"อภิศักดิ์"ลั่นรู้หน้าที่ปล่อยสินเชื่อสอนมวย"ทนง"-คลังบีบแบงก์ไม่ได้


ผู้จัดการรายวัน(12 กรกฎาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

"อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์" บิ๊กแบงก์กรุงไทยเปิดใจไม่เซอร์ไพรส์กรณีกระทรวงการคลังเรียกแบงก์พาณิชย์ไปถกปัญหาสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือภาคธุรกิจ ระบุการปล่อยกู้เป็นหน้าที่ของสถาบันการเงิน รัฐบาลหรือคลังจะบีบบังคับให้อุ้มธุรกิจไม่ได้ เผยนโยบายแบงก์กรุงไทยให้ความสำคัญในการดูแลความเสี่ยง

กรณีที่นายทนง พิทยะ รักษาการ รมว.คลัง จะเชิญผู้บริหารธนาคารพาณิชย์ไปหารือเกี่ยวกับการปล่อยสินเชื่อในครึ่งปีหลังให้กับผู้ประกอบการหลังจากพบว่ามีแนวโน้มชะลอตัว โดยเฉพาะสินเชื่อภาคอสังหาริมทรัพย์และสินเชื่อรถยนต์ นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ ์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวไม่มีอะไรพิเศษและไม่น่าจะมีปัญหา เนื่องจากการปล่อยสินเชื่อ ธนาคารพาณิชย์ต้องพิจารณาถึงความเป็นไปได้ของธุรกิจ

ดังนั้นกระทรวงการคลังไม่สามารถสั่งการหรือบีบบังคับให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อเพื่ออุ้มธุรกิจใดธุรกิจหนึ่ง แต่คงต้องหาแนวทางร่วมกันในการดำเนินการว่าในปัจจุบันสถาบันการเงินแต่ละแห่งต่างมุ่งขยายสินเชื่ออยู่แล้ว ซึ่งในส่วนของธนาคารกรุงไทยเองเป็นธนาคารของรัฐคงจะไม่มีการหยุดปล่อยสินเชื่อแต่จะเน้นมาพิจารณาเรื่องของการดูแลความเสี่ยงให้มากขึ้น

“เขาคงไม่ขอความร่วมมือเรื่องการตรึงดอกเบี้ยเหมือนกับกรณีแบงก์รัฐอยู่แล้ว เพราะแบงก์เราจดทะเบียนในตลาดไม่เหมือนแบงก์รัฐ อีกอย่างแบงก์รัฐเมื่อถูกตรึงดอกเบี้ยก็จะได้รับการอุดหนุนด้วยงบประมาณ แต่แบงก์กรุงไทยไม่ได้” นายอภิศักดิ์กล่าว

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาการดำเนินธุรกิจของธนาคารนอกจากต้องสร้างผลกำไรจากการทำธุรกิจให้มากที่สุดแล้ว ธนาคารยังธำรงไว้ซึ่งความรับผิดชอบต่อสังคมต่อประเทศด้วยในฐานะที่เป็นแบงก์รัฐ ซึ่งหากสามารถทำกำไรหรือมีรายได้ที่เพียงพอ ก็พร้อมที่จะแบ่งส่วนหนึ่งมาช่วยเหลือสังคม

“ในช่วงที่เขาบอกว่าอยากจะให้ออกโครงการธงฟ้า ธนาคารได้ออกโครงการธงฟ้าธนวัฏซึ่งก็ลดอัตราดอกเบี้ยให้แก่ผู้ที่มาขอกู้เงินธนวัฏในช่วงนั้นถึง 3%เป็นเวลา 3 เดือน ซึ่งอันนี้ถือว่าเราถ้าเราอยู่ในวิสัยที่ถือว่าเราช่วยได้ก็ช่วยเต็มที่ เราได้ประโยชน์ ลูกค้าได้ประโยชน์ ขณะเดียวกันได้ฐานลูกค้าเพิ่มขึ้นในอนาคต เราให้สังคมเราก็ได้ภาพลักษณ์ที่ดีขึ้น”

อย่างไรก็ตามการปล่อยสินเชื่อภาครัฐในช่วงครึ่งปีแรกมองว่ายังสามารถเติบโตได้ดีโดยเฉพาะรายย่อย เนื่องจากธนาคารมีโครงการสินเชื่อธนวัฏ ซึ่งเป็นสินเชื่อที่โตอย่างต่อเนื่องและมีหนี้เสียน้อย และสินเชื่อบ้านที่ธนาคารได้ทำรีไฟแนนซ์เมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งได้ครบกำหนดใช้ให้กับธนาคารแล้ว โดยก่อนหน้านี้ธนาคารไม่ได้รุกสินเชื่อส่วนนี้ แต่ปัจจุบันธนาคารได้กลับมาดูแลทำให้มียอดสินเชื่อเพิ่มขึ้น ทำให้คู่แข่งขยายธุรกิจในส่วนนี้ลำบากขึ้น

นายอภิศักดิ์ยังเปิดเผยถึงการขยายสินเชื่อรายใหญ่ของธนาคารว่ายังสามารถเติบโตได้ดี โดยในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมาพบว่าการขยายสินเชื่อรายใหญ่ที่เป็นสินเชื่อระยะสั้นยังสามารถเติบโตได้ ส่วนการกู้เพื่อลงทุนยังมีไม่มาก ซึ่งปัจจุบันธนาคารเองจะออกไปหาลูกค้าเพื่อปล่อยสินเชื่อต่างจากเมื่อก่อนที่ลูกค้าต้องมาที่ธนาคาร

“กู้เพื่อการลงทุนยังมีไม่ค่อยมาก ส่วนใหญ่กู้ระยะสั้นเป็นในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมาไม่ใช่ว่าเราไม่อนุมัติหรือลูกค้าไม่เข้ามาเดี๋ยวนี้เราต้องออกไปหาลูกค้าแบงก์ตอนนี้การหาสินเชื่อต้ องไปหาลูกค้า รอให้ลูกค้าเข้ามาไม่ได้กิน ทีมงานของเราขณะนี้รุกไปทุกสาย ออกไปหาลูกค้าเพื่อหาสินเชื่อ ไม่ใช่นั่งเฉย”

ทั้งนี้ ในหลักการหากมองในภาพรวมระหว่างเงินทุนกับความต้องการในการลงทุนอาจจะไม่ดี เพราะเศรษฐกิจของประเทศในอนาคตจะโตต่อเนื่องได้ต้องมีความต้องการลงทุน แต่ถ้ามีเงินทุนแต่การลงทุนหยุด ผลก็คือในอีก 6 เดือน 1 ปีข้างหน้าก็จะไม่มีสินค้าใหม่เกิดขึ้น จะเป็นผลไม่ดีต่อเศรษฐกิจส่วนใหญ่ อย่างไรก็ตาม เท่าที่ประเมินขณะนี้นักลงทุนยังรอจังหวะการลงทุน หากปัจจัยต่างๆ เข้าสู่ภาวะปกติ จะมีหลายๆ ภาคธุรกิจเดินหน้าก็จะใช้กำลังการผลิตก็เกินกว่า 80-90%

กสิกรชี้ปล่อยกู้ตามกลไกตลาด

ผู้จัดการรายวัน-“ประสาร”แนะการปล่อยสินเชื่อของแบงก์พาณิชย์ต้องสะท้อนความจริงหากเน้นปล่อยสินเชื่อมากไปอาจเพิ่มความเสี่ยงกับทุกฝ่าย ยอมรับสินเชื่อครึ่งปีหลังหดตัว พร้อมแบง่เกรดเอ็นพีเอขายบสก.ตั้งราคา 67-82%

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด(มหาชน)KBANK เปิดเผยว่า การที่ภาครัฐมีนโยบายให้ธนาคารพาณิชย์เพิ่มการปล่อยสินเชื่อให้กับภาคธุรกิจนั้น การปล่อยสินเชื่อควรที่จะสะท้อนความเป็นจริงของธุรกิจ เนื่องจากการกระตุ้นการปล่อยสินเชื่อเกินความเป็นจริงอาจเป็นความเสี่ยงของธุรกิจและธนาคารเอง

ซึ่งในปัจจุบันธนาคารพาณิชย์เอกชนส่วนใหญ่มีการปล่อยสินเชื่อตาม ความต้องการของภาคธุรกิจอย่างเต็มที่ เนื่องจากจะต้องหารายได้และให้การปล่อยสินเชื่อเป็นไปตามเป้าหมายแต่ การปล่อยสินเชื่อก็ต้องระมัดระวังคุณภาพ สำหรับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ยังมีโอกาสขยายตัวได้ในส่วนของบ้านที่มีราคา 1-3 ล้านบาท ส่วนธุรกิจอุตสาหกรรมรถยนต์ก็ยังมีการขยายตัวพอสมควร

“สินเชื่อที่ชะลอเป็นการสะท้อนความเป็นจริงของเศรษฐกิจ ซึ่งถ้าเศรษฐกิจจริงต้องการเงินมากแบงก์ก็ปล่อยมากแต่หากต้องการน้อยและให้มากก็จะผิด และตรงนี้ก็ไม่มีแบงก์ไหน ไม่อยากปล่อยสินเชื่อ เพื่อหารายได้ แต่ก็ต้องทำตามสภาพความเป็นจริง” นายประสารกล่าว

สำหรับสินเชื่อในครึ่งปีหลัง นายประสารยอมรับว่า ยังมีแต่จะไม่สูงมาก เพราะการลงทุนในประเทศ การอุปโภคและบริโภคชะลอลง ทำให้ความต้องการใช้เงินน้อยลง แต่สินเชื่อที่ยังขยายตัวเนื่องจากเศรษฐกิจไทยในปีนี้ที่น่าจะโตได้ในอัตรา 4%

ส่วนการขายสินทรัพย์รอการขาย หรือNPA ของธนาคารให้กับบริษัทบริหารสินทรัพย์กรุงเทพ พาณิชย์ จำกัด(บสก.)นั้น มีความเป็นไปได้ที่ธนาคารจะนำทรัพย์ประเภท NPA ขายให้กับบสก. โดยขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการประเมินพอร์ทของธนาคารเปรียบเทียบกับราคาเสนอซื้อทรัพย์

“ธนาคารก็สนใจที่จะขายทรัพย์ประเภทNPA ของธนาคารให้กับบสก. โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการประเมินพอร์ตสินเชื่อ เพราะขั้นตอนการรับซื้อจะต้องจัดทรัพย์แบ่งเป็นกองๆละ 500 ล้านบาท” นายประสารกล่าว

สำหรับการซื้อทรัพย์NPA ของบสก. แบ่งเป็น 4 เกรด ได้แก่ ทรัพย์เกรด A ซื้อในราคา 82% เกรด B ซื้อราคา 77% ทรัพย์เกรด C ซื้อราคา 72% และทรัพย์เกรด D ซื้อในราคา 67%


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.