Canada : The Anti-terrorism Act

โดย วรรณปราณี ศักดิ์สราญรมย์
นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

ฉบับก่อนเขียนเรื่อง Immigrants in Canada ที่ต้องการให้สังคมเห็นถึงการเข้ามามีส่วนร่วมของกลุ่มคนที่เข้ามาตั้งรกรากและเริ่มต้นชีวิตใหม่ในแคนาดา หากแต่ข่าวพาดหัวในสื่อมวลชนของแคนาดาตอนนี้กลับสวนทางกับเป้าหมายของกลุ่ม Immigrants ส่วนใหญ่ที่นี่

ต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่รัฐเข้าจับกุมผู้ต้องสงสัยในการก่อการร้ายจำนวน 17 คนที่เมืองโตรอนโต พร้อมหลักฐานวัตถุสำคัญในการทำระเบิด นั่นคือ ปุ๋ยแอมโมเนียมไนเตรต จำนวน 3 ตัน ซึ่งถือว่ามีจำนวนมากถึง 3 เท่าที่พบในผู้ก่อการร้ายเคยใช้ถล่มอาคารศาลาว่าการเมืองโอคลาโฮมาซิตี เมื่อปี 1995 ในสหรัฐอเมริกา และทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 168 คน

เป้าหมายสำคัญของกลุ่มผู้ต้องสงสัยดังกล่าวนั้น เจ้าหน้าที่รัฐตั้งข้อกล่าวหาว่า พยายามวางแผนในการก่อการร้ายในสถานที่สำคัญของเมืองโตรอนโต ซึ่งถือเป็นเมืองสำคัญทางด้านเศรษฐกิจของแคนาดา เพราะเป็นศูนย์กลางของการคมนาคม อาคาร CN Tower ที่มีระบบขนส่งมวลชนรถไฟฟ้าใต้ดินที่สามารถรองรับผู้โดยสารได้ถึง 800,000 คนต่อวัน ตลาดหลักทรัพย์และอุตสาหกรรมต่างๆ โดยเฉพาะหน่วยงานข่าวกรองทางด้านความมั่นคงของประเทศแคนาดา

เจ้าหน้าที่รัฐยังออกมาเตือนว่า อาจจะมีการจับกุมตัวเพิ่มอีก เนื่องจากทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้สอบสวนกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งที่ให้ข้อมูลว่า พวกเขาได้แรงบันดาลใจมาจากแนวความนึกคิดของเครือข่ายกลุ่มอัลกออิดะห์

ดูแล้วคล้ายกับความพยายามในแผนการก่อเหตุการร้าย 9/11 ที่เกิดขึ้นในนิวยอร์กและกรุงวอชิงตันเมื่อเดือนกันยายน 2001 ข้อมูลทางด้านเอฟบีไอของสหรัฐฯ ยังออกมายืนยันว่า ผู้ต้องสงสัยบางคนนั้นเคยเดินทางไปสหรัฐอเมริกา และมีการติดต่อสื่อสารกับกลุ่มก่อการร้ายในบางประเทศ

เจ้าหน้าที่สอบสวนของสหรัฐอเมริกากำลังมองหาความเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มผู้ที่ถูกจับกุมตัวในแคนาดา กับกลุ่มติดอาวุธต้องสงสัยชาวมุสลิมที่ถูกจับในอังกฤษ สหรัฐอเมริกา บังกลาเทศ บอสเนีย เดนมาร์ก และสวีเดน

การจับกุมผู้ต้องสงสัยดังกล่าวภายใต้กฎหมายการต่อต้านการก่อการร้ายสากลของแคนาดาหรือ The Anti-terrorism Act ที่ผ่านร่างกฎหมายอย่างเร่งด่วนหลังเกิดเหตุการณ์ 9/11 โดย Osama bin Laden ระบุว่า แคนาดาเป็นหนึ่งในประเทศเป้าหมายที่จะถูกโจมตีเช่นเดียวกับสหรัฐอเมริกา อังกฤษ สเปน และออสเตรเลีย

พรรคเสรีนิยมได้ผ่านร่างกฎหมายดังกล่าวเมื่อปลายปี 2001 และเปิดช่วงเวลาในการพิจารณาแก้ไขในอีก 5 ปี โดย Anne McLellan อดีตรัฐมนตรียุติธรรมให้ความเห็นในการผ่านร่างกฎหมายคราวนั้นว่า เป็นการสร้างความเชื่อมั่นว่า ประชาชนทุกคนควรอยู่กันร่วมกันได้อย่างปลอดภัยและบนพื้นฐานของความสงบ

ไฮไลต์ของ The Anti-terrorism Act มีเนื้อหาที่น่าสนใจว่า เจ้าหน้าที่รัฐสามารถระบุผู้หนึ่งผู้ใด หรือองค์กรใดองค์กรหนึ่งว่าเป็นผู้ก่อการร้ายได้ หรือเจ้าหน้าที่รัฐสามารถเพิ่มโทษแก่ผู้ต้องสงสัยที่เกี่ยวข้อง หรือมีกิจกรรมใดๆ กับองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการก่อการร้ายได้

เจ้าหน้าที่ตำรวจมีอำนาจในการจับกุมผู้ต้องหาในการก่อการร้าย และควบคุมได้นาน ถึง 3 วันโดยปราศจากหลักฐาน รวมทั้งสามารถใช้อุปกรณ์เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ ในการเข้าจับกุมผู้ต้องหาได้ ที่สำคัญอันหนึ่งของกฎหมายนี้ได้เพิ่มอำนาจผู้พิพากษาที่จะให้พยานที่เกี่ยวข้องกับคดีให้ปากคำ ข้อมูล หลักฐานในการพิจารณาคดี

ผลจากร่างกฎหมายการต่อต้านการก่อการร้ายครั้งนี้ทำให้เจ้าหน้าที่หน่วยความมั่นคงของแคนาดา และหลายประเทศมีความเชื่อมโยงและเกิดเส้นทางในการตอบโต้ การก่อการร้ายอย่างกว้างขวาง ดังที่มีข่าวการจับกุมผู้ต้องสงสัยในการก่อการร้ายที่ออสเตรเลีย อังกฤษ และสหรัฐอเมริกาตลอดมา

ประเด็นร้อนในรัฐสภาเกิดขึ้นทันทีภายหลังการจับกุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เนื่องจากนักการเมืองหลายฝ่าย และบรรดาผู้เรียกร้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มต่างๆ ต่างออกมาวิพากษ์วิจารณ์ และกังวลว่าจะเป็นข้ออ้างของรัฐบาลพรรคอนุรักษนิยมในการหาหนทาง ในการแก้ไขกฎหมายการต่อต้านการก่อการร้ายที่จะลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนมากขึ้นกว่าเดิม

การรายงานข่าวของสื่อมวลชนแคนาดาตามติดเข้าไปถึงห้องการพิจารณาคดี ที่ทำให้ชาวแคนาเดียนเกิดความวิตกไม่น้อย เช่น รายงานแจ้งว่าผู้ต้องหามีการวางแผนในการจับตัวนักการเมือง การข่มขู่เอาชีวิตนายกรัฐมนตรีแคนาดา เพื่อกดดันให้รัฐบาลแคนาดาถอนทหารออกจากอัฟกานิสถาน

ความหวาดผวาของนักชอปปิ้งที่ Mississauga Mall ในโตรอนโตที่เจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งให้ออกจากอาคารด่วน เนื่องจากอาจมีการก่อเหตุร้ายขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยมีกำลังตำรวจจำนวนมากเข้าเคลียร์พื้นที่ เพียงเพราะมีรถแวนที่คนขับพยายามใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในการหลีกเลี่ยงการเสียค่าปรับจากทางการ

การติดตามข่าวของคนที่นี่ไม่ต่างไปจากผู้คนในบ้านเมืองเรานัก หลายคนเปิดใจกว้างและเข้าใจว่าเป็นความพยายามของกลุ่มผู้ไม่หวังดีที่อ้างศาสนามาบังหน้า อีกจำนวนหนึ่งกังวลต่อความปลอดภัย และต้องการให้รัฐบาลดำเนินการแก้ไขอย่างเร่งด่วน

เป็นเรื่องน่ายินดีที่ชาวแคนาเดียนจำนวนไม่น้อยเล็งเห็นถึงผลการจับกุมคราวนี้เป็นประเด็นของสังคมโลกที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ สิ่งสำคัญคือการสร้างความเข้าใจ และการให้การศึกษาแก่ประชาชนส่วนรวม โดยเฉพาะเยาวชนไม่ให้ตกเป็นเครื่องมือของกลุ่มผู้ไม่หวังดี

แคนาดาได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีหลากหลายของความแตกต่างในสังคม อันสืบเนื่องมาจากผู้คนที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานนั้นต่างมีที่มาทั้งทางเชื้อชาติ ศาสนา และสังคมของตนเอง หากแต่ความต่างนั้นแทบเรียกได้ว่าไม่ก่อให้เกิดปัญหาเหมือนชาติอื่นๆ เช่นที่เกิดขึ้นในออสเตรเลีย อังกฤษ สหรัฐอเมริกา และฝรั่งเศส จนได้ชื่อว่าเป็น Multi-culture Country

ความคล้ายคลึงกันของเหตุการณ์นี้ อาจเป็นตัวอย่างหนึ่งของบ้านเราที่อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐสามารถบังเกิดผลต่อส่วนรวม หรืออาจก่อให้เกิดผลในทางตรงกันข้ามได้เสมอ ถ้าผู้รักษากฎหมายไม่คำนึงถึงข้อกฎหมาย หรือใช้ช่องว่างของเนื้อหากฎหมายในการลิดรอนพื้นฐานเสรีภาพของประชาชน ซึ่งนำไปสู่ความแปลกแยกของสังคมตามมา

หวังว่าเหตุการณ์ในการจับกุมของเจ้าหน้าที่รัฐครั้งนี้ จะไม่ก่อเหตุทำให้แคนาดาตกอันดับในความเชื่อมั่นของการเป็นประเทศที่สามารถอยู่ร่วมกันได้บนพื้นฐานของความแตกต่างกันอย่างสันติ

ข้อมูลจาก :
Canadian Press, CBC News,
CanWest News Service,
Edmonton Journal, Toronto Star


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.