|
สภาพัฒน์ฯปรับยุทธศาสตร์แผน 10 สร้างสมดุลประเทศไทยทุนนิยม-เศรษฐกิจพอเพียง
ผู้จัดการรายสัปดาห์(3 กรกฎาคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
* แผนชาติฉบับที่ 10 ชี้ชัดๆ ว่าประเทศไทยจะต้องเติบโตแบบยั่งยืน
* ภายใต้การบริหารที่นำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มาเป็นกรอบในการพัฒนาประเทศ
* นี่คือกลไกที่จะสร้างความสมดุลระหว่างทุนทางเศรษฐกิจหรือโลกของทุนนิยม กับ ทุนทางสังคม...และทุนทรัพยากรธรรมชาติให้เติบโต เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของโลก Gobalization ในยุคนี้ได้ โดยไม่ก่อให้เกิดวิกฤตด้านสังคม
* วันนี้หน่วยงานรัฐต่าง ๆ กำลังเร่งผุดโครงการตามกระแสพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางในการทำงาน
ท่ามกลางสภาพสังคมไทยที่เสื่อมทรามลงทุกขณะ ปัญหาทางสังคมกลายเป็นข่าวให้เราเห็นกันแทบทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นนักเรียนหญิงทะเลาะวิวาททำร้ายร่างกายกัน อาจารย์ขอมีความสัมพันธ์กับศิษย์เพื่อแลกกับเกรด หรือพ่อขืนใจลูกสาวของตัวเอง เหตุการณ์เหล่านี้นับวันยิ่งเพิ่มมากขึ้นตามทิศทางการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ
แม้ที่ผ่านมารัฐบาลจะมีการตั้งกระทรวงใหม่ขึ้นมารับผิดชอบปัญหาทางสังคม กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกระทรวงวัฒนธรรม แต่ปัญหาเหล่านี้ก็ยังไม่มีทีท่าจะลดลงแต่อย่างใด แต่กลับเพิ่มขึ้นมาจนน่าเป็นห่วงกับสภาพสังคมไทยในปัจจุบัน
ด้วยความห่างและขาดหายจากศีลธรรมอันดีงาม จนเกิดวิกฤติการณ์ทางสังคมไทยในทุกวันนี้ ภายใต้การบริหารของรัฐบาลทุกยุคทุกสมัยที่เน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศเป็นหลัก ทำให้เกิดผลที่ตามมาคือขาดความสมดุลระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและทรัพยากรธรรมชาติ สังคมไทยมีภูมิคุ้มกันลดลง ทรัพยากร สิ่งแวดล้อมและทุนที่มีอยู่ถูกใช้ไปในเชิงปริมาณมากกว่าคุณภาพ
แม้ที่ผ่านมาแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่รัฐบาลมักใช้เป็นแนวทางในการบริหารและพัฒนาประเทศ มีการให้ความสำคัญในเรื่องทางสังคมมาตั้งแต่ฉบับที่ 8 ต่อเนื่องมาถึงแผนที่ 9 ที่ผ่านมารัฐบาลก็ได้ดำเนินการในเรื่องเหล่านี้บ้าง แต่ขาดความต่อเนื่องและจริงจังมาถึงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 10 (พ.ศ.2550-2554) ที่จะเริ่มใช้ในเดือนตุลาคมนี้ได้ให้ความสำคัญกับปัญหาทางสังคมที่เสื่อมถอย โดยมุ่งความสำคัญในการแก้ปัญหานี้ไปที่ตัวบุคคลและครอบครัวเป็นหลัก พร้อมทั้งมีการอัญเชิญปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางปฏิบัติ
คนเป็นศูนย์กลาง
"ในแผน 10 นี้เราใช้คนเป็นศูนย์กลาง ยึดความรู้มาเป็นอันดับ 1 ดึงศักยภาพของคนออกมา โดยกลับมาดูที่คน ครอบครัว ชุมชน โครงสร้างทางสังคม ให้ใช้การพึ่งพาตัวเอง ทรัพยากรธรรมชาติที่ยั่งยืนและเป็นธรรม" อำพน กิตติอำพน เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เล่าถึงที่มาที่ไปของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 กับ"ผู้จัดการรายสัปดาห์"
เด็ก เยาวชนในปัจจุบันขาดคุณธรรม ศีลธรรม ขาดหิริโอตัปปะจากครอบครัวไม่อบอุ่น ทำให้เกิดปัญหาทางสังคมอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
กรอบแนวคิดของแผน 10 ที่นำเอาปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ที่มุ่งเน้นทางสายกลาง ให้คนรู้จักพอประมาณ มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี บนเงื่อนไขความรอบรู้รอบคอบและระมัดระวัง เงื่อนไขคุณธรรมที่ต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตและเงื่อนไขความเพียรที่มีความขยัน อดทน มีสติ เพื่อนำไปสู่วิถีชีวิต เศรษฐกิจ สังคมการเมืองที่สมดุล มั่นคงและยั่งยืน
เลขาธิการสภาพัฒน์กล่าวต่อว่า ในแผน 8-9 จริง ๆ แล้วดี แต่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับทางสังคม เศรษฐกิจและทุนทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งภูมิคุ้มกันมนุษย์ที่ดีที่สุดอยู่ที่สังคม ที่ประกอบด้วย ครอบครัวและหมู่บ้าน สังคมก็เหมือนประเทศ วัฎจักรของธรรมชาติสอนให้คนเราต้องพึ่งพากัน และในหมู่บ้านก็มีทุนทางเศรษฐกิจ ทุนทางสังคมและทุนทางทรัพยากรธรรมชาติอยู่แล้ว เพียงแต่เราไม่ได้ดึงเอาทุนเหล่านี้มาใช้
ดังนั้น เป้าหมายของแผน 10 เน้นที่คุณภาพไม่ใช่ปริมาณ ไม่เน้นเป็นตัวเลข เช่น การส่งออก แต่เน้นการพึ่งพาตัวเอง พึ่งความรู้ของตัวเราเองในการแข่งขัน ด้วยการยึดคนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาและเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน
คนคุณภาพขับเศรษฐกิจโต
แนวทางของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 นับเป็นการพลิกโฉมแนวทางในการพัฒนาประเทศ แตกต่างจากอดีตที่ผ่านมา แต่ก็ไม่ได้ทิ้งหรือลดความสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจลงไป สามารถเดินคู่กันไปกับกระแสโลกาภิวัฒน์(Gobalization) ได้อย่างลงตัว
เพียงแต่ยกระดับและให้ความสำคัญกับภาคสังคมขึ้นมามากขึ้น จากเดิมที่ประเทศไทยมุ่งเน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นหลัก ทำให้เกิดปัญหาทางสังคมตามมามากมาย อีกทั้งผลของการพัฒนาที่ผ่านมาเศรษฐกิจของไทยเติบโตบนความเปราะบาง เนื่องจากการพึ่งพิงต่างประเทศมากเกินไป
ในแผนพัฒนาฉบับนี้ให้ความสำคัญกับทุนทั้ง 3 คือทุนทางเศรษฐกิจ ทุนทางสังคมและทุนทางทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยทั้ง 3 ทุนจะขับเคลื่อนภายใต้คนที่มีคุณภาพ มีความรู้ และมีจริยธรรม
จัดสมดุล 3ทุนหนุนศกโตแบบมีคุณภาพ
เริ่มจากทุนทางเศรษฐกิจ : แผนพัฒนาฉบับนี้ยังคงมุ่งไปที่ตัวคน เน้นการสร้างคนที่มีคุณภาพในทางวิชาชีพ จากการพัฒนาทักษะ ความรู้ทั้งในภาคเกษตรและนอกภาคเกษตร เพื่อรองรับต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ มุ่งเน้นการสร้างอาชีพ
หนึ่งในแนวทางที่เสนอไว้ได้แก่การให้ความสำคัญกับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(SME) ให้มากขึ้น เช่น กลุ่มคนที่เรียนจบในระดับ ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นต้นหรือชั้นสูง ก็ไม่จำเป็นต้องมาหางานในเมืองใหญ่ด้วยการเป็นลูกจ้างตามโรงงานอุตสาหกรรมเสมอไป แต่จะมีการส่งเสริมให้ผู้ที่จบการศึกษาระดับนี้สร้างงาน สร้างอาชีพเป็นของตนเอง ไม่ต้องทิ้งถิ่นฐานและครอบครัวเข้ามาหางานทำในเมือง ทำให้สายใยของโครงสร้างสังคมยังคงอยู่
แนวทางดังกล่าวภาครัฐจะต้องเข้ามาให้การสนับสนุนในด้านต่าง ๆ เพื่อให้เป้าหมายดังกล่าวบรรลุผล ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนให้ความรู้ทางด้านวิชาชีพและการช่วยเหลือทางด้านเงินทุน
ขณะเดียวกันได้ให้ความสำคัญกับการผลักดันให้ภาคการเกษตรของไทย เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจอีกทางหนึ่ง ด้วยการอาศัยเทคโนโลยีเข้ามาเป็นตัวช่วยที่เพิ่มมูลค่าผลผลิตให้สูงขึ้น อย่างเช่น โครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์(OTOP) ที่ดำเนินการมาก่อนหน้านี้
ไม่เพียงแค่นั้นการดึงเอาเอกลักษณ์ของความเป็นไทย ภูมิปัญญาท้องถิ่น มาเป็นจุดขายในภาคบริการ ทั้งด้านการท่องเที่ยว สปา หรืออาหารไทย สิ่งเหล่านี้จะเป็นตัวช่วยสามารถช่วยผลักดันภาคเศรษฐกิจของไทยได้แทนที่จะพึ่งพาการส่งออกเพียงอย่างเดียว ที่อาจมีอุปสรรคด้านอุปสงค์และอุปทานในตลาดโลก หรือมาตรการการกีดกันทางการค้า
ทุนทางด้านสังคม : ที่ถือเป็นหัวใจหลักของแผนพัฒนาฉบับนี้ ได้ให้ความสำคัญกับครอบครัว ชุมชนเป็นหลัก เพื่อช่วยพัฒนาด้านจิตใจของคนในครอบครัวและชุมชน หลังจากที่ปัญหาทางสังคมปัจจุบันเกิดขึ้นมามากมาย ในแผนนี้ชัดเจนว่าเน้นการส่งเสริมสถาบันทางสังคม ให้ความสำคัญกับผู้สูงอายุ และฟื้นฟู อนุรักษ์วัฒนธรรมที่ดีงาม รวมถึงภูมิปัญญาของไทยที่คนรุ่นใหม่ไม่ให้ความสำคัญ
การพัฒนาทุนทางสังคมด้วยการยึดครอบครัวและชุมชนเป็นศูนย์กลาง และการให้ความสำคัญกับประเพณี วัฒนธรรมที่หลากหลายในแต่ละชุมชน จะเป็นเกราะป้องกันให้เด็ก เยาวชนและคนไทยสามารถต่อสู้กับโลกทุนนิยมในปัจจุบันได้อย่างเข้มแข็ง
ทุนทางทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม : เป็นการให้ความสำคัญกับการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัด เนื่องจากที่ผ่านมามีการใช้อย่างสิ้นเปลืองไม่คุ้มค่า เท่ากับเป็นการอนุรักษ์ภาคเกษตรกรรมให้สามารถเป็นทุนเศรษฐกิจที่สำคัญต่อไป และเป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพสูง ตามเป้าหมายที่ต้องการให้ประเทศไทยเป็นครัวของโลก เป็นแหล่งผลิตอาหารที่ปลอดภัย ที่อาหาร เริ่มตั้งแต่การให้ความรู้กับเกษตรกร กระบวนการปลูกพืช ไร่ การใช้ปุ๋ยที่เน้นผลิตภัณฑ์ทางด้านชีวภาพมาทดแทนปุ๋ยเคมี
"ประเทศไทยจะเป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพ ปลอดภัย และประชาชนภาคการเกษตรจะมีรายได้และผลผลิตที่ดีขึ้น ส่งผลไปถึงลูกหลาน ส่วนพื้นที่การเกษตรที่กลายเป็นแหล่งเสื่อมโทรม จะถูกพัฒนา พร้อม ๆกับจะมีการปลูกไม้ตามสภาวะการณ์ของแต่ละพื้นที่ชัดเจน"
รัฐ-เอกชนต้องมีธรรมาภิบาล
นับจากนี้ไปการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย จะเริ่มที่การพัฒนาคนเป็นหัวใจหลัก เพื่อนำคนที่มีความรู้ คุณภาพและจริยธรรมเข้าไปสู่ภาคการผลิตและระบบเศรษฐกิจของไทย ด้วยการเพิ่มความรู้และส่งเสริมผู้ประกอบการใหม่ในประเทศให้มากขึ้น เพื่อเป็นการลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศไปในตัว โดยต้องพัฒนาจิตสำนึกของคนควบคู่กันไป ไม่ว่าจะเป็นครอบครัวที่ต้องปลูกฝังแนวคิดที่ถูกต้องให้สมาชิก ภาครัฐก็ต้องเปิดโอกาสให้มีการเรียนรู้ที่มากขึ้น รวมถึงภาคเอกชนต้องมีกิจกรรมสนับสนุนแนวทางดังกล่าว
ประการต่อมาเป็นการสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงาน สนับสนุนและส่งเสริมให้มีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ หากทางลดการพึ่งพาแหล่งพลังงานจากต่างประเทศ พร้อมการหาแหล่งพลังงานทดแทน สำหรับในส่วนที่ไม่สามารถลดการพึ่งพาได้ก็ต้องหาทางใช้พลังงานเหล่านั้นให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น การจัดการระบบ Logistic ทั้งหมด เพื่อให้การขนส่งคนหรือสินค้าไปถึงที่หมายด้วยการใช้พลังงานที่น้อยที่สุด จากนั้นจะส่งเสริมงานทางด้านบริการให้มากขึ้นกว่าการเป็นผู้ผลิต เช่น การท่องเที่ยว ที่จะเน้นเอกลักษณ์ของความเป็นไทย
สุดท้ายเป็นการส่งเสริมระบบธรรมาภิบาลให้กับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน โดยเริ่มสร้างจากภายในคน คือสำนึกรับผิดชอบและคุณธรรม รวมถึงการสร้างระบบธรรมาภิบาลผ่านกระบวนการตรวจสอบ
รัฐไม่ใช่แกนนำ
แนวทางในการพัฒนาประเทศตามแผน 10 จะเป็นการร่วมกันทำงานกันในทุกภาคส่วนในรูปของภาคีการพัฒนา ที่ต้องทำงานร่วมกันภายใต้จุดมุ่งหมายเดียวกัน ไม่ใช่มีภาครัฐเป็นตัวนำเหมือนในอดีต หน่วยงานที่ต้องร่วมกันทำงานเพื่อให้แผนประสบความสำเร็จ ประกอบด้วย
ภาครัฐ เป็นแกนจัดทำนโยบายแผนยุทธศาสตร์ สร้างกระบวนการมีส่วนร่วม ผลักดันสู่ปฏิบัติติดตามผล สนับสนุนข้อมูลวิชาการ ประชาชน มีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนาและติดตามตรวจสอบ มีสำนึกความเป็นพลเมือง รับผิดชอบต่อหน้าที่ เคารพในสิทธิของตนเองและผู้อื่น
วิชาการ สร้างความรู้ เป็นแหล่งข้อมูลให้สังคม จุดประกายความคิด สร้างความเข้าใจทางวิชาการ
การเมือง ดำเนินนโยบายต่อเนื่อง โปร่งใส เป็นธรรม ผลักดันให้เกิดผลในทางปฏิบัติเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน
เอกชน สนับสนุนทรัพยากรสร้างประโยชน์และความเป็นธรรมแก่สังคม คืนกำไรสู่สังคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ
สื่อมวลชน เป็นสื่อกลางสะท้อนข้อเท็จจริง ความรู้ ข้อมูลข่าวสารอย่างมีคุณภาพ สร้างสรรค์ ร่วมติดตามตรวจสอบและรณรงค์สร้างจิตสำนึกสาธารณะ
จะเห็นได้ว่าแผนดังกล่าวเป็นการบูรณาการเอาทุนทางสังคม ทุนเศรษฐกิจและทุนทรัพยากรมาใช้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศแทนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจแบบเดิม
ความสุขวัดได้
เลขาธิการสภาพัฒน์ ยืนยันว่า สภาพัฒน์ ยังไม่ทิ้ง Concept ในการบริหารประเทศ คงบทบาทเสนอแนะความรู้ทางวิชาการในการพัฒนาให้กับรัฐบาล ไม่มีวันบิดเบือนตัวเลข เพราะถือเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม
"ทุนวัฒนธรรมเป็นการป้องกันโลกาภิวัฒน์ได้เป็นอย่างดี หากสามารถดำเนินงานได้ตามแผนตามแนวทางนี้ คิดว่าประเทศไทยขนาดไม่เล็กไม่ใหญ่เกินไป มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม มีเอกราช เอกลักษณ์ของความเป็นไทย มีฐานเศรษฐกิจเข้มแข็งพอควร มีฐานทางสังคมดีไม่ต้องพึ่งพาทางเศรษฐกิจมากจนเกินไป"
แม้ว่าแผนพัฒนาฉบับนี้หลายฝ่ายมองว่ามีการวัดและประเมินผลออกมาเป็นรูปธรรมยาก แต่ อำพล กิตติอำพล บอกว่าสามารถวัดผลได้ตามหลักของพระพุทธเจ้า หากวัดจากทางกายก็ดูจากปัจจัย 4 ตัวเลขความยากจนที่ลดลง หรือมีการกระจายรายได้อย่างทั่วถึงก็ชี้วัดได้เป็นอย่างดี
หากวัดทางด้านจิตใจหรือทางสังคม สถิติการหย่าร้าง จำนวนผู้จบการศึกษา คดีที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดหรือตัวเลขอาชญากรรม เหล่านี้ช่วยชี้วัดได้ว่าผู้คนในสังคมไทยมีความสุขทางด้านจิตใจมากน้อยเพียงใด
ความพอประมาณ มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี บนความรู้คู่จริยธรรม ถือเห็นหัวใจหลักของแผน 10 โดยเป้าหมายที่สำคัญที่สุดคือความกินดีอยู่ดีของประชาชน
*************
แบไต๋ไม่ทุ่มงบสังคมเท่าเศรษฐกิจ แค่ให้ความสำคัญเป็นลำดับแรก
สศค. แจงทุนทางสังคม ไม่จำเป็นต้องใช้เงินสูง เมื่อเทียบกับทุนทางเศรษฐกิจ แม้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับ 10 จะเน้นไปที่การพัฒนาคน ไม่ใช้เงินงบประมาณมาก อาศัยความร่วมมือชุมชนและสังคมแทน
แม้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คือแนวทางการเดินของประเทศในระยะ 5 ปี โดยในแผน 10 มุ่งเน้นที่การสร้างและพัฒนาคนที่มีคุณภาพควบคู่กับจริยธรรม ทำให้คาดหมายกันว่า งบประมาณที่เคยจัดสรรให้กับกระทรวงที่เกี่ยวข้องอย่างกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงศึกษาน่าจะได้รับงบประมาณมากขึ้นกว่าในอดีต ที่งบส่วนใหญ่ตกอยู่กับกระทรวงที่มุ่งสร้างเศรษฐกิจโดยตรง
งบประมาณประจำปี 2550 ที่ยังไม่คลอดจากความวุ่นวายทางการเมือง ทำให้ยังไม่ทราบถึงทิศทางของจัดสรรงบประมาณของแต่ละกระทรวงว่าสอดคล้องกับแนวทางของแผนพัฒนาฉบับที่ 10 หรือไม่
สมชัย สัจจพงษ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เล่าว่า ความเป็นจริงนั้นแม่แผนพัฒนาฉบับที่ 10 จะเน้นทุนทางสังคมอันดับหนึ่ง แต่ไม่ได้หมายความว่างบของทุนทางสังคมจะถูกจัดสรรเพิ่มขึ้น นั่นเพราะการพัฒนาทุนทางสังคมไม่จำเป็นของใช้งบประมาณมาก เหมือนทุนเศรษฐกิจที่ต้องมีการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในประเทศ
"ถ้ายกตัวอย่างแล้วจะเห็นได้ว่าการลงทุนทางด้านเศรษฐกิจ ต้องใช้เม็ดเงินมากกว่า เพราะเป็นการพัฒนาที่ต้องลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ แต่ถ้าเป็นการพัฒนาทุนทางสังคม ไม่จำเป็นต้องใช้เงินเยอะ เพราะเป็นการปลูกฝังสร้างวัฒนธรรม จริยธรรม และคุณธรรมในสังคม ซึ่งถ้าจะเพิ่มทุนด้านสังคมอาจขอความร่วมมือจากคนในชุมชนและสังคมได้ เช่นการปลูกฝังเรื่องจริยธรรม อาจขอความร่วมมือกับทางวัดให้เข้ามามีบทบาทต่อวิถีชีวิตในสังคมมากขึ้น"
สมชัย เปรียบเทียบว่าอย่างการสร้างสะพาน ถนน เป็นส่วนของการลงทุนเพื่อเศรษฐกิจ เมื่อเทียบเม็ดเงินลงทุนยังไงก็สูงกว่าทุนทางสังคมอยู่ดี เพราะโครงการดังกล่าวต้องใช้เม็ดเงินหลายหมื่นล้านบาท ในขณะที่ทุนทางสังคม การจัดระบบการศึกษา หรือแม้แต่การอบรมให้ความรู้ประชาชนงบประมาณก็คงไม่สูงเป็นหมื่นล้านบาทแน่ ดังนั้นถ้าจะบอกว่างบปี 50 จะไหลเข้ากระทรวงที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาสังคมมากกว่า การพัฒนาเศรษฐกิจคงเป็นได้ยาก
"หากแต่ว่าความสำคัญของแผนฉบับที่ 10 นั้น ให้ความสำคัญทางด้านสังคมเป็นที่ 1 ซึ่งหมายความว่า การจัดสรรเงินนั้นจะลงไปทางสังคมเป็นอันดับแรก และตามด้วย ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งท้ายสุดก็เป็นในส่วนของทุนทางเศรษฐกิจ ดังนั้น ความสำคัญของการจัดสรรงบไม่ได้หมายความว่าทุนสังคมจะได้มากสุด แต่หมายถึงทุนทางสังคมเป็นสิ่งที่ได้รับความสำคัญในอันดับแรก"
สมชัย บอกต่อว่า งบประมาณปี 50 ยังไม่สรุปตายตัว แต่เบื้องต้นอยู่ที่ประมาณ 1.47 ล้านล้านบาท ดังนั้นถ้าจะให้จัดสรรว่าแต่ละกระทรวงจะได้รับงบประมาณเท่าไรนั้นคงยังไม่สามารถบอกๆได้ เพราะงบยังไม่สรุป บวกกับภาวะสุญญากาศทางการเมืองเช่นจึงยังไม่สามารถสรุปได้
ส่วนกระแสข่าวว่าจะมีการทบทวนงบประมาณประจำปี 50 ใหม่นั้น ยังไม่มีข้อสรุปว่าจะปรับลดลงตามที่กระแสข่าวออกไปหรือไม่ และจะเป็นการจัดทำงบแบบขาดทุนหรือไม่ ส่วน งบประมาณ 49 เชื่อว่าจะทำให้สมดุลได้เนื่องจากรายได้การจัดเก็บภาษี 3 กรมยังอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจแม้ว่า 2-3 เดือนที่ผ่านมาจะมีสัญญาณการจัดเก็บลดลงก็ตาม
สมชัย เล่าอีกว่า หากเปรียบเทียบกับประเทศที่พัฒนา อย่างสิงคโปร์จะเห็นว่า หรือประเทศอื่น ๆ ก็ตาม งบในส่วนของทุนเศรษฐกิจยังคงมีมากสุดเช่นกัน แม้ว่าสิงคโปร์จะมีประชาชนและบุคลากรที่มีคุณภาพ ฉลาดและมีระเบียบวินัยสูงก็ตาม แต่จะเห็นได้ว่า สิงคโปร์ก็ไม่ได้ทุ่มงบในส่วนของทุนทางสังคมและทุนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมากเท่ากับงบทางเศรษฐกิจ
ถ้าจะให้มองสิงคโปร์แทบไม่มีทรัพยากรธรรมชาติเลย แต่ก็สามารถพัฒนาเศรษฐกิจและประชากรในประเทศให้มีคุณภาพได้
"ดังนั้นปัญหาไม่ได้อยู่ที่การจัดสรรงบ แต่อยู่ที่การวางแผนให้ประเทศเดินไปอย่างไร และในแผนที่ 10 ก็เน้นที่สังคม การสร้างบุคลากรที่ฉลาด มีคุณภาพ แต่อีกอย่างที่เน้นคือ ฉลาดมีคุณภาพแล้วต้องมีคุณธรรมและจริยธรรมด้วย ไม่ใช่พัฒนาให้คนฉลาดอย่างเดียวแต่ไม่คำนึงถึงจริยธรรม"
ที่ผ่านมาแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจะเน้นความสำคัญที่ทุนเศรษฐกิจ ดังนั้นเงินงบประมาณส่วนใหญ่จึงกระจายไปสู่กระทรวงที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจเป็นหลัก เช่นกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงคมนาคม เป็นต้น แต่ในแผน 10 ที่จะเกิดขึ้นและเริ่มใช้ในวันที่ 1 ต.ค. 49นี้ ถูกปรับเปลี่ยนให้เน้นความสำคัญทางด้านสังคม รวมถึงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ภายใต้กรอบแนวคิดในปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
การนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มาใช้ในแผนล่าสุดนี้ เสมือนสร้างภูมิคุ้มกันทางสังคม ที่นับวันจะเจริญเพียงด้านวัตถุอย่างเดียว หากแต่ด้านจิตใจนั้นขาดการขัดเกลาจนกลายเป็นปัญหาสังคมหากยิ่งสั่งสมมากขึ้นก็ยิ่งกลายเป็นปัญหาเรื้องรังและยากต่อการรักษา
ดังนั้นปรัชญาแห่งแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงจึงเป็นแผนการพัฒนาชาติที่นำไปสู่ความยั่งยืน และเข้มแข็งทางสังคมด้วยปัจจัยหลักที่เกิดจากการมีแต่พอประมาณ มีเหตุผล ภายใต้การสร้างความรู้ คู่คุณธรรม รวมถึงความเพียรพยายาม ซึ่งจะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนในวิถีการดำเนินชีวิต เศรษฐกิจ สังคม รวมถึงการเมือง ในที่สุดอย่างจะมีความสมดุล มั่นคง และยั่งยืน
*************
รัฐเดินตามยุทธศาสตร์แผน 10 ผุดโครงการศก.พอเพียงเพียบ-"นิด้า"จัดทำหลักสูตร ป.โท
รัฐเร่งผุดโครงการตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงขับเคลื่อนประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืน ตามยุทธศาสตร์ชาติ ที่สศช.กำหนดในแผน 10 " ก.เกษตร" ทุ่มกว่า 1.7 หมื่นล้าน ทำ 4 โครงการ ด้านมหาดไทยใช้หลักชุมชนเข้มแข็งเลี้ยงประเทศขจัดยากจน "พาณิชย์" นำหลักการทำแผนดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจไทย ส่วนบัวแก้วเน้นเชิญประเทศกำลังพัฒนาศึกษาโครงการพระราชดำริฯ ขณะที่ แปลงสินทรัพย์เป็นทุนเน้นให้กู้แบบพอเพียง "นิด้า" จัดทำเป็นหลักสูตรปริญญาโท ส่วนเกมเพื่อเปลี่ยนค่านิยมคนไทยแท้งก่อน
ปีนี้ไม่เพียงแต่จะเป็นปีแห่งความปลื้มปิติในการครองสิริราชย์สมบัติครบ 60 ปี ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แต่เป็นปีที่ทุกภาคส่วนโดยเฉพาะภาครัฐบาลต่างให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจตามปรัชญา "เศรษฐกิจพอเพียง" ตามพระราชดำรัสฯ อย่างเต็มที่
เริ่มจากหน่วยงานระดับวางแผนอย่างสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. นอกจากจะนำเอาหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาแปลงออกเป็นแผนพัฒนาฯ ฉบับ 10 แล้ว ยังได้ตั้งคณะคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง โดยมีดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา เป็นประธาน
คณะอนุกรรมการฯ นี้มีหน้าที่สำคัญที่จะเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง และสร้างความเข้าใจที่ตรงกัน ปัจจุบันต้องยอมรับว่าแต่ละหน่วยงาน ไม่ว่าภาครัฐบาลหรือเอกชน ยังมีความเข้าใจที่ไม่ชัดเจน มีการตีความที่หลากหลาย จากการทำงานที่ผ่านมาคณะอนุกรรมการฯ ได้มีการจัดกิจกรรมผ่านทางกระทรวง และหน่วยงานต่าง ๆ ประกอบด้วย กระทรวงวัฒนธรรม โดยสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ จัดทำโครงการชุมชนพอเพียงบนพื้นฐานทางวัฒนธรรม ปี 2548-2551
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมพัฒนาชุมชน จัดโครงการส่งเสริมวิถีชิวิตตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจแบบพอเพียงในชุมชนเนื่องในโอกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี (2548-2550) เป้าหมายครอบคลุม 967 หมู่บ้าน ครัวเรือนยากจน 992,471 ครัวเรือน และกลุ่มเศรษฐกิจชุมชน 10,000 กลุ่ม
กระทรวงกลาโหม โดยกองทัพบก จัดโครงการ 80 พรรษา 80 ตำบลเศรษฐกิจพอเพียง ดำเนินการในพื้นที่ชายแดน 20 ตำบลในปี 2548 และขยายเป็น 60 ตำบลในปี 2549-2550
ศูนย์ศึกษาเศรษฐกิจพอเพียง สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) จัดกิจกรรมการพัฒนาวิชาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นหลักสูตรการเรียนทั้งในและนอกระบบการศึกษา โดยคัดเลือกโรงเรียนนำร่อง 9 โรงเรียนจากทั่วประเทศ,พัฒนาหลักสูตรปริญญาโทด้านการจัดการการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยจัดทำวิชาปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงกับการพัฒนาเป็นวิชาโทของนิด้า และทางคณะอนุกรรมการฯ ได้มีการจัดทำเกมเพื่อเป็นเครื่องมือในการพัฒนาการเรียนรู้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง โดยมุ่งที่จะเปลี่ยนค่านิยมคนไทย
ทั้งนี้ที่ผ่านมาได้มีการจ้างบ.Selemi ของประเทศสวีเดนมาพัฒนาเกม เนื่องจากบริษัทนี้เคยทำเกมในการเปลี่ยนค่านิยมคนจีน และประสบความสำเร็จ แต่เมื่อทำสำเร็จแล้ว และมีการนำเกมมาทดลองใช้ ปรากฏว่าเกมมีลักษณะที่ยากและมีความเป็นวิชาการเกินไป โครงการนี้จึงไม่มีการพัฒนาต่อ
ก.เกษตรทุ่ม 1.7 หมื่นล. เดิน 4 โครงการ
ส่วนในภาครัฐบาล หน่วยงานที่เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักหน่วยงานหนึ่งได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
โดยจากข้อมูลของสำนักแผนงานโครงการพิเศษ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุว่ากระทรวงฯได้เดินเคลื่อนทำงานเศรษฐกิจพอเพียง มีโครงการสำคัญ ต่อจากโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ที่ได้จัดทำตั้งแต่ปี 2544-2547 ที่สำคัญ 4 โครงการ ได้แก่ โครงการนิคมเศรษฐกิจพอเพียง โครงการตั้งศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจชุมชน โครงการยุวเกษตรต้นกล้า และโครงการปลูกสบู่ดำ
โดยโครงการนิคมเศรษฐกิจพอเพียง (2549-2551)จะมีการนำร่องนิคมอุตสาหกรรม 10 แห่งเป็นต้นแบบ ในการจัดการบริหารนิคมให้เป็นรูปแบบสหกรณ์ มีการทำ Contract Farming กับเอกชน มีการแบ่งงานกันทำทั้งด้านการผลิต การแปรรูปและบรรจุภัณฑ์ให้เป็น Brand ของแต่ละนิคม ตลอดจนมีการบูรณาการทั้งภาครัฐ เอกชนและเกษตรกรในรูปของไตรภาคี จากนั้นก็ค่อยขยายโครงการให้ครอบคลุมไปทุกอำเภอทั่วประเทศ
โครงการนี้จะใช้นิคมต้นแบบจากทุกภูมิภาค ได้แก่ ขอนแก่น กาญจนบุรี พะเยา ฉะเชิงเทรา นครราชสีมา เชียงใหม่ กาฬสินธุ์ เชียงราย ศรีสะเกษและปัตตานี ใช้งบประมาณ 100 ล้านบาท มีเป้าหมายพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม 2 แสนไร่
ศูนย์เศรษฐกิจพอเพียงชุมชนในระดับหมู่บ้าน โครงการนี้มีเป้าหมายในการรวบรวมโครงการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพของกระทรวงเกษตรฯ ทั้งหมดที่ดำเนินการมา อาทิ โครงการหนึ่งตำบลหนึ่งฟาร์ม โรงเรียนเกษตรกร ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยี ฯ ให้มาดำเนินการร่วมกันในลักษณะบูรณาการ โดยให้เกษตรกรที่ประสบความสำเร็จด้านการเกษตรในแต่ละอาชีพเป็นตัวอย่าง
โครงการนี้มีเป้าหมายในหมู่บ้าน 70,000 แห่ง ภายในระยะเวลา 3 ปี โดยใช้งบประมาณจากโครงการพัฒนาศักยภาพของหมู่บ้านและชุมชน (SML) และองค์กรปกครองท้องถิ่น ให้กับหมู่บ้านที่มีความพร้อมและมีศักยภาพที่จะดำเนินการก่อน เพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนในการสร้างงานและดำเนินงาน ศูนย์ฯละประมาณ 2 - 2.5 แสน
โครงการยุวเกษตรต้นกล้าปี 2549 เป็นโครงการจัดทำพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ด้านเศรษฐกิจพอเพียง โดยจะมีการจัดอบรมด้านเศรษฐกิจพอเพียงให้กับนักเรียนระดับประถมศึกษา ระดับมัธยมศึกษา และลูกหลายเกษตรกรในเขตกรุงเทพมหานคร ใช้งบประมาณจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล 88 ล้านบาท
โครงการปลูกสบู่ดำทดแทนน้ำมัน (2549-2551) มีเป้าหมายให้เกษตรกรปลูกสบู่ดำให้ได้ 400 ล้านตันต่อปี เพื่อทดแทนการนำเข้าน้ำมัน มีกลุ่มเป้าหมาย 80,000 กลุ่มทั่วประเทศ โดยกลุ่มเกษตรกรจะต้องเขียนแผนโครงการผ่านทางอบต.ใช้งบประมาณ 87 ล้านบาท
มหาดไทยใช้หลักชุมชนเลี้ยงประเทศ
ด้านกระทรวงมหาดไทย ได้จัดทำโครงการมหาดไทยกับการขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อขจัดความยากจน มีหลักการทำงานแบบ เศรษฐกิจพอเพียงเลี้ยงชุมชน ชุมชนพอเพียงเลี้ยงตำบล ตำบลพอเพียงเลี้ยงอำเภอ อำเภอพอเพียงเลี้ยงจังหวัด จังหวัดพอเพียงเลี้ยงประเทศ
มีเป้าหมายการสร้างชุมชนเข้มแข็ง ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ปี 2549 อำเภอละ 1 ตำบล รวม 876 ตำบล รวม 5,000 หมู่บ้าน ปี 2550 เพิ่มความเข้มแข็งของชุมชนเป็นร้อยละ 50 ของหมู่บ้านทั้งหมด ปี 2551 เพิ่มความเข้มแข็งเป็นร้อยละ 100 ของหมู่บ้านทั้งหมด
สมคิดดึง 10 บ.ร่วมงานศก.พอเพียง
ด้านกระทรวงพาณิชย์ โดยสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ได้เป็นประธานประชุมร่วมกันจัดทำแผนดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจไทยในอนาคต หรือ PPP Dialogue (PRIVATE PUBLIC PARTNERSHIP DIALOGUE) เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้การพัฒนาภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทยทั้งระบบ มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และยั่งยืนในอนาคต โดยจะมีการร่วมทำงานกับบริษัทเอกชน 10 บริษัท ร่วมทำงาน 4 กลุ่มงาน คือ 1. ภาคเอสเอ็มอี 2. กลุ่มพันธมิตรทางธุรกิจ (คลัสเตอร์) 3. การสร้างชุมชนเศรษฐกิจพอเพียง และ 4. การประหยัดพลังงานในภาคธุรกิจ
พลังงานชุมชน-ปลูกสบู่ดำทำน้ำมันใช้เอง
ด้านกระทรวงพลังงาน มีโครงการพลังงานชุมชน โดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน จะเป็นผู้ลงไปช่วยวางแผนการใช้พลังงานในชุมชน โดยจะมีการรณรงค์ให้ชาวบ้านปลูกต้นสบู่ดำ เพื่อนำมาสกัดเป็นน้ำมันใช้ในชุมชนตนเอง ทั้งนี้มีเป้าหมายพัฒนาให้ได้ 100 ชุมชนภายในสิ้นปีนี้
สร้างภูมิปัญญาอุตุนิยมวิทยาหมู่บ้าน
ด้านกรมอุตุนิยมวิทยา ได้จัดโครงการเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงเช่นกัน โดยได้ทำโครงการอุตุนิยมวิทยาหมู่บ้าน โดยแนวคิดคือให้มีการเตือนภัยระดับหมู่บ้าน โดยทางกรมฯ จะสนับสนุนด้านเครื่องมือและวิชาการ เพื่อสร้างภูมิปัญญาชาวบ้านในเรื่องทางอุตุนิยมวิทยาในระดับหมู่บ้านขึ้น ซึ่งถือเป็นการพึ่งตนเอง และเป็นการดำเนินชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียงด้วย
บัวแก้วเชิญ 30 ประเทศทั่วโลกศึกษา
ทั้งหมดนี้ไม่เพียงแต่จะมีการทำงานในระดับในประเทศไทย แต่มีการเผยแพร่แนวคิดนี้สู่ต่างประเทศ โดย สำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ กระทรวงต่างประเทศ ได้จัดทำโครงงานการจัดการศึกษาดูงานโครงการพัฒนาตามแนวพระราชดำริ : ทางเลือกใหม่เศรษฐกิจพอเพียง 2 ครั้ง ครั้งแรกวันที่ 16-20 มิ.ย.49 มีผู้บริหารระดับรัฐมนตรีเข้าร่วม 16 ประเทศ ได้แก่ อัฟกานิสถาน บังคลาเทศ กัมพูชา โคลอมเบีย จีน อินโดนีเซีย อิหร่าน เคนยา เกาหลีใต้ มาดากัสการ์ มัลดีฟส์ พม่า ศรีลังกา ซูดาน แทนซาเนีย และเวียดนาม
ครั้งที่ 2 วันที่ 24-28 ก.ค. 49 โดยได้เชิญผู้บริหารระดับสูงของแต่ละประเทศ มีผู้ตอบรับเข้าร่วมงานแล้วกว่า 30 ประเทศ ทั้งประเทศในภูมิภาคเอเชีย และแอฟริกา
"เราเน้นเชิญไปที่กลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน และประเทศกำลังพัฒนาในโลก มาศึกษาเพื่อนำหลักการไปปรับใช้ในประเทศต่าง ๆ ซึ่งการจัดในครั้งแรก ได้รับความสนใจ และได้รับผลตอบรับที่ดีมาก บางประเทศสนใจเรื่องการปลูกป่าทดแทน การปลูกพืชเศรษฐกิจทดแทนพืชเสพติด การปลูกหญ้าแฝกพื้นฟูดิน การใช้ปุ๋ยธรรมชาติไม่ใช้สารเคมี การพัฒนาแหล่งสัตว์น้ำชายทะเล ซึ่งก็ประสบความสำเร็จ" หัวหน้าโครงการฯ กล่าว
แปลงสินทรัพย์ฯเน้นกู้น้อย-ขยายทีหลัง
นอกจากหน่วยงานรัฐบาลในระดับกระทรวงแล้ว ยังมีหน่วยงานพิเศษ อย่าง สำนักงานแปลงสินทรัพย์เป็นทุน ที่นำหลักการเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้เป็นหลักให้ผู้เข้าร่วมโครงการทุกคนต้องปฏิบัติ
นที ขลิบทอง ผู้อำนวยงานสำนักงานแปลงสินทรัพย์เป็นทุน กล่าวกับ "ผู้จัดการรายสัปดาห์" ว่า สำนักงานฯ ได้เน้นหลักการ 3 หลักการกับผู้เข้าร่วมโครงการทั้งหมด 2.7 แสนคน มีการกู้เงินไปแล้วกว่า 6 หมื่นล้านบาท และผู้ที่จะเข้าร่วมโครงการใหม่ ๆ ปฏิบัติตาม ได้แก่ การลงทุนอย่างพอเพียง ทำโครงการอย่างพอเพียง และมีกระบวนการพอเพียงมารองรับ
โดยการลงทุนอย่างพอเพียง จะเน้นให้ผู้ลงทุนมีสติในการใช้เม็ดเงินที่ขอไปอย่างคุ้มค่า และมีคุณค่า โดยจะพิจารณาจากความงอกเงยของเงิน
การจัดทำโครงการอย่างพอเพียง เป็นการให้ผู้ลงทุนทำโครงการที่พอเหมาะพอดีกับตัวเอง ไม่หวังรวย เน้นไม่ให้มีการลงทุนมากเกินไป เพราะหากล้มเหลวจะเจ็บหนัก เน้นให้ลงทุนน้อยแต่ค่อยขยายกิจการภายหลัง และต้องคำนึงถึงประโยชน์ผู้บริโภคเป็นหลัก ส่วนนี้ได้ให้นโยบายกับสถาบันการเงินผู้ให้กู้ไว้แล้วว่าให้พิจารณาโครงการตามหลักนี้
กระบวนการพอเพียงรองรับ จะเน้นการทำบัญชีการออมเป็นตัวชี้วัดการประสบความสำเร็จของโครงการเพื่อตัดสินใจในการปล่อยกู้งวดต่อไป ที่สำคัญคือ เมื่อมีผลตอบแทนกลับมาแล้ว ผู้ลงทุนมีการแบ่งผลตอบแทนเป็น 4 ส่วนได้แก่ ส่วนดำเนินงานต่อ ส่วนการดำรงชีพ ส่วนเงินหมุนเวียน และส่วนเงินออมในอนาคต ซึ่งการให้กู้ครั้งต่อไปจะเน้นดูรายละเอียดด้านการเงินของผู้ลงทุนเป็นสำคัญด้วย เพราะการออมจะมีส่วนสำคัญในการป้องกันความเสี่ยงของผู้ลงทุนเอง
"ไม่เน้นเฉพาะคนด้อยโอกาส หลักการนี้จะใช้กับกลุ่ม SME ที่มีความแข็งแรงมากกว่าด้วย ที่สำคัญที่เราเน้น ต้องลงทุนแบบมีสติ และพอเพียง ไม่ใช่จะทำแต่กิจการใหญ่ ๆ และหวังรวยเร็วเท่านั้น”
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|