ชินวัตร จัสมิน ทีเอ ยูคอม รบในไทยไม่พอต้องไปต่อที่อินเดีย


นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2538)



กลับสู่หน้าหลัก

อินเดีย ดินแดนแห่งอารยธรรมเก่าแก่ของโลก มีพลเมืองมากกว่า 900 ล้านคน กำลังกลายเป็นแม่เหล็กชิ้นใหญ่ ที่ดึงดูดทุนสื่อสารจากทั่วทุกมุมโลกให้หลั่งไหลเข้าในประเทศ หลังจากนโยบายเปิดเสรีให้เอกชนเข้าไปลงทุนในกิจการโทรคมนาคม

รัฐบาลอินเดียได้เริ่มทยอยเปิดให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนในโครงการโทรมนาคมประเภทต่างๆ มาตั้งแต่ปีที่แล้ว เริ่มด้วยวิทยุติตามตัว ตามมาด้วยบริการวิทยุสื่อสารเฉพาะกลุ่ม (ทรังค์เรดิโอ) ซึ่งอยู่ระหว่างเปิดซองประมูล ล่าสุดคือการเปิดประมูลโทรศัพท์พื้นฐาน และโทรศัพท์มือถือ อันเป็น 2 โครงการขนาดใหญ่ที่มีกำหนดยื่นซองประมูลในวันที่ 21 เมษายน 2538

ชินวัตร จัสมิน ทีเอ และยูคอม 4 ทุนสื่อสารของไทยที่กำลังตื่นตัวรับมือกับโลกไร้พรมแดน จึงไม่พลาดกับสมรภูมิอันดุเดือดแห่งนี้

ชินวัตรได้บุกเบิกลงทุนในอินเดียตั้งแต่ปีที่แล้ว โดยร่วมลงทุนกับฮิมาชาลบริษัทท้องถิ่นผู้ผลิตอุปกรณ์สื่อสารสัญญาณ เพื่อให้บริการวิทยุติดตามตัวใน 6 เมืองของอินเดียตั้งแต่ปีที่แล้ว

อารักษ์ ชลธาร์นนท์ กรรมการผู้อำนวยการบริษัทชินวัตร อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่าภารกิจในอันดับต่อไปของชินวัตร คือการยื่นข้อเสนอเพื่อเข้าประมูลโครงการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบดิจิตอล จีเอสเอ็ม และโทรศัพท์พื้นฐาน ซึ่งเปิดรับซองประมูลในวันที่ 21 เมษายน

เนื่องจากอินเดียเป็นประเทศใหญ่ การประมูลคัดเลือกผู้รับสัมปทานโทรศัพท์พื้นฐานและโทรศัพท์มือถือ รัฐบาลอินเดียจึงแบ่งพื้นที่ออกเป็น 20 เขต (Circle) ซึ่งแต่ละเขตจะมีศักยภาพในเชิงเศรษฐกิจที่แตกต่างกันไป ดังนั้นผู้เข้าประมูลจะต้องพิจารณาว่าตนมีคุณสมบัติเหมาะสมจะเข้าประมูลในเขตพื้นที่ใดบ้าง

โดยรัฐบาลจะเลือกผู้รับสัมปทานเพียงแค่ 2 รายใน 1 เขตสำหรับโทรศัพท์มือถือ ส่วนโทรศัพท์พื้นฐานใน 1 เขต จะเลือกเพียง 1 รายเท่านั้น ซึ่งเมื่อรวมกับผู้ให้บริการเก่าที่ให้บริการอยู่แล้วจะมีทั้งหมด 2 รายเท่ากัน

จุดสำคัญในการคัดเลือกจะพิจารณาในเรื่องประสบการณ์ในโครงการที่เข้าประมูล ตลอดจนมูลค่าของบริษัทและคุณสมบัติของผู้เข้าประมูลนี้ว่าจะเหมาะสมกับพื้นที่ใดบ้าง

"การประมูลจะเหมือนกับสอบเอนทรานซ์ซึ่งจะต้องเลือกเป็นอันดับ และเราต้องยื่นข้อเสนอตามจำนวนเขตที่เข้าประมูล ดังนั้นผู้เข้าประมูลต้องประเมินตัวเองมีความเหมาะสมในเขตใด" อารักษ์อธิบายถึงรายละเอียดของการประมูล

นอกจากนี้รัฐบาลได้กำหนดสัดส่วนการประมูลระหว่างนักลงทุนท้องถิ่น และต่างชาติไว้ว่า นักลงทุนจากต่างชาติจะต้องถือหุ้นได้ไม่เกิน 49% ส่วนนักลงทุนท้องถิ่นจะต้องถือหุ้นห้ามต่ำกว่า 51%

จากข้อกำหนดเหล่านี้เอง ที่ทำให้บรรดาทุนสื่อสารของไทยต่างออกมาชักชวนการสื่อสารแห่งประเทศไทย (กสท.) และองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ทศท.) เข้าร่วมวงด้วย เพราะต้องการอาศัยความเชื่อถือและประสบการณ์จาก 2 หน่วยงานนี้ในการเข้าประมูล

ในส่วนของชินวัตรนั้น ได้ใช้วิธีการตกลงกับพันธมิตร โดยชินวัตรจะเป็นแกนนำในส่วนของผู้ถือหุ้นต่างประเทศในโครงการโทรศัพท์มือถือ ส่วนโครงการโทรศัพท์พื้นฐาน ชินวัตรจะเป็นผู้ถือหุ้นอันดับรองลงมาและจะเปิดทางให้ผู้ถือหุ้นต่างชาติรายอื่น ที่มีประสบการณ์เป็นแกนนำในการประมูล

อารักษ์กล่าวว่าการประมูลในอินเดียครั้งนี้ ได้รับความสนใจจากนักลงทุนทั่วทุกมุมโลก เพราะพลเมืองอินเดียมีอยู่ถึงกว่า 800 ล้านคน แม้ว่าประชากรส่วนใหญ่จะเป็นคนจน แต่จากการเติบโตของเศรษฐกิจ ทำให้อำนาจการซื้อของประชาชนเพิ่มสูงขึ้นซึ่งหากประเมินว่าจะมีผู้มีอำนาจการซื้อเพียงแค่ 10% ของพลเมืองทั้งหมด ก็นับเป็นจำนวนของลูกค้าที่เยอะมาก เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ

ที่สำคัญอินเดียมีบุคลากรที่มีความรู้มาก ทั้งด้านซอฟต์แวร์ หรือโทรคมนาคม ในขณะที่ค่าจ้างแรงงานยังถูกมาก ทำให้การลงทุนในเรื่องของบุคลากรไม่มีปัญหาเหมือนกับประเทศอื่นๆ จึงเป็นเหตุให้มีผู้สนใจเข้ามาลงทุนมากเป็นพิเศษ ซึ่งชินวัตรเองหวังว่าจะได้รับเลือกให้ลงทุนอย่างต่ำสัก 2 เขต

จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล ยักษ์สื่อสารของไทยอีกรายที่มีความเคลื่อนไหวในการขยายธุรกิจในต่างแดนอย่างมากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จัสมินจะบุกอินเดียอย่างเต็มขั้น

ในการประมูลครั้งนี้ จัสมินได้จับมือกับบริษัทเทเรีย ประเทศสวีเดน และยังได้ชักชวนองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ทศท.) ร่วมลงขันเข้าหุ้นในสัดส่วน 3 ฝ่ายรวมกัน 49% ร่วมกับบริษัทท้องถิ่นของอินเดีย คือบริษัทพันไวด์ และบริษัทยูไนเต็ด คอมมิวนิเคชั่น ลิมิเต็ด (ยูทีแอล) ที่จะถือหุ้นในสัดส่วน 51%

จะเห็นได้ว่าจัสมินให้ความสำคัญกับการหาพันธมิตรที่ประสบการณ์ค่อนข้างมาก นอกจากจัสมินซึ่งมีประสบการณ์ในโทรศัพท์พื้นฐาน บริษัทเทเรียก็มีประสบการณ์ในการติดตั้งโทรศัพท์มาแล้ว 6 ล้านเลขหมาย และยังรวมไปถึงทศท.ที่มีประสบการณ์ในการติดตั้งโทรศัพท์มาอย่างโชกโชน

ดร.อดิศัย โพธารามิก ได้เปิดแถลงว่าจะเลือกเข้าประมูลประมาณ 4-5 เขต ทั้งโครงการโทรศัพท์พื้นฐานและโทรศัพท์มือถือ โดยจะเน้นในเขตพื้นที่บริการระดับเอ ซึ่งเป็นเขตที่มีความต้องการใช้งานสูง

เช่นเดียวกับบริษัทเทเลคอมเอเซีย คอร์ปอเรชั่น (ทีเอ) ยักษ์ใหญ่เจ้าของสัมปทานโทรศัพท์ 2 ล้านเลขหมาย ที่ให้ความสำคัญกับการลงทุนในอินเดียค่อนข้างมาก โดยทีเอได้ยื่นข้อเสนอให้การสื่อสารแห่งประเทศไทย (กสท.) ร่วมลงขันยื่นประมูลโทรศัพท์พื้นฐานและโทรศัพท์มือถือ

ทั้งนี้ทีเอจะถือหุ้นร่วมกับบริษัทโทรคมนาคมจากสหรัฐอเมริกา และกสท. ทั้ง 3 ฝ่ายรวมกัน 49% และที่เหลืออีก 51% จะถือหุ้นโดยบริษัทท้องถิ่นในอินเดีย

นับเป็นเอกชนอีกรายที่ได้ยื่นข้อเสนอให้กับหน่วยงานสื่อสารของรัฐ ร่วมลงทุนในการประมูลบริการทั้ง 2 ชนิดในอินเดีย

บุญชัย เบญจรงคกุล ประธานกรรมการบริหารกลุ่มยูคอม ได้ประกาศถึงเจตนารมณ์ในการขยายธุรกิจสื่อสารในต่างแดนไว้อย่างชัดเจน และหนึ่งในประเทศเหล่านั้นคืออินเดีย

กลุ่มยูคอมเข้าไปลงทุนในอินเดียตั้งแต่ปีที่แล้ว ด้วยการจับมือกับพันธมิตรท้องถิ่น ให้บริการวิทยุติดตามตัว ใน 22 เมือง ซึ่งจะเปิดให้บริการในเร็วๆ นี้ และได้ยื่นขอให้บริการทรังค์เรดิโอใน 10 เมือง โดยอยู่ระหว่างการรอผลการตัดสินและในการประมูล 2 โครงการ ยูคอมจึงไม่พลาดที่จะเข้าไปร่วมประมูลโทรศัพท์มือถือ

ด้วยเหตุที่ยูคอมมีความเชี่ยวชาญทางด้านระบบสื่อสารไร้สาย ทำให้ยูคอมเป็นบริษัทเดียวในไทยที่ไม่เข้าประมูลโทรศัพท์พื้นฐาน แต่จะเลือกเฉพาะระบบไร้สายเพียงอย่างเดียว

ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าคงจะรู้ผลแล้วว่าทุนสื่อสารของไทยรายใดจะมีโอกาสเข้าไปสร้างชื่อในอินเดีย แต่ที่แน่ๆ การเปิดเสรีโทรคมนาคมของอินเดียครั้งนี้ จะทำให้เม็ดเงินการลงทุนจากไทยหลั่งไหลไปในอินเดียนับหมื่นล้านบาท ก่อนที่เม็ดเงินเหล่านี้จะขยับขยายไปยังเวียดนาม และจีน ซึ่งถูกจัดอันดับว่าเป็นประเทศที่น่าลงทุนที่สุดในเวลานี้



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.