"ปล้นไอซี" ปฏิวัติการปล้นแห่งยุคสมัย

โดย วรสิทธิ ใจงาม
นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2538)



กลับสู่หน้าหลัก

ใครจะไปคิดว่าจะมีการปล้นไอซีตัวน้อยนิดที่อยุธยาด้วยรถวอลโว่ 740 แถมปล้นซะหลายครั้งติดๆ กัน อัตราความต้องการของตลาดโลกถือเป็นใบสั่งได้อย่างดีที่สุดจริงหรือ แล้วทำไมต้องปล้นช่วงนี้ทั้งที่มีการผลิตกันมานานแล้ว อีกทั้งทำไมจึงต้องเกิดขึ้นในเมืองไทย การตอบสนองความต้องการจำเป็นต้องกระทำด้วยการปล้นอย่างนั้นหรือ ?

ก่อนตีสี่ ใกล้เวลาที่ทุกคนจะตื่นมาฉลองวันวาเลนไทน์ รถวอลโว่ 740 สีเลือดหมู กับรถกระบะสีขาว พร้อมชายฉกรรจ์ 14 คนได้เลี้ยวหัวรถเข้ามาที่สวนอุตสาหกรรมโรจนะ อยุธยา แล้วดิ่งตรงมาหน้าโรงงานผลิตวงจรไฟฟ้า หรือ "ไอซี" (Integrated Circuit) ของบริษัทโอกิ (ประเทศไทย) ยังไม่ทันที่ยามบริษัทจะได้ถามไถ่ คนร้ายส่วนหนึ่งได้ลงจากรถพร้อมอาวุธปืนครบมือเดินมาที่ยาม เกมปล้นไฮเทคเริ่มตั้งแต่วินาทีนี้

กว่า 20 คนของพนักงานกะดึก ปฏิบัติตามคำสั่งผู้ถือปืนอย่างง่ายดาย ด้วยการหมอบ แล้วอีกคนหนึ่งก็เดินไปที่กล้องวิดีโอวงจรปิดอย่างรู้ทางดีเพื่อทำลาย ยังไม่ถึง 10 นาทีของการเข้ามา เหล่าผู้มาเยือนกลางดึกก็ตรงไปที่กล่องสีน้ำตาลกว่า 10กล่อง ที่ภายในบรรจุไอซีอยู่ แต่ไม่ขนไปทั้งหมด กลับเลือกไปแค่ 4 กล่อง แล้วขนขึ้นรถแล่นออกไปท่ามกลางความมืดและความงงงวยของพนักงานว่า "ทำไมขนไปแค่นั้น"

"เขารู้ไปหมดเลยว่าจะเข้าทางไหนจะออกทางไหน กล่องไอซีวางอยู่จุดไหนเขาก็รู้ค่ะ" พนักงานสาวคนหนึ่งกล่าว

รัฐพันธ์ พันธ์ชาติ ผู้จัดการโรงงานกล่าวกับ "ผู้จัดการ" ถึงเรื่องนี้ว่า "ไอซีที่โจรได้ไปอยู่ในราว 40,000 ตัว ซึ่งไอซีที่ว่านี้เป็นไอซีชนิดสำเร็จรูปที่เรียกว่า ดีแรม (Dynamic Random Access) ทำหน้าที่เป็นหน่วยความจำหน่วยหนึ่งในระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งสามารถนำเข้าไปประกอบเข้ากับเครื่องคอมพิวเตอร์ได้เลย"

นอกจากการปล้นครั้งนี้แล้ว ก่อนหน้านี้ก็เคยมีการปล้นมาบ้างแล้ว โดยที่แจ้งความไว้กับตำรวจก็มี คืนวันที่ 28 ตุลาคม 2537 ระหว่างที่รถขนไอซีของบริษัทโอกิ กำลังขับไปส่งที่สนามบินดอนเมือง คนร้าย 5 คน ได้ทำการปล้นและขนของไปได้ มูลค่าสูญเสียไม่ได้ระบุไว้ อีกครั้งคืนวันที่ 16 มกราคม 2538 คนร้ายกลุ่มเดิมก็ทำการปล้นรถขนไอซีของโอกิด้วยวิธีเดิมอีก แต่ไม่ได้ของไปเนื่องจากมีการระวังไว้ก่อนแล้ว

จากนั้นก็เป็นครั้งที่อุกอาจที่สุด คืนวันที่ 13 กุมภาพันธ์ โดยคนร้ายกลุ่มเดิมกับพรรคพวกเพิ่มเติม ได้ทำการปล้นอีกครั้หงนึ่ง แต่มิได้ปล้นที่รถขนไอซี เป็นการเข้ามาปล้นในโรงงานเลย มูลค่าสูญเสียประมาณ 50 ล้านบาท และจับโจรได้ 7 คน

ยังไม่ทันตำรวจอยุธยาจะได้ตั้งตัว วันที่ 24 กุมภาพันธ์ กลุ่มคนร้ายไม่ทราบจำนวนได้ดักปล้นรถขนไอซีอีกครั้งหนึ่งซึ่งมิใช่โอกิ แต่เป็นรถขนไอซีของบริษัทอัลฟาเทค อีเลคโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งบรรจุไอซีกว่า 70 ,000 ตัว มูลค่าประมาณ 10 ล้านบาท

4 ครั้ง 4 ครายังไม่นับครั้งย่อยๆ อีกหลายครั้งในละแวกอยุธยาที่ถูกโจรไฮเทคเหล่านี้ปล้น

แต่ความสำคัญในเรื่องนี้ไม่ได้อยู่ที่ว่าตำรวจจะสามารถจับโจรได้ครบ 14 คนหรือไม่ หรือโรงงานจะได้ไอซีคืนมาทั้งหมดหรือเปล่า... ไม่ใช่ แต่กลับอยู่ที่ว่า ทำไมถึงมีการปล้นเกิดขึ้นและทำไมต้องมาปล้นช่วงนี้และก็ปล้นหลายครั้งติดๆ กัน ทั้งๆ ที่เมืองไทยก็มีโรงงานผลิตไอซีมาตั้งแต่ปี 2527 แล้ว ฉะนั้นการปล้นเหล่านี้ก็น่าจะมีประเด็นเรื่องให้น่าโยงใยหาความสมเหตุสมผลกัน

ความน่าจะเป็นอย่างแรกก็คือ การขาดแคลน และความเติบโตของตลาดเพราะเมื่อพิจารณาตัวเลขการส่งออกไอซีที่ผ่านมาของเรา เป็นตัวเลขที่บอกถึงความต้องการของตลาดมีสูงมาก และสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยจากการส่งออกเมื่อปี 34 มีมูลค่า 11,534 ล้านบาท ปี 35 มูลค่า 16,406 ล้านบาท, ปี 36 มูลค่า 26,571 ล้านบาท และปี 37 อีกประมาณ 35,500 ล้านบาท

ส่วนตลาดไอซีโลกนั้น ดิ เอเชียน วอลล์สตรีท เจอร์นัล รายงานความเติบโตในปัจจุบันว่าเติบโตขึ้นถึง 29% โดยปี 2537 มีมูลค่ารวมถึง 99,940 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 2,498,500 ล้านบาท ขณะที่ปี 36 มียอดจำหน่าย 77,310 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1,932,750 ล้านบาท และปี 38 นี้ก็คาดว่าน่าจะอยู่ที่ 114,620 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (2,865,500)

ตัวเลขทั้งตลาดไอซีไทยและตลาดโลกแล้ว เห็นได้เลยว่าความต้องการไอซีในท้องตลาดอยู่ในระดับที่สูงมาก ซึ่งความต้องการสูงมากนี้เองเป็นเหตุให้ราคาไอซีพุ่งสูงขึ้นจากเดิมมาก จากราคานี้เองน่าจะเป็นแรงสนับสนุนให้เกิดการปล้นได้ส่วนหนึ่ง

ทั้งนี้ทั้งนั้น การขาดแคลนไอซียังสามารถดูได้จากการเติบโตของบริษัทต่างๆ ได้อีก อาทิ การร่วมลงทุนของบริษัทอัลฟาเทคฯ ของไทยกับกระทรวงอิเล็กทรอนิกส์ โดยเน้นที่ไอซีเป็นหลัก, การขยายโรงงานผลิตไอซีของบริษัทฮานาเซมิคอนดักเตอร์ไปที่นิคมอุตสาหกรรมไฮเทคอยุธยา โดยมีแผนเพิ่มกำลังการผลิตจากเดิมเป็น 2 เท่า, การเปิดโรงงานผลิตไอซีเพิ่มขึ้นของบริษัทมัตซูชิตะในญี่ปุ่น, ปี 2537 บริษัทโตชิบาญี่ปุ่นร่วมมือชาร์เตอร์เซมิคอนดักเตอร์ตั้งดรงงานผลิตไอซีในสิงคโปร์, ปี 2536 ฟูจิตสึญี่ปุ่นร่วมมือกับฮุนได เกาหลีใต้ตั้งโรงงานผลิตไอซีดีแรมในเกาหลี, ปี 2535 โตชิบาญี่ปุ่นร่วมมือซัมซุงเกาหลีใต้ตั้งโรงงานผลิตไอซีความจำความเร็วสูงที่เกาหลี

ส่วนโอกิญี่ปุ่นนั้นนอกจากมาลงทุนในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2534 แล้วเมื่อปี 2536 ก็ได้ร่วมมือกับซัมซุงเกาหลีใต้ผลิตไอซีความจำขนาด 16 เมกะบิตในเกาหลีและปี 2537 ก็ได้เข้าไปตั้งโรงงานผลิตไอซีขนาด 16 เมกะบิตถึง 2 แห่งในไต้หวัน โดยทั้งสองแห่งเป็นการร่วมมือกับบริษัทท้องถิ่น ยังไม่นับอีกหลายประเทศที่โอกิ และบริษัทอื่นๆ ในญี่ปุ่นขยายฐานการผลิตเข้าไปในประเทศต่างๆ ซึ่งเหตุหนึ่งเป็นเพราะค่าเงินเยนในญี่ปุ่นแข็งตัวขึ้น กับตลาดอุตสาหกรรมที่ใช้ไอซีโตมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นตลาดรถยนต์ ตลาดสินค้าคอมพิวเตอร์และการสื่อสาร และตลาดอื่นๆ อีกที่ส่วนหนึ่งจะมีไอซีเป็นส่วนประกอบในสินค้าทั้งสิ้น

จากตัวเลขและการขยายฐานผลิตของบริษัทต่างๆ ที่ได้กล่าวมาสรุปได้ว่าตลาดไอซีในช่วงปีที่ผ่านมาจนถึงช่วงนี้มีความเติบโตควบคู่ไปกับอุตสาหกรรมต่างๆ มากมายจนบางครั้งไม่สามารถผลิตได้ทันตามความต้องการ ทำให้มูลค่าต่อตัวของไอซีสูงขึ้นตามความต้องการ ทำให้มูลค่าต่อตัวของไอซีสูงขึ้นตามความต้องการ จนเกิดมีการปล้นขึ้น

แต่การปล้นจะไม่สามารถกระทำได้สำเร็จ ถ้าไม่มีผู้ซื้อหรือแหล่งปล่อยของ เนื่องจากตลาดการส่งออกไอซีความจำหรือไอซีราคาแพงที่ผลิตในแต่ละประเทศ ส่วนใหญ่จะเป็นการผลิตตามใบสั่งเพื่อนำไปประกอบลงในตัวสินค้าแต่ละชนิด จะไม่นำมาขายเป็นตัวๆ ในท้องตลาด

แล้วผู้ซื้อเป็นใคร...? ประเด็นนี้ตำรวจไทยก็ยังจนด้วยเกล้า ว่าเป็นใครแต่ทั้งนี้ก็คาดกันว่าตลาดที่จะรับซื้อ น่าจะเป็นประเทศที่มีโรงงานเล็กๆ เยอะ อาทิ ฮ่องกง ไต้หวัน และเพื่อนบ้านใกล้เคียงเรา

แล้วทำไมถึงปล้นแบบระบุชนิดไอซีคือไอซีหน่วยความจำหรือดีแรมที่มีราคาสูงตลาดเกิดการขาดแคลนอย่างสูง ผู้ผลิตแต่ละบริษัทในโลกผลิตได้ไม่ทัน ดังนั้นการที่โจรเลือกปล้นเฉพาะโอกิแต่ไม่ปล้นโรงงานซันโยที่อยู่ใกล้กัน เป็นเพราะซันโยผลิตไอซีทั่วไป ราคาต่อตัวไม่สูงเหมือนที่โอกิผลิตอยู่นั่นเอง นี่เองจึงเป็นแรงผลักดันให้มีการขโมย เพราะขโมยแล้วก็ปล่อยได้ไม่ยาก

ข้อสมมติฐานอันหนึ่งที่ว่าไอซีของโอกิมีทองคำขาวอยู่ด้วย โจรอาจจะปล้นเพื่อนำไปแยกทองคำขาวออกขาย ประเด็นนี้ก็ไม่น่าสมเหตุสมผลนัก เพราะเมื่อกะคร่าวๆ ของปริมาณทองคำขาวทั้งหมดดูแล้วก็ยังไม่สูงพอที่น่าจะทำการปล้นขึ้น แล้วก็ยุ่งยากด้วยในเรื่องกรรมวิธีแยกทองคำขาว

"หากโจรต้องการทองคำขาวละก็ผมว่าเขาไปปล้นร้านทองไม่ดีกว่าเหรอเพราะไม่ต้องไปแยกทองคำเลย แล้วทองคำก็ปล่อยง่ายกว่าทองคำขาวด้วย" แหล่งข่าวระดับบริหารของฟิลิปส์เซมิคอนดักเตอร์กล่าว

ถ้าเช่นนั้น ระหว่างปล้นไอซีดีแรมหรือไอซีราคาสูง กับการปล้นร้านทองหรือปล้นอย่างอื่นอย่างไหนคุ้มกว่ากัน

"คือหากคนที่รู้คุณค่าของตัวไอซีเหล่านี้ และมี่ที่ปล่อย แน่นอนเขาก็อาจจะเลือกปล้นไอซีดีแรมดีกว่า เพราะเมื่อคิดถึงขนาดที่ใส่ท้ายรถวอลโว่ 740 ได้อย่างไม่ยากเย็นแล้วสร้างมูลค่าได้กว่า 50 ล้านบาทกับการปล้นสินค้าอย่างอื่นที่อาจจะต้องใช้พื้นที่มากแล้วสร้างมูลค่าได้เท่ากัน แต่กับทองคำ ประเด็นนี้อาจเลือกยากสักหน่อย เพราะในปริมาณที่เก็บอาจพอกับไอซีและราคาสูงพอๆ กัน ทว่าส่วนใหญ่ร้านทองจะอยู่ในตัวเมือง และการปล้นก็ไม่ปลอดภัย ปล่อยได้ยากกว่าไอซีด้วย" สุชาติ งามพงษ์สา ผู้จัดการด้านการตลาดและขาย บริษัทฮานาเซมิคอนดักเตอร์กล่าวกับ "ผู้จัดการ"

สุชาติยังเล่าว่า "หลังจากที่โอกิโดนปล้นแล้ว เหล่าผู้ผลิตไอซีในประเทศไทยก็เริ่มระมัดระวังในเรื่องการขนส่งอย่างมากเพราะเมื่อเกิดรายหนึ่ง คนก็เริ่มมองเห็นแล้วว่าอันนี้ (ไอซี) มันเป็นสินค้าที่มีมูลค่าสูง แต่จริงๆ แล้วมันสามารถเช็กได้ว่าผลิตเมื่อไร ล็อตอะไร บริษัทใด แต่มันก็สามารถลบและพิมพ์ทับลงไปได้อีก อีกทั้งผู้รับซื้อไปเขาจะพิถีพิถันอย่างนั้นหรือเปล่าลักษณะโอกินี้เข้าใจว่าต้องไปปล่อยต่างประเทศซึ่งเราคงเช็กไปไม่ถึง คงจับมือใครดมได้ยาก แต่ถ้าเช็กจริงๆ ก็น่าจะเช็กกันได้"

สำหรับอีกข้อสมมติฐานหนึ่งคือเป็นการปล้นเพื่อดิสเครดิตกันหรือไม่เพราะอาจเป็นว่า เมื่อโอกิไม่สามารถส่งของได้ทันเวลา ภาพพจน์ในตลาดก็อาจจะตกและไปเพิ่มให้กับคู่แข่ง เช่น หากโอกิต้องส่งไอซีให้ได้ภายในสิ้นเดือนกุมภาพันธ์เมื่อเกิดการปล้นขึ้น แน่นอนย่อมส่งไอซีให้ไม่ทันตามกำหนด เพราะเป็นไปไม่ได้ที่ภายในอาทิตย์หนึ่งจะสามารถผลิตไอซีดีแรมได้ครบ 40,000 ตัว

"ประเด็นนี้คงไม่ใช่ เพราะส่วนใหญ่ผู้ผลิตรายใหญ่แต่ละราย มักมีข้อตกลงร่วมกันอยู่ก่อนแล้วว่าใครจะผลิตอะไรแล้วจะปฏิบัติตัวต่อตลาดไอซีอย่างไร และบริษัทที่ทำไอซีส่วนใหญ่ก็ทำเพื่อป้อนบริษัทแม่เป็นหลัก แล้วบริษัทแม่เขาจะมาดิสเครดิตหรือมาปล้นสินค้าของตัวเองทำไม แต่ที่เขาเลือกปล้นไอซีดีแรมของโอกินั้นเป็นเพราะว่ามันสามารถนำไปติดตั้งในเครื่องคอมพิวเตอร์ได้ทันทีนั่นเอง" แหล่งข่าวอีกคนหนึ่งแสดงความคิดเห็นในฐานะที่เคยร่วมทำงานกับบริษัทต่างชาติมานานว่าไม่เป็นการดิสเครดิตแน่นอน

"หรือจะเป็นกลุ่มมิจฉาชีพจากไต้หวัน" อีกข้อสมมติฐานหนึ่งของตำรวจ เนื่องจากภายหลังมานี้คดีที่แก๊งโจรจากไต้หวันได้ก่ออาชญากรรมในประเทศไทยมีบ่อยมาก เป็นการก่อกับบุคคลชาติเดียวกันมากที่สุดเช่นเรียกค่าไถ่ ซึ่งปัจจุบันนักท่องเที่ยวไต้หวันที่มาเมืองไทยเริ่มน้อยลง อาจทำให้แก๊งเหล่านี้มีความเป็นอยู่ลำบาก เมื่อเป็นอยู่นานเข้าก็ต้องหาทางทำอะไรสักอย่างหนึ่งเพื่อความอยู่รอด นั่นคือทำการปล้นไอซีก็เป็นได้ เพราะที่ไต้หวันมีโรงงานที่ทำอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ต้องการไอซีอยู่เป็นจำนวนมาก โอกาสที่จะปล่อยของได้เร็ว ราคาดี จึงมีความเป็นไปได้สูง ซึ่งประเด็นนี้ก็คงเป็นเรื่องยากสำหรับการตามจับเพราะไต้หวันมีโรงงานมากเหลือเกิน และกว่าจะรู้เบาะแสเจ้าตัวไอซีที่โดนปล้นก็อาจจะเข้าไปอยู่ในผลิตภัณฑ์ใดผลิตภัณฑ์หนึ่งที่ยากจะทำการตรวจสอบก็เป็นได้

ประเด็นสุดท้ายที่มีการพูดคุย แต่ก็ต้องตกไป คือเรื่องของแก๊งยากูซ่า ซึ่งที่ต้องตกไปเพราะว่าสถิติของแก๊งยากูซ่าแทบจะไม่ปล้นเลย จะเป็นในเรื่องเรียกค่าคุ้มครองมากกว่า

แต่ไม่ว่าข้อสมมติฐานจะออกมาอย่างไร ผลเสียที่เกิดขึ้นนอกจากเจ้าของสินค้าคือบริษัทโอกิแล้ว เรื่องของการเข้ามาลงทุนในประเทศไทยโดยคนต่างชาติก็โดนผลกระทบเช่นกัน เพราะในขณะที่รัฐกำลังชักชวนให้ใครต่อใครเข้ามาลงทุนในประเทศ ภาพการปล้นโรงงาน ปล้นสินค้า ก็เกิดมากขึ้นเช่นกัน

"รัฐบาลไม่ควนมองเป็นเรื่องเล็กๆ เพราะผลกระทบต่อการลงทุนจากต่างชาติ โดยเฉพาะญี่ปุ่นซึ่งเป็นชาตที่มีความรู้สึกไวต่อสวัสดิภาพและความปลอดภัยในทรัพย์สินมาก จะเห็นว่าสถิติการปล้นทรัพย์ในประเทศเขาต่ำที่สุดแห่งหนึ่งในโลกเลยทีเดียว ขณะนี้ความหวาดระแวงสงสัยกำลังเกิดขึ้นกับเขา ซึ่งส่งผลให้บรรยากาศในการทำงานเครียดขึ้นมาก จะเอาไปขายที่ใด ด้วยวิธีการใด ดิฉันไม่สนใจแล้วขอเพียงว่า จะทำอย่างไรให้บรรยากาศการทำงานแบบเดิมกลับคืนมาอีก" สุกัญญา ไชยกูล ผู้อำนวยการโรงงานและผู้จัดการทั่วไปฝ่ายกิจการความร่วมมือ กล่าวเชิงตัดพ้อถึงการปล้นไอซีที่โรงงานเธอ

การคาดการณ์ของสุกัญญาอาจจะมองโลกในแง่ร้ายอยู่บ้าง แต่ในด้านหนึ่งก็แสดงถึงความหวั่นวิตกกับเหตุการณ์ที่ไม่น่าจะเกิดขึ้น

แม้ว่าการประทุษร้ายต่อร่างกาย และทรัพย์สินจะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ในสังคมโลกทั่วไป แต่สิ่งที่พิสดารในสังคมธุรกิจไทยคือ "คนร้าย" มีวิวัฒนาการและความเข้าใจในความเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างมากใช้รถระดับหรูในปฏิบัติการที่กระทำได้ฉับไวและรวดเร็ว ปล้นถึง 4 ครั้งติดๆ กัน

อีกทั้งการกระทำครั้งนี้เป็นการกระทำที่ต้องมีเครือข่ายโยงใย มีผู้บงการ ซึ่งอาจเป็นขุมข่ายทุจริตระดับนานาชาติ

โลกยิ่งเปลี่ยนไปเร็วเท่าใด ความเลวร้ายก็ตามติดไปเร็วเท่านั้น

การปล้นครั้งล่าสุดอาจปรากฏเป็นข่าวอยู่ไม่กี่วัน และส่งผลกระทบในแวดวงผู้ประกอบธุรกิจเป็นหลัก แต่หากเกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีกครั้งหรือต่อๆ ไป การปล้น "ไอซี" ก็ไม่ใช่เรื่องธรรมดาหรือเรื่องเล็กๆ ต่อไปอีกแล้ว



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.