|
"ทิพ" หันหัวรบขยายฐานกลุ่มนิชมาร์เก็ต จับตลาดน้ำมันพืชพรีเมียม
ผู้จัดการรายสัปดาห์(10 กรกฎาคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
น้ำมันพืชทิพ หนีสงครามราคา แตกซับแบรนด์ “ทิพไวส์” เปิดศึกน้ำมันพืชในเซกเมนต์กลุ่มพรีเมียมเพื่อสุขภาพที่มีน้ำมันรำข้าว ทานตะวัน ข้าวโพด และเป็นตลาดที่มีโอกาสเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพราะมีอัตราการเติบโตไม่น้อยกว่า 10 % ต่อปี
“ทิพไวส์” ใช้กลยุทธ์ขยายฐานลูกค้าใหม่ โดยชูจุดขายของน้ำมันพืช 5 ประเภทที่เหมาะกับชนิดอาหารแต่ละประเภทเป็นตัวขับเคลื่อนตลาดคือ 1.น้ำมันเมล็ดฝ้ายเหมาะสำหรับอาหารประเภททอด 2.น้ำมันข้าวโพดและ3.น้ำมันดอกทานตะวันเหมาะสำหรับอาหารประเภทผัด 4.น้ำมันสลัดเป็นน้ำมันถั่วเหลืองเหมาะสำหรับการทำน้ำสลัดและการผัด 5.น้ำมันถั่วเหลืองผสมน้ำมันปาล์ม เหมาะทั้งอาหารประเภททอดหรือผัด
นอกจากคุณภาพของผลิตภัณฑ์ในด้านโภชนาการที่เป็นจุดเด่นแล้ว ยังมีการชูจุดเด่นที่รูปแบบผลิตภัณฑ์ซึ่งมีความโดดเด่นและทันสมัย ได้รับ รางวัลบรอนซ์ อวอร์ด สาขาการสื่อสารการตลาด ด้านการออกแบบกราฟฟิคประเภทบรรจุภัณฑ์ จากการประกวดรางวัล Adman Awards 2006
ทั้งนี้ การสร้างเทรนด์ใหม่ในผู้บริโภคเลือกใช้น้ำมันพืชอย่างถูกชนิดดังกล่าว เป็นการเดินเกมเพื่อขยายขอบเขตการทำตลาดน้ำมันพืชทิพ เพราะที่ผ่านมาผู้บริโภคไม่มีความภักดีต่อแบรนด์ อีกทั้งมีความเชื่อว่าน้ำมันพืชจะเป็นกลุ่มสินค้าที่ไม่ได้ให้ผลในการประกอบอาหารที่แตกต่างกัน โดยดึงจุดเด่นคุณลักษณะของน้ำมันพืชที่เหมาะสมกับการปรุงอาหารแต่ละชนิดออกมาเป็นจุดขาย
พร้อมกับให้ความรู้เพื่อเพิ่มปริมาณการใช้ในด้านฟังก์ชันนัลที่ชัดเจน เพราะที่ผ่านมาผู้บริโภคยังไม่มีความรู้ที่ชัดเจนเช่น น้ำมันพืชปาล์มสำหรับทำอาหารทอด ส่วนน้ำมันถั่วเหลืองเหมาะสำหรับอาหารผัด โดยใช้งบการตลาด 60-70 ล้านบาท ผ่านกลยุทธ์แบบบีโลว์เดอะไลน์ เพื่อสื่อสารให้ผู้บริโภครับรู้ถึงคุณสมบัติของน้ำมันพืชที่มีประโยชน์แตกต่างกัน
เพราะปัจจุบันผู้บริโภคยังเชื่อว่า น้ำมันพืชขวดเดียวสามารถปรุงอาหารได้ทุกอย่าง โดยจะเดินสายโรดโชว์แนะนำผลิตภัณฑ์และเมนูอาหารในกรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่ 3 แห่ง โดยในกรุงเทพฯ จะจัด 3 ครั้ง และจะเดินสายจัดกิจกรรมที่เชียงใหม่และชลบุรีต่อไป
ม.ร.ว.สุภาณี ดิศกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท น้ำมันพืชทิพ จำกัด กล่าวว่า ตั้งเป้าการทำตลาดที่เน้นเจาะกลุ่มผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพที่ยอดขาย 280 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 40% ของเป้ายอดขายน้ำมันรวม 700 ล้านบาทในปีนี้
นอกจากนั้น ยังเป็นการมองหาช่องว่างในตลาด เพราะหากโฟกัสเแนวทางการทำตลาดน้ำมันพืชในตลาดรวมมูลค่า 9 พันล้านบาท ที่แบ่งสัดส่วนตลาดเป็นน้ำมันปาล์มประมาณ 65% และกลุ่มน้ำมันพืชเพื่อสุขภาพน้ำมันถั่วเหลือง 25% น้ำมันรำข้าว 6% และน้ำมันแบรนด์นำเข้าและน้ำมันอื่นๆ 4% แต่ละค่ายจะมีการชูฟังก์ชันนัลสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยวิตามินเอ หรือว่าวิตามินอี รวมทั้งโอเมก้า ทรี ที่ช่วยบำรุงสมองขึ้นมาเป็นจุดขายเพื่อสร้างความแตกต่างให้กับสินค้า
ที่สำคัญ ผู้เล่นในตลาดน้ำมันพืชแต่ละค่าย ยังเข้าไปจับจองพื้นที่ครอบครองความเป็นผู้นำตลาดในแต่ละเซกเมนต์แล้ว โดยแบรนด์ “องุ่น” เป็นผู้นำตลาดน้ำมันถั่วเหลือง ด้วยส่วนแบ่งตลาด 50% ตามลำดับด้วยกุ๊ก 15% และ ทิพ 7% ส่วนน้ำมันปาล์มนั้น มีแบรนด์ “มรกต” ครองอันดับหนึ่ง มีส่วนแบ่งการตลาด 60% และตลาดน้ำมันรำข้าวมี “คิง” เป็นผู้นำมีส่วนแบ่งการตลาด 70%
การเบนเข็มทิศลงไปเล่นในตลาดพรีเมียมครั้งนี้ นับว่าเป็นการเคลื่อนไหวทางการตลาดครั้งใหญ่ก็ว่าได้ เพราะก่อนหน้านี้เมื่อปี 2547 “ทิพ”เคยวางเป้าหมายที่จะเบียดน้ำมันพืชแบรนด์ “องุ่น” ขึ้นเป็นผู้นำในตลาดน้ำมันมันพืชถั่วเหลือง โดยได้มีการวางกลยุทธ์เชิงรุกในทุกด้านอย่างต่อเนื่อง
เริ่มตั้งแต่ก็ให้ความสำคัญกับการสร้างแบรนด์อย่างต่อเนื่อง โดยการรีแบรนดิ้ง (Rebranding) เปลี่ยนภาพลักษณ์แบรนด์ให้มีความทันสมัยและดูเป็นคนรุ่นใหม่มากขึ้นโดยมี โสภิตนภา ชุ่มภานี เป็นพรีเซ็นเตอร์ รวมทั้งมีการปรับแพ็กเก็จจิ้ง ฉลากติดขวด เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายลดลงมาที่อายุ 25 ปีขึ้นไป จากกลุ่มเดิมที่เป็นลูกค้าอายุ 45 ปีขึ้นไป ซึ่งมีอัตราส่วนเพียง 14% ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ
ด้านช่องทางขายมีการแต่งตั้งให้สหพัฒน์ฯ เป็นผู้กระจายสินค้า เพื่อพัฒนาการจำหน่ายให้สินค้าครอบคลุมพื้นที่ร้านค้าย่อยที่อยู่ในเขตปริมณฑลได้มากขึ้น หลังจากนั้นในครึ่งปีหลังปีที่ผ่านมา ยังได้ออกแคมเปญ "หยิบทิพ หยิบล้าน" ซึ่งเป็นรายการชิงโชคทองคำมูลค่า 1 ล้านบาท และรางวัลอื่นๆ รวมถึง จัดโครงการเพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีแก่ตราสินค้าทิพ แจกรถเข็นขายไข่เจียวพร้อมกับอุปกรณ์ และขายน้ำมันพืชทิพในราคาถูกแก่กลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย ที่สนใจจำนวนทั้งสิ้น 100 คัน โดยค่ายน้ำมันพืชทิพ หวังผลจากทำตลาดเชิงรุกอย่างต่อเนื่องจะสามารถสร้างยอดขายเพิ่มขึ้นถึง 100%
การรบแบบเต็มรูปแบบรุกทั้ง 4 P’ ปรับทั้ง Product Price place Promotion ก็ยังไม่สามารถเข้าไปต่อกรกับภาวะการแข่งขันด้านราคารุนแรง ที่ราคาขาย 34-35 บาทต่อลิตร แต่ทว่าช่วยกระตุ้นยอดขายน้ำมันทิพให้เพิ่มขึ้นได้เพียงในระยะสั้นเท่านั้นเอง ซึ่งนั่นเป็นที่มาของการเบนเขมสู่ตลาดน้ำมันพืช ในเซกเมนต์เพื่อสุขภาพล่าสุด
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|