|
คลังเรียกแบงก์ปล่อยกู้ตึกร้าง ทักษิณสั่งเองอุ้มบิ๊กอสังหาฯ
ผู้จัดการรายวัน(4 กรกฎาคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
ปลัดคลังรับคำสั่ง "แม้ว" เรียกนายแบงก์กดดันช่วยปล่อยกู้ตึกร้างทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑล 508 แห่ง พื้นที่กว่า 6.2 ล้านตารางเมตร มูลค่าหลายหมื่นล้าน หวังกระตุ้นเศรษฐกิจ พร้อมเจรจาสำนักโยธาฯ แก้กฎหมายขจัดอุปสรรค คาดภายใน 3 สัปดาห์ได้ข้อสรุป ด้านนายแบงก์หนุนปล่อยสินเชื่อ เผยอานิสงส์ตกอยู่กับบิ๊กอสังหาฯ ได้แก่ ทีซีซีแลนด์ บางกอกแลนด์ ซึ่งเจ้าของตึกใหญ่ "รัชดาสแควร์-เมืองทองธานี"
นายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ได้เรียกสถาบันการเงิน ประกอบด้วย ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (KTB) ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) (KBANK) ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) (TMB) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ บรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงิน (บบส.) บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย (บสท.) บริษัทบริหารสินทรัพย์กรุงเทพพาณิชย์ (บสก.) ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ และนายธวัชชัย ยงกิตติกุล เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย เข้ามาหารือเพื่อแก้ไขปัญหาอาคารสร้างค้างหรือตึกร้างในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล
“การหารือในวันนี้เป็นการหาแนวทางว่าจะพัฒนาตึกร้างที่กระจายอยู่ทั่วกรุงเทพได้อย่างไร โดยได้ให้การบ้านกับสถาบันการเงินต่างๆ ไปรวบรวมข้อมูลว่าอาคารต่างๆ เหล่านั้นเป็นสินทรัพย์รอการขาย (NPA) เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) หรืออยู่ในกระบวนการฟ้องร้องของกรมบังคับคดี รวมทั้งหารือกับเจ้าของโครงการว่าจะดำเนินการพัฒนาตึกร้างเหล่านี้อย่างไร ซึ่งภายใน 3 สัปดาห์สถาบันการเงินต่างๆ น่าจะหาข้อสรุปในเรื่องนี้ได้” นายศุภรัตน์กล่าว
นายศุภรัตน์กล่าวว่า ปัญหาที่พบในเบื้องต้นคือข้อติดขัดทางกฎหมาย ซึ่งตึกเหล่านี้ก่อสร้างมานานแล้วใบอนุญาตก่อสร้างก็หมดอายุทำให้ไม่สามารก่อสร้างต่อไปได้ หากขออนุญาตก่อสร้างใหม่ตามกฎหมายผังเมืองที่เพิ่งประกาศใช้เมื่อเดือนพฤษภาคมเข้มงวดขึ้นทำให้ผู้ซื้อไม่มีแรงจูงใจที่จะเข้ามาพัฒนาโครงการ เพราะเดิมอาคารได้รับอนุญาตก่อสร้าง 30 ชั้น แต่กฎหมายใหม่อาจอนุญาตให้สร้างเพียง 15 ชั้นเท่านั้น
กระทรวงการคลังจะเข้ามาเป็นตัวกลางประสานกับสำนักโยธาธิการกรุงเทพมหานครเพื่อขอให้ต่ออายุใบอนุญาต หรือแก้ไขข้อกฎหมายให้สามารถดำเนินการก่อสร้างต่อไปได้ ซึ่งก่อนหน้านี้ บสท.ได้เคยยื่นขอต่อกฤษฎีกาเพื่อให้แก้ไข้กฎหมายในเรื่องนี้เช่นกัน แต่ทางกฤษฎีกาต้องการให้มีการแก้ไขครั้งเดียวแล้วสามารถแก้ปัญหาได้เป็นภาพรวมทั้งระบบ
“ปัญหาอีกอย่างที่ต้องพิจารณาเป็นรายตึกคือปัญหาด้านเทคนิควิศวกรรม เนื่องจากเป็นตึกที่มีการก่อสร้างมาเป็นเวลานาน อาจมีปัญหาด้านโครงสร้างเหล็กอาจเป็นสนิมหรือเกิดความไม่ปลอดภัยจากก่อก่อสร้างโครงการต่อได้ ซึ่งต้องให้ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมโยธาเข้าไปสำรวจเพื่อให้เกิดความปลอดภัยอีกครั้งหนึ่งด้วย” นายศุภรัตน์กล่าว
นายขรรค์ ประจวบเหมาะ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวเป็นส่วนช่วยกระตุนเศรษฐกิจได้อีกทางหนึ่ง โดยที่มาของการประชุมครั้งนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้นายศุภรัตน์ มาหารือกับสถาบันการเงินต่างๆ เพื่อสำรวจว่ามีอาคารสร้างค้างเหลืออยู่ในระบบเท่าไร เพื่อที่จะได้หามาตรการแก้ไขให้อาคารสร้างค้างหมดไปจากระบบ
โดยในปี 2544 มีตึกร้างที่มีขนาดตั้งแต่ 5 ชั้นขึ้นไปและมีพื้นที่ 2,000 ตารางเมตรขึ้นไปจำนวนทั้งสิ้น 508 แห่ง ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร และได้มีการพัฒนาไปบ้างแล้วบางส่วนและสามารถเข้าใช้พื้นที่ได้แล้ว ซึ่งในปี 2549 เหลืออาคารที่ค้างสร้างอีกจำนวน 287 แห่ง และมีพื้นที่ใช้สอยตามใบอนุญาตเดิมจำนวน 6.2 ล้านตารางเมตร
ทั้งนี้ อาคารที่อยู่ในข่าย 508 แห่งดังกล่าว มูลค่าเกือบแสนล้าน แบ่งเป็นที่มีการพัฒนาไปแล้วและเป็นตึกใหญ่ ได้แก่ อาคารฐานเศรษฐกิจ อาคารศุภาลัย ปาร์ค และอาคารฮาร์เบอร์วิว ส่วนอาคารค้างสร้างที่ยังไม่ได้มีการพัฒนา ได้แก่ อาคารรัชดาสแควร์ของทีซีซี แลนด์ (ซื้อมาจากคุณหญิง พจมาน ชินวัตร) อาคารเมืองทองของบางกอกแลนด์ และอาคารสหวิริยาซิตี้ พระราม 3
**ส.ธนาคารไทยหนุนสินเชื่อ
นายธวัชชัย ยงกิตติกุล เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า ทางสมาคมธนาคารไทยมีความเห็นว่าทุกฝ่ายควรมีความร่วมมือกันเพื่อแก้ไขปัญหาตึกร้าง ซึ่งแต่ละโครงการมีปัญหาที่แตกต่างกันหลายอย่าง ทางภาคธุรกิจเองก็มีความต้องการที่จะเดินหน้าแต่ติดขัดที่ปัญหาหลายอย่างทั้งเรื่องความมั่นคงของอาคาร เรื่องคดีความ เรื่องใบอนุญาต หากร่วมมือกันทำก็น่าจะมีประโยชน์ทำเป็นนโยบายร่วมกันหากปล่อยทิ้งไว้ก็ทรุดโทรมโดยเปล่าประโยชน์
ทั้งนี้ หากมีการดำเนินการก่อสร้างอาคารเหล่านั้นต่อ ทางธนาคารก็พร้อมที่จะช่วยเหลือโดยการปล่อยสินเชื่อให้ แม้ว่าเจ้าของโครงการดังกล่าวอาจจะเป็นลูกหนี้ของธนาคารอื่นก็ตาม โดยในเบื้องต้นตึกร้างเหล่านั้นมีมูลค่าไม่เกิน 10,000 ล้านบาท เพราะดูจากสภาพที่แท้จริงของตึกร้างที่เหลืออยู่ประมาณ 281 อาคารนั้น ถ้ามีการหักสภาพของการดำเนินงานไปแล้ว เชื่อว่าคงไม่ถึง 200 แห่ง เช่นบางอาคารลง1เพียงเสาเข็ม เป็นต้น ส่วนการปล่อยสินเชื่อ ในสภาวะเช่นนี้จะมีความเสี่ยงหรือไม่นั้น มองว่าหากมีการลงมือทำตั้งแต่ตอนนี้จนแล้วเสร็จ ภาวะเศรษฐกิจก็คงฟื้นตัวแล้ว อย่างไร ก็ตาม การหารือในวันนี้ เบื้องต้น เพื่อเป็นการรักษามูลค่าทรัพย์สินที่มีการลงทุนไปแล้วไม่ให้สูญเปล่า อย่างน้อยก็ช่วยให้การลงทุนฟื้นตัว
นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า แนวทางที่กระทรวงการคลังเรียกเข้ามาหารือนับว่าเป็นการแก้ปัญหาความสูญเสียทางเศรษฐกิจได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งเมื่อร่วมมือกันแล้วน่าจะมีวิธีที่สามารถแก้ไขปัญหาได้ทั้งระบบ โดยในส่วนของธนาคารกรุงไทยเองมีอาคารร้างอยู่ในพอร์ตของธนาคารประมาณ 12 แห่ง สาเหตุที่ทำให้อาคารสร้างค้างของธนาคารกรุงไทยเหลือน้อยเนื่องจากได้ขายให้กับบริษัทบริหารสินทรัพย์ต่างๆ ไปบ้างแล้วจึงทำให้ไม่ค่อยมีปัญหาในการพัฒนาอาคารสร้างค้างแต่อย่างใด
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|