|
เศรษฐกิจฟาด“ทิพ”ต้องดาวน์ไซส์ออกตัวใหม่มาร์จิ้นสูงเลิกส่งออกไม่กำไรคาดปีนี้แค่ทรงตัว
ผู้จัดการรายวัน(30 มิถุนายน 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
“ทิพ” ปรับลดขนาดธุรกิจน้ำมันพืชครั้งใหญ่ งดทำตลาดส่งออก-ลดบทบาทน้ำมันอุตสาหกรรมหันลุยน้ำมันคอนซูเมอร์เสริมทัพแทน หลังเจอพิษเศรษฐกิจไทยหดตัว – ส่งออกไม่สร้างกำไร บ่ายหน้าขุดขุมทองใหม่ให้มาร์จิ้นสูง ปรับโพซิชั่นนิ่งใหม่ ทุ่ม 70 ล้านบาท ปั้นซับแบรนด์ “ทิพไวส์” ลุยตลาดนิชมาร์เก็ตเลี่ยงสินค้าเฮาส์แบรนด์ถล่ม-สงครามราคาตลาดแมส นำร่องเปิดตัวน้ำมันฝ้าย-น้ำมันถั่วเหลืองผสมปาล์ม สิ้นปีหวังรักษารายได้เท่ากับปีที่ผ่านมา คือ 700 ล้านบาท
หม่อมราชวงศ์สุภาณี ดิศกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท น้ำมันพืชทิพ จำกัด ผู้จัดจำหน่ายน้ำมันพืชทิพ เปิดเผยว่า บริษัทฯได้ปรับนโยบายทางการตลาดใหม่ โดยลดขนาดของการทำธุรกิจลง เพื่อหันมาให้ความสำคัญกับตลาดน้ำมันพืชสำหรับผู้บริโภคเพิ่มขึ้นจากสัดส่วน 50% เป็น 70% และได้ปรับลดการทำตลาดน้ำมันพืชสำหรับอุตสาหกรรมจาก 50% เป็น 30%
นอกจากนี้ยังงดการทำตลาดต่างประเทศลง จากเมื่อปีที่ผ่านมาบริษัทฯมีรายได้จากการส่งออก 300-400 ล้านบาท โดยนโยบายดังกล่าวเริ่มขึ้นตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ปัจจัยที่ส่งผลให้บริษัทฯต้องลดขนาดของธุรกิจลง เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง ขณะที่การส่งออกน้ำมันพืชก็ประสบปัญหาในเรื่องของตราสินค้าที่ไม่เป็นที่รู้จัก ทำให้ไม่สามารถจำหน่ายสินค้าได้ตามราคาที่ต้องการ
สำหรับแผนการทำตลาดน้ำมันพืชสำหรับผู้บริโภค บริษัทฯจะฉีกตลาดด้วยการเจาะกลุ่มนิชมาร์เก็ตภายใต้แบรนด์ ”ทิพไวส์” แตกต่างจากการทำตลาดอย่างเดิม ที่เน้นตลาดแมสภายใต้แบรนด์ ”ทิพ” ทั้งนี้เพื่อหาตลาดที่ทำกำไรได้มากกว่า อีกทั้งยังเป็นการหลีกเลี่ยงสงครามราคาที่มีการแข่งขันกันอย่างรุนแรงในตลาดแมส ซึ่งปัจจุบันผู้ประกอบการน้ำมันพืช จำหน่ายราคาถูกกว่าราคาควบคุมถึง 10บาท
นอกจากนี้ในตลาดยังมีสินค้าเฮาส์แบรนด์ที่เข้ามาเป็นคู่แข่งขันรายหลัก โดยชูกลยุทธ์ด้านราคาที่ถูกกว่า ยกตัวอย่าง น้ำมันถั่วเหลืองเฮาส์แบรนด์จำหน่าย 30 บาทต่อขวด แต่สินค้าแบรนด์ทั่วไป 34-35 บาท โดยกลยุทธ์ราคาส่งผลให้น้ำมันพืชเฮาส์แบรนด์มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากปัจจุบันมีอัตราการเติบโตเป็นตัวเลขหลักเดียว
ล่าสุดบริษัทฯได้ปรับโพซิชั่นนิ่งน้ำมันพืชสำหรับผู้บริโภคใหม่ ด้วยเปิดตัวซับแบรนด์ภายใต้แบรนด์ ”ทิพไวส์” โดยวางตำแหน่งเป็นผู้รู้เรื่องน้ำมัน ซึ่งบริษัทฯได้ซอยเซกเมนต์เทชั่นน้ำมันพืชใหม่ แบ่งแยกตามการปรุงอาหาร ประกอบด้วย การเปิดตัวพืชใหม่ 2 ประเภท ได้แก่ น้ำมันเมล็ดฝ้าย เหมาะสำหรับทอด และน้ำมันถั่วเหลืองผสมน้ำมันปาล์ม สำหรับทอดและผัด ส่วนที่เหลืออีก 3 ตัวเป็นสินค้าที่มีอยู่แล้ว แต่บริษัทฯปรับโพซิชั่นนิ่งให้มีความชัดเจนมากขึ้น
โดยน้ำมันข้าวโพด สำหรับทอด น้ำมันดอกทานตะวัน สำหรับอาหารประเภทผัด และน้ำมันสลัด สำหรับทำน้ำสลัดและการผัด นอกจากนี้ยังได้เตรียมเปิดตัวน้ำมันถั่วเหลืองผสมน้ำปาล์มในเร็วๆนี้ สำหรับทิพไวส์ วางกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้ที่ใส่ใจในเรื่องของสุขภาพเป็นหลัก โดยจะเน้นจำหน่ายสินค้าผ่านช่องทางโมเดิร์นเทรดเป็นหลัก ส่วนเทรดิชั่นนัลเทรดจะไม่เน้นมากนัก
ทั้งนี้บริษัทฯได้ทุ่มงบการตลาด 60-70 ล้านบาท ในการสร้างความรู้และความเข้าใจสำหรับพฤติกรรมการใช้น้ำมันพืช จากปัจจุบันผู้บริโภคยังเชื่อว่าน้ำมันพืชขวดเดียวสามารถปรุงอาหารได้ทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็น ทอด ผัด หรือสลัด แต่ในความเป็นจริงแล้วน้ำมันพืชแต่ละชนิดต่างมีข้อดีและข้อด้อยที่แตกต่างกัน โดยในช่วงแนะนำน้ำมันพืชทิพไวส์ จะใช้ภายใต้คอนเซปต์ “ทิพไวส์ กินอย่างคนที่รู้ อยู่อย่างคนฉลาดใช้ชีวิต” ซึ่งงบการตลาดจะเน้นการทำบีโลว์เดอะไลน์เป็นหลัก เพื่อให้การสื่อสารเข้าถึงตัวผู้บริโภคโดยตรง โดยได้เตรียมจัดกิจกรรมการตลาด ณ จุดขาย เดินสายโรดโชว์ และจัดโปรโมชั่น ส่วนภาพยนตร์โฆษณาประชาสัมพันธ์จะออกอากาศภายใน 2 เดือนนี้
แนวโน้มตลาดน้ำมันพืชสำหรับผู้บริโภคมูลค่า 9,000 ล้านบาท ปีนี้คาดว่าจะมีอัตราการเติบไม่น้อยกว่า 10% โดยแบ่งเป็นตลาดน้ำมันปาล์มมูลค่า 6,300 ล้านบาท หรือคิดเป็น 70% ของตลาด มีอัตราการเติบโตสูงที่สุด เนื่องจากมีราคาถูก เมื่อเทียบกับตลาดน้ำมันถั่วเหลืองมูลค่า 1,800 ล้านบาท มีอัตราการเติบโตน้อยกว่า
ส่วนตลาดน้ำมันรำข้าวมีมูลค่า 540 ล้านบาท หรือราว 6% และอีก 4% หรือราว 360 ล้านบาท เป็นตลาดน้ำมันพืชระดับพรีเมียม อาทิ น้ำมันข้าวโพด ดอกทานตะวัน มีอัตราการเติบโตมากกว่า 10% ซึ่งบริษัทได้ใช้กลยุทธ์ราคาที่ถูกกว่าเฉลี่ย 55-65 บาทต่อขวด เพื่อแย่งส่วนแบ่งในตลาดนี้ จากปัจจุบันตลาดน้ำมันพืชระดับพรีเมี่ยม อย่าง น้ำมันข้าวโพดที่อยู่ในตลาดราคา 85 บาท ทิพไวส์ 65 บาท
ผลประกอบการในสิ้นปีนี้ คาดว่าจะไม่มีอัตราการเติบโตโดยมีรายได้ 700 ล้านบาทเท่ากับปีที่ผ่านมา เนื่องจากปีนี้บริษัทได้ลดขนาดการทำธุรกิจในส่วนของการส่งออก และภาคอุตสาหกรรมลง ส่วนรายได้จากการเปิดตัวซับแบรนด์”ทิพไวส์”ในปีแรกตั้งเป้ามีรายได้ 280 ล้านบาท หรือคิดเป็น 40% ของรายได้รวม ปัจจุบันน้ำมันพืชทิพ มีส่วนแบ่ง 7% เป็นอันดับ 3 ของตลาดน้ำมันถั่วเหลือง รองจากน้ำมันพืชกุ๊ก 14-15% และผู้นำตลาดองุ่นครองส่วนแบ่ง 50% ส่วนตลาดน้ำมันปาล์มมรกตเป็นผู้นำตลาดครองส่วนแบ่ง 60%
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|