|
ทีโอทีเตรียมแตกไลเซ่นต์สู้ศึกไอซี
ผู้จัดการรายวัน(12 กรกฎาคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
ทีโอทีเตรียมแผนรับมือการประกาศใช้ไอซีซึ่งส่งผลกระทบกับรายได้กว่าหมื่นล้านบาท ด้วยการแตกไลเซ่นต์ โอนบริการทั้งหมดไปสู่บริษัทลูกในรูปแบบเซอร์วิสโพรวายเดอร์ เพื่อลดต้นทุนค่าธรรมเนียมลง ส่วนทีโอทีจะกลายเป็นเน็ตเวิร์ก โพรวายเดอร์เต็มรูปแบบ
พล.อ.ท.สมชาย เธียรอนันท์ รองประธานบอร์ดบริษัท ทีโอที กล่าวว่าทีโอทีมีแนวทางในการรับมือกับการประกาศใช้ค่าเชื่อมโครงข่ายหรืออินเตอร์คอนเน็กชั่นชาร์จ (ไอซี) เนื่องจากจะกระทบรายได้ที่ทีโอทีได้รับจากค่าแอ็คเซ็สชาร์จที่ทำสัญญากับเอกชนกว่าปีละ 1 หมื่นล้านบาท โดยฝ่ายบริหารทีโอทีได้ปรึกษาบอร์ดในการตั้งบริษัทลูกขึ้นมาเพื่อขอใบอนุญาตประเภทที่ 1 เพื่อทำหน้าที่เป็นเซอร์วิส โพรวายเดอร์ ในขณะที่ทีโอทีจะทำหน้าที่เน็ตเวิร์ก โพรวายเดอร์
ทีโอทีจะโอนบริการเข้าไปอยู่ภายใต้บริษัทลูก เพื่อประโยชน์ในการทำให้ต้นทุนต่ำลง เนื่องจากใบอนุญาตประเภทที่ 1 จะเสียแค่ค่าธรรมเนียมและค่าเลขหมาย โดยไม่ต้องเสียค่าบริการ USO จำนวน 4% ของรายได้ในขณะที่ใบอนุญาตประเภทที่ 3 ที่มีโครงข่ายเป็นของตัวเองซึ่งทีโอทีได้รับจาก กทช.จะมีต้นทุนสูงกว่า
“โดยส่วนตัวผมเห็นด้วยกับหลักการนี้ เพราะจะทำให้ทีโอทีสามารถแข่งขันได้คล่องตัวขึ้น โดยที่ฝ่ายบริหารเตรียมเสนอบอร์ดในเร็วๆนี้ แต่ทีโอทีจะใช้ก็ต่อเมื่อได้รับแรงกดดันจากเรื่องไอซี”
นายกิติพงศ์ เตมีย์ประดิษฐ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ทีโอที กล่าวว่าประเด็นเกี่ยวกับไอซีมีเรื่องที่ควรพิจารณา 2 ประเด็นคือ 1.กทช.ไม่ควรกดค่าไอซีให้ต่ำจนเกินจริง เพราะในอนาคตจะไม่มีใครอยากลงทุนเป็นเน็ตเวิร์ก โพรวายเดอร์ แต่มุ่งที่จะเป็นโอเปอเรเตอร์ที่ไม่ต้องมีโครงข่ายเป็นของตัวเอง กทช.ควรกำหนดไอซีเพื่อให้เน็ตเวิร์ก โพรวายเดอร์อยู่ได้ แต่หากกทช.กำหนดไอซีต่ำเกินไป ทีโอทีก็ แตกบริษัทลูกเป็นเซอร์วิสโพรวายเดอร์ เพื่อมาเช่าโครงข่ายของทีโอทีซึ่งเป็นบริษัทแม่
2.ท่าทีของโอเปอเรเตอร์เอกชนภายใต้สัมปทานบริษัท กสท โทรคมนาคม ต้องการหยุดจ่ายค่าแอ็คเซ็สชาร์จ เมื่อมีการประกาศใช้ไอซี ซึ่งจะกระทบกับรายได้ของทีโอที ทำให้ทีโอทีมีแผนที่จะแตกไลเซ่นต์เพื่อลดภาระลง เนื่องจากทีโอทีมีบริการสาธารณะที่ต้องลงทุนจำนวนมาก ดังนั้นการที่จะเปิดเสรี ก็ควรสร้างกลไกที่เป็นธรรมกับทีโอทีด้วย ไม่ใช่มากดดันฝ่ายเดียว
พล.อ.ท.สมชายกล่าวว่าทีโอที ยังมีแผนในการลดภาระองค์กรในภาพรวมอีก 2 ด้านคือการสมัครใจออกหรือ early retired และการตั้งบริษัทย่อยเพื่อให้บริการเอาท์ซอร์สซิ่ง เพื่อสร้างรายได้เพิ่มและรองรับบุคลากรที่มีคุณภาพจากการสมัครใจออก โดยการสมัครใจออกประเมินจากการทำ benchmarked เทียบในอุตสาหกรรม พบว่าควรลดขนาดองค์กรลงจากปัจจุบันกว่า 20,000 คน เหลือ 13,000 คนภายใน 3 ปี ทีโอทีจึงมีนโยบายที่จะทำโครงการ early retired ตั้งแต่ปี 2007-2009 และจะไม่ทำอีก โดยทีโอทีจะให้ผลตอบแทนเต็มที่ในปีแรกและลดผลประโยชน์ลงตามลำดับในปีที่2และ3 ซึ่งคาดว่าจะใช้เงินประมาณ 8 พันล้านบาทหรือเฉลี่ยคนละ 3 ล้านบาทสำหรับในปีแรก
ทั้งนี้การทำ early retired อาจมีข้อเสียคือคนเก่งอาจออกไปด้วย ทีโอทีจึงทำแผนรองรับไว้คือ เตรียมจะตั้งบริษัทย่อยต่างๆ ตามสายงานออกมา เพื่อดึงคนเหล่านี้มาอยู่ ซึ่งฝ่ายบริหารกำลังศึกษาเตรียมเสนอเข้าบอร์ดเช่นกัน อย่างบริษัทด้านคอลเซ็นเตอร์ ,ไอเอสพี,ทรานสปอตเตชั่น,ระบบบิลลิ่ง
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|