โอกาสรอด 'ยูนิคอร์ด' เมื่อ ดำริห์ ก่อนันทเกียรติ รับผิดชอบด้วยชีวิต

โดย สุปราณี คงนิรันดรสุข สันทิฏฐ์ สมานฉันท์
นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2538)



กลับสู่หน้าหลัก

หลังการตายของดำริห์ หลายคนอาจเข้าใจว่า อนาคตของยูนิคอร์ด ยิ่งดูมืดมนหนักขึ้น แต่ในทางตรงข้ามน่าจะเป็นการฉุดให้สถานการณ์ที่เข้าตาจนกลับมีหนทางอีกครั้ง ดำริห์หวังเพียงแค่นี้เพื่อให้ยูนิคอร์ดอาณาจักรที่สร้างมาด้วยมือตนเองยังพอมีทางออกอยู่บ้าง

อนาคตของยูนิคอร์ดจึงขึ้นอยู่กับว่า ทีมบริหารชุดใหม่ จะเลือกแนวทางแก้ไขอย่างไร ซึ่งทางออกนั้นพอมี แต่ล้วนกดดันและสะเทือนใจ 'พรพรรณ' ภรรยาของดำริห์ ซึ่งเข้ามารับหน้าที่แทนทั้งสิ้น

ทำไม???

คำถามที่ก้องอยู่ในความรู้สึกแรกของผู้คนที่รับทราบเหตุการณ์ ภายหลังของการตัดสินใจอย่างเด็ดเดี่ยวครั้งสุดท้ายในชีวิต "ดำริห์ ก่อนันทเกียรติ"

ไม่ว่าจะคาดเดาไปอย่างไร ก็ไม่อาจจะสรุปอย่างชี้ชัดถึงเหตุผลที่นำมาซึ่งการตัดสินใจอย่างน่าสลดเช่นนั้นได้ หรือแต่แต่ดำริห์เอง ก็ใช่ว่าจะตอบคำถามได้ทั้งหมด ว่าทำไปเพราะอะไร และเพื่ออะไร

"เราจะเป็นโรงงานทำปลาทูน่าที่ใหญ่ที่สุดในโลก" ความฝันของดำริห์ ที่สะดุดลงกลางทาง แต่ยังดำรงอยู่ ก็ได้แต่หวังว่าผู้สืบสานจะสานฝันได้สำเร็จ

เรื่องราวของยูนิคอร์ด คงจะมิได้หยุดลงเพื่อเป็นตำนานไว้เพียงเท่านี้ การค้นหาหนทางเพื่อคลี่คลายปัญหาที่ยังคงอยู่น่าจะเป็นทางออกที่ผุ้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายตัดสินใจเลือกมากกว่า การจบบทบาทขององค์กรที่เคยสร้างความฮือฮาให้กับวงการธุรกิจของเมืองไทยเมี่อครั้งอดีต

ดำริห์ ก่อนันทเกียรติ ผันที่จะเป็นนักอุตสาหกรรมระดับโลก การนำบริษัทยูนิเคอร์ด เข้าไปซื้อกิจการ บริษัทบัมเบิ้ลบี ซีฟู้ด หรือบีบีเอส เมื่อปี 2532 ก็เพื่อหนทางที่ตั้งใจไว้

ด้วยเงินทุน 283 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 7,300 ล้านบาท เพื่อเข้าซื้อกิจการบัมเบิ้ลบี ซีฟู้ดส์ ซึ่งเป็นผู้ผลิต ผู้นำเข้าและจำหน่ายปลาทูน่ากระป๋องยี่ห้อบัมเบิ้ลบี ที่มีชื่อเสียงและเป็นเจ้าตลาดอันดับสามของสหรัฐอเมริกา นับเป็นการซื้อกิจการของต่างประเทศโดยธุรกิจไทยที่มีมูลค่าสูงสุด

แต่การตัดสินใจในครั้งนั้น นับว่าผิดพลาดตั้งแต่ต้น แม้แต่ดำริห์เอง ก็ยากที่จะปรับความรู้สึกได้ทัน

การเริ่มต้นเข้ามาซื้อบัมเบิ้ลบีฯ นับว่าซับซ้อนพอควร โดยดำริห์ได้ก่อตั้งบริษํทฯ UNI GROUP INC. จดทะบียนที่ BRITISH VIRGIN ISLANDS ซึ่งเป็นประเทศหมู่เกาะในทะเลแคริบเบียน ที่มีข้อตกลงกับรัฐบาลสหรัฐอเมริกาว่า ธุรกิจที่จดทะเบียนที่นี่จะเข้าไปดำเนินการในสหรัฐฯ ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ในสหรัฐฯ โดยบริษัทแห่งนี้ยูนิคอร์ดได้เข้ามาถือหุ้น 75% โดยอีก25% เป็นของบริษัทเดินเรื่องฮ่องกง "poisson shipping" ซึ่งมีสายสัมพันธ์อันดีกับกิจจาพ่อของดำริห์ เหตุผลที่ต้องดึงบริษัทเดินเรือฮ่องกงเข้ามาร่วมด้วยเพรายูนิคอร์ดเองมีเงินทุนไม่เพียงพอที่จะลงทุนทั้ง 40 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นการเรียกชำระเงินก่อนจากทุนจดทะเบียนทั้งหมด 100 ล้านเหรียญสหรัฐ อย่างไรก็ดีเวลาต่อมาบริษัทเดินเรือแห่งนี้ได้ถอนตัวไป ยูนิคอร์ดจึงต้องถือหุ้นไว้ทั้ง 100%

หลังตั้งบริษัท UNI GROUP INC.( BRITSH VIRGIN ISLANDS) แล้ว ดำริห์ ได้ตั้งบริษัท UNI GROUP INC. จดทะเบียนที่รัฐ DELAWARE ของสหรัฐฯ ซึ่งเก็บภาษีถูกกว่ารัฐอื่น โดยบริษัท UNI GROUP INC.( BRITISH BIRGIN ISLANDS) ถือหุ้นในบริษัท UNI Group INC.( Delaware) ถือหุ้นโดยตรง 100% ในบัมเบิ้ลบี ฯ ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นหลังจากได้รับชัยชนะในการประมูลซื้อบัมเบิ้ลบีฯ แล้วในเดือนสิงหาคม 2532

ความฝันที่จะสร้างอาณาจักรให้ยิ่งใหญ่ เป็นอันดับหนึ่งของโลกอุตสาหกรรมผลิตปลาทูน่ากระป๋อง กำลังอยู่แค่เอื้อม และด้วยความมั่นใจของดำริห์ที่ว่าถ้าครอบคลุมเครือข่ายได้ครบทั้งด้านการผลิต และการตลาดแล้ว ย่อมหมายถึงเส้นชัย

ดำริห์จึงยอมเสี่ยง

ขอให้ได้บัมเบิ้ลบีฯ ได้ก่อน เรื่องอื่นค่อยสางกันทีหลัง เป็นการตัดสินใจในแบบฉบับของดำริห์ ด้วยแนวธุรกิจแบบกล้ากล้าเสีย ที่น่าจะเป็นอุทาหรณ์สำคัญสำหรับนักะธุรกิจรุ่นหลัง

เงินราว 7,300 ล้านบาทเพื่อเข้าซื้อบัมเบิ้ลบีฯ โดยผ่านทางบริษัท UNI GROUP INC (DELAWARE) นั้น จะต้องหาให้ได้ภายในเดือนกันยายน 2532 ไม่เช่นนั้นแล้ว ความตั้งใจที่จะครองตลาดปลาทูน่ากระป๋องในสหรัฐฯ คงต้องล้มเหลวกลางคัน

นั่นหมายถึงดำริห์จะต้องหาเงินสดจำนวน 7,300 ล้านบาท ให้ได้ภายในระยะเวลาเพียงไม่ถึง 1 เดือน

แต่ดำริห์หาเงินจำนวนมหาศาลนั้นได้ทันกำหนด ซึ่งในขณะนั้นหลายคนยอมรับว่าดำริห์ประสบความสำเร็จไปก้าวหนึ่งแล้ว

เป็นที่ทราบกันว่าเงินที่นำมาซื้อบัมเบิ้ลบีฯ เป็นเงินกู้ทั้งสิ้นทั้งการกู้ระยะยาวแบบมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน และทั้งเงินกู้ระยะสั้นที่ไม่ได้วางหลักทรัพย์ค้ำประกัน ซึ่งหมายถึงดอกเบี้ยย่อมตามไปด้วย ที่สำคัญอยู่ภายใต้เงื่อนไขระยะเวลาอันจำกัด

แม้ภายหลังจะได้เงินจากการขายหุ้นกู้ยูนิคอร์ด ที่นำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จำนวนประมาณ 750 ล้านบาท แต่ก็ช่วยปลดเปลื้องภาระหนี้สินได้ไม่มากนัก และนี่คือสาเหตุหลักที่บีบให้สถานการณ์ของยูนิคอร์ดและบัมเบิ้ลบีฯ เลวร้ายลง

"เราพูดไม่ได้ว่า ดำเริห์หรือที่ปรึกษาทางการเงินตัดสินใจผิดพลาด เพราะนี่คือทางออกที่ดีที่สุดที่เราทำได้" คำกล่าวของผู้บริหาร ในเชส แมนฮัตตัน ประเทศไทย ซึ่งเป็นที่ปรึกษาทางการเงินทำหน้าที่ให้คำแนะนำและเสนอทางเลือกโครงสร้างทางด้านเงินกู้ให้กับดำริห์ ในขณะนั้น เป็นคำกล่าวหลังจากปัญหาเริ่มส่อเค้าให้เห็น

สถานการณ์เช่นนั้น ดำริห์ก็ไม่ต่างไปกับ ทำงานเพื่อคนอื่น !!

หลังจากได้บัมเบิ้ลบีฯ มาไว้ครอบครองแล้ว ดำริห์ กลับพบว่า สิ่งที่เขาหวังไว้ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำให้สำเร็จ ปี 2533 ซึ่งถือเป็นปีแรกที่ยูนิคอร์ด เข้าบริหาร บัมเบิ้ลบีฯ และกำไรที่ระดับ 20 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี ในช่วง ก่อนซึ่งดำริห์ก็คาดหวังเช่นนั้น ได้ตกต่ำลงเหลือเพียง 3 ล้านเหรียฐสหรัฐ เมื่อสิ้นปี 2533

เหตุผลสำคัญเพราะยูนิคอร์ดต้องนำรายได้ของบัมเบิ้ลบีฯ ไปชำระดอกเบี้ยเป็นจำนวนมาก ทำให้กำไรของบัมเบิ้ลบีฯ ลดลงอย่างรุนแรง

ปัญหาของบัมเบิ้ลบีฯ ที่ประสบโดยตลอดในระยะหลังก่อนที่จะมาอยู่ในทาอของดำริห์ คือการขาดการสนับสนุนทางด้านการเงินที่เพียงพอ ทำให้เกิดสภาพคล่อง ซึ่งที่ผ่านมา ผู้บริหารชุดก่อน ๆ ได้พยายามแก้ไขด้วยการกู้เงินจากสสถาบันการเงินแต่ไม่สามารถทำได้มากนัก เนื่องจากธุรกิจประเภทนี้มีต้นทุนสูง การกู้เงินทำให้ให้ภาระดอกเบี้ยเพิ่มเข้ามา ซึ่งจะทำให้ไม่ค้ามค่าการลงทุน และค่อนข้างเสี่ยงเกินไป

แต่การเข้ามาของยูนิคอร์ด กลับใช้วิธีการอย่างที่หลายคนไม่อยากใช้ คือการกู้เงินจากสถาบันการเงินเพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่อง มิหนำซ้ำ ยังเป็นการกู้เงินตั้งแต่เริ่มต้นการเข้าซื้อกิจการทีเดียว ทำให้ภาระดอกเบี้ยหนักอึ้ง

จะเห็นได้ว่า จากการให้ข่าวของดำริห์ เอง หลังจากเข้าบริหารบัมเบิ้ลบีฯ ได้ 1 ปี ว่ายอดการขายของบัมเบิ้ลบีฯ เพิ่มขึ้นประมาณ 20% มีส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้น 4% ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นจริง ยอดกำไรน่าจะเพิ่มขึ้น แต่กำไรกลับหดเหลือเพียง 3 ล้านเหรียญสหรัฐ ย่อมแสดงได้ว่าค่าใช้จ่ายด้านดอกเบี้ยของดำหริห์จากกิจการบัมเบิ้ลบีฯ สูงมาก

ความผิดพลาดซ้ำสองของดำหริห์ ก็คือการวางแผนในการขยายตลาดของบัมเบิ้ลบีฯ ในลักษณะทุ่มสุดตัว เพื่อโค่นคู่แข่งให้ได้ โดยที่ประเมินคู่แข่งผิดพลาดอย่างมหันต์

ก่อนหน้านั้น บัมเบิ้ลบีฯ ถือเป็นอันดับสาม รองจากยี่ห้อสตาร์คิดส์ ซึ่งเป็นของบริษัทอเมริกัน ชื่อ เอช.เจ.ไฮซ์ ที่ครองตลาดเป็นอันดับหนึ่ง และอันดับสองเป็นของชิคเก้นส์ ออฟเดอะซี ซึ่งกลุ่มแมยทรัสต์ ของอินโดนีเซีย ซื้อไปเมื่อปี 2531

การเข้าไปซื้อชิคเก้นส์ ออฟเดอะซี ของกลุ่มแมนทรัสต์ แห่งอินโดนีเวีย เป็นตัวอย่างหนึ่งของการรุกจากผู้ผลิตในย่านเอเชียแปซิผิค เพื่อสร้างฐานที่มั่นทางการจลาด ซึ่งตลาดใหญ่ที่สุดของโลกคือสหรัฐอเมริกา

ตัวอย่างนี้เป็นเสมือนตัวเร่งให้ยูนิคอร์ค ต้องตัดสินใจเพื่อยึดหัวหาดทางการตลาดที่เป็นของตัวเองให้ได้ เพื่อสร้างความมั่นใจในอนาคต ลดปัญหาการกีดกันทางการค้าซึ่งเริ่มส่อเค้าความรุนแรงขึ้น ประกอบกับความตั้งใจของดำเริห์ จึงทำให้ต้องเร่งซื้อบัมเบิ้ลบีฯ แม้จะไม่พร้อมก็ตาม

ความที่ต้องการจะสร้างความยิ่งใหญ่ในเวลาอันรวดเร็ว เพื่อยึดกุมตลาดส่วนใหญ่ให้ได้เร็วที่สุด ความคิดของดำริห์จึงมุ่งไปที่การสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันอย่างพิ้นฐานที่สุด และเร็วที่สุดถ้าสำเร็จ ซึ่งก็คือ การขายให้ถูกว่าสินค้าของคู่แข่ง บางครั้งแม้กำไรจะหดหายไปบ้างก็ต้องยอม ขอให้ขายให้ได้ก่อน มีปัญหาค่อยแก้ทีหลัง

เหตุผลที่ทำให้ดำริห์ มั่นใจจนดูเป็นว่า ต้องรีบขยายส่วนแบ่งการตลาดเพื่อหวังครองตลาดในเวลาอันรวดเร็วนั้น น่าจะมาจากากรประเมินสถานการณ์ผิดพลาด โดยคิดว่าตนเองมีทุกอย่างครบวงจรมากกว่าคู่แข่ง ด้วยโรงงานของยูนิคอร์ดมีกำลังการผลิตมากที่สุดในโลก แถมยังมีเครือข่ายฐานการผลิตอีกหลายแห่ง เช่นโรงงาน ที่ประเทศเปอร์โตริโก โรงงานในประเทศเอกวาดอร์ และโรงงานที่แคลิฟอร์เนีย ในสหรัฐอเมริกา จึงมั่นใจว่าการลดราคาเพื่อสร้างตลาดน่าจะเป็นหนทางที่สามารถทำได้ ขณะที่คู่แข่งไม่น่าจะพร้อม

แต่ว่าความคิดเช่นนี้ผิดถนัด!!

แต่สงครามราคาที่เกิดขึ้น ไม่มีใครยอมอ่อนข้อให้แก่กันซึ่งดูเหมือนว่าทั้งสามยักษ์ใหญ่ของอุตสาหกรรมปลาทูน่ากระป๋อง จะย่ำแย่ไปตากัน และที่เจ็บหนักที่สุดก็คือ บัมเบิ้ลบีฯ และยูนิคอร์ดเอง

เหตุผลสำคัญอีกประการหนึ่งที่เร่งให้ดำริห์ต้องรีบรุกตลาด เพราะภาระดอกเบี้ยที่คอยบีบอยู่ตลอดเวลา จึ้งต้องขยายฐานตลาดเพื่อหวังสร้างกำไรให้มากพอในอนาคต เพื่อนำมาล้างหนี้ให้ได้ ไม่เช่นนั้นแล้ว ก็จะอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบากตลอดไป

จนแล้วจนรอด ความหวังที่จะลบล้างความผิดพลาดที่ผ่านมาเพื่อหวังกอบกู้กิจการ ก็ไม่มีทีท่าว่าจะสำเร็จ ขณะที่กำหนดเคลียร์หนี้สินคืบคลานใกล้เข้ามาทุกขณะ

สถานการณ์ขอบยูนิคอร์ดเลวร้ายลงไปอีก เมื่อผลประกอบการของบัมเบิ้ลบีฯ ในปี 2534 ออกมาว่าขาดทุน 55 ล้านบาท ทั้งที่ปีก่อนมีกำไรถึง 3 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 75 ล้านบาท

ในปี 2535 บัมเบิ้ลบีฯ อาการยิ่งทรุดหนักลงไปเมือขาดทุนเพิ่มขึ้นเป็น 925 ล้านบาท

ผลประกอบการของบัมเบิ้ลบีฯ ฉุดสถานการณ์ของยูนิคอร์ดย้ำแย่ลงอย่างเลี่ยงไม่ได้ และในปี 2536 แม้ยูนิคอร์ดจะมีผลประกอบการที่มีกำไรอยู่บ้าง แต่เมื่อรวมบริษัทย่อยแล้ว ยังขาดทุนสะสมอยู่ถึง1,390 ล้านบาท

จนล่าสุดในปี 2537 ขาดทุนสะสมได้เพิ่มสูงขึ้นกว่า 1,711 ล้านบาท และไตรมาสแรกของปี 2538 นี้ ยูนิคอร์ดยังขาดทุนอีก 171.39 ล้านบาท

ด้วยตัวของยูนิคิร์ดเองบ ยังพอที่จะพยุงกิจการต่อไปได้ ขณะที่บัมเบิ้ลบีฯ เป็นตัวฉุด การหาทางออกจึงจำเป็นที่จะต้อตัดเนื้อร้ายทิ้ง แม้จะเป็นเรื่องฝืนใจและทำลายความฝันของดำริห์อย่างมิอาจจะทนได้ก็ตาม

ต้องยอมทิ้งบัมเบิ้ลบีฯ เพื่อรักษายูนิคอร์ดให้อยู่รอด!!

การเสนอทางออกให้ขายบัมเบิ้ลบีฯ เพื่อนำมาชำระหนี้สินและเพื่อกอบกู้กิจการยูนิคอร์ดเริ่มชัดเจนมากขึ้น และน่าจะกล่าวได้ว่า หลังจากที่ดำริห์ กำจร สถิรกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยเข้ามาดำรงตำแหน่งประธานกรรมการของยุนิคอร์ด เมื่อปี 2534

ในขั้นแรกมีการเสนอแนวทางแก้ไขโครงการสร้างหนี้ โดยการเพิ่มทุนให้กับบริษัท บัมเบิ้ลบีฯ จาก 75 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็น 118 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยบริษัทยูนิคอร์ดได้ส่งเงินจำนวน 43 ล้านเหรียญสหรัฐ ไปยัง UNI GROU[ INC.( DELAWARE) เพื่อที่จะได้นำเงินทุนนี้ไปชำระหนี้ให้กับ heller financial และ banker trust เพื่อลดอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน และเพื่อลดภาระดอกเบี้ย

การลดภาระหนี้สินของบัมเบิ้ลบีฯ ครั้งนั้น แม้จะเป็นเงินที่ได้จากการเพิ่มทุนของยูนิคอร์ดเอง จาก 700 ล้านบาท ซึ่งอาจจจะทำให้ผู้ถือหุ้นเสียสัดส่วนถือครองไปบ้างก็ตาม แต่ก็สามารถพยุงสถานการณ์ของบัมเบิ้ลบีฯ ก็ถือว่าคุ้ม

แต่จังหวะไม่เป็นใจให้กับดำหริ์ ดังที่กล่าว นโยบายด้านการตลาดที่ผิดพลาดได้ฉุดให้ดำเนินงาน แม้จะคลี่คลายหนี้สินไปได้ในระดับหนึ่งก็ตาม

หลังจากกำจรเข้าไปร่วมกำหนดแนวทางแล้ว เมือพบว่าทุกอย่างยากที่จะเยียวยา การตัดสินใจเพื่อหาผู้ร่วมทุนจึงเกิดขึ้นแต่ติดขัดที่ข้อจำกัด ซึ่งข้อจำกัดนั้นก็คือ ตัวดำริห์

ดำริห์ พยายามที่จะแก้ไขปัญหานี้ด้วยตัวเอง

"ถึงแม้จะไม่มีผู้ร่วมทุน เราก็ยังคงแก้ปัญหาได้ด้วยตัวเอง เพียงแต่ว่าการที่มีคนมาร่วมทุนจะทำให้บัมเบิ้ลบีฯ ดีขึ้น ดดยไม่ต้องใช้เวลาถึง 2 ปี" คำกล่าวของดำริห์ในช่วงนั้น

ความพยามของดำริห์ได้ดำเนินเรื่อยมา แต่ไม่มีทีท่าว่าจะพบความจริง จนที่สุดการประการขายบัมเบิ้ลบีฯ จึงเกิดขึ้น

และครั้งหลังสุดเมื่อต้นปี 2538 ที่ผ่านมา เป็นครั้งที่มีแนวโน้มเป็นไปได้มากที่สุดว่าบัมเบิ้ลบีฯ จะขายออก หลังจากที่มีข่าวมาหลายครั้งในช่วง 2-3ปีที่ผ่านมา

เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ บริษัท ยูนิคอร์ด ( มหาชน) ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า บริษัทได้ร่วมกับบริษํท บัมเบิ้ลบี ซีฟู้ดส์ หรือบีบีเอส ลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนง ลงวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2538 กับกลุ่มลงทุนนำโดย เคมีคัล เวนเจอร์ พาร์ทเนอร์ส หรือซีวีพี ซึ่งจะจัดตั้งบริษัทขึ้นในรัฐเดลาแวร์ สหรัฐอเมริกา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อซื้อขายทรัพย์สินทางปัญญาและสินทรัพย์บางประเภทของบีบีเอส

ทรัพย์สินที่จะทำการซื้อขายคือ ทรัพย์สินที่ใช้ประโยชน์หรือเกี่ยวข้องกับธุรกิจการค้าขาย การตลาดและการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารทะเลกระป๋องของบีบีเอส ประกอบด้วยทรัพย์สินทางปัญญาและค่านิยม เช่นเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายการบริการ ลิขสิทธิ์ทางการค้า รวมทั้งบัญชีหนี้การค้าและสินค้าสำเร็จรูปคงเหลือ

ส่วนทรัพย์สินที่ไม่ได้ซื้อขายตามข้อตกลงนั้น คือโรงงานผลิตอาหารกระป๋องทั้ง 3 แห่ง ซึ่งยังคงเป็นทรัพย์สินของบีบีเอสหรือยูนิคอร์ด และเปิดดำเนินกิจการต่อไป ซึ่งได้แก่โรงงานที่ประเทศเปอร์
โตริโก โรงงานที่ประเทศเอกวาดอร์ และโรงงานที่แคลิฟอร์เนีย ในสหรัฐอเมริกา

นอกจากสัญญาซื้อขายทรัพย์สินดังกล่าวแล้ว ยังมีข้อผูกมัดด้านการจัดหาและรับซื้อสินค้าระหว่างกัน ( supply agreement ) เป็นระยะเวลา 10 ปี ด้วย โดย ซีวีพี จะต้องซื้อผลิตภัณฑ์จากบัมเบิ้ลบี ซีฟูดส์และยูนิคอร์ด ตามชนิด ปริมาณ และราคาตามหลักเกณฑ์ที่จะกำหนด ขณะที่ยูนิคอร์ดก็จะต้องป้อนสินค้าให้ซีวีพี เพียงพอเสียก่อน จึงจะส่งไปจำหน่ายให้ผู้ซื้อรายอื่นได้

การดำเนินการทำสัญญาซื้อขายทรัพย์สินดังกล่าวว่า ไม่ใช่เพียงเพื่อความอยู่รอดจึงต้องตัดใจขายทรัพย์สินบางส่วนของบัมเบิ้ลบี ซีฟู้ด แต่เป็นทางออกของยูนิคอร์ดที่ต้องปรับโครงสร้างของธุรกิจเสียใหม่

แนนวทางหนึ่งที่ยูนิคอร์ด จะเลือกเดินก็คือ จะไม่เข้าไปทำตลาดในอเมริกาเหนือหรือแม้แต่ยุโรป ด้วยตัวเอง แต่จะหาพันธมิตรในการเข้าไปเจาะตลาดนั้น ๆ โดยอาจจะให้บริษัทผู้ทำตลาดเข้าร่วมทุนในโรงงานของยูนิคอร์ดก็จะเข้าถือหุ้นในบริษัทผู้ทำตลาดในแหล่งนั้น ๆ เป็นการพึงพาและประสานความชำนาญของแต่ละฝ่าย

แต่จนถึงขณะนี้ การตกลงซื้อขายอย่างเป็นทางการยังไม่เกิดขึ้น และมีทีท่าว่า ไม่สัมฤทธิ์ผลเสียแล้ว

สถานการณืของยูนิคอร์ด ตกเป็นฝ่ายจำยอมซึ่งแน่นอนว่า ผู้ซื้อจะต้องกดราคาลงมาอีกมาก แม้ว่าราคาขายที่ 155 ล้านเหรียญสหรัฐจะเป็นราคาที่ไม่สูงแล้วก็ตาม

ขณะที่อีกกระแสหนึ่งระบุว่า การเจรจายังติดขัดในข้อกฎหมายป้องกันการผูกขาด ทั้งนี้เนื่องจากซีวีพี ถือเป็นเครือญาติกับสตาร์คิสต์ เนื่องจาก chemical bank ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของซีวีพีนั้น เป็นเจ้าหนี้และผุ้ถือหุ้นของ chemical bank 2-3 ราย มีการถือหุ้นในสตาร์คิสต์ ดังนั้นจุงขัดกับจข้อกฎหมายนี้ ประกอบกับสถานการณ์ของสตาร์คิสต์ก็ประสบปัญหาการขาดทุนเช่นกัน ทางซีวีพี จึงต้องพิจารรษอย่างหนักที่จะเข้าซื้อกิจการของบัมเบิ้ลบีฯ

มาถึงขณะนี้ เป็นเรื่องยากลำบากอย่างยิ่งที่จะขายบัมเบิ้ลบีฯ ออกไป หรือถึงแม้จะขายออกไปได้ก็ใช่ว่าจะได้ราคาจนสามารถนำมาปลดภาระหนี้สินได้เพียงพอ

แต่กระนั้น ชาตรี โสภณพนิช ประธานกรรมการบริหาร ะนาคารกรุงเทพ เจ้าหนี้รายใหญ่รายหนึ่ง ก็ยังเห็นด้วยที่จะให้ยูนิคอร์ด เร่งขายบัมเบิ้ลบีฯ โดยเร็ว แม้ว่าจะต้องขายขาดทุนก็ตาม เนื่องจากโครงสร้างรายได้ของบริษัทส่วนใหญ่เป็นเงินกู้และมีรายได้ที่ไม่เพียงพอต่อการจ่ายดอกเบี้ย นอกจากนี้กิจการก็ดำเนินกิจการไปอย่างยากลำบาก เพระาติดขัดนโยบายหลายด้านของสหรัฐอเมริกา

ถึงขณะนี้ ยูนิคอร์ด มีหนี้ค้างชำระในและต่างประเทศอยู่ ราว 7,000 ล้าน บาท โดยมีหนี้สินต่างประเทศที่ค้างชำระให้กับแบงก์เกอร์ ทรัสต์ และเฮลลเลอร์ ไฟแนนซ์ อยู่รวมกว่า 3,000 โดยเป็นหนี้สินที่กู้ยืมไปใช้ในการซื้อบัมเบิ้ลบีฯ เมื่อปี 2532 ซึ่งจะต้องชำระภายในเดือนพฤษภาคม 2539 และหนี้สินในประเทศอีก 4,000 ล้านบาท ที่ค้างชำระธนาคารพาณิชย์ไทย รวมกับธนาคารต่างประเทศ ซึ่งตั้งสำนักงานในไทย ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ, ธนาคารไรุงไทย, ธนาคารทหารไทย, ธนารคารศรีนคร, ธนาคารมหานคร, ธนาคารนครหลวงไทย, ธนาคารนครธนม ธนาคารเอเซีย, ธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ และธนาคารดอยซ์ แบงก์

ด้านความช่วยเหลือเบื้องต้นนั้น ชาตรี กล่าวว่า หลังจากยูนิคิร์ด ได้ปรับโครงสร้างการบริหารงาน ด้วยการแต่งตั้งพรพรรณ ก่อนันทเกียรติ ภรรยาของดำริห์ ขึ้นเป็นกรรมการผู้อำนวยการแทน และปรับปรุงทีมบริหารงานใหม่ ทางธนาคารกรุงเทพจึงให้เวลาทีมบริหารชุดใหม่ ดำเนินการส่งแผนการฟื้นฟูกิจการและการชำระหนี้มาให้พิจารณาโดยทางธนาคาร จะไม่เร่งรัดหนี้ในช่วงนี้ แต่จะชะลออกไปก่อนระยะหนึ่ง

" ผมคิดว่าหากจะเลิกล้มกิจการเพื่อนำมาใช้หนี้ คงจะนาเกลียดมาก คิดว่า น่าจะฟื้นฟูบริษัทมากกว่าเพราะโอกาสของธุรกิจประเภทนี้ยังไม่ถึงทางตัน"

สำหรับ วิเชษฐ์ บัณฑุวงศ์ กรรมการบริษัท ยูนิคิร์ดและ บริษัท บัมเบิ้ล บี ซีฟู้ดส์ ซึ่งได้รับการคาดหมายว่าจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการช่วยสะสางปัญหาได้เปิดเผยถึงแผนการดำเนินงานของบริษัท ว่าในเรื่องของแผนงานที่ชัดเจนนั้น คงต้องรอให้ผ่านพ้นงานศพของนายดำริห์ก่อน จึงจะมีการประชุมกำหนดกันในคณะกรรมการบริษัท สำหรับแนวทางกว้าง ๆ ในความคิดเห็นของตนนั้น คงจะต้องเริ่มที่การพูดคุยกับเจ้าหนี้ ขอให้ผ่อนปรนในเรื่องของหนี้สินก่อนเพื่อให้บริษัทมีโอกาสที่จะฟื้นฟูกิจการได้

ส่วนแผนงานขั้นต่อไปนั้น คงจะต้องลดขนาดการผลิตให้สอดคล้องกับความต้อง

การ ปัจจุบันโรงงานของยูนิคอร์ด ที่อำเภอมหาชัย จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งจัดว่าเป็นโรงงานที่ใหญ่ที่สุดในโลก สามารถผลิตปลาทูน่ากระป๋องได้ 700 ตันต่อวัน แต่ผลิตจริงขณะนี้ 500-550 ตันต่อวัน ซึ่งก็ยังนับว่าเป็นการที่มากเกินไปอยู่ดี ทำให้มีสินค้าคงเหลือมาก และเป็นผลให้มีค่าใช้จ่ายด้านดอกเบี้ยมาก นอกจากนั้นยังจะต้องลดค่าใช้จ่ายด้านแรงงานลง โดยพยายามนำเข้าเครื่องจักรมาทดแทนให้มากที่สุด

"เราพร้อมที่จะเล็กลง"

ในขณะเดียวกัน ยูนิคอร์ดก็จะต้องเร่งขายบริษัท บัมเบิ้ลบีฯ ออกไปให้ได้โดยเร็วที่สุด เพราะยิ่งช้าเท่าไรก้จะยิ่งไม่เป็นผลดีกับบริษัท

บทบาทของวิเชษฐ์ นั้นอยู่ในเรื่องของการบริหารหนี้สิน ซึ่งเป็นงานที่คุ้นเคยโดยเฉพาะการดูแลการเจรจาการขายบัมเบิ้ลบีฯ

แม้ว่าสถานการณ์เช่นนี้จะบีบให้การขายบัมเบิ้ลบีฯ เป็นทางออกแรก แต่ถ้าพิจารณาจากราคาที่จะขายได้ ซึ่งอาจจะต่ำมากนั้น น่าที่ทีมผู้บริหารชุดใหม่จะต้องใคร่ครวญอย่างหนัก

แนวโน้มอีกด้านหนึ่งที่เริ่มเห็นก็คือ การที่ยูนิคอร์ด จะยอมตัดขายหุ้นบางส่วนโดยการดึงนักธุรกิจที่เสริมประโยชน์ทางธุรกิจซึ่งกันและกัน มาร่วมทุนในบริษัทบัมเบิ้ลบีฯ ซึ่งเป้นทางออกที่พยายามดำเนินการใน่วงก่อนเช่นกัน แต่ติดขัดที่ดำริห์ซึ่งต้องการโตเพียงคนเดียว

ผู้บริหารในยูนิคิร์ด กล่าวว่าแนวทางนี้เริ่มมีการพูดคุยกันบ้างแล้วทั้งนี้ ในตัวของบัมเบิ้ลบีฯ เองนั้นยังขายได้ แต่ที่ผ่านมาประสบปัญหาเพราะแรงบีบหลายทางซึ่งสำคัญที่สุดก็คือโครงสร้างทางการเงินที่ภาระหนี้สินมีมากเกินไป ทำให้การกำหนดทิศทางของบริษัทผิดพลาดจนทุกอย่างพังหมด

"แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า เราจะแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าได้อย่างไร ถ้าเราสามารถ คลี่คลายปัญหาหนี้สินได้ระดับหนึ่ง ก็น่าที่จะดำเนินกิจการต่อไปได้และอาจจะไม่ต้องขายบัมเบิ้ลบีฯ ออกไป"

แผนงานที่แน่ชัดว่าจะทำอย่างไรกับอนาคตของยูนิคอร์ดและบัมเบิ้ลบีฯ คงต้องรอทีมผู้บริหารชุดใหม่ ซึ่งภายในเดือนกรกฏาคม นี้คงจะชัดเจนขึ้น แต่ทั้งนี้ย่อมขึ้นอยู่กับว่า จะสามารถเจรจากับเจ้าหนี้ทั้งหลาย เพื่อเปิดโอกาสให้อีกครั้งได้อย่างไร และมากน้อยแค่ไหนด้วย ผู้บิรหารของยูนิคอร์ด กล่าว

ยูนิคอร์ด จะยอมขายทั้งบัมเบิ้ลบีฯ เพื่อเอาตัวรอด ยอมกลับมายืนที่จุดเดิมซึ่งเท่ากับเป้นหารทำลายความฝันของดำริห์อย่างช่วยไม่ได้

หรือจะยอมดิ้นรนเพื่อสานฝันของดำริห์ ให้เป้นจริง ซึ่งดูเป็นเรื่องที่ยากลำบากยิ่งนัก มิเพียงเท่านั้น อาจกลายเป็นการเดินทางสู่กาลอวสานของยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตปลาทุน่ากระป๋องของโลกก็ได้

การตัดสินใจครั้งสำคัญ ที่กดดันความรู้สึก โดยเฉพาะ พรพรรณ ก่อนันทเกียรติ ภรรยาของดำริห์ ผู้ล่วงลับ เพื่อหาทางออก ในครั้งนี้ มีเพียง 2 ทางเลือก เท่านั้น

เสี่ยง หรือไม่เสี่ยง!!



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.