‘โตโยต้า’ ยึดไทยคุมเอเชีย-แปซิฟิก


ผู้จัดการรายวัน(4 กรกฎาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

นายอากิระ โอกาเบะ กรรมการบริหารอาวุโส บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น และประธานกรรมการ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ เอเชีย แปซิฟิค จำกัด (ประเทศสิงคโปร์ และประเทศไทย) เปิดเผยว่า เพื่อความคล่องตัวในการทำงาน และสร้างความแข็งแกร่งทางด้านการผลิตในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิค ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ไต้หวัน และอินเดีย โตโยต้าจึงได้จัดตั้งบริษัทใหม่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ เอเชีย แปซิฟิค จำกัด (ประเทศไทย) หรือ TMAP ประเทศไทยขึ้นมารองรับ

“บริษัทแห่งใหม่นี้จะดูแลรับผิดชอบเกี่ยวกับการผลิต วิศวกรรมการผลิต การจัดซื้อ การขนส่ง และการรับประกันคุณภาพ ซึ่งนอกจากจะทำให้เกิดความคล่องตัวในการทำงานแล้ว ยังส่งผลให้โตโยต้าภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก แยกการดำเนินงานออกมาจากโตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น หรือTMC และ TMAP ในสิงคโปร์ชัดเจนมากยิ่งขึ้น”

ทั้งนี้การก่อตั้ง TMAP ประเทศไทย จึงเป็นก้าวสำคัญที่จะเข้าไปแบกรับภารกิจจาก TMC ในการรับผิดชอบทางด้านการสนับสนุนการผลิต การจัดซื้อ และระบบการขนส่ง (Logistics) ด้วยการย้ายสายงานสนับสนุน มาอยู่ใกล้กับบริษัทต่างๆ ที่มีการผลิตในภูมิภาคนี้ โดยมีประเทศไทยเป็นศูนย์กลางส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความรู้ทางการผลิต และทรัพยากรบุคคล ทำให้สามารถสนับสนุนการผลิตได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

นายโอกาเบะกล่าวว่า TMAP ประเทศไทย ยังจะทำงานร่วมกับ TMAP ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งต่อไปจะเป็นหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบเฉพาะด้านการตลาดในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิคเท่านั้น แต่ในการดำเนินงานจะแยกกันอย่างชัดเจน โดยไทยรับผิดชอบทางด้านการผลิต รวมถึงงานด้านการพัฒนาวิจัย โดยเมื่อปีที่แล้วโตโยต้าได้ก่อตั้ง บริษัท โตโยต้า เทคนิคอล เซ็นเตอร์ เอเชีย แปซิฟิก หรือ TTC-AC ประเทศไทย ขึ้นมาเพื่อดำเนินงานพัฒนาและวิจัยรถยนต์ในภูมิภาคนี้

“ทั้งสองหน่วยงานที่ก่อตั้งขึ้นใหม่ในไทย จะทำงานประสานกันอย่างใกล้ชิด ทำให้สามารถยกระดับประสิทธิภาพการผลิต พัฒนาผลิตภัณฑ์ และสนับสนุนผู้ผลิตชิ้นส่วนได้มากขึ้น ส่งผลให้โตโยต้าในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ ขณะที่สิงคโปร์ที่ได้มีการตั้งหน่วยงานดูแลการตลาดมานานแล้ว จึงจะยังคงดูแลเรื่องนี้ต่อไป”

นายเรียวอิจิ ซาซากิ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด หรือ TMT และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ เอเชีย แปซิฟิก จำกัด (ประเทศสิงคโปร์ และประเทศไทย) เปิดเผยว่า ในฐานะที่ดูแล TMAP ทั้งในสิงคโปร์และไทย แน่นอนประโยชน์ประเทศที่ตั้งหน่วยงานดังกล่าวจะได้รับ โดยเฉพาะไทยที่เป็นก่อตั้งขึ้นมาเพื่อดูแลเกี่ยวกับการผลิต ย่อมครอบคลุมทั้งในเรื่องการส่งเสริมศักยภาพการผลิต และได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่บุคลากรในไทย ซึ่งหาก TMAP ประเทศไทย ดำเนินงานเต็มรูปแบบในปี 2550 จะต้องใช้บุคลากรถึง 800 คน

“สิ่งสำคัญอีกอย่างของการจัดตั้ง TMAP ประเทศไทย คือการได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับผู้ผลิตชิ้นส่วน ทำให้สามารถยกระดับการพัฒนาการผลิตของผู้ผลิตรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ยังมี TTC-AC ประเทศไทย เข้ามาร่วมทำงานแล้ว ยิ่งทำให้การพัฒนาชิ้นส่วนในท้องถิ่นได้รับการยอมรับ นั่นนำมาสู่การใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศมากขึ้น และช่วยให้ลดต้นทุนการผลิต ซึ่งนำไปสู่ความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกได้”

ทั้งนี้ หัวใจของการจัดตั้ง TMAP ประเทศไทย เพื่อรองรับนโยบายของโตโยต้า ที่มุ่งเน้นพัฒนาสินค้ารองรับตลาดทั่วโลก ขณะเดียวกันก็ต้องเป็นที่ยอมรับตลาดภายในภูมิภาคนั้นๆ ด้วย ทั้งสองอย่างนับว่าเป็นสิ่งที่ยากมาก ที่จะทำให้รักษาสมดุลระหว่างกันได้ ซึ่งโตโยต้าได้เริ่มมาแล้วกับโครงการผลิตรถยนต์ปิกอัพและรถอเนกประสงค์ ภายใต้โครงการ IMV (International Innovative Multipurpose Vehicle Project) โดยประเทศไทยเป็นฐานการผลิตและจัดหาชิ้นส่วน และโครงการนี้จึงเป็นที่มาของก่อตั้ง TMAP ในไทย

“อย่างไรก็ตาม ภายใต้การดำเนินงานของ TMAP ประเทศไทย แม้จะดูแลเกี่ยวกับการผลิตและวิจัยรถยนต์ในภูมิภาคนี้ แต่การตัดสินใจสำคัญหรือสุดท้าย ยังคงอยู่ที่ TMC ซึ่งในอนาคตหากบริษัทที่จัดตั้งขึ้นใหม่ แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการดำเนินงานมีประสิทธิภาพ ที่สุด TMC อาจจะโอนอำนาจในการตัดสินใจมาให้ก็ได้”นายซาซากิกล่าว


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.