนึ่ง

ก่อนหน้าจะมาบุกเบิกระบบเอทีเอ็มให้กับแบงก์ไทยพาณิชย์ เขาเคยเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายไอทีคนหนึ่งของแบงก์กรุงเทพ ที่ยังมองไม่เห็นถึงศักยภาพของเอทีเอ็มในเวลานั้น บรรณวิทย์จึงหอบหิ้วเอาโปรเจกต์มาเสนอให้ กับแบงก์ไทยพาณิชย์ และนับตั้งแต่นั้น เป็นต้นมาแบงก์ไทยพาณิชย์ก็ได้ชื่อ ว่าเป็นผู้นำในเรื่องของอิเล็กทรอนิกส์แบงกิ้งมาจนทุกวันนี้

สำหรับตัวบรรณวิทย์ ผลงานในครั้งนั้น เป็นสปริงบอร์ด ที่ทำให้เขาเติบใหญ่ในหน้าที่การงานในเวลาอันรวดเร็ว และได้ขึ้นเป็นถึงรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ดูแลลูกค้ารายย่อย เป็นตำแหน่งสุดท้ายของเขาในแบงก์แห่งนี้ และเป็นจุดหักเห ที่สำคัญ ที่ทำให้เขาอยากแยกออกมาสร้างอาณาจักรธุรกิจ ไอที ที่เป็นการทำเทคโนโลยีสารสนเทศจริงๆ ไม่ใช่แค่นำไอทีมาให้แบงก์ใช้งานเหมือนก่อน

หากมองในแง่ของการเติบโตในหน้าที่การงานในแบงก์ไทยพาณิชย์แล้ว โอกาส ที่จะก้าวขึ้นนั่งเก้าอี้กรรมการผู้จัดการใหญ่ไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่ใช่แค่ ประกิต ประทีปะเสน ที่มีอายุงานใกล้เคียงกันแล้ว ก็ยังมีชฎา วัฒนศิริธรรม รองกรรมการผู้จัดการที่มีประสบการณ์ และเชี่ยวชาญในเรื่องการเงินอยู่แล้ว หนทาง ที่จะก้าวขึ้นสู่เก้าอี้ใหญ่จึงไม่ใช่เรื่องง่าย

แนวความคิดของเขาก็ได้รับการสนับสนุนจากโอฬาร ไชยประวัติ กรรมการผู้จัดการใหญ่ของแบงก์ไทยพาณิชย์เป็นอย่างดี และเวลานั้น ไทย พาณิชย์ก็ได้โครงการใหญ่อย่างทีวีเสรี หรือไอทีวีมาอยู่ในมือ

การสร้างอาณาจักรสยามมีเดียฯ ให้มีขอบเขตธุรกิจ ที่กว้างใหญ่ จึงเป็นสิ่งที่บรรณวิทย์คุ้นเคยมากเสียยิ่งกว่าการบริหารธุรกิจธนาคารด้วยซ้ำ

บรรณวิทย์เคยอธิบายให้ผู้สื่อข่าวฟังว่า ทิศทางของสยามมีเดียแอนด์ คอมมิวนิเคชั่น คือ การสร้างบริการใหม่ๆ ที่ใช้ไอทีเป็นตัวนำพา หากเปรียบ แล้วก็เหมือนกับการสร้างรถชนิดต่างๆ ไปวิ่งบนถนนทางด่วนข้อมูล และ บริการเหล่านี้จะต้องตอบสนองผู้ใช้ได้ทุกสถานการณ์ ไม่ว่าจะใช้ในเรื่องของงาน การศึกษา และ เพื่อบันเทิง

จะว่าไปแล้ว แนวคิดของบรรณวิทย์อาจไม่ใช่เรื่องผิด เพราะธุรกิจอินฟอร์เมชั่น เทคโนโลยี เป็นคลื่นลูก ที่สาม ที่ทรงพลัง หากชนะเขาจะเป็นต่อ ในทางธุรกิจด้วยเครือข่าย ที่วางไว้ทุกๆ ด้าน แต่บังเอิญว่าช่วงเวลาการเข้าสู่ธุรกิจไอทีของสยาม มีเดียฯ ไม่ต่างไปจากเรือลำสุดท้าย ที่กำลังจากท่าเรือ ในขณะที่ชินวัตร ยู คอม ซีพี จัสมิน และสามารถ ต่างก็พากันแสวงหารายได้จากสัมปทาน หลักๆ กันไปเกือบหมดแล้ว

เวลา ที่เหลืออยู่ไม่มาก เป็นสถานการณ์ ที่บีบบังคับให้บรรณวิทย์ต้องเร่งรีบขยายธุรกิจ และเป็นที่มาของการแตกบริษัทลูกออกหลานมากถึง 40 แห่ง ใน 9 กลุ่มธุรกิจ ที่ครอบคลุมธุรกิจทุกสื่อ โทรคมนาคม ไอที ซึ่งทั้งหมดนี้ใช้เวลาเพียงแค่ปีกว่าๆ เท่านั้น

บรรณวิทย์มักพูดกับพนักงานเสมอว่า SPEED หรือ ความเร็ว จะนำไปสู่ความเป็นต่อในการแข่งขันทางธุรกิจ

บรรณวิทย์ให้เหตุผลว่าองค์กรธุรกิจต่างๆ เช่น ธุรกิจโทรคมนาคม ต่างก็มีโครงสร้างใหญ่โต เพื่อพยายามก้าวกระโดดอย่างรวดเร็ว ซึ่งไม่ใช่ เรื่องผิดแปลกอะไรในโลกปัจจุบัน ที่ทุกฝ่ายก็ต้องพยายามเติบโตอย่างรวดเร็วทั้งนั้น

และวิธีการขยายธุรกิจโดยยึดหลักความเร็ว มักจะควบคู่ไปกับวิธีการไล่ล่าซื้อกิจการ ผนวกกิจการ ซึ่งบรรณวิทย์ใช้ทั้งสองสิ่งนี้ควบคู่กันไปอย่างครบถ้วน

บรรณวิทย์อาจมีวิสัยทัศน์ใน เรื่องไอที แต่สิ่งที่ขาดก็คือ ประสบการณ์ ในเรื่องของการทำข้อตกลงทางธุรกิจ (DEAL) และการบริหารงานในฐานะ ของกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ที่ทำให้สยามมีเดียฯ ไปไม่ถึง ที่เขาฝันไว้

แม้ว่าสยามมีเดียฯ จะปิดตำนานความยิ่งใหญ่ลงไปแล้วพร้อมๆ กับ การจากไปของบรรณวิทย์

แต่สิ่งที่ทุกคนไม่ลืมก็คือ ผลงานของเอทีเอ็ม ที่เขาเป็นผู้บุกเบิกขึ้นมา แม้เวลาจะล่วงเลยมากว่าสิบปีแล้ว ทุกวันนี้เอทีเอ็มก็ยังทรงพลังของตัวเอง และจะเพิ่มความสำคัญยิ่งขึ้น เพราะมันจะเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ ที่ สำคัญของการที่แบงก์ก้าวไปสู่รีเทลแบงกิ้ง

แม้ว่าอินเตอร์เน็ตจะเข้ามามีอิทธิพลกับทุกธุรกิจไม่เว้นแม้กระทั่งธุรกิจธนาคาร ซึ่งทำให้หลายธนาคารของไทยเวลานี้กำลังจินตนาการกับเรื่อง เหล่านี้อย่างขะมักเขม้นก็ตาม เอทีเอ็มก็ยังเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญ ที่แบงก์จะมอง ข้ามเม่ได้ เพราะคือ อุปกรณ์ ที่ลูกค้าคุ้นเคย และเข้าถึงได้ดีอยู่แล้ว และอาจจะได้ดีกว่าการที่ธนาคารต้องรอให้มียอดผู้ใช้อินเตอร์เน็ตมากขึ้นด้วยซ้ำ เพียงแต่รูปแบบบริการใหม่ๆ ที่จะมาตอบสนองความต้องการได้มากขึ้นกว่าเดิม

นั่นคือ สิ่งที่พิสูจน์ว่า บรรณวิทย์ ไม่ได้ตายไปจากตำนานของการเป็นผู้มีวิสัยทัศน์ในเรื่องไอทีเลย แม้ว่าภาพนั้น จะไม่สมบูรณ์ที่สุดก็ตาม



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.