ทายาทเศรษฐี พันธมิตรรุ่นเยาว์ในสงครามอสังหาริมทรัพย์

โดย อรวรรณ บัณฑิตกุล
นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2538)



กลับสู่หน้าหลัก

เมื่อไบรท์ตั้นโฮลดิ้งประกาศเทกโอเวอร์บริษัทสีซิกม่า บีพีที ในตลาดหลักทรัพย์ เป็นสัญญาณให้เห็นว่า การรวมตัวกันของบรรดา "ทายาทเศรษฐีอสังหาริมทรัพย์" กำลังไม่ใช่เรื่องเล่นๆ หรือเป็นเพียงการพบปะสังสรรค์กันธรรมดาๆ แล้ว อีกทั้งการรวมกันในลักษณะนี้ก็ไม่ใช่เพียงกลุ่มเดียว เรื่องนี้เป็นเพียงแฟชั่น หรือการหาพันธมิตรทางอ้อมของคนรุ่นใหม่ พวกเขากำลังคิดอะไรอยู่ ?

"ในกลุ่มผู้ใหญ่เราสามารถเรียนรู้ประสบการณ์แต่ไม่ได้รีแล็กซ์ เราเลยอยากจะทำอะไรที่ได้ทั้งสาระและบันเทิง และที่สำคัญเราต้องการเพื่อน ถึงทั้งหมดนี้จะเป็นคู่แข่งกันทางด้านธุรกิจ แต่เราเชื่อว่าด้วยความสัมพันธ์ที่มีอยู่จะทำให้ความไม่พอใจ หรือการแข่งขันทางธุรกิจลดน้อยลง" โชคชัย บรรลุทางธรรม ประธานกลุ่ม Young Developer Organization (YDO) พูดถึงสาเหตุของการจัดตั้งกลุ่มกับ "ผู้จัดการ"

YOD คือการรวมกลุ่มของบรรดาทายาทเศรษฐี และผู้บริหารระดับสูงของบริษัทที่ทำธุรกิจทางด้านอสังหาริมทรัพย์ ทุกคนจะมีอายุไม่เกิน 40 ปี พวกเขาเรียกขานกลุ่มของตนว่าเป็นคนหนุ่ม-สาวรุ่นใหม่ในวงการพัฒนาที่อยู่อาศัย

วันหนึ่งประมาณกลางปี 2537 สามสมาคมด้านที่อยู่อาศัยคือสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร สมาคมการค้าอาคารชุด และสมาคมการค้าอสังหาริมทรัพย์ ได้จัดประชุมเกี่ยวกับเรื่องงานมหกรรมที่อยู่อาศัย ที่โรงแรมรีเจ้นท์ เมื่องานเลิกในขณะที่ผู้ร่วมประชุมต่างแยกย้ายกันกลับ ก็ปรากฏว่ายังมีคนหนุ่มกลุ่มหนึ่งยังนั่งปักหลักกันที่ล็อบบี้ของโรงแรมประกอบไปด้วย โชคชัย บรรลุทางธรรม วีระเดช เตชะไพบูลย์ นันทิวัฒน์ พงษ์เจริญ ชาย ศรีวิกรม์ และวันชัย ชูประภาวรรณ

ทั้ง 5 คนเป็นทายาทเศรษฐี และเป็นเจ้าของกิจการทางด้านที่อยู่อาศัยซึ่งเป็นที่รู้จักกันดี แต่ละคนมีโครงการที่อยู่อาศัยในมือที่ต้องรับผิดชอบคนละหลายพันล้านบาท ปกติแล้วกลุ่มนี้จะพบเจอกันบ่อยมาก โดยเฉพาะเมื่อมีงานสัมมนาของสมาคมทางด้านที่อยู่อาศัยซึ่งแต่ละคนเป็นสมาชิกอยู่ เช่น วีระเดช เป็นเลขาสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร ชายเป็นเลขาธิการสมาคมการค้าอสังหาริมทรัพย์ โชคชัยเป็นกรรมการบริหารสมาคมการค้าอสังหาริมทรัพย์ วันชัยเป็นกรรมการสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร ส่วนนันทิวัฒน์เป็นเลขาธิการสมาคมอาคารชุด

จากการพูดคุยกันในวันนั้นก็ได้มีการเสนอแนวความคิดกันว่าน่าจะมีการนัดเจอกลุ่มหนุ่ม-สาวที่มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกันและทำธุรกิจทางด้านอสังหาริมทรัพย์ เพื่อมาพบปะสังสรรค์ และแลกเปลี่ยนความรู้กันอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง ซึ่งแต่ละคนก็เห็นด้วย

เป็นไปได้อย่างมากว่าแนวความคิดในการรวมกลุ่มนั้นสาเหตุหนึ่งเกิดจากสภาพของการประชุม หรือสัมมนาของแต่ละสมาคมนั้นคงจะเต็มไปด้วยความหลากหลายของสมาชิก มีความแตกต่างกันในเรื่องของวัยและประสบการณ์บางครั้งการเข้าร่วมสังสรรค์ก็อาจจะเกิดความเบื่อหน่ายได้

"ผมเข้าใจนะว่าการรวมกลุ่มกับคนแก่ๆ ในสมาคมเขาอาจจะไม่สนุก พวกผมอาจจะสนุกในการคุยกับคุณอนันต์ อัศวโภคิน คุณสุเทพ บูลกุล คุณพรรณี พุทธารี แต่คนหนุ่มสาวเขาอาจจะไม่สนุก เขาเลยต้องการมีกลุ่มของเขา หรือในขณะพวกผมอาจจะนัดเจอกันตามห้องอาหารจีน แต่เขาอาจจะนัดกันตามผับ มันเป็นอะไรที่แตกต่าง"

มานพ พงศทัติ นักวิชาการ และนักพัฒนาที่ดินผู้ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในวงการที่อยู่อาศัยให้ความเห็น

กลุ่ม YOD เลยตั้งขึ้นมาเมื่อประมาณเดือนกันยายน 2537 ขณะนี้มีสมาชิกประมาณ 30 คน โดยมี 5 คนนี้เป็นแกนนำและเมื่อประมาณต้นปี 2538 ก็ได้มีการเลือกประธานกลุ่มคนแรกคือโชคชัย และมีการเปลี่ยนเงื่อนไขของการเข้ามาเป็นสมาชิกคือจากบุคคลที่สนใจทั่วไปเปลี่ยนเป็นเจ้าของกิจการเอง หรือต้องเป็นผู้บริหารระดับสูง และอายุต้องไม่เกิน 40 ปีโดยต้องเสียค่าสมาชิกเพียงปีละ 1 หมื่นบาท ใน 1 หมื่นบาททุกๆ 3,000 บาทจะถูกหักไว้เพื่อใช้บริจาคทางด้านการกุศล อีก 7,000 บาทคือค่าใช้จ่ายในการพบปะสังสรรค์กันทุกวันที่ 10 ของเดือน

สาเหตุที่ต้องจำกัดคุณสมบัติของสมาชิกเพราะไม่ต้องการให้มีความแตกต่างระหว่างสมาชิกกันมากนักในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น หรือการแลกเปลี่ยนประสบการณ์

วัตถุประสงค์ในการจัดตั้งกลุ่มจะเห็นได้ชัดเจนว่า YOD นั้นเป็นการรวมตัวของคนหนุ่มรุ่นใหม่ที่มีแนวทางในการทำงานใกล้เคียงกัน ไม่ได้มีนโยบายต่อเนื่องที่จะต้องตั้งเป็นสมาคม หรือร่วมกลุ่มกัน เพื่อทำธุรกิจ แต่จะเน้นไปในเรื่องของการพูดคุย เพื่อทราบปัญหา และอุปสรรคในการประกอบธุรกิจ รวมทั้งแลกเปลี่ยนประสบการณ์ต่างๆ กันมากกว่า

"จะมีการร่วมทุนกันหรือไม่นั้นเป็นสิทธิส่วนบุคคลของแต่ละคนแต่ไม่ใช่วัตถุประสงค์หลัก" โชคชัยกล่าวย้ำ

แต่ละเดือนคนกลุ่มนี้จะมีการพบปะกันทุกวันศุกร์ที่ 2 และที่ผ่านมาจะเน้นไปในเรื่องของการรวมกลุ่มเพื่อพูดคุยกันมากกว่า แต่หลังจากรวมกลุ่มกันได้ประมาณ 2 ครั้ง สมาชิกก็เสนอว่ามันน่าจะมีอะไรที่มีสาระมากกว่านี้ การพบกันครั้งที่ 3 ณ โรงแรมแรนด์ไฮแอทเอราวัณ เมื่อวันศุกร์ที่ 10 มีนาคมที่ผ่านมาก็เลยมีการจัดสัมมนาเกี่ยวกับเรื่อง พ.ร.บ.จัดสรรที่ดิน โดยเชิญ อัศวิน วิภูศิริ นายกสมาคมบ้านจัดสรรคนปัจจุบันเป็นผู้บรรยาย หลังจากนั้นก็จะมีงานเลี้ยงกันต่อที่ห้อง Sappso ชั้นใต้ดินของโรงแรม

การเคี่ยวกรำวิทยายุทธ์ในเรื่องต่างๆ ให้สมาชิกนั้นโชคชัยกล่าวว่าต่อไปจะเป็นเรื่องหลักอีกอย่างหนึ่งของกลุ่ม

และเมื่อไรที่คนในกลุ่มขาดจรรยาบรรณในการทำธุรกิจ หรือมีการสร้างความเสียหายให้กับส่วนรวม ก็จะให้พ้นสภาพการเป็นสมาชิกทันที

การเข้ามาเป็นสมาชิกกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะเป็นคนที่อยู่ในวงการที่รู้จักกันอยู่แล้วและก็ชักชวนกันมา หรือพ่อแม่เป็นสมาชิกในสมาคมที่อยู่อาศัยสมาคมใดสมาคมหนึ่งเมื่อเกิดกลุ่ม YOD ขึ้นมาก็เลยแนะนำบุตรของตัวเองให้เข้ามารวมกลุ่ม

สืบวงษ์ ทายาทวัย 27 ปี ของสุทินและสุจิตรา สุขขะมงคล เจ้าของบริษัทพัฒนยนต์ ชลบุรี ซึ่งทำธุรกิจเกี่ยวกับเครื่องจักร เกษตรและเรือประมง และกำลังขยายธุรกิจมาทำธุรกิจทางด้านที่อยู่อาศัย เป็นคนหนุ่มผู้หนึ่งที่เดินเข้ามาแนะนำตนเองกับกลุ่ม YOD เมื่อคืนวันสังสรรค์ครั้งที่ 3 ที่โรงแรมแกรนด์ไฮแอทเอราวัณ

เมื่อปี 2536 สืบวงษ์ ได้จบการศึกษาระดับปริญญาโทด้านการบริหารทั่วไปจากมหาวิทยาลัยซีแอตเติล สหรัฐอเมริกาและได้ถูกวางบทบาทจากครอบครัวให้เข้าไปรับผิดชอบเกี่ยวกับโครงการพัฒนาที่ดินของตระกูล ซึ่งกำลังทำโครงการสามมุขธานีและวิจิตรธานี ทั้งสองโครงการเป็นโครงการใหญ่มูลค่ากว่า 6,000 ล้านบาท เขาตัดสินใจเข้ากลุ่มแรกหลังจากทราบข่าวทางหนังสือพิมพ์ โดยไม่รู้จักใครเลย ด้วยเหตุผลที่ว่าคนรุ่นราวคราวเดียวกันน่าจะพูดคุยกันง่าย และการมีเพื่อนฝูงในวงการไว้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ แลกเปลี่ยนความคิดเป็นเรื่องจำเป็นมากในการทำธุรกิจต่อไป

ในขณะเดียวกัน ชูเกียรติ ลูกชายของ ชวน ตั้งมติธรรม คนหนุ่มอีกคนหนึ่งจากค่ายมั่นคงเคหะการ ก็ได้ให้ความเห็นในการเข้ารวมกลุ่มว่า

"ผมไม่เคยคิดว่าคนกลุ่มนี้เป็นคู่แข่งโดยเฉพาะถ้ามีโครงการกันคนละทำเล หรือแม้แต่การทำโครงการทำเลเดียวกันก็สามารถปรึกษา หรือช่วยกันสร้างทำเลใหม่กันได้เหมือนกัน"

สำหรับรายชื่อสมาชิกของบรรดาทายาทเศรษฐีที่อยู่ในกลุ่ม YOD คนอื่นๆ ก็มี เช่น สุทธิภัค จิราธิวัฒน์ ลูกชายเถ้าแก่เตียง จากค่ายเซ็นทรัลกรุ๊ป ปิยะลูกชายประยูร จินดาประดิษฐ จากบ้านฉางกรุ๊ป ดร.ปิยวัชร ลูกชายดร.อรุณ ชัยเสรี ชัชวาล หลานชายธนินท์ เจียรวนนท์ จากค่ายซี.พี. ล้วนชาย ว่องวานิช ลูกชายดร.บุญยงค์ แห่งห้างขายยาอังกฤษตรางู หรือว่องวานิชกรุ๊ป ฯลฯ

ถ้านับรวมมูลค่าโครงการของสมาชิกแต่ละคนจะพบว่าตัวเลขคงสูงเป็นเงินหลายหมื่นล้านบาท มันจึงเป็นเรื่องที่น่าจะมองต่อไปว่า ถ้าคนรุ่นนี้สามารถรวมตัวเป็นพันธมิตรกันได้ในระยะยาว นอกจากช่วยสร้างสรรค์สิ่งที่ดีๆ ให้กับลูกค้าแล้ว การรวมตัวเพื่อสร้างปรากฏการณ์ใหม่ๆ ในวงการที่อยู่อาศัยน่าจะมีความเป็นไปได้อย่างยิ่ง

กลุ่ม YOD ไม่ใช่กลุ่มแรกของบรรดานักพัฒนาที่ดินรุ่นใหม่ที่รวมตัวกันเป็นพันธมิตร ถ้าหากย้อนหลังไปในช่วงธุรกิจเรียลเอสเตทกำลังเบ่งบานเมื่อประมาณปี 2532 มีทายาทเศรษฐีกลุ่มหนึ่งเช่น ถนอม อังคณะวัฒนา วีรเดช เตชะไพบูลย์ โชคชัย เศรษฐีวรรณ นันทิวัฒน์ พงษ์เจริญ ก็ได้เคยประกาศตั้งกลุ่มภูมิทรัพย์

เมื่อประมาณกลางปี 2537 เช่นเดียวกัน วีระเดช เตชะไพบูลย์ จากกลุ่มศรีนครแลนด์ ล้วนชาย ว่องวานิช ทายาทแป้งอังกฤษตรางู เจ้าของอาคารว่องวานิช วิบูลย์ ฮ้อแสงชัย จากศิริผลกรุ๊ป ชยันต์ เตชะสุกิจ จากกลุ่มมอนเทอเรย์ โชคชัย เศรษฐีวรรณ ทายาทกลุ่มเศรษฐีวรรณ ยุทธนา สันติกุล นักพัฒนาที่ดินจากพีเอสเรียลเอสเตท และฉัตรชัย ปิยะสมบัติกุล ทายาทของบริษัทนครหลวงไม้อัดได้ตั้งบริษัทไบรท์ตั้น โฮลดิ้งขึ้นมา

แต่ทั้ง 2 กลุ่มหลังนี้มีวัตถุประสงค์ของการตั้งกลุ่มที่แตกต่างจาก YOD เพราะเป็นการรวมกลุ่มขึ้นมาเพื่อทำธุรกิจทางด้านพัฒนาที่ดินโดยเฉพาะ

หลังจากมีข่าวคราวการรวมตัวของทายาทเศรษฐีซึ่งตั้งกลุ่มภูมิทรัพย์ขึ้นเพื่อทำธุรกิจเกี่ยวกับทางด้านที่ดินเมื่อประมาณปี 2532 ก็ไม่ปรากฏผลงานเลยนอกจากการซื้อมาขายไปของเรื่องที่ดินบางแปลง ต่อมาเมื่อประมาณปี 2534 จึงได้มีการเปิดตัวกลุ่มนี้เป็นทางการ และประกาศทำโครงการมาสเตอร์วิว เอ็กเซ็กคิวทีฟเพลส คอนโดพักอาศัยสูง 40 ชั้นขึ้นเป็นโครงการแรกที่ถนนเจริญนคร

แต่จากเหตุผลที่ผู้บริหารแต่ละคนต่างมีธุรกิจของตนเอง ประกอบกับผลพวงภาวะเศรษฐกิจหลังอ่าวเปอร์เซียที่ชะตัวลง โครงการนี้ก็เลยถูกเทกโอเวอร์ไปโดยกลุ่มโมเดอร์นโฮมของถนอม อังคณะวัฒนา ที่กำลังสะสมสินทรัพย์เพื่อเตรียมเข้าตลาดหลักทรัพย์เมื่อประมาณต้นปี 2536 ในราคา 321 ล้านบาท ในที่สุดกลุ่มภูมิทรัพย์ก็เลยสลายตัวไปโดยปริยาย และประมาณกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมาถนอมก็ได้ขายหุ้นภูมิทรัพย์ให้กับกลุ่มดิเวลลอปไปแล้ว

ส่วนกลุ่มไบรท์ตั้นจะมีแกนนำบางคนมาจากกลุ่มภูมิทรัพย์ แต่ว่าการกลับตัวมารวมกันใหม่ในครั้งนี้มีแผนการรุกคืบด้านธุรกิจเรียลเอสเตทที่น่าสนใจยิ่งกว่าเดิม

เพราะถึงจะเป็นการตั้งบริษัทขึ้นมาเพื่อซื้อที่ดินทำโครงการแต่เพื่อให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ การวางหมากในการทำธุรกิจตัวแรกของกลุ่มนี้จึงเปลี่ยนไปอย่างน่าติดตาม โดยเริ่มจากปฏิบัติการแผลงฤทธิ์เขย่าวงการตลาดหุ้นขึ้น เมื่อประมาณเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ด้วยการเข้าไปรับซื้อหุ้น "สีซิกม่า" จากบริษัทบีพีที อุตสาหกรรมทั้งหมด 20% จากบริษัทในเครือของแลนด์แอนด์เฮ้าส์ พร้อมประกาศทำเทนเดอร์ออฟเฟอร์หุ้นบีพีที ถึง 65% ซึ่งผลจะสำเร็จหรือไม่คาดว่าจะทราบกันประมาณเดือนเมษายน 2538 โดยขอซื้อในราคา 36 บาทต่อหุ้น ทำให้กลุ่มไบรท์ตั้นจะต้องเตรียมเงินทั้งหมดไว้เพื่อใช้ในการนี้ประมาณ 400 ล้านบาท

จะว่ากันไปแล้วหากมองในแง่มุมหนึ่งการซื้อหุ้นด้วยเงินแค่ 400 ล้านมันก็ไม่ได้มากมายนัก เป็นจำนวนเงินที่ซื้อที่ดินแปลงดีๆ ได้แค่แปลงเดียวเท่านั้นเอง แต่บังเอิญของที่ต้องการซื้อนั้นเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ที่มีช่องทางทำอะไรต่อเนื่องได้อีกมาก เรื่องมันจึงน่าสนใจว่าพวกเขาจะมีแผนการอะไรต่อไป

โดยเฉพาะแนวความคิดที่ว่าแต่หากการซื้อหุ้นบีพีทีไม่เป็นผลสำเร็จ ธุรกิจทางด้านวัสดุก่อสร้างตัวอื่นๆ ในตลาดหลักทรัพย์เป็นสิ่งที่เขาจับตามองเป็นพิเศษในขณะที่การหาซื้อที่ดินในแปลงอื่นๆ เพื่อเตรียมทำโครงการนั้นเป็นเพียงเรื่องรองลงมา

ส่วนเหตุผลในการซื้อหุ้นสีซิกม่า วีระเดชอธิบายว่าเป็นเพราะ ฉัตรชัยทายาทคนหนึ่งของกลุ่มนครหลวงไม้อัด ต้องการซื้อหุ้นของสีตัวนี้ เพราะเป็นธุรกิจที่ต่อเนื่องกันของครอบครัวและได้นำมาเสนอเพื่อนในกลุ่ม เมื่อสรุปตรงกันว่าน่าสนใจจึงติดต่อขอซื้อ

"แต่ที่แน่ๆ ในปีนี้ไบรท์ตั้นโฮลดิ้งคงจะไม่เริ่มงานพัฒนาที่ดินเพราะการแข่งขันสูงมาก" วีระเดชยืนยัน

สำหรับการรวมตัวของกลุ่มไบรท์ตั้นนั้นเกิดขึ้นจากการที่วีระเดชมีที่ดินอยู่แปลงหนึ่งบริเวณซอยศูนย์วิจัย บนถนนเพชรบุรี โดยแรกเริ่มได้วางแผนไว้เพื่อจะทำโครงการพักอาศัยซึ่งจะร่วมทุนกับญี่ปุ่นกลุ่มหนึ่ง แต่ปรากฏว่าต่อมาภายหลังญี่ปุ่นกลุ่มนั้นมีปัญหาไม่มั่นใจในการทำธุรกิจเรียลเอสเตทในเมืองไทย จึงได้ถอนหุ้นไป ทางวีระเดชจึงหันไปชักชวนเพื่อนฝูงที่มีโครงการแถวๆ นั้นมาร่วมทุนกันทำโครงการนี้ เช่น ล้วนชาย ว่องวานิช ซึ่งมีโครงการว่องวานิชบนถนนพระราม 9 และชยันต์ เตชะสุกิจ เจ้าของอาคารมอนเทอเรย์ เป็นต้น

จาก 2 คนนี้ก็ไปชวนเพื่อนอีกหลายคนซึ่งเป็นเพื่อนของเพื่อน ที่เคยบอกกล่าวกันไว้ว่า "จะทำอะไร ที่ไหน บอกให้เข้าหุ้นกันบ้างนะ"

โครงการไบรท์ตั้น เพลส อาคารพักอาศัยสูง 9 ชั้น 6 อาคารในอาณาเขตกว้างกว่า 4 ไร่ในซอยศูนย์วิจัยเลยเกิดขึ้นในนามของบริษัทศูนย์วิจัยพัฒนาการจำกัด ภายใต้การบริหารงานของพันธมิตรธุรกิจ 7 คน คือ วิวัฒน์ วีระเดช ชยันต์ ยุทธนา ล้วนชาย โชคชัย วิบูลย์ และฉัตรชัย

ในขณะที่ยอดขายไบรท์ตั้น เพลส กำลังไปได้สวยทุกคนเห็นด้วยว่าน่าจะมีการรวมกลุ่มกันให้เป็นรูปบริษัท ก็เลยมีการจดทะเบียนเป็นบริษัทชื่อไบรท์ตั้นโฮลดิ้ง โดยมีวัตถุประสงค์หลักในการทำธุรกิจทางด้านอสังหาริมทรัพย์ บรรดากรรมการของบริษัทก็คือขุนพลชุดเดิมจากไบรท์ตั้น เพลส

วีระเดชเป็นแกนนำในการจัดตั้งกลุ่มขึ้นมาก็จริงแต่บุคคลที่ถูกวางบทบาทให้เป็นตัวหลักในการสานฝันของกลุ่มนี้ให้เป็นจริงก็คือ ยุทธนา และฉัตรชัย ซึ่งทั้ง 2 คนนี้จะมีเวลามากกว่าผู้ถือหุ้นคนอื่นๆ ที่มีงานและโครงการที่กำลังทำอยู่ในมือมากมาย

ยุทธนาเป็นผู้ที่คลุกคลีในวงการอสังหาริมทรัพย์มานาน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะเป็นการทำโครงการร่วมกับพงษ์พันธ์ สัมภวคุปต์ จากค่ายพีเอสเรียลเอสเตท

ในโครงการไบรท์ตั้น เพลส วีระเดชอาจจะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่เกิน 50% แต่ในไบรท์ตั้นโฮลดิ้งวีระเดชจะถือหุ้นเพียง 10% เท่านั้น ที่เหลือก็กระจายกันไปเท่าๆ กัน ในขณะที่ใช้เงินในการจดทะเบียนบริษัทไว้เพียง 2 ล้านบาท การเพิ่มทุนและการขยายบทบาทขึ้นอยู่กับความสำเร็จในการเข้าไปซื้อบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งต้องติดตามดูกันต่อไปว่าพวกเขาจะทำได้สำเร็จหรือไม่

ท่ามกลางความน่าสนใจของคนที่ติดตามข่าวของไบรท์ตั้นนั้น ก็ปรากฏว่าในช่วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา ได้มีกระแสข่าวออกมาว่ากลุ่มนี้อาจจะยกเลิกเสนอซื้อหุ้นดังกล่าว ซึ่งจะเป็นจริงหรือไม่ เพราะอะไร ไบรท์ตั้นจะสามารถยืนหยัดต่อไปเพื่อทำกิจการอย่างที่วางแผนไว้ได้หรือไม่หรืออาจจะล่มสลายต่างคนต่างแยกทางกันไป เป็นเรื่องที่น่าสนใจทั้งนั้น

แต่ไม่ว่าจะเป็นการรวมตัวกันเพื่อพบปะสังสรรค์ หรือการรวมตัวกันทำธุรกิจก็ตาม ก็ต้องยอมรับว่าพฤติกรรมในการทำธุรกิจของคนรุ่นใหม่นี้ เป็นเรื่องที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง คนรุ่นนี้นอกจากจะมีเงินทุน มีชื่อเสียง มีเครดิต จากเครือข่ายบริษัทที่พ่อแม่สะสมไว้ให้แล้ว ยังให้ความสำคัญในการหาพันธมิตรเพื่อก้าวไปพร้อมๆ กันอีกด้วย การเข้าขึ้นสู่บริษัทพัฒนาที่ดินชั้นนำในระยะเวลาต่อไปก็ไม่น่าจะเป็นเรื่องยาก



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.