ถ้าข่าวการแย่งสิทธิ์เป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์สโกด้า ในประเทศไทย ช่วง 2
เดือนที่ผ่านมา เป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์การตลาด ที่ได้วางใจ ตำแหน่งนักการตลาดที่ยอดเยี่ยมแห่งยุคก็คงต้องมีชื่อ
"ธีระ สกุลรัตนะ" ติดอยู่ในนั้น
แต่นี่มิใช่แผนที่วางไว้ กลับเป็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจริง เหตุ เพราะมองข้ามข้อปลีกย่อย
ด้วยพื้นฐานความคิดแบบเข้าข้างตัวเอง จึงทำให้ปัญหาที่เกิดขึ้นสร้างความเสื่อมเสียแก่ชื่อเสียงของธีระอยู่มาก
ไม่เพียงเท่านั้น ยังทำให้แผนการฟื้นความยิ่งใหญ่ของสโกด้าในไทยต้องยากลำบากยิ่งขึ้น
ไม่ว่าใครจะได้สิทธิ์ก็ตาม
ข่าวการร่วมทุน เพื่อหวังเปิดตลาดรถยนต์สโกด้าในไทยอีกครั้งหลังจากที่คนไทยเคยสัมผัสกับยนตรกรรมแห่งความแข็งแกร่งเมื่อราว
40 ปีก่อน นับเป็นเรื่องที่ถูกจับตามองอยู่มาก
"มันเป็นความหวังของธีระที่จะพัฒนาจากผู้นำเข้าอิสระรายย่อยมาสู่การเป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ที่คิดว่าจะเป็นรถตลาดได้
แต่แล้วทุกอย่างก็ไม่ราบรื่นคงโทษคุณธีระคนเดียวไม่ได้ มันเป็นเรื่องของการร่วมธุรกิจที่ไม่ได้มีการเจรจาในรายละเอียดเสียตั้งแต่แรก"
ผู้เกี่ยวข้องและรับทราบการประสานธุรกิจมาตั้งแต่ต้นกล่าว
ธีระ สกุลรัตน มักเดินเกมธุรกิจในลักษณะ "เอาไวเข้าว่า" จนบางครั้งต้องประสบปัญหาและครั้งนี้ก็เช่นกัน
แม้ธีระจะยืนยันว่าการเปิดตลาดสโกด้า จะสามารถกระทำโดยลำพังได้ แต่กระนั้นการขยายตัวอย่างรวดเร็ว
และมั่นคง จึงจำเป็นที่จะต้องมีฐานธุรกิจมารองรับพอสมควร ดังนั้นการชักชวนนักธุรกิจมาร่วมทุน
อย่างเช่นการดึงกลุ่มบางกอกเคเบิ้ลมาร่วมถือหุ้นในบริษัท บางกอกมอเตอร์เวย์
เพื่อทำตลาดรถยนต์สโกด้า
แต่ธีระคงลืมไปว่าการร่วมทุนภายใต้ผลประโยชน์ที่ไม่ลงตัวนั้น ไม่เพียงแต่จะไม่สร้างความมั่นคงแล้ว
กลับจะทำให้เกิดความยุ่งยากตามมาไม่จบสิ้น
ความแตกหักของกลุ่มผู้ร่วมทุนในการทำตลาดรถยนต์สโกดด้า ปรากฏภาพชัดเจน
เมื่องานเปิดตัวสโกด้า ในวันที่ 22 มีนาคม 2538 ณ โรงแรมสยามอินเตอร์คอนติเนนตัล
ที่ฝ่ายธีระเป็นผู้ดำเนินเรื่องต้องกลายเป็นงานเลี้ยงครบรอบ 100 ปีแห่งการผลิตรถยนต์สโกด้าของสาธารณรัฐเชก
ถัดมาในวันที่ 27-28 มีนาคม ซึ่งเป็นงานแก้ตัวของฝ่ายธีระ ที่แม้จะสามารถนำรถยนต์นั่งสโกด้า
เฟลิเซีย มาแสดงในงานเปิดตัวได้สำเร็จ แต่ก็เป็นเพียงรถยนต์นั่งพวงมาลัยซ้าย
1 คันเท่านั้น แถมเบื้องหลังแห่งการได้รถยนต์มาแสดงต้องใช้วิชามากมายเพราะผู้ถือหุ้นฝ่ายตรงข้ามสกัดกั้นอย่างเต็มกำลัง
"ในการร่วมทุนกันนั้น ไม่มีการเจรจาให้ชัดเจนว่าโครงสร้างของบริษัทจะเป็นเช่นไร
การนำเข้ารถยนต์สโกด้ามาจำหน่ายจะผ่านช่องทางอย่างไร และแม้กระทั่งแผนการตลาดต่างๆ
ก็ยังไม่มีการวางแนวทางให้ชัดเจน ซึ่งในช่วงแรกๆ นั้นกลุ่มผุ้ร่วมทุนได้ให้คุณธีระดำเนินการเองเสียส่วนใหญ่ซึ่งก็ไม่มีปัญหาอะไร"
ผู้เกี่ยวข้องและกล่าวว่า
"ปัญหามาเกิดเมื่อบางกอกมอเตอร์เวย์ ซึ่งถือหุ้นโดยบางกอกเคเบิ้ล
กลุ่มมอเตอร์เวย์ และผู้ร่วมทุนรายบุคคลอีกสองสามราย ไม่ได้เป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์สโกด้าในไทย
แต่เป็นเพียงผู้นำเข้ารับช่วงต่อมาอีกทอดหนึ่งเท่านั้น โดยบริษัทที่ได้สิทธิ์เป็นตัวแทนจำหน่ายและรับรถยนต์สโกด้ามาจากโรงงานกลับกลายเป็นบริษัทที่คุณธีระได้จดทะเบียน
และเป็นการจดทะเบียนในประเทศอังกฤษด้วย ซึ่งทำให้ผู้ร่วมทุนอื่นไม่พอใจเป็นอย่างมาก
และคิดว่าคุณธีระดำเนินการแบบเห็นแก่ได้ ขณะที่คุณธีระเองก็มองว่า เนื่องจากตนเองเป็นผู้เดินเรื่องมาตั้งแต่ต้นเพียงลำพังจึงน่าที่จะได้ประโยชน์มากกว่าผู้ที่มาร่วมทุนทีหลัง"
ผู้ที่ได้สิทธิ์เป็นตัวแทนจำหน่ายคือบริษัท เอ็มดีที เชคคาร์ ยูเค ซึ่งจดทะเบียนในอังกฤษ
มีธีระเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ซึ่งธีระได้นำบริษัทนี้เข้ามาร่วมถือหุ้นในบางกอกมอเตอร์เวย์ด้วย
แต่เนื่องจากรอยร้าวได้เกิดขึ้นแล้ว แผนทุกอย่างของธีระจึงต้องล้มลงกลางครัน
"มันเป็นการเอาเปรียบกันเกินไป เมื่อร่วมทุนกันแล้วทำไมต้องให้มีบริษัทตัวกลางเกิดขึ้นเพื่อแบ่งผลประโยชน์อีก
ก็ในเมื่อคุณธีระบอกว่าเป็นแค่ทางผ่านเท่านั้น ยิ่งไม่เห็นมีความจำเป็นใหญ่
การที่คุณธีระทำเช่นนี้น่าจะเป็นเพราะต้องการได้สิทธิ์ไว้เพียงคนเดียว ซึ่งต่อไปเราก็ไม่รู้ว่าจะเกิดอะไร
มันเหมือนการร่วมธุรกิจแบบไม่ไว้วางใจกัน ทางเราจึงคิดว่าคงต้องแยกออกมา
ส่วนสิทธิ์การเป็นตัวแทนจำหน่ายสโกด้านั้น แม้คุณธีระอ้างว่าได้สิทธิ์แล้ว
แต่เท่าที่เราตรวจสอบดูเป็นเพียงแค่สัญญาเบื้องต้นเท่านั้น ไม่เช่นนั้นคุณธีระคงรับจองรถจากลูกค้าไปแล้ว
ส่วนทางเราขณะนี้ก็ได้เดินเรื่องเพื่อเรียกร้องสิทธิ์เช่นกัน ซึ่งทางสโกด้า
ออโต้ ก็รับฟังแต่ยังไม่มีการตัดสินใจออกมา ในช่วงนี้ก็คงต้องได้แต่รอ"
ผู้ร่วมทุนจากฝั่งบางกอกเคเบิ้ลกล่าว
ศึกการแย่งชิงสโกด้าที่ทำให้มิตรต้องกลายเป็นศัตรูดูเหมือนว่าจะต้องยืดเยื้อออกไปอีก
เพราะทุกวันนี้สาะรณรัฐเชกยังให้ความสนใจกับตลาดต่างประเทศโดยเฉพาะตลาดในไทยน้อยมาก
ปัญหาที่ดูว่าสำคัญ และจำเป็นสำหรับสองฝ่ายแต่กลับกลายเป็นเรื่องที่ไม่ต้องรีบร้อนที่จะเข้าเคลียร์
เพราะทุกวันนี้สโกด้าพวงมาลัยขวา ก็ยังไม่ออกมา แผนงานของสโกด้าเองต้องเลื่อนแล้วเลื่อนอีก
เพราะยังไม่เห็นความสำคัญมากนัก และแม้ว่าโฟล์กสวาเก้น เอจี แห่งเยอรมนี
จะเข้าซื้อกิจการแล้ว แต่ก็ต้องใช้เวลาพอสมควรในการปรับปรุงด้านต่างๆ
เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นเช่นนี้ คงต้องรอเอาไว้ใกล้ๆ พวงมาลัยขวาของสโกด้าออกมาแน่นอนเสียก่อน
แล้วค่อยมาว่ากันใหม่ ส่วนใครจะได้สิทธิ์เป็นตัวแทนจำหน่ายนั้น ถึงเวลานั้นคงเป็นเรื่องที่ดูลำบาก
ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายบางกอกเคเบิ้ล ฝ่ายของธีระ หรือแม้แต่ม้ามืดซึ่งเป็นค่ายใหญ่ที่ค้าโฟล์กสวาเก้นอยู่แล้วและเมินเฉยต่อสโกด้าอยู่ในขณะนี้