วนารักษ์ เอกชัย กับวันที่ "ฟอร์ม" ของไอบีเอ็มอาจจะเปลี่ยนไป

โดย ไพเราะ เลิศวิราม เพิ่มพล โพธิ์เพิ่มเหม
นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2538)



กลับสู่หน้าหลัก

แทนที่วนารักษ์ เอกชัย ทายาทของตระกูลหนังสือพิมพ์ จะยึดวิชาชีพสายข่าวตามที่เขาได้สัมผัสมาตลอดชีวิต เพราะไม่ว่าจะเป็นสนิท เอกชัย บิดาของเขาซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในประวัติศาสตร์ของหนังสือพิมพ์ "เดลินิวส์" และผู้ให้กำเนิดหนังสือพิมพ์ เดลิไทม์ และเสริมศรี เอกชัย ผู้เป็นมารดา คอลัมนิสต์ชื่อดัง เจ้าของนามปากกา "สนทะเล" และปัจจุบันยังเป็นกรรมการในบริษัทมติชนด้วย

รวมทั้ง "สนิทสุดา เอกชัย" บรรณาธิการข่าว Outlook หนังสือพิมพ์บางกอกโพลต์ ผู้เป็นพี่สาวคลุกคลีอยู่ในวิชาชีพนี้ทั้งสิ้น แต่วนารักษ์กลับเลือกเดินบนเส้นทางธุรกิจค้าคอมพิวเตอร์

วนารักษ์มีพี่น้องอีก 5 คน นอกจากสนิทสุดาที่มีชื่อเสียงในวงการหนังสือพิมพ์แล้ว เขายังมีน้องสาวที่มีชื่อเสียงในวงสังคม "สนิทพิมพ์ เอกชัย" ดีไซเนอรื่อดัง เจ้าของห้องเสื้อชั้นสูง "จีน่า"

หลังจากจบการศึกษาในระดับมัธยมต้นที่เซนต์ดอมินิกแล้ว วนารักษ์ถูกส่งไปศึกษาในระดับไฮสกูลที่สหรัฐอเมริกา และได้ศึกษาต่อจนจบทางด้านปรัชญาและรัฐศาสตร์จาก Edgewood University สหรัฐอเมริกา

ในระหว่างที่เรียนอยู่ในต่างประเทศเขามีโอกาสบินกลับมาเยี่ยมบ้านตลอดทุกปีในช่วงปิดเทอม แต่แทนที่เขาจะใช้ชีวิตในช่วงหยุดเทอมกับการท่องเที่ยวเช่นเด็กหนุ่มในวัยเดียวกัน แต่วนารักษ์กลับใช้วันว่างเหล่านี้ไปกับการฝึกงานข่าวด้านอาชญากรรมที่หนังสือพิมพ์เดลิไทม์

จนกระทั่งเรียนจบกลับมา เขาได้เริ่มงานนักข่าวอย่างเต็มตัว โดยช่วยงานหนังสือพิมพ์ของครอบครัว ซึ่งวนารักษ์ยอมรับว่าชอบในวิชาชีพนี้ แต่การที่อยากลองงานใหม่ๆ ดูบ้าง ทำให้เขาเริ่มมองหางานใหม่ๆ

ไอบีเอ็ม ประเทศไทย บริษัทค้าคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์กรที่หมายตาของผู้จบการศึกษา แม้ว่าเขาจะไม่ได้จบทางด้านคอมพิวเตอร์โดยตรง วนารักษ์จึงไม่ลังเลที่จะไปเริ่มงาน เมื่อได้รับการเรียกตัวในตำแหน่งเจ้าหน้าที่การตลาด ซึ่งในสมัยนั้นมร.แพท ปีเตอร์สัน ผู้บริหารที่บริษัทแม่ส่งมาดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการผู้จัดการ

หลังจากการตัดสินใจร่วมงานในไอบีเอ็มไม่นานเขาเริ่มติดกับตัวองค์กรจึงไม่คิดที่จะกลับมาหาวิชาชีพผู้สื่อข่าวอีกต่อไป แม้ว่าเขายืนยันว่าจะยังคงรักในอาชีพนักข่าวก็ตาม ซึ่งการตัดสินใจในครั้งนั้น ได้ทำให้ชีวิตการทำงานของเขาพลิกผันไปอย่างไม่คาดฝัน

เวลา 15 ปีในไอบีเอ็ม วนารักษ์ได้รับมอบหมายงานในด้านต่างๆ ที่แตกต่างกันออกไป หลังจากไต่เต้าจากเจ้าหน้าที่การตลาดดูแลสินค้าสำนักงาน เขาได้รับมอบหมายให้มาดูทางด้านธุรกิจทั่วไป ตลอดจนคู่ค้า ก่อนที่จะมารับผิดชอบการสอนหนังสือผู้บริหาร หรือแมเนจเมนต์ เทรนนิ่ง ซึ่งเขาใช้เวลาในการทำงานที่นี่เป็นเวลาถึง 3 ปี ก่อนที่จะมาดูลูกค้าราชการและธุรกิจทางด้านธนาคารและไฟแนนซ์ ในตำแหน่งของผู้จัดการทั่วไปของสายธุรกิจนี้

จนกระทั่งในเดือนธันวาคม 2537 ซึ่งเป็นวันที่ชาญชัย จารุวัสตร์ ได้ตัดสินใจยื่นใบลาออก และเป็นวันที่พลิกผันชีวิตของวนารักษ์ด้วย เพราะเขาคือคนที่บริษัทแม่ได้มอบหมายให้ขึ้นรับตำแหน่งสูงสุด

วนารักษ์เป็นคนตัวสูงใหญ่ สูบบุหรี่มาร์ลโบโร พูดจากันเองไม่ค่อยวางท่าหรือวางฟอร์มนัก และความที่เขาค่อนข้างคุ้นเคยกับคนหนังสือพิมพ์ทำให้เขารู้จักที่จะสื่อกับสาธารณชนอย่างรวดเร็วด้วยท่าทีง่ายๆ

การเริ่มต้นของวนารักษ์ในวันนี้อาจทำให้ภาพหรือ "ฟอร์ม" ของไอบีเอ็มซึ่งเคยดูขรึมและเต็มไปด้วยมาดเปลี่ยนแปลงไป

แต่เขาจะนำพาไอบีเอ็ม ประเทศไทย กลับไปสู่ความรุ่งโรจน์อีกครั้งหนึ่งหรือไม่ ยังเป็นคำถาม



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.