อีคิว : ของเก่าที่นำมาขายใหม่

โดย ธีรภาพ วัฒนวิจารณ์
นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2543)



กลับสู่หน้าหลัก

เชื่อว่าผู้อ่านหลายท่านคงเคยได้ยินเรื่องของอีคิว (EQ, Emotional Quotient) กันมาบ้าง บางท่านอาจจะได้อ่านหนังสือ หรือนิตยสาร ที่กล่าวถึงเรื่องนี้ ว่ากันว่าเป็นแนวคิด ที่ฮือฮากันมาก เรียกกันว่าหากนักบริหาร หรือนักการศึกษาไม่พูดถึงคำๆนี้จะกลายเป็นคนเชย หรือตกสมัย

คำๆนี้ถูกนำมาใช้โดยนายแดเนี่ยล โกลด์แมน นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน ในปี1995 เขาเขียนหนังสือออกมาเล่มหนึ่งชื่อ Emotional intelligence กล่าวถึงแนวคิดการมองความสำเร็จของมนุษย์ว่า ปัจจัยเรื่องสติปัญญาไม่ใช่ปัจจัย ที่สำคัญที่สุดในการประสบความสำเร็จในชีวิต แต่ความสามารถในการอยู่ร่วมกับคนอื่นสำคัญกว่า และอาจจะเรียกได้ว่าเป็นปัจจัยชี้ขาด ความสามารถในการอยู่ร่วมกับคนอื่นได้อย่างปรองดอง และไม่เกิดปัญหานั้น โกลด์แมนด์เรียกว่า Emotional intelligence

โกลด์แมนอธิบายว่า ความสามารถดังกล่าวคือ ความสามารถ หรือทักษะในการควบคุมอารมณ์ และแสดงมันออกมาอย่างเหมาะสมในช่วงสถานการณ์หนึ่งๆ หรือไม่ปล่อยให้อารมณ์มาควบคุมสมอง และสติปัญญา อาจพูดให้ง่ายเข้า คือ การทำอะไรอย่างมีสติ

หลายท่านถ้าอ่านมาถึงตรงนี้ก็อาจจะรู้สึกว่า แนวคิดนี้ดูไม่เห็นจะมีอะไรใหม่ ในทางจิตวิทยาก็พูดถึงเรื่องนี้มานานมากเป็นเวลาหลายสิบปี โดยใช้คำว่า ความเป็นผู้ใหญ่ (maturity, emotional maturity) แถมพุทธศาสนาของเราก็กล่าวถึงประเด็นนี้ได้อย่างชัดเจน และลุ่มลึกกว่า ซึ่ง ที่จริงแล้วผมคิดว่านาย

โกลด์แมนก็แอบอิง และยืมแนวคิดหลายอย่างทางตะวันออกมาใช้ ถ้าอ่านประวัติของนายโกลด์แมนก็จะพบว่า แกสนใจพุทธศาสนา และการฝึกสมาธิมาก่อนจะเขียนหนังสือเล่มนี้

หากแนวคิดนี้ไม่ใหม่แต่อะไรทำให้หนังสือ ที่แกเขียนกลายเป็นเบสเซลเลอร์ในอเมริกา และคนต่างพูดถึง จนกระทั่งบ้านเราเองก็เอากับเขาด้วย

คำตอบ คือ โกลด์แมนฉลาด ที่เอาแนวคิดเดิมมาปัดฝุ่นใหม่ ใช้คำ ที่ดูทันสมัย และล้อกับคำเก่า ที่คนรู้จักกันดีว่าสำคัญ คือ ไอคิว (IQ, Intelligence Quotient) กลายเป็น อีคิว (EQ, Emotional quotient) ถ้าไอคิวหมายถึงคนฉลาด อีคิวก็อาจจะหมายถึงคนที่สมบูรณ์แบบ คือ นอกจากจะฉลาดแล้วยังนิสัยดีอีกต่างหาก นอกจากนี้สิ่งที่โกลด์แมนทำให้คนเชื่อถือมากขึ้นโดยการยกตัวอย่างต่างๆถึงคนที่ไอคิวสูง แต่อีคิวเตี้ยว่ามีปัญหาอย่างไรในชีวิต รวมไปถึงการพยายามอธิบายเรื่องในเชิงจิตวิทยา ออกมาเป็นเรื่องทางวิทยาศาสตร์ คือ สมองส่วนไหนมีผลอย่างไร

อีคิวทำให้คนประสบความสำเร็จจริงอย่างที่นายโกลด์แมนว่าไว้ อย่างน้อยก็กับตัวแกเอง หนังสือขายดี จนปีนี้แกก็เขียนหนังสือออกมาเป็นเล่ม ที่สองชื่อ Working with Emotional intelligence โดยเน้นไป ที่ประสบการณ์การทำงานในบริษัทต่าง พร้อมกันนั้น แกก็ได้รับเชิญให้เป็นที่ปรึกษาบริษัทต่างๆ รวมไปถึงบริษัทฝึกอบรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นก็อิงแนวคิดของแกในการจัดอบรม

มาถึงบ้านเราก็เช่นกันมีคนมาขายไอเดียนี้ หนังสือถูกเขียนออกมา นักจัดการฝึกอบรมใส่คำๆนี้เข้าไปในการสอนของตน ทั้งๆ ที่โปรแกรมการฝึกอบรมเดิมของตนก็ยังคงเหมือนเดิม นักการศึกษาก็ขอทุนจากทางการมา เพื่อวิเคราะห์หาทางในการพัฒนาตัววัดอีคิว และวิธีการในการพัฒนาอีคิวของเด็กไทย เรียกได้ว่าอีคิวใช้หากินในบ้านเราได้เช่นกัน

สำหรับผมเองคิดว่าแนวคิดนี้ดี เป็นการเอาแนวคิดเก่ามาปรับให้สื่อกับคนทั่วไปได้ดี และง่ายขึ้น แต่ปัญหาของการทำให้ง่าย และทันสมัย คือ การขาดความลึกซึ้งในการพัฒนา และการนำแนวคิดไปใช้ และอธิบายในทุกๆเรื่องโดยปราศจากการแยกแยะ ที่เหมาะสม

ปัญหามีตั้งแต่ แบบวัด หรือตัววัดในการบอกว่าอีคิวสูง หรือต่ำนั้น เกิดจากผู้สร้าง จำลองสถานการณ์มาถาม และหากผู้ตอบๆตรงตามเฉลยก็ได้คะแนน ตอบใกล้เคียงก็ได้ลดลงไป แต่คะแนน ที่ให้ก็มีลักษณะของ 10, 5 และ 0 (ดังตัวอย่างที่ผมหยิบมา) ในขณะที่แบบวัดไอคิวนั้น ใช้เวลาสร้าง และทดสอบมาเป็นปี มีการหามาตรฐาน และเกณฑ์เฉลี่ย และเมื่อนำไปใช้ในประเทศใดก็ต้องดัดแปลง และคำนึงถึงความแตกต่างทางด้านวัฒนธรรม

ตัวอย่างของข้อคำถามวัดอีคิว ที่ผมขอยกมาเป็นตัวอย่าง

หากคุณอยู่ในที่ประชุม แล้ว เพื่อนร่วมงานของคุณแอบอ้างผลงานของคุณเป็นของเขาแทน คุณจะทำอย่างไร

1) เผชิญหน้า และประจานให้คนในที่ประชุมทราบ

2) หลังจบการประชุม คุยกับ เพื่อนร่วมงานคนนั้น เป็นการส่วนตัว และบอกว่าคราวหน้าถ้าจะใช้งานของคุณ กรุณายกเครดิตให้ด้วย

3) ไม่ทำอะไรทั้งสิ้น การทำให้ เพื่อนร่วมงานขายหน้า เป็นสิ่งไม่ดี

4) หลังจากเขากล่าวจบ ขอบคุณเขากลาง ที่ประชุม ที่ใช้งานของคุณ และอธิบายรายละเอียดเพิ่มเติม

หากตอบข้อหนึ่ง และข้อ3 คุณได้ 0 คะแนน หากตอบข้อ 2 คุณได้ 5 คะแนน แต่หากเป็นข้อ4 คุณได้ 10 คะแนนเต็ม

ผู้ให้คำเฉลยอธิบายว่าข้อหนึ่งเป็นการเผชิญหน้า อาจสร้างความขัดแย้งให้รุนแรง ผู้จัดการอาจมองในแง่ลบ ข้อสามการปล่อยให้คนเอาเปรียบเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม ข้อ2 ก็พอใช้ได้ แต่ข้อสี่ดีกว่า เพราะคุณบอกให้ทุกคนทราบว่าเป็นผลงานของคุณ ในขณะเดียวกันคุณก็ไม่ได้ประจาน เพื่อนร่วมงาน เพราะคุณขอบคุณเขา แถมคุณยังมีโอกาสได้โชว์กึ๋นของตนเองในการอธิบายแนวคิดดังกล่าว

ผมไม่ทราบว่าคุณผู้อ่านจะรู้สึกเหมือนผมหรือเปล่าว่า คำตอบข้อที่ถูกต้องคือ ข้อสี่นั้น ดูคล้ายๆหนังฮอลีวู๊ด คือ ทำแล้วออกมาดูดี แต่จริงๆแล้วมันไม่ใช่อย่างนั้น การทำเช่นนั้น ก็ยังคงไม่ต่างจากการเลือกข้อหนึ่งในแง่ของความรู้สึกของ เพื่อนร่วมงาน คือ ถูกประจานกลาง ที่ประชุม เพียงแต่เปลี่ยนวิธีการให้ดูดีขึ้นแถมคะแนน ที่ต่างกันครึ่งต่อครึ่งของข้อสองกับข้อสี่มีผลอย่างยิ่งเมื่อรวมคะแนนออกมา ซึ่งเราก็ไม่ทราบว่าใช้เกณฑ์การให้คะแนนอย่างไร แถมยังกำหนดอีกว่า 100 คือ คะแนนสูงสุด 50 คือ คะแนนเฉลี่ย และ 0 คือ คะแนนต่ำสุด

เมื่อเปรียบเทียบกับแบบวัดไอคิวแล้วการให้คะแนนตรงไปตรงมา และไอคิวเป็นการวัดความรู้ ที่เรามีอยู่เมื่อเปรียบเทียบกับคนในวัยเดียวกันแต่แนวคิดเรื่องการวัดอีคิวเป็นการเปลี่ยน ".ประสบการณ์การจัดการปัญหา"ให้กลายเป็น "ความรู้ว่าด้วยการควบคุมอารมณ์" นั่นคือ ในแบบสอบถามนั้น คุณตอบข้อที่คุณคิดว่าถูก หรือให้ได้คะแนนมาก แต่ในชีวิตจริงคุณเลือกวิธีการที่คุณคุ้นเคย และมีความสุขมากที่สุดในขณะนั้น ( ซึ่งอาจจะไม่ถูกต้องในระยะยาว)

มีคนพยายามสร้างแบบวัด อีคิว เพื่อใช้ในการคัดเลือกคน ซึ่งผมคิดว่าผิดประเด็น เพราะหากเป็นการคัดเลือกคน นั้น หมายความว่าจุดประสงค์คือ เรื่องของคะแนน ที่สูงที่สุด ซึ่งผู้ถูกคัดเลือกรู้ดี ดังนั้น ทุกคนที่ทำแบบวัดก็จะพยายามทำให้ดีที่สุด จะไม่มีการตอบตาม ที่เป็นหรือทำจริงๆ แต่หากเป็นการทำ เพื่อประเมินตัวเอง คำตอบ ที่ผู้ตอบให้จะมีความน่าเชื่อถือมากกว่า แต่ดัง ที่กล่าวข้างต้น ในชีวิตจริงนั้น การเลือกวิธีการต่างๆไม่ได้ถูกกำหนดจากดีที่สุด แต่ยังขึ้นกับว่าเหมาะสมหรือไม่

และอีคิว (หากจะเรียกเช่นนี้) เป็นการสั่งสมประสบการณ์ ที่เรียนรู้มาจากตัวแบบ และการลองผิดลองถูก ดังนั้น ในผู้ใหญ่การเปลี่ยนแปลงไม่ได้เกิดจากการฝึกอบรมเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของการให้แรงเสริมพฤติกรรม ที่จะช่วยให้การเรียนรู้นั้น แปรเปลี่ยนเป็นพฤติกรรม แต่ก็ทำได้ไม่ง่ายนัก

ส่วนในเด็ก ที่พ่อแม่ทั้งหลายกังวลสนใจนั้น การที่เด็กจะพัฒนาความสามารถในการอยู่ร่วมกับคนอื่นได้นั้น ตัวแบบสำคัญที่สุดมากกว่าความรู้จากการเรียน และตัวแบบ ที่เด็กจะเรียนรู้ได้ดีก็คือ ผลของพฤติกรรม ที่พ่อแม่กระทำต่อเขา และพี่น้อง หากเด็กทำอะไรไม่ถูกต้องแล้วพ่อแม่ละเลย นั่นคือ การเรียนรู้ ที่ผิด แต่เด็กจะจำแม่นที่สุด ว่าไปแล้วหากเราอยากพัฒนาลูกให้มีอีคิวที่ดีนั้น ไม่จำเป็นต้องไปเสาะแสวงหาครูหรือโรงเรียน ที่โฆษณาเรื่องนี้ เพียงแต่กลับมาหาคำสอนเก่าๆของเราสองสุภาษิต คือ ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น และรักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.