|
ธอส.หนักใจยอดเงินกู้ไม่ผ่านพุ่ง30%เหตุลูกค้าไม่รักษาวินัยการก่อสหนี้-แนะซื้อบ้านราคาถูก
ผู้จัดการรายวัน(13 กรกฎาคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
ธอส.ระบุอัตราการปฏิเสธปล่อยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นเป็น 20-30% จากปี 2548 ที่มีอัตรา 10-15% เนื่องจากผู้กู้มีคุณสมบัติไม่ผ่านเกณฑ์ของเครดิต บูโร จากการกู้สินเชื่อบุคคล พร้อมทั้งเตรียมเปิดผลสำรวจดัชนีศักยภาพการเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยในประเทศไทย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย พร้อมเร่งหาแนวทางให้ผู้ประกอบอสังหาฯในตลาดหลักทรัพย์ฯขยันส่งข้อมูล หนักใจส่วนใหญ่ไม่ให้ความร่วมมือ ด้านผอ.ศูนย์ส่งไม้ต่อรักษาการฯ เร่งผลักดันให้ผู้ประกอบการส่งข้อมูล- คลอดพ.ร.บ.นายหน้าอสังหาฯ และเข้มงวดใบอนุญาตนักประเมิน
นายขรรค์ ประจวบเหมาะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวว่า ขณะนี้พบว่า อัตราการปฏิเสธปล่อยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยได้เพิ่มขึ้นเป็น 20-30 % จากปี 2548 ซึ่งเป็นช่วงที่ยังไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งผู้กู้จะถูกปฏิเสธในอัตรา 10-15% ของจำนวนผู้ยื่นกู้เท่านั้น โดยสาเหตุหลักมาจากการตรวจพบว่า ผู้กู้มีภาระหนี้มากขึ้นจากสินเชื่อรายย่อย ที่สถาบันการเงินปล่อยให้ผู้บริโภคในรูปแบบสินเชื่อบุคคล ทำให้เกิดสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL)ในหนี้กลุ่มนี้มาก และประวัติของลูกหนี้หรือผู้กู้จะถูกป้อนเข้าไปยังศูนย์เครดิต บูโร ทำให้ผู้กู้มีโอกาสน้อยมากในการได้รับอนุมัติสินเชื่อ นอกจากนี้ผู้กู้บางส่วนมีรายได้ไม่เพียงพอต่อการชำระในภาวะที่ดอกเบี้ยสูงขึ้น ซึ่งธอส.แนะนำให้หาบ้านราคาถูกลง หรือหาผู้กู้ร่วมเพื่อให้รายได้รวมสูงขึ้น
โดยขณะนี้ ที่อยู่อาศัยระดับราคาเกิน 5 ล้านบาทเริ่มขายได้ยาก แต่ต่ำถ้าราคากว่า 3 ล้านบาทยังขายได้ดี ซึ่งในเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา ธอส.สามารถปล่อยสินเชื่อไปแล้ว 10,000 ล้านบาทเศษ ส่วนเดือนก.ค.นี้คาดว่าจะอยู่ที่ 8,000-9,000 ล้านบาท จึงจะประชุมเพื่อพิจารณาอีกครั้งว่าจะปรับเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อหรือไม่ ประกอบกับภาวะเช่นนี้ ประชาชนเริ่มลังเลในการซื้อบ้านมากขึ้น เนื่องจากเงินในกระเป๋ามีไม่พอกับภาระค่าครองชีพ
อย่างไรก็ตาม เร็ว ๆ นี้ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นหน่วยหนึ่งของ ธอส. จะทำการเปิดเผยผลสำรวจดัชนีศักยภาพการเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยในประเทศไทย เพื่อให้รู้ว่า ประชาชนในแต่ละเขตมีความสามารถที่จะเป็นเจ้าของบ้านได้หรือไม่ ด้วยการนำรายได้รวมของคนในครอบครัวมาเปรียบเทียบกับหลักเกณฑ์ของธนาคาร ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่าย
กลุ้มใจบริษัทอสังหาฯในตลาดไม่ป้อนข้อมูล
นายขรรค์ กล่าวในฐานะประธานอำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาฯธอส.ว่า ขณะนี้การส่งข้อมูลของบริษัทพัฒนาที่ดิน เพื่อจัดทำดัชนีชี้วัดในส่วนของอุปทานในตลาด มีผู้ประกอบการเพียงไม่กี่รายที่จัดส่งข้อมูลให้กับทางศูนย์ฯ โดยให้เหตุผลว่าข้อมูลที่ศูนย์ข้อมูลฯ ขอให้จัดส่งบางรายการถือเป็นความลับและอาจทำให้เกิดความเสียหายในการดำเนินธุรกิจ เช่น ข้อมูลเกี่ยวกับที่ดินรอพัฒนา(แลนด์แบงก์),ข้อมูลด้านการขาย และสินค้าคงค้าง(สต๊อก) ซึ่งทางศูนย์ข้อมูลพยายามจะแก้ไขปัญหาด้านข้อมูลจากเอกชนที่ยังไม่ได้รับความร่วมมือเท่าที่ควร โดยส่วนหนึ่งได้ว่าจ้างบริษัทประเมินลงสำรวจภาคสนามแทน
" ธอส.จะหารือกับตลาดหลักทรัพย์ฯในฐานะหน่วยงานที่เก็บข้อมูลบริษัทพัฒนาที่ดินในตลาดหลักทรัพย์ฯว่า จะมีแนวทางอย่างไรที่จะให้เอกชนส่งข้อมูลเพิ่ม"นายขรรค์กล่าวถึงสิ่งที่เกิดขึ้น
"สัมมา คีตสิน"จ่อรับไม้ต่อดูศูนย์ข้อมูล
ในส่วนการหาผู้บริหารมานั่งตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลฯแทนนายพงษ์ศักดิ์ ที่ต้องไปรับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือ เอสเอ็มอีแบงก์นั้น นายพงษ์ศักดิ์ กล่าวว่า ทางศูนย์ฯได้แต่งตั้งนายสัมมา คีตสิน อดีตกรรมการผู้จัดการ บริษัท ข้อมูลเครดิตไทย จำกัด เป็นรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์แทน
นายสัมมา คีตสิน กล่าวว่า ศูนย์ข้อมูลฯ มีแนวคิดที่จะส่งเจ้าหน้าที่ไปพบบริษัทพัฒนาอสังหาฯ ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในลักษณะเดียวกับการ Visit Company ของนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ที่เข้าไปเจาะข้อมูลของแต่ละบริษัท แต่ศูนย์ฯคงจะไม่ต้องการข้อมูลที่ลึกเหมือนที่นักวิเคราะห์ต้องการ ทั้งนี้ การขอข้อมูลคงจะทำในลักษณะแลกเปลี่ยนข้อมูลเหมือนที่ศูนย์ข้อมูลเครดิตบูโรเคยใช้
สำหรับภาระกิจเร่งด่วนที่ทางศูนย์ข้อมูลฯต้องดำเนินการ คือ 1. การขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการ ในการส่งข้อมูลอสังหาฯ โดยเฉพาะข้อมูลสต๊อกบ้าน ยอดขายที่แท้จริงและแลนด์แบงก์ โดยปัจจุบันผู้ประกอบการส่งข้อมูลเฉพาะราคาขายและจำนวนโครงการที่เปิดใหม่เท่านั้น 2.การออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นายหน้าอสังหาฯซึ่งรวมไปถึงใบอนุญาตนายหน้าอสังหาฯ หรือไลน์เซ็น ซึ่งที่ผ่านมาสมาคมนายหน้าอสังหาฯ ไม่ได้ให้ความสำคัญมากนัก ทั้งๆที่เป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง อีกทั้งยังเป็นผู้ผลักดันเรื่องดังกล่าวขึ้นมา
" ต้องการให้สมาคมนายหน้าฯ จริงจังกับเรื่องดังกล่าว ในการผลักดันและนำเสนอเรื่องไปยังรัฐบาลก็จะทำให้พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวเกิดขึ้นเร็วขึ้น"นายพงษ์ศักดิ์กล่าวก่อนไปรับตำแหน่งใหม่
3.ผลักดันให้มีความเข้มงวดในการขอใบอนุญาตนักประเมินราคา และกำหนดบทลงโทษในกรณีผู้ที่กระทำความผิดในหน้าที่อย่างน้อย 3-5 ปี
นายพงษ์ศักดิ์ กล่าวอีกว่า ศูนย์ได้รวบรวมข้อมูลบ้านมือสองทั้งประเทศ พบว่ามีทั้งหมด 186,000 กว่ารายการ ซึ่งถูกนำไปขายบนเว็บไซต์ http://www.resalehomethai.com/ พบว่า ในช่วงไตรมาสแรกตัวเลขดังกล่าวได้ลดลงไป 30,000 รายการหรือเฉลี่ยเดือนละ 10,000 รายการ โดยในเบื้องต้นสรุปได้ว่าเป็นการขายออกไปหรือบางส่วนหมดสัญญา ลูกค้าเปลี่ยนใจไม่ขายเลยถอดรายการออกไป ซึ่งราคาเฉลี่ย 3 ล้านบาทต่อรายการ ถือเป็นแนวโน้มที่ดีของภาวะตลาดบ้านมือสอง
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|