|

โฆษณาเวิลด์คัพ 2006ผู้บริโภคจำแบรนด์...แม้มีผลต่อการตัดสินใจซื้อต่ำ
ผู้จัดการรายวัน(11 กรกฎาคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
มหกรรมฟุตบอลโลก 2006 ปิดฉากลงแล้วในวันที่ 9 กรกฎาคม 2549 ที่ผ่านมา ซึ่งแฟนบอลลูกหนังคนไทยก็ได้สัมผัสถึงความสนุกสนานอย่างเต็มที่ตลอดช่วง 1 เดือนที่ผ่านมาหลังจากต้องรอคอยมานานถึง 4 ปีเต็ม และคงจะได้เห็นลีลาที่หลากหลายของบรรดาแข้งทองระดับโลกจากหลายทวีป รวมถึงสีสันตระการตาจากเหล่ากองเชียร์ที่แม้ว่าจะมีความแตกต่างกันในส่วนของภาษา วัฒนธรรม และรูปแบบการเชียร์ แต่ก็สามารถสร้างความบันเทิงไม่น้อยให้แก่แฟนบอลที่ได้รับชมการถ่ายทอดทางโทรทัศน์
จากการสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทยเกี่ยวกับพฤติกรรมการติดตามชม/ชิงโชคของคนกรุงเทพฯในช่วงฟุตบอลโลก 2006 ในระหว่างวันที่ 6-20 มิถุนายน 2549 จากจำนวนกลุ่มตัวอย่าง 820 รายในกลุ่มอายุระหว่าง 15-65 ปี พบว่ากระแสติดตามชมเกมการแข่งขันฟุตบอลโลกในปีนี้ยังคงได้รับความสนใจจากคนกรุงเทพฯค่อนข้างมาก อีกทั้งกลุ่มแฟนบอลลูกหนังก็ยังกระจายตัวในวงกว้างมากขึ้นด้วยจากกลุ่มผู้ชายไปสู่กลุ่มแฟนบอลที่เป็นผู้หญิง
ขณะเดียวกันแฟนบอลรุ่นเยาว์ที่มีอายุ 15-19 ปีก็ให้ความสนใจเป็นจำนวนมากเช่นกัน ซึ่งก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าวัยรุ่นไทยจะหันมาสนใจเล่นกีฬาฟุตบอล และขยายตัวไปสู่กีฬาอื่นกันมากขึ้นตามไปด้วย และแม้ว่าผู้คนส่วนใหญ่เห็นว่าภาพยนตร์โฆษณาตลอดช่วงกระแสฟุตบอลโลก 2006 นับตั้งแต่ต้นปี 2549 ไม่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าในช่วงฟุตบอลโลก 2006
แต่ในขณะเดียวกันก็พบว่ากลุ่มคนกรุงเทพฯจดจำภาพยนตร์โฆษณาที่อิงกระแสฟุตบอลโลกและแพร่ภาพทางโทรทัศน์ในช่วงมหกรรมฟุตบอลโลก 2006 ได้มากพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นโฆษณาระหว่างการถ่ายทอดสดเกมการแข่งขันในแต่ละนัด ที่แม้ว่าจะฉายได้เฉพาะในช่วงก่อนเริ่มการแข่งขัน ระหว่างพักครึ่งเวลา และหลังจบการแข่งขันเท่านั้น หรือภาพยนตร์โฆษณาอิงกระแสฟุตบอลโลกที่เผยแพร่ในช่วงเวลาอื่นที่ไม่ใช่ช่วงเวลาการถ่ายทอดสดเกมการแข่งขัน ก็น่าจะเป็นสัญญาณที่ดีที่บ่งบอกได้ถึงการรับรู้ในแบรนด์ของสินค้าหรือบริการนั้นๆในระดับหนึ่ง
หากเจ้าของกิจการมีการส่งเสริมการขายอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะกิจกรรมที่เกี่ยวกับกีฬาฟุตบอลหลังจากการแข่งขันฟุตบอลโลก 2006 สิ้นสุดลงแล้ว ก็อาจจะก่อให้เกิดการสร้างและกระชับความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างตราสินค้ากับลูกค้ากลุ่มเป้าหมายทั้งเก่าและใหม่ ผู้จัดจำหน่าย และสาธารณชน มากขึ้นตามมาได้ และน่าจะนำไปสู่ความภักดีต่อแบรนด์ในระยะยาว รวมถึงการกระตุ้นยอดขายของกิจการในที่สุด
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่าแม้ในช่วงครึ่งแรกของปี 2549 เม็ดเงินโฆษณาในเมืองไทยจะเติบโตประมาณ 4.5-5.0% ซึ่งนับเป็นอัตราการเติบโตที่สูงขึ้นเมื่อเทียบกับอัตราการเติบโตของเม็ดเงินโฆษณาผ่านสื่อในช่วง 6 เดือนแรกปี 2548 ที่เติบโต 2.44% แต่มีความเป็นไปได้ว่ามหกรรมฟุตบอลโลก 2006 ครั้งนี้อาจจะไม่ก่อให้เกิดเม็ดเงินโฆษณาสะพัดรุนแรงเท่าฟุตบอลโลก 2002 หรือฟุตบอลยูโร 2004 (ในปี 2545 เม็ดเงินโฆษณาโดยรวมเติบโต 15.51% ขณะที่ในปี 2547 เติบโต 16.96% )
โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าเม็ดเงินโฆษณาโดยรวมในปี 2549 จะมีอัตราการเติบโตในระดับ 5-10% ทั้งนี้เป็นผลสืบเนื่องจากปัจจัยลบต่าง ๆนับตั้งแต่ต้นปี 2549 ที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการใช้จ่ายทั้งของภาคประชาชน ภาคเอกชนและภาครัฐ ทำให้ผู้ผลิตสินค้าและบริการหลายรายจึงต่างต้องวางแผนในการใช้จ่ายงบโฆษณาอย่างรอบคอบและระมัดระวังมากยิ่งขึ้น เพื่อให้เกิดการคุ้มค่ามากที่สุดต่อการลงทุน
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|