|

รัฐบาลขายฝันสร้างเมืองใหม่เล็งตั้ง "บรรษัทพัฒนาเมือง"
ผู้จัดการรายสัปดาห์(10 กรกฎาคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
*รัฐบาล ขายฝันอีกรอบ หลัง"สุวรรณภูมิมหานคร"ถูกต้าน เตรียมตั้ง"บรรษัทพัฒนาเมือง"บริหาร พื้นที่รอบสุวรรณภูมิ
*ขีดเส้นรัศมี 3 กม.รอบสนามบิน ห้ามมีสิ่งปลูกสร้าง ส่วนระยะ 5-6 กม. มีสิ่งปลูกสร้างได้ แต่มีกฎหมายคุมเข้มความสูง และลักษณะอาคารต้องไม่ขวางทางน้ำ
*ยันไม่เลิกเมืองใหม่นครนายก พร้อมดึงเอกชนร่วมพัฒนา
กรมโยธาธิการและผังเมืองเร่งวางแผนผังเมืองรวมระดับประเทศฉบับใหม่ หลังใช้มานานกว่า 30 ปี เน้นให้ท้องถิ่นมีส่วนร่วม ชี้เมืองใหม่นครนายกยังไม่เลิก ด้านสุวรรณภูมิใช้พื้นที่ได้ 30% ให้ด้านตะวันออกเป็นเมืองน้ำ พร้อมคุมเข้มห้ามก่อสร้างขวางทางน้ำ เผยอยู่ระหว่างรอกฤษฎีกา ชี้ไม่เกิดปัญหา เนื่องจากมีกฎหมายเก่ารองรับแล้ว
คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่าการวางผังเมืองเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาประเทศ เนื่องจากเป็นแผนแม่บทที่ใช้ในการกำหนดทิศทางของการพัฒนาในแต่ละพื้นที่ให้สอดคล้องกับเป้าหมายรวมของประเทศ ทั้งนี้เพราะเป็นการจัดบทบาทของแต่ละพื้นที่ว่าจะสามารถใช้ประโยชน์ได้ในแง่ใด ซึ่งมีผลกระทบต่อการตัดสินใจของผู้ประกอบการและเจ้าของที่ดิน
นับจาก พรบ. การผังเมือง พ.ศ 2518 มีผลบังคับใช้ ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติม พรบ. 2 ครั้งใน ปี 2525 และ 2535 เช่น ขยายระยะเวลาการปิดประกาศและการยื่นคำร้องขอแก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือยกเลิกข้อกำหนดจากการใช้ประโยชน์ที่ดินของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจาก 60 วัน เป็น 90 วัน, ลดจำนวนการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในการวางและจัดทำผังเมืองรวม ซึ่งเป็นการปรับปรุง พรบ. ดังกล่าว ก็เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่เจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงานเท่านั้น แต่เมื่อมองในแง่การมีส่วนร่วมของประชาชนยังมีน้อยมาก และเป็นการลิดรอนสิทธิของประชาชนที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการวางแผน นับเป็นการขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมายเป็นอย่างยิ่ง
ท้องถิ่นร่วมแก้ผังเมือง
เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า จะเน้นให้ความรู้ด้านการวางผังเมืองกับท้องถิ่น เช่น อบต. อบจ. เทศบาล เพื่อให้มีส่วนร่วมในการวางผังเมืองส่วนท้องถิ่นของตนเองมากขึ้น เนื่องจากบุคลากรส่วนกลางจากกรมโยธาธิการและผังเมืองมีไม่เพียงพอ และรัฐบาลยังไม่มีนโยบายเพิ่มบุคลากรในขณะนี้ โดยทางกรมฯ จะกำหนดเป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาระดับประเทศเพื่อเป็นกรอบในการวางผังของแต่ละท้องถิ่นให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยการใช้ประโยชน์ของแต่ละพื้นที่จะอยู่ภายใต้พื้นฐานของการรักษาสิ่งแวดล้อม และสอดคล้องทรัพยากรภายที่ในพื้นที่นั้นมีอยู่
ในส่วนของการการวางผังเมืองก็เพื่อเป็นแม่บทในการวางแผนพัฒนาสาธารณูปโภคต่างๆ ของภาครัฐ รวมทั้งการใช้ประโยชน์พื้นที่ของภาคเอกชนให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ ทั้งนี้ผังเมืองจะมีผลต่อการพัฒนาประเทศและชะลอสิ่งก่อสร้างบางประเภทที่อาจจะมีผลกระทบต่อชุมชน ส่วนความคืบหน้าการวางผังเมืองรวมระดับประเทศ เสริมศักดิ์ กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการกำหนดการใช้ประโยชน์ในแต่ละพื้นที่ ซึ่งบางพื้นที่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์
ผังเมืองยืดหยุ่นได้
แม้หลายคนจะมองว่าผังเมืองเป็นเรื่องของข้อบังคับ กฎระเบียบที่ทุกคนต้องทำตาม แต่เสริมศักดิ์ กล่าวว่า ผังเมืองมีผลในแง่ต่อเจ้าของที่ดินในแง่ของการใช้ประโยชน์พื้นที่ที่ต้องเป็นไปตามกำหนดเท่านั้น และไม่ได้มาจากบุคคลฝ่ายเดียว แต่มาจากการการพิจารณาของคณะกรรมการ และมีทำประชาพิจารณ์ร่วมด้วย เพื่อรับฟังความคิดเห็นของส่วนรวม ดังนั้นหากประชาชนได้รับความเดือดร้อน ก็ยินดีที่จะรับฟังความคิดเห็น และสามารถยืดหยุ่นได้
ส่วนในแง่ระยะเวลาว่าจะได้เห็นผังเมืองรวมออกมาเมื่อใด ยังไม่มีกำหนด แต่ก็เป็นแผนเร่งด่วนที่ต้องเร่งทำ เพื่อปรับกลยุทธ์การพัฒนาให้ทันกับกระแสความเปลี่ยนแปลงของประเทศ
เล็งตั้ง "บรรษัทพัฒนาเมือง"
รัชทิน สยามานนท์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึง แนวคิดที่รัฐบาลจะสร้างเมืองใหม่นครนายกว่ายังไม่เลิกล้ม เพียงแต่ขณะนี้อยู่ในระหว่างการศึกษา ก่อนทำแผนเสนอต่อรัฐบาล ซึ่งมองแนวโน้มว่าต้องใช้เงินจำนวนมาก จึงอาจจะมีการให้เอกชนมาร่วมลงทุนเพี่อการพัฒนาเมืองด้วย ส่วนในแง่การบริหาร รัฐบาลกำลังศึกษาเพื่อจัดตั้ง "บรรษัทพัฒนาเมือง" เข้ามาบริหารและพัฒนานครนายก และนครสุวรรณภูมิที่จะเกิดขึ้นในอนาคตโดยเฉพาะ
กำหนดพื้นที่รับน้ำ 70%
ด้านสนามบินสุวรรณภูมิที่กำลังจะเปิดใช้ในวันที่ 28 ก.ย. นี้ หลายฝ่ายอาจมองว่าผังเมืองสุวรรณภูมิที่กรมโยธาธิการกำลังวางแผนจัดทำอยู่อาจไม่ทันต่อการขยายตัวของเมือง ซึ่งกำลังรุกคืบสนามบินอยู่ในขนาดนี้ ซึ่ง รัชทิน กล่าวว่า ไม่น่าจะเป็นปัญหา เนื่องจากพื้นที่โดยรอบสุวรรณภูมิมีกฎหมายเดิมรองรับอยู่แล้ว โดยเนื้อหาคร่าวๆ ของผังเมืองนครสุวรรณภูมิจะถูกกำหนดให้เป็น "เมืองน้ำ" ใช้ประโยชน์พื้นที่ได้เพียง 30% เพื่อให้พื้นที่ที่เหลืออีก 70% ในฝั่งตะวันออกของสนามบินเป็นพื้นที่รองรับน้ำที่จะออกไปยังอ่าวไทย ส่วนในฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือจะสามารถใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้ เช่น คลังสินค้า อาคารพาณิชย์
ดึง 2 เขต กทม. รองรับความเจริญ
ฐิระวัตร กุลละวณิชย์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวว่า สนามบินสุวรรณภูมิจำเป็นต้องได้รับการกำหนดพื้นที่การใช้ประโยชน์ และบริหารจัดการในด้านสาธารณูปโภคอย่างเป็นระบบ เนื่องจากต้องรองรับจำนวนคนที่จะมาใช้บริการและคนที่ทำงานในสนามบินถึง 1.5 แสนคนต่อวัน หรือ 4 ล้านคนต่อปี โดยผังเมืองจะครอบคลุม 2 เขตของ กทม. ได้แก่ ลาดกระบัง และประเวศ และ 2 อำเภอของสมุทรปราการ ได้แก่ บางพลี และบางเสาธง
ฐิระวัตร ยอมรับว่า พื้นที่โดยรอบสนามบินส่วนใหญ่เป็นที่ลุ่ม และรองรับน้ำ ดังนั้น ผังเมืองจึงต้องมีการเข้มงวดในการกำหนดการใช้ประโยชน์พื้นที่ในรัศมี 5-6 กม. รอบสนามบิน ที่แบ่งออกเป็น 9 โซนอย่างชัดเจน ได้แก่ ระยะ 3 กม. ไม่สามารถมีสิ่งปลูกสร้างได้ ส่วนระยะ 5-6 กม. มีสิ่งปลูกสร้างได้ แต่จะมีกฎหมายควบคุมอาคารคอยกำกับเรื่องความสูง และลักษณะของอาคารที่จะต้องไม่ขวางทางน้ำควบคุมอยู่ ซึ่งขณะนี้กฎหมายควบคุมอาคารดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา
ส่วนในข้อกำหนดที่ว่าสามารถใช้พื้นที่ได้เพียง 30% ว่าจะเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเมืองหรือไม่ ฐิระวัตร กล่าวว่า จะอาศัยความพร้อมด้านสาธารณูปโภคที่มีอยู่เดิมของเขตลาดกระบังและประเวศมาสนับสนุนนครสุวรรณภูมิ และในอนาคตจะมีการพัฒนา จ.ฉะเชิงเทราให้เป็นเมืองบริวารของ กทม. เนื่องจากห่างจากสนามบินเพียง 15 กม. ส่วนในแง่ของบ้านจัดสรร หากจะทำในโซนตะวันออกจะต้องสอดคล้องกับผังเมืองที่กำหนดให้เป็นเมืองน้ำ คือ เป็นบ้านทรงสูงเพื่อไม่ขวางทางน้ำ และมีคลองเพื่อรองรับน้ำ
ให้ท้องถิ่นพิจารณาค้าปลีก
ในด้านของผังเมืองที่กำลังจะหมดอายุ และเกิดข้อกังขาว่าจะเป็นช่องทางให้เกิดห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ผุดขึ้นอย่างไร้ระเบียบนั้น ฐิระวัตร กล่าวว่า จะมีการเพิ่มบทบาทให้ท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการตัดสินใจว่าจะให้มีการก่อสร้างห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ในพื้นที่หรือไม่ ผ่านการพิจารณาเบื้องต้นของ อบต. เทศบาล ซึ่งจะเชื่อมโยงกับภาคประชาชนอื่นๆ เช่น หอการค้า สภาอุตสาหกรรม ซึ่งหากมีการเห็นชอบให้สร้างก็จะส่งเรื่องขึ้นไปยังคณะอนุกรรมการจังหวัด และคณะอนุกรรมการกลางเพื่อพิจารณาออกข้อยกเว้นผ่อนผันให้สร้างได้ ซึ่งหากท้องถิ่นเห็นชอบ แต่ส่วนกลางพิจารณาในแง่ผังเมือง เศรษฐกิจส่วนท้องถิ่นเห็นว่าไม่เหมาะสมจากสาเหตุต่างๆ เช่น อยู่ใจกลางเมืองทีมีความเจริญอยู่แล้ว ก็ไม่สามารถสร้างได้ ซึ่งทำเลที่อยู่ในเกณฑ์ที่น่าจะได้รับความเห็นชอบ เช่น อยู่ห่างจากใจกลางเมืองของจังหวัดนั้นๆ พอสมควร หรืออยู่ใกล้นิคมอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นแหล่งชุมชนที่มีคนอาศัยอยู่จำนวนมาก
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|