ฟอร์ด-โตโยต้าทุ่มไม่ยั้งเมิน“ศก.-การเมือง”วุ่น


ผู้จัดการรายวัน(6 กรกฎาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

ค่าย “ฟอร์ด” ไม่หวั่นการเมือง-เศรษฐกิจไทยอึมครึม ยันพร้อมลงทุนในไทยต่อเนื่อง เหตุอุตฯ ยานยนต์เอเชียเติบโตสูง โดยมีไทยเป็นศูนย์กลางขับเคลื่อน เผยหลังเข้ามาในไทย 10 ปี นำเม็ดเงินมาลงทุนแล้ว 4 หมื่นล้านบาท สร้างรายได้ให้กับประเทศถึง 1.67 แสนล้านบาท เช่นเดียวกับ “โตโยต้า” ที่ยังคงเดินหน้าลงทุน และรับโอนภารกิจสำคัญจากญี่ปุ่นมาดำเนินงานในไทยแทน

นายทอม บริวเออร์ ประธานฟอร์ด ประเทศไทย เปิดเผยว่า แม้สภาวะการเมืองไทยปัจจุบันจะอึมครึม จนส่งผลกรกะทบสภาวะเศรษฐกิจโดยรวม จนหลายฝ่ายมองว่าอยู่ในภาวะถดถอย แต่ฟอร์ดยังมีความมั่นใจ และพร้อมที่จะลงทุนต่อเนื่อง แม้ว่าก่อนหน้านี้จะได้ลงทุนไปแล้วถึง 40,000 ล้านบาท

“บริษัทแม่ ฟอร์ด มอเตอร์ คอมปานี สหรัฐอเมริกา มองว่าการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ในเอเชียสูงมาก หากดูตลาดต่างๆ ทั่วโลก เอเชียถือว่ามีอัตราการขยายตัวมากที่สุด และไทยเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมยานยนต์ในภูมิภาคนี้ มีศักยภาพพร้อมในการผลิต ตลอดจนบุคลากร และตลาดในประเทศเองก็เติบโตสูง แม้จะเกิดปัจจัยลบช่วงนี้แต่ที่สุดก็ต้องคลี่คลายได้ หากเทียบกับปัจจัยบวกอื่นๆ แล้ว ไทยจึงยังคงน่าลงทุนที่สุด”

สำหรับฟอร์ดเข้ามาทำตลาดในไทยเป็นเวลา 10 ปีแล้ว และยังคงมุ่งมั่นที่จะดำเนินงานตามที่ประกาศเจตนารมณ์ไว้ โดยการขยายธุรกิจและพัฒนาฐานการผลิตในไทย ให้เป็นศูนย์กลางการผลิตรถปิกอัพ 1 ตันของฟอร์ดต่อไป และเมื่อปีที่ผ่านมาฟอร์ดได้ตั้งสำนักงานฟอร์ด เอเชีย แปซิฟิก และแอฟริกา ขึ้นในกรุงเทพฯ นั่นแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของไทย ในการเป็นศูนย์กลางของฟอร์ดในภูมิภาคนี้

“ตลาดเอเชียเป็นตลาดที่มีความสำคัญ ต่อการขับเคลื่อนของฟอร์ด มอเตอร์ คอมปานี โดยประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางผลักดันการเติบโตของฟอร์ดในภูมิภาคนี้ และฟอร์ดกำลังเดินหน้าปรับปรุง พัฒนา และเพิ่มกำลังการผลิตของโรงงานฟอร์ดในไทย เพื่อบรรลุเป้าหมายเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 200,000 คันต่อปี ภายในปี 2551 ตามแผนการลงทุน 20,000 ล้านบาท ตามที่เคยประกาศไว้เมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา และนอกจากนี้ฟอร์ดจะพัฒนาเครือข่ายผู้จำหน่ายและการบริการ ในการสร้างความพึงพอใจสูงสุดให้กับลูกค้า”นายบริวเออร์กล่าวและว่า

ทั้งนี้ในปี 2548 ที่ผ่านมา ฟอร์ดมียอดผลิตปิกอัพ 155,000 คัน และตั้งแต่เริ่มส่งออกปิกอัพครั้งแรกในปี 2541 จนถึงปัจจุบัน โรงงานผลิตรถยนต์ของฟอร์ดในไทย สามารถสร้างรายได้ให้ประเทศไทยแล้วกว่า 167,000 ล้านบาท และสร้างการค้าเกินดุลถึง 109,000 ล้านบาท ปัจจุบันฟอร์ดทำธุรกิจกับผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ของไทยถึง 148 ราย โดยซื้อชิ้นส่วนจากผู้ผลิตปีละกว่า 30,000 ล้านบาท

นายสาโรช เกียรติเฟื่องฟู รองประธานฝ่ายขายและพัฒนาตัวแทนผู้จำหน่าย ฟอร์ด ประเทศไทย เปิดเผยถึงความชัดเจนเกี่ยวกับนโยบายทางด้านพลังงานของรัฐบาลไทยว่า ต้องการให้รัฐบาลมีนโยบายที่ชัดเจน จะสนับสนุนพลังงานทดแทนชนิดใด ไม่ว่าจะเป็นก๊าซเอ็นจีวี เอทานอล หรือไบโอดีเซล

“ที่ผ่านมารัฐบาลมักเปลี่ยนแปลงนโยบายตลอด ขณะเดียวกันก็ไม่ทราบว่าหน่วยงานใด เป็นผู้รับผิดชอบโดยตรง จนสร้างความสับสนให้กับค่ายรถยนต์ ซึ่งในส่วนของฟอร์ดมีความพร้อมทางเทคโนโลยี ที่จะผลิตรถยนต์ที่ใช้พลังงานทดแทนชนิดต่าง ๆ อยู่แล้ว เพียงแต่ต้องการความชัดเจน เพื่อที่จะสามารถวางแผนในการลงทุนได้”

สำหรับเรื่องพลังงานทดแทนนี้ ฟอร์ดไม่เคยค้านนโยบายของภาครัฐ แต่อยากให้มีความจริงจังและชัดเจนมากกว่านี้ อย่างการผลักดันให้มีการติดตั้งก๊าซเอ็นจีวีในขณะนี้ ฟอร์ดมองว่ารัฐบาลเร่งดำเนินการเกินไป ทำให้ไม่มีความชัดเจน ผู้ประกอบเตรียมตัวไม่ทัน ส่งผลให้เกิดความไม่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย โดยฟอร์ดเห็นว่าแก๊สโซฮอล์เป็นพลังงานที่เหมาะสมที่สุดกับเมืองไทย แต่ก็พร้อมสนับสนุนนโยบายเชื้อเพลิงทดแทนอื่นๆ ของรัฐบาลทุกประเภท เพียงแต่ต้องมีความชัดเจน และระยะเวลาให้เตรียมตัวมากกว่านี้

ส่วนยอดจำหน่ายรถยนต์ฟอร์ด ในช่วงครึ่งแรกของปี 2549 ที่ผ่านมา ทำได้ประมาณ 10,000 คัน โดยแบ่งเป็นปิกอัพเรนเจอร์ 70% และรุ่นอื่นๆ อีก 30% ส่วนยอดจำหน่ายจนถึงสิ้นปีนั้น คาดว่าจะทำได้เดือนละ 1,500 คัน โดยบริษัทจะเน้นการทำตลาดในส่วนของตลาดต่างจังหวัดให้มากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งถือเป็นนโยบายต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา ซึ่งที่ผ่านมาฟอร์ดมีการจัดกิจกรรมรายการ “ฟอร์ดเรนเจอร์ ออนทัวร์” ไปทุกภาคของประเทศ เพื่อให้ลูกค้าได้สัมผัสและทดลองขับรถของฟอร์ดทุกรุ่น

นายอากิระ โอกาเบะ กรรมการบริหารอาวุโส บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ประเทศญี่ปุ่น เปิดเผยว่า โตโยต้าไม่คิดว่าสถานการณ์การทางการเมืองไทยในปัจจุบัน ที่กำลังอยู่ในสภาวะอึมครึมจะส่งผลต่อการดำเนินงานของโตโยต้า รวมถึงการจัดตั้งบริษัทใหม่ในไทย บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ เอเชีย แปซิฟิค จำกัด (ประเทศไทย) เพื่อทำหน้าที่ให้การสนับสนุนการผลิตรถยนต์โตโยต้า ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิคให้แข็งแกร่งขึ้น โดยบริษัทแห่งนี้จะรับโอนภารกิจด้านการผลิตจากบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น มาดำเนินการแทน

“โตโยต้าไม่คิดว่าสถานการณ์อึมครึมทางการการเมืองในไทย จะมีผลกระทบต่อการจัดตั้งบริษัทใหม่ของโตโยต้า ตลอดจนถึงการลงทุนอื่นๆ ในอนาคต แม้ว่าการลงทุนในไทย จะมีทั้งด้านลบและบวก แต่เราจะพิจารณาลงทุนหรือไม่ อยู่ที่ความแข็งแกร่งของพื้นฐานการลงทุน ตลอดจนผู้ผลิตชิ้นส่วนเป็นหลัก ซึ่งสิ่งเหล่านี้ประเทศไทยมีศักยภาพต่อการลงทุนสูงมาก”นายโอกาเบะกล่าว


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.