มนูทิ้ง "ดาต้าแมท"อะไรจะเกิดขึ้น?

โดย ไพเราะ เลิศวิราม
นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2538)



กลับสู่หน้าหลัก

อะไรคืออนาคตของ "ดาต้าแมท" เมื่อมนู อรดีดลเชษฐ์ และทีมงานผู้สร้างบริษัทแห่งนี้มาเมื่อ 26 ปีที่แล้ว กำลังจะปลดเกษียณ พร้อมๆ กับการเข้ามากว้านซื้อหุ้นครั้งใหญ่โดย 3 นักธุรกิจชื่อดังเมื่อต้นปี 2537 ที่กลายเป็นข้อต่อของการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ และเผยโฉมหน้าของผู้นำคนใหม่ "ไปรเทพ ซอโสตถิกุล" ทายาทกลุ่มซีคอนที่แทบจะไม่เคยได้ยินชื่อในวงการคอมพิวเตอร์ เลือดใหม่จะพลิกฟื้น "ดาต้าแมท" ไปสู่ทิศทางใด?

"คุณมนู อรดีดลเชษฐ์ เป็นคนที่มีความคิดกว้างไกลและกล้าตัดสินใจ" คนในวงการคอมพิวเตอร์สะท้อนถึงบุคลิกของมนู

ด้วยเหตุนี้เองทำให้มนู อดีตวิศวกรระบบคอมพิวเตอร์ของไอบีเอ็มประเทศไทย ตัดสินใจรวบรวมสมัครพรรคพวกในไอบีเอ็มจำนวนหนึ่งออกมาก่อตั้งบริษัทดาต้าแมทขึ้นในปี 2512 ด้วยทุนจดทะเบียนเพียง 2 ล้านบาท

26 ปีมาแล้วที่มนุและพรรคพวกได้สร้างดาต้าแมทให้เติบโตจากบริษัทเล็กๆ ประกอบธุรกิจศูนย์บริการคอมพิวเตอร์ จนกลายเป็นบริษัทค้าและบริการคอมพิวเตอร์รายใหญ่ที่เน้นการให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ มีผลิตภัณฑ์ตั้งแต่เมนเฟรม มินิ พีซี พริ้นเตอร์ ตลอดจนซอฟต์แวร์โดยมีสินค้าหลักคือ เอ็นอีซี จากญี่ปุ่นซึ่งได้สร้างชื่อเสียงมาพร้อมกับดาต้าแมท

ธุรกิจจะเติบโตไม่ได้ หากไม่มีเงินทุนมาหล่อเลี้ยงอย่างเพียงพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจบริการคอมพิวเตอร์ ดังนั้นในปี 2526 มนูได้นำดาต้าแมทเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเป็นผลสำเร็จ ทำให้ดาต้าแมทมีเงินทุนที่ระดมเงินทุนจากตลาดหลักทรัพย์ฯ มาใช้ในการขยายกิจการ

เนื่องจากการทำธุรกิจค้าคอมพิวเตอร์ในลักษณะของการบริการแบบเบ็ดเสร็จต้องอาศัย "คน" เป็นจำนวนมากในการเรียนรู้ระบบงานและเทคโนโลยีใหม่ๆ เงินทุนส่วนใหญ่จึงใช้ไปกับการสร้างคนซึ่งเป็นส่วนที่ทำให้เกิดความพลิกผันในเวลาต่อมา

กิจการของดาต้าแมทในช่วงแรกเติบโตได้อย่างดี โดยลูกค้าส่วนใหญ่ของดาต้าแมทจะเป็นธุรกิจไฟแนนซ์ ยอดขายเพิ่มขึ้นตลอดเวลา ตั้งแต่ปี 2531-2535 มียอดขายรวมเพิ่มขึ้นตลอด คือ 516 ล้าน, 619 ล้าน, 973 ล้าน, 1,377 ล้าน, 1,217 ล้านบาท ตามลำดับ และมีกำไรสุทธิ 17 ล้าน, 19 ล้าน, 38.4 ล้าน, 59.5 ล้าน และ 36.3 ล้านบาท ตามลำดับ

ทว่า ในช่วง 3ปีที่ผ่านมา สภาวะตลาดคอมพิวเตอร์เกิดพลิกผัน ผลมาจากการลดต่ำของราคาเครื่องคอมพิวเตอร์สวนทางกับต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น บริษัทค้าคอมพิวเตอร์ทุกรายต้องเผชิญหน้ากับปัญหาเหล่านี้ ดาต้าแมทก็เช่นเดียวกัน

ผลประกอบการระหว่างปี 2535-2537 แม้จะไม่ลดลง แต่ก็ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย โดยมีรายได้ในช่วงปีดังกล่าว 1,217 ล้าน, 1,218 ล้าน, 1,333 ล้านบาทตามลำดับ ในขณะที่กำไรกลับลดลงอย่างเห็นได้ชัด 36.4 ล้าน, 6.3 ล้าน, 6.2 ล้านบาทตามลำดับ สะท้อนให้เห็นถึงภาวะยากลำบากของดาต้าแมทเป็นอย่างดี

"สิ่งที่เราได้รับผลกระทบคือการที่เราขายของไม่ได้ราคา เพราะราคาเครื่องลดลงตลอดเวลา แต่ต้นทุนกลับสูงขึ้นโดยเฉพาะในเรื่องคนที่จะต้องสร้างขึ้นเพื่อรองรับเทคโนโลยีใหม่ๆ ทำให้เราต้องเหนื่อยมากขึ้น แม้ว่าขายได้จำนวนมากขึ้น แต่ผลกำไรกลับลดลง" มนูเล่าถึงสถานการณ์ของดาต้าแมทในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา

มนูเองตระหนักดีว่ากำลังตกอยู่ในที่นั่งลำบากแล้ว เขาจึงเลือกใช้วิธีการรัดเข็มขัด เช่น การตัดสินใจชะลอดครงการขยายสาขาทั่วประเทศแบบไม่มีกำหนดพร้อมทั้งการจำกัดการรับพนักงาน ซึ่งเป็นส่วนที่มนูสร้างไว้รองรับกับเทคโนโลยีเครื่องระบบเปิด (Open System)

แม้กระทั่งโครงการร่วมลงทุนกับบริษัทผู้ค้าทั้งในและต่างประเทศ เพื่อทำธุรกิจให้คำปรึกษาระดับสูงสำหรับโครงการคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ อันเป็นธุรกิจแนวใหม่ที่มนูต้องการขยายเพื่อมาเสริมสร้างรายได้เพิ่มเติมยังต้องถูกระงับไป

ทว่าสถานการณ์ของดาต้าแมทยังไม่กระเตื้อง และดูเหมือนกับว่ายิ่งน่าวิตกมากขึ้น

จนกระทั่งเมื่อต้นปีได้เกิดกรณีการเทกโอเวอร์หุ้นของดาต้าแมท เนื่องมาจากชาวต่างประเทศได้ขายหุ้นของดาต้าแมทที่อยู่ในมือจำนวน 40% ออกมาซึ่งได้ผันมาอยู่ในมือนักลงทุนชาวไทย 3 กลุ่ม สุกัญญา ประจวบเหมาะ, ราศี บัวเลิศ และตระกูลซอโสตถิกุล

จากเหตุการณ์ในครั้งนี้เอง มองในแง่หนึ่งเหมือนมนูกำลังถูกเทกโอเวอร์บริษัทที่ตนเองสร้างมากับมือ แต่ในทางตรงกันข้ามกลับทำให้มนูได้โอกาสกอบกู้สถานการณ์ ในการขยายไปสู่ธุรกิจใหม่ๆ ที่สำคัญการได้ "เลือด"ใหม่แถมพ่วงมาด้วยแทนที่จะเป็นการถูกเทกโอเวอร์ดังที่เคยคาดหมายกันไว้

เพราะก่อนหน้านี้มนูได้วางแผนการกอบกู้สถานการณ์ของดาต้าแมทเอาไว้โดยแบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอน

แผนแรก เริ่มขึ้นเมื่อ 3 ปีที่แล้วคือการพยายามลดข้อจำกัดในการทำตลาดโดยหันมาทำตลาดระบบเปิด (open system) ที่กำลังมาแรงแทนที่เครื่องเมนเฟรมและมินิ ซึ่งลดความนิยมลงไปเรื่อยๆ การหันไปทำตลาดเทคโนดลยีใหม่ๆ จำเป็นต้องสร้างบุคลากรมารองรับเป็นจำนวนมากพร้อมกับการจัดตั้งบริษัทในเครือขึ้นเพื่อทำตลาดสินค้าใหม่ ที่เป็นระบบเปิด คือโอซีที เป็นตัวแทนขายเครื่องซัน และโซลูชั่น คอร์ปอเรชั่น เป็นตัวแทนขายเครื่องของสตาร์ตัส

มนูเล่าว่าแผนที่ 1 ไดรับความสำเร็จเป็นอย่างดี เพราะหากไม่มีสินค้าใหม่ๆ เข้ามา ลำพังขายแต่เอ็นอีซีเพียงอย่างเดียว ดาต้าแมทคงไม่มีรายได้ถึง 1,300 ล้านบาทในปีที่แล้วแน่นอน

แผนที่ 2 ที่มนูวางไว้คือ การขยายจำนวนสินค้าที่จะวางตลาด เพื่อเพิ่มจำนวนการขายให้มากขึ้น และกระจายไปยังกลุ่มลูกค้า และการเพิ่มแนวธุรกิจใหม่เช่น ดาต้าเน็ตเวิร์ค (ระบบเครือข่ายข้อมูลที่ใช้ในการต่อเชื่อมข้อมูลของคอมพิวเตอร์)

แผนที่ 3 คือการขยายไปสู่ธุรกิจทางด้านโทรคมนาคม เพื่อสร้างฐานลูกค้าใหม่ๆ ให้กว้างขึ้น มนูได้ลงมือปูฐานธุรกิจทางด้านนี้ ด้วยการจัดตั้งแผนเครือข่ายโทรคมนาคม เพื่อทำธุรกิจด้านเครือข่ายข้อมูลและข่ายสาย ต่อมาตั้งเป็นบริษัทอินเตอร์เนชั่นแนล เน็ตเวิร์ค โซลูชั่น

ในการขยายธุรกิจตามแผนที่ 2 และ 3 ซึ่งเป็นการทำตลาดสินค้าและธุรกิจแนวใหม่ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับผู้บริหารเดิมเช่นในอดีตเสียแล้วด้วยวัยขนาดนี้

เพราะกลุ่มผู้บริหารที่ร่วมก่อนตั้งมีอายุใกล้เกษียณโดยอายุที่กำหนดไว้คือ 60 ปี และส่วนใหญ่จะมีอายุเฉลี่ย 57-60 ปี ม.ร.ว.โอภาส กาญจนวิชัย อดีตผู้จัดการฝ่ายการตลาดด้านธุรกิจทั่วไป ไอบีเอ็ม ประเทศไทย หนึ่งในผู้ก่อตั้งที่รับตำแหน่งประธานกรรมการบริษัทจะมีอายุครบ 60 ปีในปีนี้ ตัวมนูเองมีอายุ 54 ปีแล้ว ผู้บริหารเหล่านี้จึงตัดสินใจที่จะสร้าง "ทายาท" ขึ้นมารองรับ

"การจะให้เรามาวิ่งลงมือปฏิบัติเหมือนเมื่อ 26 ปีที่แล้ว คงจะทำไม่ได้แน่ เพราะต่างคนอยู่ในวัยที่ควรจะมานั่งดูนโยบายแล้ว เพราะไหนจะต้องสานต่อธุรกิจเดิมและยังมีธุรกิจใหม่ที่จะทำอีก"

มนูเล่าว่าต้องเฮดฮันเตอร์ (บริษัทนายหน้าหาผู้บริหาร) ถึง 2 บริษัท เสียเงินไปหลายแสนแล้ว ในช่วง 2-3 ปีที่แล้วมา แต่ยังไม่ได้มืออาชีพมาผ่องถ่ายงานได้ตามที่ต้องการ

ด้วยเหตุนี้เองเมื่อมีกลุ่มผู้ถือหุ้นใหม่เข้ามา มนูจึงถือโอกาสเปิดการเจรจาถึงวัตถุประสงค์ของการเข้ามา พร้อมกับชักชวนให้เข้ามาช่วยบริหารงานทันที และโชคก็เข้าข้างมนู

ผลจากการเจรจาครั้งนั้นเองทำให้มนูได้มีโอกาสรู้จักกับไปรเทพ ซอโสตถิกุล ทายาทหนุ่ม
วัย 35 ปี จากกลุ่มซีคอน และพบว่าไปรเทพมีทั้งคุณสมบัติ และแนวคิดที่สอดคล้องกับผู้บริหารชุดเดิม ซึ่งเหมาะสมอย่างยิ่งที่จะมารับช่วงงานต่อไปอย่างยิ่ง

"คุณไปรเทพเขาเป็นคนมีแนวคิดที่ดีหลังจากที่ทำงานไประยะหนึ่ง ก็รู้สึกว่าเข้ากันได้ดี เขาเข้าใจโครงสร้างของเราเข้าใจแนวทางการบริหารงาน ที่สำคัญเขาเองก็เป็นผู้ถือหุ้น และเขาก็สนใจในเรื่องเหล่านี้อยู่แล้ว เหมาะสมที่สุด" มนูเล่าถึงการเจรจาในครั้งนั้น

ไปรเทพเป็นบุตรชายคนที่ 2 ในจำนวนพี่น้อง 3 คน ของกอบชัย ซอโสตถิกุล หนึ่งในเจ้าของธุรกิจห้างสรรพสินค้าซีคอนสแควร์ ไทยชูรส และเป็นคนหนึ่งที่ได้คลุกคลีกับธุรกิจคอมพิวเตอร์ ตั้งแต่การศึกษา อาชีพการทำงาน ซึ่งเขามีความใฝ่ฝันที่จะขยายกิจการของซีคอมบริษัทค้าซอฟต์แวร์ของครอบครัว ที่รับดูแลอยู่ให้เติบโตจากบริษัทค้าซอฟต์แวร์เล็กให้กลายเป็นผู้ส่งออกซอฟต์แวร์รายใหญ่ของไทย เขาจึงไม่ลังเลที่จะก้าวเข้ามาร่วมบริหารในดาต้าแมทตามคำชักชวน

"หากจะให้เราทำซีคอมให้เติบโตไปเรื่อยๆ กว่าจะถึงจุดดาต้าแมทก็อีกหลายปีในเมื่อเราสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหาร ผมจึงตอบรับทันที" ไปรเทพกล่าว

การมาของไปรเทพ นอกจากจะได้รับการสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นเก่าแล้ว ผู้ถือหุ้นใหม่ คือ สุกัญญา ประจวบเหมาะ และราศี บัวเลิศ ก็ไม่ได้คัดค้านแต่อย่างใด

โดยสุกัญญา ประจวบเหมาะ ผู้บริหารบริษัทหลักทรัพย์เอเซีย ได้เข้ามาดำรงตำแหน่งเป็นรองประธานบริษัท แต่ไม่ได้ช่วยบริหารเต็มตัว เนื่องจากมีกิจการมากมายจึงจะช่วยอยู่ข้างหลัง

มนูเล่าว่าสุกัญญาเป็นผู้ชักจูงให้ดาต้าแมทได้เป็นตัวแทนจำหน่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ โนเกีย ให้กับกลุ่มชินวัตร ซึ่งกลายเป็นส่วนที่สร้างรายได้ให้กับดาต้าแมทอย่างมากในเวลาต่อมา

สำหรับราศี บัวเลิศ นั้นไม่มีส่วนร่วมในการบริหาร แต่ที่เข้ามาซื้อหุ้นของดาต้าแมท เพราะคอมพิวเตอร์มาช่วยสนับสนุนในธุรกิจที่ทำอยู่หลายชนิดเท่านั้น

เมื่อได้ผู้ที่จะมาเป็นทายาททางธุรกิจ มนูและกลุ่มผู้บริหารชุดเดิมและไปรเทพได้ร่วมกันลงมือจัดวางทิศทางธุรกิจใหม่ทันที อันประกอบไปด้วย 1. ธุรกิจคอมพิวเตอร์ 2. ธุรกิจโทรคมนาคม 3. ธุรกิจให้บริการที่ปรึกษาและวางระบบงานด้านซอฟต์แวร์ 4. ธุรกิจที่เข้าถึงผู้ใช้โดยตรง (Hitech Consumer Products) 5. ธุรกิจบริการ 6. ธุรกิจการศึกษาอบรมทางด้านเทคโนโลยี

จะเห็นได้ว่าทิศทางใหม่ของดาต้าแมทนั้น ได้มีการขยายธุรกิจใหม่ๆ ออกไปถึง 4 กลุ่ม โดยดาต้าแมทไม่ได้อิงกับธุรกิจคอมพิวเตอร์เพียงอย่างเดียวอีกต่อไปแล้ว เพราะได้บทเรียนมาแล้ว

"หากเราไม่ขยายไปหาธุรกิจใหม่ๆ เราจะเล็กลงไปเรื่อย และในที่สุดเราคงต้องหายไปจากตลาด ซึ่งเป็นสิ่งที่เรากลัวที่สุด" มนูกล่าว

อย่างไรก็ตาม มนูยืนยันว่าดาต้าแมทยังคงต้องประคับประคองธุรกิจคอมพิวเตอร์ต่อไป เพราะยังมีตลาดอยู่ในบางส่วนที่ต้องรักษาไว้ที่สำคัญที่สุดคือคอมพิวเตอร์ "เอ็นอีซี" ที่สร้างมา 20 กว่าปีแล้ว แม้ว่าจะต้องรับภาระขาดทุนในสินค้าบางตัวก็ตามและในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า เอ็นอีซีจะมีเครื่องเซิร์ฟเวอร์วางตลาด ซึ่งมนูเชื่อว่าจะมาช่วยฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ได้

ทางด้านธุรกิจซอฟต์แวร์ได้แยกออกเป็นหน่วยงานอิสระ และได้ทำการซื้อหุ้นของบริษัทซีคอม นำมารวมไว้ในส่วนนี้ดาต้าแมทเพื่อขยายงานทางด้านการพัฒนาและจำหน่ายซอฟต์แวร์มากขึ้น

สำหรับธุรกิจแนวใหม่ที่น่าสนใจประกอบไปด้วย

กลุ่มธุรกิจคอนซูเมอร์เป็นการประกอบธุรกิจค้าขายอุปกรณ์คอมพิวเตอร ์และโทรคมนาคมในลักษณะค้าปลีกไปยังกลุ่มลูกค้ารายย่อย หรือโฮมยูสเพื่อลดต้นทุนในเรื่องของพนักงานขายลงให้สอดคล้องผลกำไรที่ลดต่ำลง

วิธีการที่วางไว้คือ การจัดตั้งร้านซูเปอร์ไฮเทคสโตร์ซึ่งเป็นร้านค้าอุปกรณ์ไฮเทคขนาดใหญ่ที่ให้ลูกค้าเดินมาเลือกซื้อ แต่เนื่องจากเป็นธุรกิจใหม่ที่ไม่มีประสบการณ์มาก่อน ดาต้าแมทใช้วิธีการจับมือกับบริษัทอาโน ออฟฟิศ ออโตเมชั่น ประเทศแคนาดา เปิดร้านซูเปอร์สดตร์ขึ้นในไทย เพื่ออาศัยความชำนาญและสินค้าในมือของโนอาที่มีอยู่เป็นจำนวนมากเป็นฐานธุรกิจ

โดยซูเปอร์สโตร์สาขาแรกจะเปิดบนเนื้อที่ 3,000 ตารางเมตร บนห้างซีคอนสแควร์ภายในปีนี้ ก่อนที่จะขยายจนครบ 4 แห่ง ภายใน 3 ปี

"จุดขายที่สำคัญของธุรกิจประเภทนี้คือ จะต้องมีสินค้าหลากหลาย รองรับความต้องการของคนทุกรุ่นทุกกลุ่ม และจะต้องมีพนักงานที่เชี่ยวชาญมาแนะนำการใช้งานด้วย ร้านแฟรนไชส์บางร้านถึงอยู่ไม่ได้ แต่ห้างพันธุ์ทิพย์พลาซ่ากลับอยู่ได้" มนูอธิบายถึงแนวทางธุรกิจ

วิธีที่ 2 ของการทำธุรกิจในกลุ่มนี้คือเมื่อให้ผู้ซื้อเดินมาซื้อสินค้าที่ร้านแล้ว จะต้องมีสินค้าบางส่วนที่จะปล่อยไปตามร้านรีเทลชอปทั่วประเทศ ซึ่งจะเน้นการขายเป็นจำนวนมาก

ทางด้านธุรกิจโทรคมนาคม ดาต้าแมทได้เซ็นบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) กับบริษัทโคลัมเบีย เซลลูลาร์ อิงค์ จากสหรัฐอเมริกา เพื่อร่วมเข้าประมูลโครงการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบพีซีเอส (Digital celluar License) ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งหากประสบความสำเร็จ มีแผนที่จะร่วมมือขยายธุรกิจในลักษณะนี้ในไทยต่อไป

ในส่วนของธุรกิจโทรคมนาคมนี้จะรวมเอาบริษัทอินเตอร์เนชั่นแนล เน็ทเวิร์ค โซลูชั่น ทำธุรกิจเครือข่ายข้อมูล และสายเคเบิล และบริษัทนิวเทคโนโลยี จำหน่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่โนเกีย และเอ็นอีซี

สำหรับธุรกิจบริการ จะเป็นการรับเหมาช่วงบริการหลังการขายให้กับบริษัทค้าคอมพิวเตอร์อีกต่อหนึ่ง และหักเปอร์เซ็นต์จากยอดขาย แบบไม่จำกัดยี่ห้อ ซึ่งบริษัทเหล่านี้จะไม่ต้องรับภาระในเรื่องบริการหลังการขายย ดาต้าแมทจำเป็นต้องลงทุนโครงข่ายของการบริการทั่วประเทศ

ธุรกิจการศึกษาอบรมทางด้านเทคโนโลยี เป็นธุรกิจที่มนูเคยคิดที่จะทำนานแล้ว แต่ต้องระงับไปเพราะกำไรตกต่ำมาในคราวนี้ดาต้าแมทได้ร่วมมือกับบริษัทเฟิร์สคลาส ซิสเต็ม ประเทศแคนาดา จัดระบบการเรียนการสอน โดยจะเป็นการนำเอาระบบเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ มาใช้ในการเรียนการสอน หรือเรียกว่า อินเตอร์แอคทีฟ มัลติมีเดีย เลินนิ่ง มาใช้ในการเรียนการสอน ซึ่งจะทำให้ผู้เรียนสามารถเรียนได้ตลอดเวลาไม่จำกัด

โดยมนูได้ตั้งเป้าหมายว่า ซูเปอร์สโตร์จะเป็นส่วนสร้างรายได้ให้มากที่สุดส่วนธุรกิจอื่นจะเริ่มมีรายได้ในปีหน้า แต่สำหรับยอดขายธุรกิจเดิมนั้น จะมีรายได้เท่ากับปีนี้แต่จะมีเรื่องของโทรศัพท์มือถือเข้ามาเพิ่มประมาณ 1,000 กว่าล้านบาท

ธุรกิจแนวใหม่ที่เกิดขึ้นนั้นนับว่าไปรเทพได้มีบทบาทอย่างมาก เช่นในกรณีของซูเปอร์สโตร์ โทรศัพท์มือถือ การเป็นเซอร์วิสโพรไวเดอร์กิจการโทรคมนาคมการขยายธุรกิจต่างประเทศ ซึ่งธุรกิจเหล่านี้มนูไม่เคยคิดว่าจะทำมาก่อน

"กรณีธุรกิจต่างประเทศ คุณไปรเทพเขาเห็นแล้วว่ามีช่องทางที่จะทำได้ ซึ่งหากจำได้ว่าผมเคยพูดตลอดว่า ผมไม่ไปเพราะผมไม่มีเวลา แต่พอกลุ่มใหม่เข้ามา เขาเห็นช่องทาง และสินค้าในปัจจุบันของเราก็มี เช่น ซอฟต์แวร์การซื้อขายหุ้นหรืออะไรหรือแม้แต่ธุรกิจโทรคมนาคม ก็เรียกได้ว่าสวนทางกับแนวทางเดิม" มนูกล่าวถึงแนวคิดที่ได้จากผู้บริหารชุดใหม่

เมื่อมีการขยายธุรกิจจากแนวเดิมอย่างมากจำเป็นต้องหามืออาชีพเข้ามารองรับธุรกิจแนวใหม่ และยังเป็นส่วนหนึ่งของการผ่องถ่ายอำนาจอีกด้วยเพราะในการปรับโครงสร้างการบริหาร ไปรเทพเองได้เข้ามามีบทบาทอย่างเต็มตัวในดาต้าแมท

ภายใต้โครงสร้างบริหารใหม่ มนูขยับจากกรรมการผู้จัดการ ขึ้นไปรับตำแหน่งประธานกรรมการผู้จัดการขึ้นไปรับตำแหน่งประธานกรรมการบริหารและมอบหมายให้ไปรเทพ มารับตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ พร้อมกับได้ดึงคริสโตเฟอร์ เอ รีด ผู้บริหารมืออาชีพ มีประสบการณ์บริหารธุรกิจคอมพิวเตอร์ สายหลักทรัพย์และการเงินการธนาคารมารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ

การปรับเปลี่ยนในลักษณะนี้ มนูชี้แจงว่าเพื่อแบ่งเบาภารกิจในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ ที่ต้องรับผิดชอบงานทุกอย่าง ตั้งแต่การบริหารประจำวันจนถึงการกำหนดนโยบาย ที่เคยทำมาในอดีตออกเป็น 3 ส่วน ให้ผู้บริหารชุดใหม่

มนูในฐานะประธานกรรมการบริหาร จะรับผิดชอบในเรื่องของการกำหนดนโยบาย และการวางแผนพัฒนาธุรกิจใหม่

ไปรเทพจะรับผิดชอบการบริหารงานรับผิดชอบธุรกิจโทรคมนาคม และซูเปอร์สโตร์ ควบคู่ไปกับการพัฒนาธุรกิจบางส่วน

คริสโตเฟอร์ เอ รีด จะมารับงานบริหารในธุรกิจเดิม โดยเฉพาะทางด้านธนาคารและไฟแนนซ์และพัฒนาธุรกิจต่างประเทศ

นอกจากนี้ได้ดึงมืออาชีพจากภายนอกประมาณ 7 คนเข้ามารับผิดชอบบริหารงานทางด้านต่างๆ เริ่มจาก จักร ติงศภัทิย์ ผู้เชี่ยวชาญการวางระบบคอมพิวเตอร์และตลาด ที่มีประสบการณ์ในการร่วมงานกับบริษัทในสหรัฐอเริกา และกลุ่มบริษัท Tippco จะมาช่วยงานคริสโตเฟอร์ในตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการ

ไตรรัตน์ ฉัตรแก้ว เคยร่วมงานกับไอบีเอ็ม ประเทศไทย และฮิวเลตต์ แพคการ์ด รับตำแหน่งผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายการตลาดดาต้าแมท โดยจะมี ณรงค์ ศุภพิพัฒฑน์ กรรมการและผู้อำนวยการ ดูแลสินค้าโอเอ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้บริหารชุดเดิม ที่มีอายุ 57 ปี

สมชัย บวรปรัส อดีตผู้จัดการฝ่ายผลิต บริษัทจัสปาลอินเตอร์เนชั่นแนลและเคยร่วมงานกับบริษัทไทยชูรส และมาลีซัพพลาย มารับตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายการตลาด

ธีรพล เอกศิลป์ อดีตผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจและการตลาดไทยชูรส และผู้จัดการทั่วไปบริษัทนิวเทคโนโลยี ได้ถูกดึงตัวมารับตำแหน่งผู้จัดการอาวุโสฝ่ายสินค้าคอนซูเมอร์ รับผิดชอบงานทางด้านซูเปอร์สโตร์เป็นหลัก

โดยมีกฤษดา บัณฑิตย์นพรัตน์ อดีตนักวิจัย และการตลาดบริษัทสหพัฒนพิบูล มาช่วยในตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายการตลาดทางด้านซูเปอร์สโตร์

ศุภกร ชินวรรโณ อดีตผู้บริหารฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และกลุ่มซีดีจี มารับตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายพัฒนาธุรกิจใหม่

ทีมผู้บริหารใหม่เหล่านี้ บางส่วนได้ถูกดึงมาจากธุรกิจของตระกูลซอโสตถิกุลจากการชักชวนของไปรเทพ ซึ่งจะมารับผิดชอบธุรกิจใหม่ที่จะเกิดขึ้นแทบทั้งสิ้น

ไปรเทพให้สัมภาษณ์ "ผู้จัดการ" ว่าดาต้าแมทมีคุณค่ามากที่สุด คือบุคลากร เพราะเป็นส่วนที่สร้างดาต้าแมทให้เติบโตขึ้นมาตลอด 26 ปี ดังนั้นสิ่งที่เขาจะมุ่งเน้นต่อไปคือเรื่องการพัฒนาบุคลากร ที่จะต้องมีการดึงผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศมาเสริมสร้างความรู้ ซึ่งจำเป็นอย่างมากสำหรับธุรกิจในอนาคต

ขณะเดียวกันเป้าหมายการขยายธุรกิจที่ไปรเทพวางไว้นอกจากโทรคมนาคม ซูเปอร์สโตร์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ดาต้าแมทไม่เคยทำมาก่อน เขาให้ความสำคัญกับการขยายธุรกิจต่างประเทศค่อนข้างมาก เขาเชื่อว่าตัวองค์กร รวมทั้งสินค้าคือซอฟต์แวร์ประเภทต่างๆ ที่มีอยู่ในมือของดาต้าแมทพร้อมที่จะไปต่อกรกับต่างชาติแล้ว

ไปรเทพยังมีมุมมองในเรื่องธุรกิจแนวใหม่ที่เป็นการผสมผสานระหว่างคอมพิวเตอร์-โทรคมนาคม-เอ็นเตอร์เทนเมนต์-เอ็ดดูเคชั่น จะกลายเป็นตลาดใหม่ที่จะเกิดขึ้นมาในอนาคต และดาต้าแมทคงจะต้องเข้าไปมีส่วนร่วมด้วย

"ผมยังมีโครงการที่อยู่ในใจเป็นจำนวนมาก เพราะเราต้องหาโอกาสใหม่ๆ ตลอดเวลา ขึ้นอยู่กับว่าจะนำมาใช้เมื่อใด"

มนูและผู้บริหารชุดเก่าได้ฝากความหวังเพราะเขาเชื่อว่าหากไม่มีผู้บริหารกลุ่มใหม่เข้ามา ดาต้าแมทคงไม่สามารถขยายธุรกิจในแนวนี้ได้ เพราะยังขาดคนและขาดมันสมอง และหากทำได้คงต้องใช้เวลาอีกนาน

เพราะในอีกไม่กี่ปีข้างหน้ามนูและทีมงานผู้บริหารชุดเดิมกำลังจะเกษียณกันหมดแล้ว

"ทุกคนมีอายุใกล้จะเกษียณกันหมดแล้ว การจะให้ผู้บริหารเหล่านี้ลงมาวิ่งทำทั้งธุรกิจเดิมและสร้างธุรกิจใหม่พร้อมกันคงไม่ได้ เราจึงอยากได้คนใหม่เข้ามาช่วย เพราะถึงเวลาหนึ่งเราต้องรีไทร์แต่ในการผ่องถ่ายอำนาจไม่ได้ทำกันได้ภายในปีหรือสองปีมันจะต้องค่อยๆ ซึมซับเข้าไป เมื่อรีไทร์จะได้ไม่สะดุด"

ไปรเทพและผู้บริหารชุดใหม่นี้จึงเป็น "เลือดใหม่" ที่จะมาดูดซับรับภารกิจในช่วงรอยต่อของธุรกิจแนวใหม่ ในขณะที่มนูและทีมผู้บริหารเดิมกำลังถอนตัวออกไปในไม่ช้านี้



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.