|
6 ผู้บริหาร' ชี้ MBA ในแบบที่องค์กรต้องการ
ผู้จัดการรายสัปดาห์(10 กรกฎาคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
จากงานสัมมนา ในหัวข้อ "MBA แบบไหนที่องค์กรคาดหวัง" ที่ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือนิด้า เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2549 มี 6 ผู้บริหารจากองค์กรระดับใหญ่มาเป็นวิทยากร ซึ่งวิทยากรแต่ละท่านได้ให้ข้อคิดเกี่ยวกับการเรียนเอ็มบีเอทั้งไทยและต่างประเทศ พร้อมทั้งในข้อมูลเกี่ยวกับเอ็มบีเอที่องค์กรต้องการ ซึ่งพบว่า องค์กรส่วนใหญ่มีความต้องการผู้ที่จบเอ็มบีเอ แต่สิ่งสำคัญ คือต้องมีความเป็นผู้นำพร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ตลอด กล้าคิด กล้าทำ ซึ่งข้อมูลดังกล่าวจะทำให้นักศึกษาที่กำลังเรียนเอ็มบีเอหรือที่จบไปแล้วสามารถนำไปปรับประยุกต์ใช้ในการปรับตัวเพื่อหางานทำได้
โดย คุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม ประธานสมาคมธนาคารไทย และกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งมาเป็นองค์ปาฐกในงานสัมมนาดังกล่าว กล่าวว่า หลักสูตรการเรียนเอ็มบีเอจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการตลาด การเงิน บัญชี เศรษฐศาสตร์ การใช้เทคโนโลยี เพื่อพยากรณ์ในเรื่องต่างๆ และนำมาปรับปรุงการทำงาน พร้อมทั้งสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ รวมถึงศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมองค์กร การกำหนดกลยุทธ์ และจัดทำแผนในระดับต่างๆ สำหรับประโยชน์ของการศึกษาเอ็มบีเอนั้นจะทำให้เกิดความรอบรู้ที่มากขึ้น กว้างขึ้น และยังเกิดความสามารถในการเชื่อมโยงวิชาการต่างๆ ได้
นอกจากนี้ องค์ปาฐก ยังได้ให้ความรู้เกี่ยวกับ "องค์กรธุรกิจแบบไหนที่สังคมคาดหวัง" โดยคุณหญิงชฏา มองว่า สังคมไทยปัจจุบันมีธุรกิจหลายขนาด ทั้งที่ดำเนินโดยภาครัฐบาล เอกชน และรัฐวิสาหกิจ ซึ่งหากพิจารณาในเชิงของการจ้างงานจะพบว่าธุรกิจขนาดเล็กจะมีการจ้างงานจำนวนสูงกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ๆ นอกจากนี้ธุรกิจก็มีการเปลี่ยนขนาดได้ตลอดจากขนาดเล็กไปกลาง กลางไปใหญ่ และใหญ่ก็จะมีการหาผู้ร่วมทุนเพื่อเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
อย่างไรก็ดี ตนมองว่าสังคมมีความคาดหวังจากธุรกิจใน 4 รูปแบบ คือ
1. โครงสร้างธุรกิจ สังคมคาดหวังว่าธุรกิจต้องมีการแข่งขันพอประมาณ เพื่อทำให้ผู้บริโภคมีโอกาสเลือกสิ่งที่ต้องการ และมีคุณภาพในราคาที่เหมาะสม ในขณะที่ผู้ประกอบการต้องได้กำไรจากการทำธุรกิจอย่างต่อเนื่อง และมีกำไรพอที่จะสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ และลงทุนต่อ
2. ธุรกิจควรกำหนดกลยุทธ์ เพื่อให้ธุรกิจมีความสามารถ มีข้อมูลในการวิเคราะห์ รู้แนวโน้มตลาด วิวัฒนาการทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ ภาวะคู่แข่งขัน กลยุทธ์คู่แข่งขัน และ การปรับเปลี่ยนเทคโนโลยี
3. ธุรกิจต้องมีความโปร่งใส สังคมอยากเห็นธุรกิจมีความโปร่งใสกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นผู้ถือหุ้น ผู้บริโภค พนักงาน ลูกค้า ฯลฯ นอกจากนี้ยังต้องสามารถแยกผลประโยชน์ที่ทับซ้อนให้ชัดเจนได้
และ 4. ต้องการให้ธุรกิจดูแลพนักงานและสังคม ทั้งในด้านผลตอบแทนที่ยุติธรรม และต้องดูแลสังคม ลดช่องว่างทางสังคม ซึ่งปัจจุบันองค์กรต้องมีการตั้งงบประมาณในการทำกิจกรรมเพื่อสังคม หรือที่เรียกว่า CSR (Corporate Social Responsibility)
ด้านการเสวนาโต๊ะกลมในหัวข้อ "MBA แบบไหนที่องค์กรคาดหวังนั้น" ศาสตราภิชานไกรฤทธิ์ บุญยเกียรติ ที่ปรึกษาสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย และกรรมการตรวจสอบ บริษัท แพนราชเทวี กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ผู้ที่จบการศึกษาในระดับเอ็มบีเอที่องค์กรต้องการควรเป็นผู้นำในการแก้ปัญหาใหม่ๆ สำหรับคุณภาพของหลักสูตรเอ็มบีเอในไทยนั้น ถือว่าหลักสูตรไม่ได้มีการสร้างให้นักศึกษาเป็นผู้นำ แต่นักศึกษาสามารถฝึกตนเองให้มีความเป็นผู้นำได้ โดยนักศึกษาควรที่จะต้องสร้างทัศนะคติ และมีความซื่อสัตย์กับตัวเองก่อน นอกจากนี้ นักศึกษายังต้องรู้จักที่จะหาข้อมูลใหม่ๆ ตลอด
นอกจากนี้ ตนต้องการให้นักศึกษาเอ็มบีเอของไทยมีการสะสมความ 3 ประการ คือ 1. ด้านคอมพิวเตอร์ 2. ด้านภาษา ซึ่งนอกจากภาษาอังกฤษแล้วยังต้องได้ภาษาที่ 3 ด้วย และ 3. ด้านความรู้ทั่วไป ซึ่งข้อมูลบางอย่างสามารถเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการทำงานได้ อย่างเรื่องภูมิศาสตร์ต้องยอมรับว่าคนไทยยังขาดความรู้ด้านภูมิศาสตร์มาก ซึ่งการสะสมความรู้ทั้ง 3 ประการนี้จะเป็นประโยชน์ของนักศึกษาต่อไป
ส่วน นิพนธ์ สุรพงษ์รักเจริญ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ไม่ว่าผู้ที่จบการศึกษาเอ็มบีเอจะจบจากที่ใด สิ่งสำคัญคือผู้นั้นจะต้องมีปัญญาในการแก้ปัญหาในชีวิต นอกจากนี้ ตนอยากจะเห็นเอ็มบีเอ็มที่มีสมรรถนะ คือมีความสามารถในการจะทำงาน ไม่ใช่แค่เรียนรู้อย่างเดียว อย่างการรับผู้เข้าทำงานของสภาฯ นั้นจะต้องมองว่าผู้นั้นทำสิ่งใดได้ ไม่ใช่มองว่าว่าจบการศึกษาเอ็มบีเอจากที่ใด
นอกจากนี้ ผู้ที่จะมาทำงานยังต้องมีการเรียนรู้ที่ไม่หยุดยั้งและต่อเนื่อง เพราะสิ่งที่จะทำให้คนแตกต่างกันและประสบความสำเร็จ คือขนาดของความคิด ไม่ใช่เรื่องของการจบจากสถาบันใด อย่างไรก็ดี ยังต้องเป็นผู้ที่กล้าคิด กล้าทำ และต้องมีความคิดที่ยิ่งใหญ่
ด้าน จรัมพร โชติกเสถียร ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานบริการบริหารเงินเพื่อธุรกิจธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า นักศึกษาเอ็มบีเอที่ธนาคารต้องการนั้น ต้องเป็นผู้ที่รู้จักหาความรู้ และต้องรู้จักหลบหนีพร้อมทั้งหาทางแก้ปัญหาจากการทำงานได้
ส่วน ดร.เพ็ญนภา ธนสารศิลป์ กรรมการ บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน ) และกรรมการบริษัท ไทยเพรวิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทมีผู้ที่จบเอ็มบีเอมาทำงานกับบริษัทในปริมาณที่มาก สำหรับคุณสมบัติของผู้ที่จบเอ็มบีเอที่บริษัทต้องการ คือต้องสามารถทำงานได้ทุกอย่าง และต้องมีวิญญาณของความเป็นเจ้าของกิจการ คือต้องรู้จักคน เข้าใจคนไม่ใช่เก่งแต่ในเรื่องวิชาการ พร้อมทั้งรู้จักใช้ความรู้ และศักยภาพที่มีอยู่อย่างเต็มที่ นอกจากนี้ ต้องคิดว่าการเรียนไม่ใช่แค่เพื่อต้องการจะรู้ แต่ต้องเอาความรู้ตรงนั้นไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ด้วย
อย่างไรก็ดี แม้ว่าทุกวันนี้เอ็มบีเอจะมีการเปิดอยู่ในหลายสถาบันแต่ตนเชื่อว่าตลาดยังต้องการผู้จบเอ็มบีเออยู่ เนื่องจากผู้ที่จบเอ็มบีเอจะสามารถต่อยอดการทำงานได้มากกว่าผู้ที่จบปริญญาตรี เพราะเอ็มบีเอหรือการเรียนปริญญาโทเป็นการเรียนด้วยตัวเอง ต้องหาข้อมูลเอง ต้องมีการค้นคว้าวิจัย ในขณะที่การเรียนปริญญาตรีเป็นการเรียนโดยอาจารย์ป้อนความรู้ให้
"ตลาดยังต้องการคนพวกนี้อยู่มาก แต่บริษัทต่างๆ ต้องบริษัทจะมองว่าคนไหนมีคุณภาพตามที่บริษัทต้องการ อย่างของเราๆ อยากได้คนที่ลุย ต้องทำทุกอย่างได้ ไม่ได้หมายความว่าการเรียนจบเอ็มบีเอหรือปริญญาโทแล้วจะต้องเข้ามานั่งทำงานเพียงอย่างเดียว หรือแม้แต่จบดอกเตอร์แต่ไม่สามารถเอาไปปฏิบัติ หรือไม่สามารถเอาไปปฏิบัติในชีวิตจริงได้ก็ไม่มีความหมาย"
สำหรับ มนตรี ศรไพศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ได้กล่าวว่า ผู้ที่ศึกษาในระดับเอ็มบีเอนั้น นอกจากเขาจะต้องมีเรื่องของความรู้หรือวิชาการแล้ว เขายังต้องมีทัศนคติที่ดี เพราะทัศนคติเป็นเรื่องเล็กๆ ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องใหญ่ได้ นอกจากนี้ เวลาที่ทำงานต้องอย่าคิดว่ามาทำเพื่อเงิน แต่ต้องการมาทำเพื่อการเรียนรู้ และพร้อมที่จะเจอโจทย์ใหม่ๆ ที่ต้องแก้ไขตลอดเวลา และยังต้องมีคุณธรรม พร้อมทั้งต้องรู้จักอาสาที่จะเข้าไปช่วยงานผู้อื่นทั้งที่งานดังกล่าวไม่ใช่งานของตน
ส่วนความแตกต่างของคนที่จบเอ็มบีเอในไทยกับต่างประเทศ ตนมองว่า ด้านความรู้ทางวิชาการไม่ค่อยมีความแตกต่างกันมากนัก แต่สิ่งที่ต่างคือบุคลิก และวัฒนธรรมในการทำงานมีความแตกต่างกัน เพราะผู้ที่สำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศจะกล้าแสดงออกมากกว่าจบการศึกษาในไทย เนื่องจากการเรียนในต่างประเทศจะสนับสนุนให้มีความกล้าที่จะแสดงออกและให้โอกาสในการแสดงออกมากกว่า แต่ผู้ที่ศึกษาในไทยก็สามารถทำได้ แต่ต้องฝึกให้กล้าแสดงออก ทำงานอย่างเต็มที่ และต้องไม่ก้าวร้าว
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|