ไอพีทีวีระเบิดศึก!ปั้นสถานีดูดคอนเทนต์


ผู้จัดการรายสัปดาห์(10 กรกฎาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

*ไอพีทีวีเตรียมระเบิดศึกปั้นสถานีดูดคอนเทนต์เป็นทางเลือกใหม่คนดูยุคดิจิตอล
*รับกระแสการเติบโตบรอดแบนด์ที่กำลังใกล้แตะระดับล้านราย
*ค่ายน้องใหม่ "MaxnetTV" ของชิมลางจากบรอดแบนด์ทีวีก่อนพัฒนาเป็นไอพีทีวี
*เบื้องหลังสถานีน้องใหม่อาศัยจุดแข็งทีทีแอนด์ทีทั่วประเทศรวบโลคัลคอนเทนต์
*ทรูไอพีทีวีเร่งระดมคอนเทนต์ไทย-เทศ สร้างสถานีบันเทิงส่วนตัวทุกครัวเรือน

กระแสการเติบโตของสถานีโทรทัศน์ทางเลือกใหม่ หรือไอพีทีวีกำลังเป็นที่น่าจับตาอย่างมาก เนื่องจากขณะนี้ผู้ให้บริการเริ่มที่จะขับเคลื่อนธุรกิจทางนี้อย่างเป็นรูปเป็นร่างมากยิ่งขึ้น และพร้อมที่จะระเบิดศึกเพื่อสร้างสถานีให้เป็นแหล่งรวมของผู้ผลิตคอนเทนต์ จนกลายเป็นสถานีส่วนตัวของผู้บริโภคในยุคดิจิตอล

ล่าสุดทีทีแอนด์ที ผู้ให้บริการโทรคมนาคมชั้นนำของไทยอีกรายหนึ่ง ได้ก้าวเข้ามาสู่การให้บริการไอพีทีวีแล้ว แม้ว่าการเปิดตัว MaxnetTV จะเริ่มต้นจากการเป็นสถานีโทรทัศน์บนบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตก็ตาม แต่ถือเป็นการนำร่องก่อนที่ทีทีแอนด์ทีจะก้าวสู่การให้บริการไอพีทีวีอย่างเต็มรูปแบบในอนาคต

"อนาคตของ MaxnetTV จะพัฒนาไปสู่ไอพีทีวีต่อไปในอนาคต" เป็นคำยืนยันจาก ประจวบ ตันตินนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีทีแอนด์ที จำกัด(มหาชน) และว่า "นี่คือก้าวใหม่ของทีทีแอนด์ทีในการสร้างสถานีบันเทิงแห่งใหม่ของเมืองไทย และการถือเป็นก้าวใหม่ของบริษัทในการเป็นมีเดียโพรวายเดอร์"

ทั้งนี้ MaxnetTV เป็นการต่อยอดทางธุรกิจของทีทีแอนด์ที ที่จะเป็นแหล่งรวมมัลติมีเดียคอนเทนด์สำหรับผู้ใช้บรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต ทั้งในเครือข่ายทีทีแอนด์ทีและเครือข่ายอื่นๆ เพื่อรองรับการขยายตัวของกลุ่มผู้ใช้บรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตให้สามารถเลือกรับชม รับฟัง และใช้คอนเทนต์ต่างๆ ที่มีความหลากหลายได้ตามความสนใจ ทุกที่ทุกเวลา และสอดคล้องกับรูปแบบการใช้ชีวิตของแต่ละคน

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ทีทีแอนด์ทีกระโดดลงมาเป็นอีกหนึ่งผู้ให้บริการบรอดแบนด์ทีวีที่พร้อมจะก้าวขึ้นไปให้บริการไอพีทีวีในอนาคตเป็นผลสืบเนื่องจากที่ทีทีแอนด์ทีได้นำจุดเด่นด้านการมีโครงข่ายโทรคมนาคมสำหรับเชื่อมต่อ และส่งผ่านข้อมูลทางบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตซึ่งครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศ มาผสานกับความชำนาญในการสร้างสรรค์รายการและคอนเทนต์ของพันธมิตร โดยมีระบบการดูแลปกป้องสิทธิ์ หรือ DRM (Digital Right Management)

ทีทีแอนด์ทีได้รับความร่วมมือจากพันธมิตรมากมายทั้งสถานีโทรทัศน์ เคเบิลทีวี ค่ายเพลง ค่ายหนัง สถานีวิทยุ รวมทั้งผู้ให้บริการคอนเทนต์อื่นๆ และยังเป็นสถานีที่เปิดกว้างสำหรับผู้สร้างสรรค์ผลงานอิสระต่างๆ ที่ต้องการนำเสนอผลงานให้เป็นที่รู้จักอีกช่องทางหนึ่งด้วย

"เราถือเป็นสถานีที่รวบรวมโลคัลคอนเทนต์ได้มากที่สุด จากเครือข่ายที่ครอบคลุมทั่วประเทศ"

เนื้อหาหลักของ MaxnetTV.net คือสถานีโทรทัศน์ ที่มีทั้งฟรีทีวี ช่อง 5,7,9,11 และไอทีวี รายการทีวีที่เผยแพร่ผ่านดาวเทียม และเคเบิลทีวี ได้แก่ เนชั่นแชนแนล นิวส์ไลน์ สปอร์ตไลน์และจอยทีวี ทางเอ็น บี ที แชนแนล

รวมทั้งสามารถรับชมรายการจากเคเบิลทีวีท้องถิ่น เช่นวี-ทีวี โสภณเคเบิ้ลทีวี โฮมเคเบิ้ลทีวี หาดใหญ่เคเบิ้ล93 เคพีพี เคเบิ้ลทีวี และพีจี ทีวี เนื้อหาในสถานีจะครอบคลุมทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม การลงทุน การศึกษา การท่องเที่ยวและการบันเทิง ซึ่งทั้งหมดเป็นการเผยแพร่ออกอากาศโดยไม่มีการตัดทอนรายการ และไม่เสียค่าใช้จ่ายในการชม

ส่วนเนื้อหาอื่นๆ ประกอบด้วย Movies รวมข่าวคราวความเคลื่อนไหวในวงการภาพยนตร์ และวิดีโอคลิปต่างๆ Music รวมเพลงหลากแนวหลายค่าย มิวสิควิดีโอ คาราโอเกะ ข่าวสารวงการเพลงและลิงค์สถานีวิทยุ Event รวมข่าวสารประชาสัมพันธ์และกิจกรรมต่างๆ และ Lifestyle รวมเรื่องราวน่ารู้เกี่ยวกับสุขภาพ ความงาม อาหาร การตกแต่งบ้านและสวน การท่องเที่ยวและช็อปปิ้ง

นอกจากนี้ยังมีคอนเทนต์ประเภทออนดีมานด์ สำหรับผู้ที่ต้องการชมรายการโทรทัศน์ ภาพยนตร์ ละคร ที่เคยแพร่ภาพไปแล้ว หรือต้งอการฟังเพลงในลักษณะ Playlist ร้องคาราโอเกะ ชมมิวสิควิดีโอ โดยเสียค่าบริการในอัตราที่กำหนด แต่ในช่วงแนะนำบริการจะเปิดให้ใช้บริการฟรี

บริการต่างๆ ของ MaxnetTV.net สามารถใช้ได้กับบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตเครือข่ายใดก็ได้ที่มีความเร็วตั้งแต่ 256 กิโลบิตต่อวินาทีขึ้นไป โดยหากเป็นลูกค้า Maxnet ADSL ของทีทีแอนด์ทีจะได้รับสิทธิพิเศษในการใช้การเพิ่มขึ้น

ประจวบ กล่าวย้ำถึงการเปิดตัวสถานีบรอดแบนด์ทีวี MaxnetTV.net ในครั้งนี้ ว่านอกจากจะเป็นการสร้างโอกาสทางธุรกิจร่วมกันระหว่างทีทีแอนด์ทีกับพันธมิตร และกระตุ้นให้บรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตเป็นที่นิยมขึ้นแล้ว ยังเป็นการสำรวจความต้องการและเสียงตอบรับจากผู้ใช้บริการบรอดแบนด์คอนเทนต์ เพื่อประเมินทิศทางและแนวโน้มตลาดก่อนที่เราจะต่อยอดบริการเป็นแบบทริปเปิลเพลย์หรือไอพีทีวีต่อไป"

ทรูไอพีทีวี พร้อมเข้าถึงทุกครัวเรือน

ไพสิฐ วัจนะปกรณ์ ผู้อำนวยการและผู้จัดการทั่วไปด้านบรอดแบนด์ บรอดแคสติ้ง มัลติมีเดีย บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้รับผิดชอบดูแลธุรกิจเกี่ยวกับการให้บริการอินเทอร์เน็ต โปรโตคอล เทเลวิชัน หรือไอพีทีวีได้กล่าวถึงแนวทางการบุกตลาดทริปเปิลเพลย์ในตลาดเมืองไทยว่า เมื่อดูถึงประชากรคนไทยในปัจจุบันที่สามารถเข้าถึงทีวีประมาณ 90% ขณะที่บริการโทรทัศน์บอกรับสมาชิกหรือเคเบิลทีวีที่ให้บริการในปัจจุบัน โดยเฉพาะยูบีซีที่ปัจจุบันมีฐานลูกค้าอยู่ประมาณ 5 แสนราย จึงทำให้ทางกลุ่มทรูเห็นโอกาสที่จะนำบริการดีๆ อย่างไอพีทีวีไม่ว่าจะผ่านสายเคเบิลหรือดาวเทียมผ่านเทคโนโลยีเอดีเอสแอลออกให้บริการ

"ทรูไอพีทีวี" เริ่มเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการมาประมาณเดือนเศษๆ มานี้เอง ในเบื้องต้นกลุ่มเป้าหมายจะเน้นไปที่ฐานผู้ใช้บริการบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตของกลุ่มทรูเป็นสำคัญ โดยเวลานี้ทรูมีฐานผู้ใช้บริการบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตอยู่ประมาณ 4 แสนราย และได้เปิดให้บริการตามการบอกรับเป็นสมาชิกอยู่ 12 ช่อง

"ด้วยความได้เปรียบตรงที่กลุ่มทรูซึ่งมีโครงข่ายโทรศัพท์พื้นฐาน มีบรอดแบนด์อยู่แล้ว ไอพีทีวีไม่ต้องลงทุนอะไรมาเป็นเพียงการต่อยอดธุรกิจเท่านั้น"

ล่าสุด ทางทรูไอพีทีวีได้รับมอบลิขสิทธิ์ในการแพร่ภาพสถานีบันเทิงของดิสนีย์ผ่านเครือข่ายบริการสถานีโทรทัศน์ส่วนตัวทางบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตภายใต้ชื่อ "ทรู ไอพีทีวี" จำนวน 2 สถานีบันเทิง ประกอบไปด้วย สถานีบันเทิงแรก "ดิสนีย์ แชนเนล" มีกลุ่มเป้าหมายพุ่งตรงไปที่เด็กวัยกำลังโต 6-12 ปี โดยรวบรวมรายการการ์ตูนซีรี่ส์ แอนิเมชัน ภาพยนตร์ต้นฉบับของดิสนีย์

สถานีบันเทิงที่สอง "เพลย์เฮาส์ ดิสนีย์ แชนเนล" ซึ่งเป็นสถานีที่มุ่งนำเสนอสารพันรายการสำหรับเด็กๆ ก่อนวัยเข้าเรียน 2-5 ปี ซึ่งจะช่วยกระตุ้นจินตนาการและการเรียนรู้ของเด็กผ่านบรรยากาศที่สนุกสนาน โดยออกอากาศทางทรู ไอพีทีวีตลอด 24 ชั่วโมง เริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมานี้

ทรูไอพีทีวีนับเป็นผู้ให้บริการโทรทัศน์ผ่านอินเทอร์เน็ตรายที่ 2 ในภูมิภาคเอเชียต่อจากฮ่องกง ซึ่งได้สิทธินำรายการของดิสนีย์มาไว้ในบริการไอพีทีวี

เรย์มันด์ มิแรนด้า กรรมการผู้จัดการ บริษัท วอลท์ ดิสนีย์ เทเลวิชั่น อินเตอร์เนชั้นแนล (เซาท์อีสท์ เอเชีย) จำกัดกล่าวว่า เป้าหมายของการดำเนินงานของดิสนีย์มีอยู่ด้วยกัน 3 ประการ ประการแรก มุ่งในเรื่องความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมใหม่ๆ ประการที่สอง เทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น ไอพีทีวี ประการที่สาม การขยายตลาดไปต่างประเทศ "การร่วมมือกับทรูครั้งนี้ถือเป็นการบรรลุจุดประสงค์ที่วางไว้ เพราะไอพีทีวีจะเป็นสิ่งใหม่ๆ ที่ก้าวหน้าต่อไป ขณะที่ฟรีทีวี เคเบิลทีวีก็ยังอยู่"

เรย์มันด์ มิแรนด้ายังบอกอีกว่า จากผลการวิจัยของมีเดีย พาร์ตเนอร์ เอเชียระบุว่า ตลาดเพย์-ทีวีในไทยมีแนวโน้มโตสูงเป็นเท่าตัว โดยประเมินว่าจะจาก 550,000 ในปีนี้เป็น 1,140,000 รายในปี 2553 ขณะเดียวกันก็เชื่อมั่นในศักยภาพของกลุ่มทรู เพราะเชื่อว่าทรูจะสามารถนำไอพีทีวีเข้าถึงผู้บริโภคทุกครัวเรือนโดยตรง โดยเฉพาะรูปแบบที่โดดเด่นในเรื่องของการเป็นทีวีส่วนตัว สามารถเลือกชมเลือกรับความบันเทิงได้อย่างตรงใจ

สำหรับค่าบริการ "ทรูไอพีทีวี" นั้นหากเป็นแพกเกจพรีเมียม จะฟรีค่าแรกเข้า 2,500 บาท พร้อมรับเอนทรี แพกเกจมูลค่า 11,660 บาทฟรี เมื่อสมัครสมาชิกพรีเมียมแพกเกจแบบรายปี เริ่มตั้งแต่วันนี้ถึง 31 กรกฏาคมศกนี้ ส่วนเอนทรี แพกเกจที่มีมูลค่า 11,660 บาท ฟรี 4 พอร์ตไอพีทีวี รีดดี้ เอดีเอสแอล โมเด็ม มูลค่า 2,500 บาท ฟรีค่าติดตั้งพร้อมเดินสายแลนภายในระยะทาง 20 เมตร มูลค่า 1,000 บาท ฟรีค่าโทร. ทรู มูฟ มูลค่า 8,160 บาท โดยมีเงื่อนไขที่ว่า ราคาดังกล่าวไม่รวมค่าสมัครค่ามัดจำกล่องแปลงสัญญาณ 2,000 บาท ค่าเช่ากล่องแปลงสัญญาณเดือนละ 190 บาท ผู้สมัครต้องเป็นสมาชิกไฮสปีดอินเทอร์เน็ตของทรู และจะต้องอยู่ในพื้นที่ให้บริการของทรูไอพีทีวี

"จุดเด่นของบริการ ทรูไอพีทีวี อยู่ที่ว่า เทคโนโลยีที่ทรูใช้แม้ผู้ใช้บริการบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต ความเร็ว 128 กิโลบิตต่อวินาทีก็สามารถรับชมภาพได้อย่างคมชัด เพราะเราจะมีเทคโนโนโลยีฟิลเตอร์แบนด์วิธ ที่จะทำหน้าที่แยกช่องบรอดแบนด์กับไอพีทีวีออกจากกัน" ไพสิฐคุยถึงเทคโนโลยีที่นำมาใช้ว่า เหนือว่า ผู้ให้บริการรายอื่นในเวลานี้

เมื่อถามถึงเทคโนโลยี "เคเบิลโมเด็ม" ที่ทางกลุ่มทรูเคยหมายมั่นปั้นมือว่าจะนำมาให้บริการไฮเทคอย่างนี้ ไพสิฐกลับบอกว่า ผมไม่มีคอนเม้นต์เกี่ยวกับเทคโนโลยีดังกล่าว ครั้นสอบถามถึงจุดคุ้มทุนของทรูไอพีทีวีที่ดูเหมือนจะมีความซ้ำซ้อนกับบริการยูบีซี ไพสิฐกลับตอบว่า เรื่องนี้ต้องขอให้ไปสอบถามทางไฟแนนช์ดูจะดีกว่า ผมดูแต่เรื่องคอนเทนต์

ไพสิฐยังได้กล่าวถึงโพรซิชั่นนิ่งของบริการยูบีซีทรูกับทรูไอพีทีวีว่า ทรูไอพีทีวีจะไม่แย่งฐานลูกค้ากันเองกับยูบีซี ทรู เนื่องจากการให้บริการทั้งสองจะมีลักษณะของรายการที่แตกต่างกัน และมีฐานลูกค้าที่แตกต่างกัน โดยกลุ่มลูกค้าทรู ไอพีทีวี จะเป็นลูกค้าในกลุ่มพรีเมียม ขณะที่กลุ่มลูกค้าของยูบีซี ทรู จะเป็นลูกค้าในกลุ่มแมส

ทั้งนี้ ไพสิฐยังคุยอีกว่า ได้ตั้งเป้าไว้ว่าการให้บริการไอพีทีวีจะมีลูกค้าประมาณ 3 แสนราย ภายใน 18 เดือน จากปัจจุบันที่มีลูกค้าอยู่ที่หลักพันราย

คงจะตอบจับตาดูว่า โมเดลการทำตลาดแบบกลุ่มทรูที่มุ่งเป้าหมายที่เรื่องของ "คอนเวอร์เจนซ์" จะบรรลุตามเป้าที่วางไว้แค่ไหน


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.