|
MMEมาร์เกตแคปรูดหลังถูกมาตรการ'กมล'ยอมรับส่งผลต่อภาพลักษณ์หุ้น
ผู้จัดการรายวัน(7 กรกฎาคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
ไมด้า-เมดดาลิสท์ สุดแกว่งช่วงตลท.สั่งห้ามเน็ทเซ็ทเทิลเมนท์-มาร์จิ้น ราคาสูงสุด-ต่ำสุดห่างสุดกรูถึงเกือบ 500% โดยมาร์เกตแคปจาก 9.1 พันล้านบาทลงไปต่ำสุด 1.8 พันล้านบาท หายไปกว่า 7.3 พันล้านบาท ขณะที่ APURE ไม่น้อยหน้าราคาสูงสุด-ต่ำสุดห่างกันกว่า 2 เท่า ขณะที่"กมล เอี้ยวศิวิกูล"ยอมรับการถูกมาตรการทำให้ส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ของหุ้น
ความเคลื่อนไหวราคาหุ้นบริษัท ไมด้า-เมดดาลิสท์ เอ็นเธอร์เทนเมนท์ จำกัด(มหาชน)หรือ MME ในช่วงที่ตลาดหลักทรัพย์สั่งห้ามซื้อขายในลักษณะหักกลบราคาค่าซื้อกับราคาค่าขายหลักทรัพย์เดียวกันในวันเดียวกัน (Net Settlement) และห้ามสมาชิกให้ลูกค้ากู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์ (Margin Trading) ครั้งล่าสุดระหว่างวันที่ 5 เมษายน ถึง 6 กรกฎาคม 2549 เป็นเวลา 60 วันทำการ พบว่าราคาปิดวันที่ 4 เมษายนอยู่ที่ 29.50 บาท ก่อนที่ปรับตัวขึ้นไปสูงสุดที่ 39 บาท เมื่อวันที่ 10 เมษายน ขณะที่ราคาต่ำสุดในช่วงดังกล่าวอยู่ที่ 6.75 บาท เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน โดยหากเทียบเทียบราคาสูงสุดกับราคาต่ำสุดในช่วงเวลาดังกล่าวราคาห่างกันถึง 32.25 บาท หรือเกือบ 500%
ทั้งนี้ หากพิจารณามูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด หรือ มาร์เกตแคป เมื่อวันที่ 4 เมษายนอยู่ที่ 7,080.00 ล้านบาท ก่อนที่จะปรับไปสูงสุดถึง 9,120 ล้านบาทเมื่อวันที่ 10 เมษายน ขณะที่มาร์เกตแคปเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน ตกลงไปอยู่ที่ 1,812 ล้านบาท โดยมาร์เกตแคปลดลงถึง 7,308 ล้านบาท หรือ 80.13% จากวันที่มาร์เกตแคปปรับตัวขึ้นไปสูงสุด ด้านราคาปิด MME วานนี้ ( 6 ก.ค.) ราคาปิดที่ 9.20 บาท เพิ่มขึ้น 0.15 บาท หรือ 4.20% มูลค่าการซื้อขาย 25.77 ล้านบาท
นอกจากนี้บริษัทที่จะครบกำหนดที่ตลาดหลักทรัพย์สั่งห้ามซื้อขายในลักษณะหักกลบราคาค่าซื้อกับราคาค่าขายหลักทรัพย์เดียวกันในวันเดียวกัน (Net Settlement) และห้ามสมาชิกให้ลูกค้ากู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์ (Margin Trading) ในวันนี้ (7 ก.ค.) คือบริษัท อกริเพียว โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือAPUREและใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญของบริษัท (APURE-W1) จะยังต้องติดตามว่าตลาดหลักทรัพย์มีสรุปในเรื่องการห้ามเน็ทเซ็ทเทิลเมนท์-มาร์จิ้นหรือไม่ โดยตลาดหลักทรัพย์สั่งห้ามเน็ตเซ็ทเทิลเมนท์ ตั้งแต่วันที่ 7 เมษายน ถึง 7 กรกฎาคม 2549
ทั้งนี้ราคาปิดวันที่ 7 เมษายนอยู่ที่ 6.80 บาท ก่อนที่ปรับตัวขึ้นไปสูงสุดที่ 7.10 บาท ขณะที่ราคาต่ำสุดในช่วงดังกล่าวอยู่ที่ 1.96 บาท เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน โดยหากเทียบเทียบราคาสูงสุดกับราคาต่ำสุดในช่วงเวลาดังกล่าวราคาห่างกันถึง 5.15 บาท หรือกว่า 200%
ทั้งนี้หากพิจารณามูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด หรือ มาร์เกตแคป เมื่อวันที่ 7 เมษายนอยู่ที่ 1,831.41 ล้านบาท ก่อนที่จะปรับไปสูงสุดถึง1,863.44ล้านบาทเมื่อวันที่ 24 เมษายน ขณะที่มาร์เกตแคปเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน ตกลงไปอยู่ที่ 552.13 ล้านบาทลดลงถึง 1,311.31 ล้านบาทหรือ 70.37% จากวันที่มาร์เกตแคปปรับตัวขึ้นไปสูงสุด
อย่างไรก็ตามตลาดหลักทรัพย์ได้ห้ามการซื้อหรือขายใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญของบริษัท หรือ APURE-W1 ตั้งแต่วันที่ 5 กรกฎาคม2549 ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2549 เนื่องจากจะครบกำหนดการใช้สิทธิของใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญของบริษัท
(APURE-W1) โดยมีระยะเวลาแสดงความจำนงการใช้สิทธิตั้งแต่วันที่ 14 กรกฎาคม 2549 ถึงวันที่ 30 กรกฎาคม 2549 กำหนดวันใช้สิทธิในวันที่ 31 กรกฎาคม 2549 โดยบริษัทกำหนดปิดสมุดทะเบียนผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิเพื่อการใช้สิทธิซื้อหุ้นสามัญตั้งแต่วันที่ 10 กรกฎาคม 2549 เวลา 12.00 น. ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2549 ซึ่งจะเป็นผลให้ APURE-W1 พ้นสภาพจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2549 เป็นต้นไป
ด้านราคาปิด APURE วานนี้ ( 6 ก.ค.) ราคาปิดที่ 2.88 บาท เพิ่มขึ้น 0.18 บาท หรือ 6.67% มูลค่าการซื้อขาย 49.59 ล้านบาท
นายกมล เอี้ยวศิวิกูล ประธานกรรมการ บริษัท ไมด้า-เมดดาลิสท์ เอ็นเธอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ MME กล่าวว่า การสั่งห้ามเน็ตเซ็ทเทิลเม้นท์ของตลาดหลักทรัพย์จะยืดเวลาออกไปหรือไม่คงปล่อยให้เป็นหน้าที่ของตลาดหลักทรัพย์ โดยการโดยใช้มาตรการดังกล่าวแม้ว่าจะไม่กระทบต่อผลการดำเนินงานของบริษัท แต่ก็กระทบต่อภาพลักษณ์ของบริษัท
ทั้งนี้ นักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุนควรที่จะยอมรับว่าการลงทุนมีความเสี่ยง ไม่ควรจะรู้สึกแค่ว่าการลงทุนจะสร้างผลตอบแทนเท่านั้นเพราะทุกครั้งที่นักลงทุนขาดทุนก็กลับมาโทษบริษัทโดยไม่เคยพิจารณาถึงผลประกอบการของบริษัทซึ่งที่ผ่านมาบริษัทก็ยังมีกำไรอย่างต่อเนื่อง
"ผมว่าคนเค้าอิจฉาผมตอนนี้ผมมี 3 บริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ผลประกอบการก็ดีการที่หุ้นมันจะขึ้นก็ไม่ใช่เรื่องที่ผิดผมไม่คิดว่าการขึ้นของหุ้นผมผิดปกติซึ่งใครที่คิดว่ามันผิดปกติก็ไม่ควรที่จะเข้ามาลงทุน บางครั้งหุ้นที่ขึ้นบางตัวผลประกอบการก็แย่ไม่เห็นมีการเข้าไปตรวจสอบบ้างเลย"นายกมลกล่าว
อย่างไรก็ตามแม้ว่าภาพลักษณ์ของตนเองจะได้รับผลกระทบจากการถูกมองว่าเป็นนักลงทุนขาใหญ่แต่ก็ยังมีความสนใจที่จะนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เพิ่มในอนาคตหากมีการขยายธุรกิจ
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|