เอ่ยชื่อ "สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์" หลายคนคงพยักหน้าด้วยความยอมรับในฝีมือและความรู้
แต่อีกหลายๆ คนอาจจะร้อง "ว้า...ดร.สมชายอีกแล้ว"
หลายปีที่ผ่านมา อาจารย์สมชายเกือบจะขนานนามได้ว่าเป็น "สมชายรายวัน"
ด้วยความที่บนหน้าหนังสือพิมพ์หลายฉบับต้องมีบทสัมภาษณ์แสดงทัศนะเกี่ยวกับหุ้น
หรือภาวะเศรษฐกิจเกือบทุกวันยังไม่รวมบทความอีกหลายชิ้นในหนังสือพิมพ์หลายฉบับ
อภิปรายทั้งรอบเช้า รอบบ่าย แถมรอบเย็น จนไม่ทราบว่าอาจารย์มีเวลาที่ไหนมากมาย
แต่ถึงวันนี้อาจารย์สมชายก็ต้องยอมรับว่า "ถึงเวลาต้องพักแล้ว"
ประเด็นสำคัญอยู่ที่เรื่อง "สุขภาพ"
อาจารย์สมชายเล่าว่าตลอดทั้งชีวิตแทบจะไม่ได้พักเลย ช่วงที่ได้พักมากที่สุดคือช่วงเวลาเรียนหนังสือที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ปัญหาครอบครัวที่ส่งผลกระทบต่อจิตใจในวัยเรียน ทำให้อาจารย์สมชายเริ่มมีความตั้งใจตั้งแต่ครั้งเรียนอยู่ที่คณะเศรษฐศาสตร์
จุฬาฯ แล้วว่า ต้องเรียนเพื่อสร้างชีวิตและครอบครัวที่มั่นคงในวันข้างหน้า
ด้วยการเริ่มเรียนทุกอย่างที่ขวางหน้า
ปี 2510 อาจารย์สมชายรับทุนการศึกษาไปเรียนต่อระดับปริญญาตรีสาขารัฐศาสตร์ที่สเปน
จนจบปริญญาตรีจากนั้นได้ทุนรัฐบาลฝรั่งเศสด้านเศรษฐศาสตร์ในระดับปริญญาโทและเอกที่ฝรั่งเศส
รวมปริญญาที่ได้รับจากมหาวิทยาลัยต่างประเทศถึง 5 ใบ นอกจากจะทำให้เป็นผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชาที่เรียนแล้ว
อาจารย์สมชายยังเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านภาษาฝรั่งเศส สเปน และอังกฤษด้วย
โดยเฉพาะภาษาสเปน นับเป็น 1 ใน 3 ของผู้เชี่ยวชาญในประเทศไทยทีเดียว จนถึงครั้งหนึ่งได้รับเชิญให้เป็นคณะกรรมการบัญญัติคำภาษาต่างประเทศในภาษาไทยของราชบัณฑิตสถาน
เมื่อกลับมาเมืองไทยเป็นช่วงที่ตลาดหุ้นกำลังเริ่มต้น และแทบไม่มีใครสนใจ
เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่ดีอาจารย์เข้าไปในช่วงนั้นพอดี โดยอาจารย์สมชายเล่าว่าเป็นความมุ่งมั่นและเป้าหมายของชีวิตอยู่แล้ว
นั่นคือ ตัวอาจารย์เองพยายามจะดำรงภาพการเป็นศูนย์กลางเชื่อมระหว่างข่าวสารข้อมูลกับนักวิชาการ
เศรษฐกิจการเมือง ในฐานะผู้ป้อนข้อมูลทั้งบวกและลบ โดยพุ่งเป้าไปที่ตลาดหลักทรัพย์ซึ่งจะเป็นดัชนีชี้ทุกสิ่ง
พร้อมกับการเป็นอาจารย์ที่ดี และที่ขาดไม่ได้คือเรื่องของรายได้ ซึ่งถ้าได้รับการยอมรับให้เป็นผู้เชี่ยวชาญก็จะมีรายได้เข้ามา
อาจารย์สมชายกล่าวว่านับแต่กลับมาอยู่เมืองไทยเป็นช่วงที่ทำงานหนักมาก
และแทบไม่เคยหยุดพัก ยิ่งช่วงเศรษฐกิจโตขึ้นมาในปี 2529-2531 งานยิ่งมากข้อมูลยิ่งต้องเก็บ
จากเลขาฯเพียงคนเดียวก็ต้องเพิ่มเป็นกว่า 10 คน
"ต้องอ่านหนังสือถึงตี 1-ตี 2 ตื่นตี 5 คว้าหนังสือพิมพ์ 5 ฉบับ เข้าไปอ่านในห้องน้ำ
ตอนเช้าก็มีสอนหนังสือที่ธรรมศาสตร์ และบรรดาเอ็มบีเอ มินิเอ็มบีเอ 4-5 แห่งสมชายรับหมด
แล้วก็รีบนั่งรถไปพูด ไปอภิปราย วันหนึ่ง 2-3 งาน บางครั้งมากถึง 5 งานต่อวัน
ระหว่างนั่งรถก็พิมพ์งานบทความ วันเสาร์อาทิตย์ที่ไปสอนหนังสือที่โรงแรม
ระหว่างคนอื่นๆ พักทานกาแฟ ผมก็จ้างครูมาสอนภาษาจีนอีกเพราะกลัวลืม เวลไปอภิปรายถ้าคนอื่นมาสาย
ผมก็จะนั่งลงพิมพ์งาน ไม่สนใจใคร เป็นที่รู้กันในวงการ แล้วยังต้องแวะไปบริษัทเอกชนต่างๆ
ที่ผมรับเป็นที่ปรึกษาอีกหลายแห่ง"
กว่าจะเลิกงานก็ดึกดื่น และก็อาจมีงานเลี้ยงต่ออีก ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นโต๊ะจีนกินเสร็จก็กลับบ้าน
อ่านหนังสือต่ออีกก่อนนอน
จนกระทั่งการไปอภิปรายครั้งหลังๆ อาจารย์สมชายก็เริ่มออกอาการ เริ่มจากระหว่างพูดต้องดื่มน้ำตลอด
ต่อมาก็พูดไปอย่างแกนๆ ไม่มีลูกเล่นอะไรทั้งสิ้น จนถึงที่สุดเมื่ออภิปรายจบก็ต้องไปหาหมอทันที
"คุณหมอก็บอกว่าเพราะคุณเครียดเกินไปแล้ว"
อาการของอาจารย์สมชายไม่มีอะไรมาก นอกจากปวดคอ ต่อมาก็ลามปามมาปวดหลัง
เจ็บหลัง ปวดท้อง ยกของหนักไม่ได้ แต่อาการเพียงเท่านี้ก็เพียงพอสำหรับคนวัย
49 ปีที่จะต้องหยุดพัก
แต่คำแนะนำของหมอที่ขอให้พักผ่อน ทำให้ชีวิตของอาจารย์สมชายเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ถึงขนาดเจ้าตัวบอกว่า
"เป็นจุดหักเลี้ยวของชีวิต"
เริ่มจากการทบทวนภารกิจที่ตัวเองทำไว ้และคัดเลือกเฉพาะสิ่งที่จำเป็นเท่านั้นโดยอาจารย์สมชายให้ความสำคัญกับงานหลัก
3 สิ่งคือ งานสอนหนังสือที่จะทำไปตลอด งานศึกษานโยบายของภาครัฐ และงานภาคเอกชน
เช่น งานอภิปราย จะรับงานเหลือเพียงสัปดาห์ละ 2-3 งาน จากวันละ 2-3 งาน และจะเป็นงานที่จำเป็นหรือสำคัญจริงๆ
เท่านั้น นอกนั้นก็คืองานเยี่ยมบริษัทที่ตนเองเป็นกรรมการหรือที่ปรึกษาไม่กี่แห่ง
กิจวัตรประจำวันก็เปลี่ยนไป จากเดิมเข้านอนตี 2 ตื่นตี 5 ก็เริ่มเข้านอน
5 ทุ่มตื่น 8-9 โมงเช้า ตื่นมาก็อนุโมทนาสาธุที่ไม่มีรายการต้องไปอภิปรายที่ไหน
ถ้ามีรายการต้องสอนหนังสือก็ไปปกติ
"พอเที่ยงหรือบ่ายผมก็ว่างแล้ว" อาจารย์สมชายพูดอย่างดีใจจนเห็นได้ชัด
เวลาที่ว่างอาจารย์จะมาที่ห้องทำงานส่วนตัวที่จุลดิศริเวอร์แมนชั่น อ่านหนังสือทบทวนข้อมูลต่างๆ
ที่เลขาฯ รวบรวมไว้ให้เป็นปึกอย่างรวดเร็วตามนิสัย ว่ายน้ำก่อนอาหารเย็นที่สระ
5 รอบและตั้งเป้าว่าจะเพิ่มเป็น 10 รอบในไม่ช้า และตั้งใจจะเพิ่มการออกกำลังกายอีกวันละ
3 รอบ นั่งสมาธิ เดินออกกำลัง กินอาหารที่มีประโยชน์จำพวกผัก จากเดิมที่ตนเองไม่ชอบเอาเลย
แล้วลดฟาสต์ฟูดที่ต้องพึ่งเป็นประจำสมัยเร่งรีบ เพิ่มเวลาให้กับครอบครัวด้วยการท่องเที่ยว
และร้องเพลงคาราโอเกะในแนวโรแมนติกผ่อนคลายยามว่างที่บ้านและระหว่างเดินทางในรถแทนการนั่งพิมพ์งานอย่างอดีต
"ผมชอบเพลงของใหม่-แอม-ติ๊น่า-นันทิดา-สุเทพ เพลงที่ชอบมากคือ ไม่อยากให้เธอรู้
ของใหม่ เพลงสากลก็ต้อง My Way ซึ่งผมก็ต้องเลือกเพลงที่โทนเสียงของผมไปได้ด้วย"
ทั้งหมดอาจารย์สมชายย้ำบ่อยครั้งว่าทำให้ชีวิตมี balance ขึ้น ไม่สุดโต่งไปด้านใดด้านหนึ่ง
และทำให้เข้าใจชีวิต ธรรมชาติ และละเมียดละไมขึ้นมาก
เวลาที่มากขึ้น ชีวิตเปลี่ยนไป รวมทั้งเป้าหมายของชีวิตก็ชัดเจนขึ้นด้วย
ที่ผ่านมาภาพของอาจารย์สมชายคือผู้เชี่ยวชาญด้านหุ้นและนักวิเคราะห์ทางด้านเศรษฐศาสตร์
แต่ต่อไปนี้ชื่อของดร.สมชายก็จะเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมืองมากขึ้น
"ไม่มีทางหรอกที่คนเรียนรัฐศาสตร์แล้วมาบอกว่าไม่สนใจการเมือง สนใจทั้งนั้นแหละ"
เขากล่าวว่าเป้าหมายในชีวิตที่ผ่านมาเกือบจะสมบูรณ์หมดแล้ว ได้เป็นดอกเตอร์
ได้ปริญญามา 5 ใบ เป็นอาจารย์ เป็นนักวิชาการ มีครอบครัวที่ดี ต่อไปนี้คือการเข้าสู่วงการเมือง
แต่ในความหมายของอาจารย์สมชายนั้นไม่ได้เข้าไปสู่ตำแหน่งทางการเมือง เป้าหมายของเขาคือการพยายามผลักดันแนวคิดทางเศรษฐกิจ
และการเมืองให้แปรรูปออกมาเป็นนโยบายของรัฐอย่างเป็นรูปธรรม พูดง่ายๆ ก็คือเป็น
"ผู้อยู่เบื้องหลัง" นั่นเอง
อาจารย์สมชายเข้าไปเป็นที่ปรึกษาและเป็นกรรมาธิการในสภาผู้แทนราษฎรหลายชุด
วันดีคืนดีก็มีชื่อดร.สมชายเป็นวุฒิสมาชิก
ปัจจุบันอาจารย์สมชายเป็นที่ปรึกษาในกระทรวงที่เจ้าตัวยังไม่อยากเปิดเผย
แต่คงไม่พ้นเกี่ยวกับเรื่องระหว่างประเทศโดยเฉพาะเรื่องแกตต์, อาฟตา, นาฟตา
ฯลฯ ที่ตนเองมั่นใจว่าเป็นยุทธศาสตร์ในการแข่งขันระดับโลกที่หลีกเลี่ยงไม่พ้น
ในปีหนึ่งๆ อาจารย์สมชายตั้งใจจะไปเที่ยวกับครอบครัวปีละ 2 ครั้งแบบยาวไปเลย
ส่วนงานอดิเรกนั้นนอกจากอ่านหนังสือที่อ่านแบบเอาเป็นเอาตายแล้ว ก็คืองานเขียนพจนานุกรมภาษาสเปนเป็นไทย
ที่ทุกคนต้องมึนว่านี่เป็นงานอดิเรกหรือยาขม
อ่านถึงตรงนี้นักธุรกิจท่านใดรู้สึกปวดหลังก็ปรึกษาอาจารย์สมชายได้ ก่อนที่จะสายเกินไป
แต่อย่าเชิญไปงานอภิปรายเด็ดขาด เพราะจะไปรบกวนเวลาทำสถิติว่ายน้ำ !