ยามาฮ่ากลัว "พรเทพ"ผู้ขายทุกอย่างที่ขวางหน้า ?

โดย เดือนเพ็ญ ลิ้มศรีตระกูล สันทิฏฐ์ สมานฉันท์
นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2538)



กลับสู่หน้าหลัก

ทำไมยามาฮ่าไม่ต่อสัญญาความร่วมมือทางเทคนิคกับสยามยามาฮ่า ซึ่งถือหุ้นใหญ่โดยสยามกลการ หรือพูดง่ายๆ ทำไมยามาฮ่า มอเตอร์ ไม่เลือกสยามกลการซึ่งเป็นคู่ค้าเก่าแก่กันมานานกว่า 30 ปี ดูเหมือนจะเป็นคำถามที่ทุกฝ่ายพยายามหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึง หรือหากจะตอบก็ตอบแบบเลี่ยงๆ

โดยเฉพาะนายซาโตชิ วาตานาเบ้ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ยามาฮ่า มอเตอร์ จำกัด ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งน่าจะเป็นผู้ที่ตอบคำถามนี้ได้ดีที่สุด ก็ปฏิเสธที่จะตอบเมื่อถูกสื่อมวลชนถามเอาตรงๆ ในวันแถลงข่าวประกาศการร่วมธุรกิจกับกลุ่มเคพีเอ็นเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2538

ฝ่ายนายเกษม ณรงค์เดช ประธานกลุ่มเคพีเอ็น ซึ่งสวมหมวกอีกใบในฐานะผู้จัดการใหญ่สยามยามาฮ่าตอบแทนอย่างอ้อมๆ ว่า การไม่ต่อสัญญาครั้งนี้เป็นสิทธิที่ยามาฮ่า มอเตอร์ จะกระทำได้โดยชอบธรรม เพียงแต่แจ้งให้สยามยามาฮ่ารับทราบล่วงหน้าก่อน 1 ปี ก็ถือว่าการดำเนินธุรกิจร่วมกันเป็นอันสิ้นสุดลง

ยิ่งด้านนายพรเทพ พรประภา ผู้จัดการใหญ่ของสยามกลการเองแล้วการที่ยามาฮ่า มอเตอร์ ไม่ต่อสัญญากับสยามยามาฮ่านั้นเป็นเรื่องที่ทำให้เขาแทบ "ช็อก" เพราะไม่เคยคาดคิดมาก่อนว่าจะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้น

ดังนั้นเมื่อต้องการค้นหาคำตอบกันจริงๆ ก็คงต้องย้อนกลับไปดูอดีตที่ผ่านมาว่าแต่ละฝ่ายทำอะไรไว้ประทับใจกรรมการมากน้อยแค่ไหน

เริ่มจากบริษัทสยามกลการ จำกัด ซึ่งมีนายพรเทพ พรประภา เป็นแม่ทัพใหญ่ในปัจจุบันนั้นค่อนข้างเสียเปรียบในเรื่องอดีต แม้ว่าจะสามารถสร้างภาพพจน์ให้โดดเด่นขึ้นมาได้ในช่วงหลัง โดยมีโครงการ "Think Earth" เป็นธงนำ

แต่ว่ากันว่าการบริหารในสยามกลการเป็นที่สะพรึงกลัวแก่ฝ่ายยามาฮ่า มอเตอร์ ยิ่งนัก จนกลายเป็นสาเหตุหลักที่ยามาฮ่า มอเตอร์ เลือกที่ดำเนินธุรกิจร่วมกับเคพีเอ็นแทน

พรเทพ พรประภา เข้ามาบริหารในสยามกลการต่อจากคุณหญิงพรทิพย์ ณรงค์เดช ซึ่งถูกลดบทบาทลง โดยถูกดันไปนั่งในตำแหน่งรองประธานบริษัทเมื่อช่วงปลายปี 2536 หลังจากความขัดแย้งในสยามกลการสุกงอมเต็มที่

ทันทีที่พรเทพเข้ามาบริหารงานในบริษัท สยามกลการ สิ่งแรกที่เขาทำคือ การเปลี่ยนระบบจัดจำหน่ายจากสาขามาเป็นดีลเลอร์ โดยการขยายสาขา 117 แห่งทั่วประเทศให้แก่นักลงทุนท้องถิ่นที่สนใจ

ถ้าถามว่าการเปลี่ยนแปลงระบบการจัดจำหน่ายจากสาขามาเป็นดีลเลอร์นั้นดีและเหมาะสมหรือไม่ คงเป็นเรื่องที่พูดกันลำบากเพราะหลักการบริหารที่จะนำมาใช้มันแตกต่างกัน แต่ที่แน่ๆ ภาพพจน์ที่ยิ่งใหญ่ของสยามกลการถูกลดทอนลงแน่

นอกจากนี้ยอดการจำหน่ายรถยนต์นั่งของนิสสันในยุคพรเทพเป็นผู้บริหารยังลดต่ำลงอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน กล่าวคือลดลงถึง 76% ทั้งๆ ที่คู่แข่งสำคัญอย่างโตโยต้า ฮอนด้า มิตซูบิชิ สามารถประคองตัวอยู่ได้ ยังดีที่ได้รถกระบะเข้ามาช่วยกู้ยอดขายไว้ได้ มิฉะนั้นตัวเลขการขายของนิสสันในปีปีที่ผ่านมาคงดูไม่จืด

ความตกต่ำของรถยนต์นั่งนิสสันอย่างมโหฬาร ทั้งๆ ที่สภาพเศรษฐกิจของประเทศไม่ได้ตกต่ำขนาดนั้น จึงน่าจะทำให้ยามาฮ่า มอเตอร์ เห็นวี่แววอะไรบางอย่างอยู่บ้าง

เหตุการณ์ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นกับสยามกลการเมื่อเร็วๆ นี้ ก็คือการขายสินเชื่อจำนวน 7,000 ล้านบาทของบริษัทให้กับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ซิทก้า จำกัด โดยอ้างว่าความเสี่ยงสูง อาจจะเก็บเงินไม่ได้

ทั้งๆ ที่โดยหลักแล้วสินเชื่อถือว่าเป็นเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงบริษัทรถยนต์มากกว่ายอดขายรถยนต์แต่ละเดือนเสียอีก เพราะโดยธรรมชาติแล้วการขายรถยนต์จะมีช่วงการขายที่ไม่แน่นอน บางช่วงขายได้มากบางช่วงขายได้น้อย ดังนั้นดอกเบี้ยจากการปล่อยสินเชื่อจะเป็นรายได้หลักที่นำไปใช้จ่ายภายในบริษัท

นอกจากนี้พรเทพยังมีแนวคิดที่จะหันไปทำธุรกิจสายอื่นที่แตกต่างออกไปจากอุตสาหกรรมรถยนต์ ที่สยามกลการดำเนินการอยู่มากขึ้น อาทิ การเข้าไปถือหุ้นในบงล.ซิทก้า การเข้าไปลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ทั้งนี้เพื่อสร้างความหลากหลายให้แก่องค์กรและยังสร้างภาพการเป็นบริษัทอินเตอร์เนชั่นแนลอีกด้วย

จะเห็นได้ว่าช่วงปีกว่าที่พรเทพเข้ามาบริหารงาน สยามกลการเปลี่ยนโฉมหน้าไปจากบริษัทรถยนต์ระดับชาติ ชนิดไม่เหลือเค้า

แต่หากย้อนกลับมาดูธุรกิจในเครือเคพีเอ็นของเกษมและคุณหญิงพรทิพย์ ณรงค์เดช จะเห็นว่าแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด กล่าวคือ ช่วง 24 ปีที่เกษมเข้าไปรับผิดชอบบริษัท สยามยามาฮ่านั้นเขาสร้างอาณาจักรเคพีเอ็นให้ยิ่งใหญ่ขึ้นทุกวัน ปัจจุบันกลุ่มเคพีเอ็นมีบริษัทในเครือทั้งสิ้นรวมแล้วไม่น้อยกว่า 30 บริษัท (ดูตารางเครือข่ายธุรกิจของ "เคพีเอ็น" กรุ๊ป ประกอบ) มีทั้งกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งผลิตชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์และรถยนต์เป็นหลัก นอกจากนี้ยังมีกลุ่มการค้า กลุ่มบริการและกลุ่มอื่นๆ อีก ซึ่งดูจะมีทิศทางชัดเจนกว่าสยามกลการยามนี้

ประกอบกับกระแสข่าวที่ว่าพรเทพ พรประภา พยายามที่จะดึงสยามยามาฮ่ากลับไปบริหารงาน จึงเป็นตัวกระตุ้นให้ยามาฮ่า มอเตอร์ ต้องเร่งตัดสินใจว่าเขาจะเลือกใคร เพราะหากไม่ตัดสินใจอะไร มัวปล่อยให้ตาอยู่มาคว้าเอาพุงไปกิน ก็จะกระทบกระเทือนไปถึงยอดขายและภาพพจน์ของยามาฮ่าซึ่งคงต้องใช้เวลานานกว่าจะพลิกฟื้นกลับมาได้

ที่สำคัญจากในอดีต ผู้ที่สร้างชื่อ "ยามาฮ่า" ขึ้นในวงการมอเตอร์ไซค์เมืองไทยน่าจะเป็น "เกษม ณรงค์เดช" เสียมากกว่า เพราะอย่างน้อยพรเทพก็มาทีหลัง

ด้วยสายสัมพันธ์อันยาวนานกับเกษม และเมื่อต้องตัดสินใจเลือกข้างในสถานการณ์ที่กำลังร้อนระอุเช่นนี้

ยามาฮ่า มอเตอร์จึงตัดสินใจได้รวดเร็วเป็นพิเศษ



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.