|
กสิกรฯชี้ดบ.เฟดมีโอกาสแตะ5.50%
ผู้จัดการรายวัน(28 มิถุนายน 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยชี้เฟดมีโอกาสขึ้นดอกเบี้ยไปถึงระดับ 5.50% แม้ว่าจะปรับขึ้นไปแล้วในการประชุมวันที่ 28-29มิ.ย.นี้ หากแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับที่สูง โดยล่าสุดเดือนพฤษภาคมยังอยู่ในระดับ 2.4% สูงเกินขอบบนที่ 2.0% ระบุหากดอกเบี้ยเฟดปรับขึ้นกว่า 5.5% ธปท.ต้องปรับตามแน่ เพราะกระทบต่อเงินทุนไหลออก
นายพิศาล มโนลีหกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า ในการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) พรุ่งนี้ คาดว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% เป็น 5.25% หลังจากนั้นในเดือนส.ค. ก็คงยังต้องจับตาว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหรือไม่ ซึ่งหากอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ อยู่ที่ 5.25% ก็ไม่น่าจะส่งผลให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องปรับอัตราดอกเบี้ยตาม เนื่องจากเกรงว่าจะทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงมากกว่านี้
ทั้งนี้ ถ้าเฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปในระดับไม่เกิน 5.5% ก็ไม่น่าจะส่งผลต่อดอกเบี้ยนโยบายของไทย แต่หากปรับขึ้นดอกเบี้ยเกิน 5.5% ธปท.ก็คงจะต้องพิจารณาถึงผลกระทบต่อเงินทุนไหลเข้า-ออกด้วย อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าอัตราดอกเบี้ยของเฟดน่าจะอยู่ในระดับสูงสุดที่ 5.5% เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจ
ขณะที่รายงานจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินจากการออกมาแสดงความกังวลเกี่ยวกับภาวะเงินเฟ้ออย่างต่อเนื่องถี่เกินปกติของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเฟด โดยเฉพาะภายหลังการประกาศข้อมูลอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานทางด้านผู้บริโภคในเดือนพฤษภาคมที่เพิ่มขึ้นมาที่ 2.4% ซึ่งสูงเกินขอบบนที่ 2.0% ของกรอบที่เฟดจะยอมรับได้ ทำให้บ่งชี้ว่าการตัดสินใจนโยบายอัตราดอกเบี้ยของเฟดในการประชุมรอบที่ 4 ของปีในวันที่ 28-29 มิถุนายน 2549 นี้ เฟดคงจะเทน้ำหนักหลักให้กับประเด็นเรื่องแรงกดดันทางด้านเงินเฟ้อที่ยังคงมีระดับสูง
ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯอาจมีแนวโน้มเติบโตในอัตราที่ชะลอลงในช่วงที่เหลือของปี 2549 อันเป็นผลจากปัจจัยหนุนการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่กำลังจะหมดไป และผลกระทบจากการดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยเข้มงวดถึง 2 ปีของเฟดที่คงจะเริ่มปรากฏให้เห็นชัดเจนมากขึ้น แต่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% ของเฟดในการประชุมวันที่ 28-29 มิถุนายน ก็คาดว่าคงจะไม่ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ต้องเข้าสู่ภาวะถดถอย ในอีกทางการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยน่าจะเป็นผลดีเมื่อคำนึงถึงภาวะความไม่สมดุลเกี่ยวกับการใช้จ่ายที่เกินตัวของผู้บริโภคสหรัฐฯ
ดังนั้น คาดว่าจึงเฟดคงจะเลือกดำเนินนโยบายในลักษณะป้องกัน (Pre-emptive) ด้วยการเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% จาก 5.00% มาที่ 5.25% ขณะเดียวกัน ก็ไม่ได้มองข้ามโอกาสที่เฟดอาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยด้วยขนาดถึง 0.50% มาที่ 5.50% ในการประชุมรอบนี้ด้วยเช่นกัน
สำหรับผลกระทบต่อตลาดการเงินนั้น ปัจจัยสำคัญคงจะอยู่ที่ขนาดการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด และแถลงการณ์หลังการประชุม ซึ่งจะบ่งชี้ถึงมุมมองทางด้านเศรษฐกิจของเฟดและเป็นสิ่งที่ตลาดจะนำไปคาดการณ์ต่อถึงทิศทางอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ในระยะข้างหน้า โดยหากเฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% ตามที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาด เงินดอลลาร์ฯ อาจจะไม่ได้รับปัจจัยหนุนมากนัก ในทางตรงกันข้าม หากเฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแรงกว่าที่คาด และยังส่งสัญญาณว่าจะเดินหน้าปรับขึ้นต่ออีก เงินดอลลาร์ฯ ก็อาจจะมีแรงหนุนให้ปรับแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่น
ส่วนทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยนั้น นอกเหนือไปจากน้ำหนักหลักทางด้านสภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจในประเทศแล้ว หากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดมีขนาดที่มากกว่าการคาดการณ์ตามสมมติฐานของคณะกรรมการนโยบายการเงิน ก็อาจจะมีผลกระทบตามมาต่อการพิจารณาทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยในระยะข้างหน้าได้เช่นเดียวกัน
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|