เมื่อ "ประสิทธิ์ ณรงค์เดช" วางมือจากเซลล็อกซ์ ก็ถึงยุครวมดาวคิมเบอร์ลี่ย์-คล๊าค


นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2538)



กลับสู่หน้าหลัก

เมื่อประสิทธิ์ ณรงค์เดช เจ้าพ่อวงการกระดาษอนามัย ประกาศวางมือจากการเป็นผู้กุมบังเหียนของบริษัทกระดาษเซลล็อกซ์ จำกัด เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ทำให้ทุกคนจับตามองกันว่า ใครจะได้รับมอบหมายให้เข้ามารับหน้าที่แทนเขา เพราะหากพิจารณาดูจากประสบการณ์ที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการนี้มายาวนานถึง 30 ปีแล้วการผู้มีฝีมือและประสบการณ์ทัดเทียมกับเขาต้องยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่ายนัก

ประสิทธิ์เริ่มเข้าสู่ธุรกิจกระดาษอนามัยด้วยการก่อตั้งบริษัทอนามัยภัณฑ์ขึ้นมาผลิตผ้าอนามัยยี่ห้อ "เซลล็อกซ์" และผลิตภัณฑ์กระดาษอื่นๆ สำหรับในครัวเรือนเมื่อปี 2508

ปี 2512 ได้ร่วมลงทุนกับบริษัทสก็อตต์ เพเพอร์ แห่งเมืองฟิลาเดลเฟีย สหรัฐอเมริกา เปลี่ยนแปลงการถือหุ้นในบริษัทไทย-สก็อตต์ ทำให้ประสิทธิ์และกลุ่มผู้ถือหุ้นคนไทยถอนตัวออกมาร่วมหุ้นกับบริษัทเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด จัดตั้ง "บริษัท กระดาษเซลล็อกซ์ จำกัด" ขึ้นมาผลิตกระดาษอนามัยภัณฑ์ยี่ห้อ "เซลล็อกซ์" และ "เซลล่า" โดยมีบริษัทเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้แทนจำหน่าย

จนกระทั่งล่าสุดเมื่อมิถุนายน 2537 ได้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้นในบริษัทกระดาษเซลล็อกซ์ อีกครั้งโดยคราวนี้บริษัทเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ กลับกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ถึง 52.06% (จากเดิมถือหุ้นอยู่ 10%) ที่เหลือเป็นส่วนของครอบครัวนายประสิทธิ์รวมกับเพื่อนและพนักงาน 23% สถาบันลงทุนในประเทศ 17.66% สถาบันลงทุนจากต่างประเทศ 7% ของทุนจดทะเบียนที่เพิ่มจาก 300 ล้านบาทเป็น 500 ล้านบาท

ภายหลังการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการถือหุ้นครั้งนี้นี่เอง ที่ประสิทธิ์ ณรงค์เดช ประกาศวางมือจากตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการ เพราะต้องการกลับไปเล่นการเมือง อย่างไรก็ดี ประสิทธิ์จะยังคงนั่งอยู่ในตำแหน่งประธานกรรมการของเซลล็อกซ์เพื่อเป็นที่ปรึกษาให้กับผู้ที่มาทำหน้าที่แทนเขา

หลังจากใช้เวลาสรรหาตัวระยะหนึ่ง ในที่สุดวันที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมา ผู้อำนวยการคนใหม่ คือ ดร.สมศักดิ์ วิวัฒน์พนชาติ ก็เข้ามารับงานเป็นวันแรก

"ดร.สมศักดิ์เคยเป็นผู้จัดการโรงงานของคิมเบอร์ลี่ย์-คล๊าค ก่อนที่จะลาออกไปทำงานกับบริษัทสยามแมชชีนเนอรี่ แอนด์ อีควิปเมนต์ในเครืออิตัลไทย แต่ในที่สุดก็ทนความยั่วยวนของตลาดสินค้าอุปโภค-บริโภค ไม่ไหวจึงหวนกลับมา ดังนั้นจึงน่ายินดีที่ขณะนี้เซลล็อกซ์มีมือดีจากไทยสก็อตต์ คือ ผม และมือดีจากคิมเบอร์ลี่ย์-คล๊าค คือ ดร.สมศักดิ์ มาช่วยกันสร้าง" ประสิทธิ์กล่าวแนะนำดร.สมศักดิ์กับสื่อมวลชนที่ไปเยี่ยมชมโรงงานกระดาษเซลล็อกซ์

ดร.สมศักดิ์สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมเคมี จากมหาวิทยาลัยโอคแลนด์ ประเทศนิวซีแลนด์ ด้วยทุนโคลัมโบของรัฐบาลนิวซีแลนด์

นอกจากนี้ยังสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทและเอกด้านวิศวกรรมจากมหาวิทยาลัยนาโงย่า ประเทศญี่ปุ่น ภายใต้ทุนการศึกษาของรัฐบาลญี่ปุ่น

เขาเริ่มชีวิตการทำงานด้วยการเป็นอาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อยู่ 2-3 ปี ก่อนที่จะมาเป็นผู้จัดการโรงงาน บริษัท คิมเบอร์ลี่ย์-คล๊าค (ประเทศไทย) จำกัด อยู่ 9 ปี และเป็นผู้จัดการทั่วไปบริษัท สยามแมชชีนเนอรี่ แอนด์ อีควิปเมนต์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ในเครืออิตัลไทยอีก 5 ปี

ดร.สมศักดิ์กล่าวถึงแผนการทำงานที่เซลล็อกซ์ว่า อยากจะปรับปรุงเซลล็อกซ์ให้ดีขึ้นไม่แพ้คู่แข่งสำคัญอย่างคิมเบอร์ลี่ย์-คล๊าค และไทย-สก็อตต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำให้บริษัทมีฐานการตลาด การผลิต การเงินใกล้เคียงและต่อสู้กับคู่แข่งได้

โดยดร.สมศักดิ์ยอมรับว่า ขณะนี้เซลล็อกซ์ยังมีความแตกต่างในเชิงเสียเปรียบคู่แข่งสำคัญอยู่ 2 ประเด็นใหญ่ คือด้านการเงินและการตลาด

ด้านการเงินนั้นเนื่องจากคู่แข่งทั้งสองเป็นบริษัทข้ามชาติจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีบริษัทแม่ที่แข็งแกร่วและมีเงินทุนเยอะ รวมทั้งสามารถกู้เงินจากภายนอกประเทศซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยต่ำมาใช้ในการลงทุนได้ ต่างกับเซลล็อกซ์ซึ่งเป็นบริษัทท้องถิ่น ต้องกู้เงินจากแหล่งเงินทุนในประเทศเป็นหลักจึงต้องเสียดอกเบี้ยสูงสำหรับแนวทางในการแก้ปัญหานี้ก็คือ การแต่งตัวบริษัทเสียใหม่เพื่อนำเข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ซึ่งคงต้องใช้เวลาอีก 1-2 ปีกว่าจะเรียบร้อย

ส่วนด้านการตลาดนั้น แม้ว่าขณะนี้ทั้งเซลล็อกซ์ ไทย-สก็อตต์ และคิมเบอร์ลี่ย์-คล๊าค จะมีส่วนแบ่งตลาดกระดาษชำระในประเทศไทยใกล้เคียงกัน แต่ทั้งสองรายก็ได้เปรียบเซลล็อกซ์ตรงที่บริษัทแม่มีสาขาในการทำตลาดทั่วโลก จึงสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการตลาดกันได้

ทางแก้ก็คือ การขยายธุรกิจของเซลล็อกซ์เข้าไปสู่ประเทศต่างๆ ในภาคพื้นอาเซียน โดยวางแผนไว้เป็น 2 ขั้นคือ ขั้นแรกส่งเป็นสินค้าสำเร็จรูปเข้าไปให้เอเย่นต์จำหน่าย เมื่อประสบความสำเร็จก็จะร่วมกับเอเย่นต์ลงทุนเรื่องการผลิต ซึ่งจะเริ่มต้นจากการส่งกระดาษสำเร็จรูปม้วนใหญ่เข้าไปแปรรูป ก่อนที่จะตั้งโรงงานผลิตครบวงจรเมื่อมียอดขายสูงพอ

ในขณะที่ด้านการผลิตนั้นไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบกัน แม้ว่าเซลล็อกซ์จะมีกำลังการผลิตน้อยกว่าแต่ก็สามารถลงทุนเพิ่มกำลังการผลิตได้ถ้าต้องการ

"เซลล็อกซ์คงจะต้องใช้คิมเบอร์ลี่ย์-คล๊าค เป็นต้นแบบ ในฐานะที่เขาเป็นบริษัทผลิตผลิตภัณฑ์จากกระดาษที่ใหญ่ที่สุดในโลก" ดร.สมศักดิ์กล่าว

เป้าหมายดังกล่าวอาจจะเป็นไปได้ ในเมื่อขณะนี้เซลล็อกซ์ได้กลายเป็นแหล่งรวมผู้บริหารที่เคยร่วมงานกับคิมเบอร์ลี่ย์-คล๊าค ทั้งทางตรงและทางอ้อมไว้ถึง 3 คน เพราะนอกจากดร.สมศักดิ์แล้วก็ยังมีดร.อดุล อมตวิวัฒน์ ผู้จัดการใหญ่เบอร์ลี่-ยุคเกอร์ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในเซลล็อกซ์ขณะนี้ก็เคยเป็นผู้จัดการโรงงานคิมเบอร์ลี่ย์-คล๊าค นาน 5 ปี

นอกจากนี้นายเรนาโต เพตรุซซี่ กรรมการบริหารบริษัทดีทแฮล์ม จำกัด ผู้แทนจำหน่ายกระดาษชำระยี่ห้อซิลค์, ซิลค์ คอตตอน และคอตตอน รีไซเคิล ของเซลล็อกซ์ ก็เคยร่วมงานกับคิมเบอร์ลี่ย์-คล๊าค ในฐานะที่ดีทแฮล์มเคยเป็นทั้งหุ้นส่วนและผู้แทนจำหน่ายให้กับคิมเบอร์ลี่ย์-คล๊าค มานานนับสิบปีก่อนที่จะเลิกลากันไปเมื่อสองปีก่อน

ก็คงต้องดูว่าขุนพลเหล่านี้จะผนึกกำลังกันทำให้เซลล็อกซ์กลายเป็นยักษ์ใหญ่ในตลาดผลิตภัณฑ์กระดาษโลกอย่างคิมเบอร์ลี่ย์-คล๊าคได้หรือไม่



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.