"เมธา โมชดารา" คลื่นลูกที่3 ของโมชดารา72 ปีแห่งการยืนหยัดคู่ตลาดการเงินการธนาคารไทย


นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2538)



กลับสู่หน้าหลัก

หากพูดถึงตลาดเครื่องนับ-เครื่องคัดธนบัตรและเหรียญแล้ว แทบจะไม่มีใครเลยที่ไม่รู้จักชื่อของโมชดาราในฐานะที่เป็นตัวแทนจำหน่ายเครื่องนับธนบัตรของบริษัท เดอ ลา รูย์ แห่งประเทศอังกฤษ

จนปัจจุบันกล่าวได้ว่าธนาคารพาณิชย์ของไทยจะมีเครื่องนับธนบัตร และเหรียญยี่ห้อเดอลารูย์ตั้งอยู่ในสำนักงานแทบทั้งสิ้น

แต่กว่าจะมาถึงจุดนี้ของโมชดารา ยุคสมัยได้ผ่านมาถึง 3 สมัย

เริ่มตั้งแต่ปี 2465 นายมารค โมชดารา ได้ก่อตั้งบริษัท โมชดารา ขึ้นบริเวณหัวมุมของถนนสีลม-บางรัก ด้วยธุรกิจปั๊มน้ำมัน, ขายยางรถยนต์, ปะยางด้วยไฟฟ้า และตั้งเป็นโรงเรียนฝึกหัดขายของไปในตัวด้วย อีกทั้งได้เป็นผู้จัดการขายเครื่องพิมพ์อยู่อีกบริษัทแห่งหนึ่ง

ด้วยความที่มีฝีมือในทางซ่อมแซมเครื่องพิมพ์ ทำให้เจ้านายพระองค์หนึ่งนำเครื่องคิดเลขยี่ห้อ "ฟาซิท" ซึ่งสมัยนั้นยังเป็นระบบกลไกอยู่มากมาให้ซ่อม จนเกิดประทับใจในการซ่อมของนายมารค จึงได้แนะนำให้เป็นเอเย่นต์เครื่องคิดเลขนั้นเข้ามาจำหน่าย ซึ่งนอกจากเครื่องคิดเลขแล้ว ยังมีเครื่องพิมพ์ดีด, เครื่องอัดสำเนา, และอุปกรณ์อื่นๆ ของบริษัทฟาซิท ประเทศสวีเดนอีกหลายอย่าง

ต่อมานายมารคได้ย้ายบริษัทมาตั้งที่เชิงสะพานพิทยเสถียร เลขที่ 969 ถนนเจริญกรุง อันเป็นที่ตั้งของถนนโมชดารามาจนปัจจุบัน เมื่อย้ายมาที่ใหม่นี้เขาได้เพิ่มคำว่าพิมพ์ดีดท้ายชื่อเดิมเป็นบริษัทโมชดารา พิมพ์ดีดจำกัด ทำการบุกเบิกตลาดราชการด้วยการขายเครื่องใช้สำนักงานให้ ซึ่งยุคนั้นนับว่ากว่าจะขายได้ยากมากเพราะส่วนใหญ่ ตลาดจะเป็นของบริษัทคนต่างชาติทั้งสิ้น แต่เขาก็สามารถสร้างชื่อจนเป็นที่รู้จักในตลาดราชการขณะนั้นเป็นอย่างมากได้

กระทั่งเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 และนายมารคได้เสียชีวิตลงเมื่อสงครามสงบในปี 2489 โดยมีนางพุดซ้อน ภรรยาสานงานต่อ กิจการยิ่งโตขึ้นเรื่อยๆ จนสามารถเปิดโรงเรียนพิมพ์ดีดขึ้น 2 แห่ง สอนทั้งพิมพ์ดีดไทย-อังกฤษ และขวเลข พร้อมกัยเป็นเอเย่นต์เครื่องพิมพ์ดีดยี่ห้ออื่นๆ ทั้งที่ทำในสวีเดน, เยอรมนี, และสหรัฐอเมริกา และเริ่มเป็นตัวแทนจำหน่ายเครื่องนับธนบัตรของบริษัท เดอ ลา รูย์ ประเทศอังกฤษอีกด้วย

จนในปี 2503 นางพุดซ้อนได้มอบให้นายเล็ก ลูกชายทำแทน ซึ่งยุคนั้นธนาคารและสถาบันการเงินเริ่มมีบทบาทมากขึ้นในเศรษฐกิจไทย ซึ่งนายเล็กได้นำเครื่องลงบัญชียี่ห้อ "เคียนเซิล" ไปเสนอขายตามสถาบันการเงินและธนาคารด้วย จนได้รับการยอมรับไปทั่วประเทศ อีกทั้งยังได้เครื่องนับเครื่องคัดธนบัตร, เครื่องตอกเวลาทำงาน และเครื่องควบคุมเงินสด "อังเกอร์" ให้แก่ธนาคารออมสินทั่วประเทศด้วย เรียกได้ว่าเป็นยุคทองของโมชดาราพิมพ์ดีดก็ว่าได้

ต่อมานายเล็กได้ตัดคำหลังของชื่อบริษัทออกเหลือเพียง "โมชดารา" เท่านั้น และได้ขยายสาขาในต่างจังหวัด 3 แห่งคือที่เชียงใหม่, ขอนแก่น และหาดใหญ่

จากคลื่นลูกที่ 1 ยุคนายมาร์คและภรรยา มาคลื่นลูกที่ 2 ยุคนายเล็ก จนถึงคลื่นลูกที่ 3 คือนายเมธา ลูกชายนายเล็ก ที่นับเป็นอีกยุคหนึ่งที่โมชดารามีการเปลี่ยนโฉมเพื่อเข้าสู่ยุคคอมพิวเตอร์

"ผมรับช่วงต่อคุณพ่อในปี 2530 และต้องทำการปรับปรุงเพื่อเข้ายุคสมัยโดยเปลี่ยนจากเครื่องจักรกลมาเป็นคอมพิวเตอร์ พลิกโฉมจากหน้ามือเป็นหลังมือ ถือว่าเราเริ่มต้นใหม่ เรียนกันใหม่ ลงทุนกันใหม่ก็ว่าได้ สิ้นงบในการเปลี่ยนแปลงไปหลายล้านบาท" เมธา โมชดารา ผู้รับภาระหนักอึ้งในการนำโมชดาราเข้าสู่ยุคคอมพิวเตอร์ กล่าวกับ "ผู้จัดการ"

จากตึกเก่าๆ ก็ถูกปรับสภาพเป็นตึกใหม่ กว้างและตกแต่งด้วยไม้และตู้โชว์อย่างสวยงาม ระบบออฟฟิศออโตเมชั่น รวมทั้งโครงสร้างต่างๆ ได้ปรับสภาพใหม่หมด มีการบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับการซ่อม เป็นแฟ้มข้อมูลลงในระบบคอมพิวเตอร์ที่ทันสมัย รวมทั้งการติดต่อระหว่างสาขาทั้ง 3 ก็เป็นไปในระบบคอมพิวเตอร์ออนไลน์ มีการบันทึกการทำงานของช่างแต่ละคนรวมทั้งอุปกรณ์สื่อสารต่างๆ ได้ถูกนำมาใช้อย่างครบครัน

เมธาเล่าถึงการใช้สำนักงานที่บรรพบุรุษได้ค้าขายไว้โดยมาเน้นที่เครื่องนับ-คัดเหรียญและธนบัตรมากกว่า

"เพราะการแข่งขันมันเยอะและช่องทางการจำหน่ายก็มีมาก จะเห็นว่าเราสามารถหาซื้อเครื่องใช้สำนักงานเหล่านี้ได้ทุกแห่งไม่ว่าจะแม็คโครหรือห้างสรรพสินค้าทั่วไป ฉะนั้นผมจึงต้องปรับแนวทางเพื่อให้มีจุดตลาดที่แน่นอน นั่นคือ อุปกรณ์การจัดการเงินสด หรืออุปกรณ์ที่เกี่ยวเนื่องกับธนบัตรและเหรียญ"

จากตัวเลขของบริษัทปรากฏตลาดเครื่องนับ-คัด-บรรจุธนบัตรและเหรียญที่โมชดาราติดตั้งไปแล้วก็ตาม ธนาคารและสถาบันการเงินต่างๆ ทั่วประเทศมีถึง 4,000 กว่าแห่ง เป็นตลาดเอกชนมากที่สุดถึง 80% การเติบโตอยู่ระดับ 25%

"เรามีสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกันการเงินกว่า 40 ชนิดแล้ว ซึ่งล่าสุดเราจะนำปากกาตรวจธนบัตรปลอมเข้ามาจำหน่ายด้วย เป็นปากกาที่ใช้ง่ายเพียงขีดไปที่แบงก์เท่านั้น หากปลอมก็จะมีสีดำ แต่หากไม่ปลอมก็จะไม่เกิดอะไร ฉะนั้นพูดได้เลยว่าเรามีสินค้าครบครันแล้วตั้งแต่ระดับ 250 บาทไปจนถึงกว่า 10 ล้านบาท" เมธากล่าวพร้อมทิศทางของโมชดาราในอนาคตว่าจะยังคงเป็นสินค้าที่เกี่ยวกับการเงินการธนาคารต่อไป

ล่าสุดทางธนาคารแห่งชาติเขมรได้สนใจซื้อเครื่องนับ-คัดธนบัตร, เครื่องทำลายธนบัตรและอุปกรณ์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับโมชดาราแล้ว ฉะนั้นจึงกล่าวได้อีกว่าในอนาคตจะต้องบุกไปในตลาดเพื่อนบ้านแน่นอน

ครบ 72 ปีแห่งยุคสมัย มาสู่คลื่นลูกที่ 3 ในยุคเมธา เขาจะเก็บเกี่ยวการเติบโตของตลาดการเงินเสรีได้มากน้อยเพียงใด เขาจะปรับเปลี่ยนอะไรอีกหรือไม่ และตึกเลขที่ 969 จะคงอยู่ต่อไปนานเท่าใด เมธาเท่านั้นที่รู้และต้องทำโจทย์นี้ด้วยตัวเขาเอง



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.