|

NARITA Naritai
โดย
ภก.ดร. ชุมพล ธีรลดานนท์
นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
Narita International Airport เบิกฤกษ์เปิดตัวโฉมใหม่ของ Terminal 1 ไปเมื่อวันที่ 2 มิถุนายนที่ผ่านมานั้น สลัดภาพลักษณ์เก่าของสนามบินอายุ 28 ปีแห่งนี้ทิ้งไป พร้อมกับการประกาศจุดยืนใหม่ในการผันตัวไปสู่ e-Airport ชั้นนำของโลก
การสร้างสนามบินนานาชาติแห่งใหม่นอกเมืองหลวงทดแทน Haneda International Airport ที่อยู่ทางใต้ของมหานครโตเกียวในช่วงทศวรรษ 1960 นั้นดำเนินไปบนแรงเสียดทานระหว่างรัฐบาลกับกลุ่มประชาชนที่ไม่เห็นด้วยซึ่งยืดเยื้อนานถึง 12 ปี
แต่ในที่สุด New Tokyo International Airport (ชื่อเดิมก่อนเปลี่ยนเป็น Narita International Airport เมื่อปี 2004) ก็สร้างเสร็จสมบูรณ์และเปิดใช้เมื่อ 20 พฤษภาคม 1978 เป็นเสมือนประตูบ้านเปิดไปสู่ Modern Japan รับผู้มาเยือนจากทั่วโลกและกลายเป็น Air Hub ที่มีจำนวนเที่ยวบินหนาแน่นที่สุดแห่งหนึ่งของเส้นทางสัญจรระหว่าง Asia-Pacific
กระแสขับเคลื่อนพลังเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียก่อให้เกิดภาวะการแข่งขันที่ขยายตัวขึ้นทุกด้านรวมทั้งอุตสาหกรรมการบิน ยกตัวอย่างเช่น CENTRAIR ท่าอากาศยานนานาชาติล่าสุดของญี่ปุ่นที่ลอยตัวอยู่บน man-made island กลางอ่าว Ise ทางตอนใต้ของเมือง Nagoya สะท้อนมิติใหม่ของท่าอากาศยานแห่งศตวรรษที่ 21 ที่โดดเด่นด้วยการผสมผสานสุดยอดเทคโนโลยีทางวิศวกรรมเข้ากับการอนุรักษ์สภาพแวดล้อมซึ่งได้เปิดใช้ไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2005 หรือที่กำลังจะเปิดใช้ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าอย่างสนามบินสุวรรณภูมิก็ดีล้วนเป็นแรงกดดันจากภายใน และภายนอกส่งผลให้ Narita Airport ไม่สามารถหยุดนิ่งอยู่ได้แม้ว่าจะได้เปรียบในเชิงภูมิศาสตร์และมากด้วยประสบการณ์ก็ตาม
หากย้อนกลับไปดูภูมิหลังของการก่อสร้างสนามบินแล้วเป็นไปได้ยากที่จะละทิ้งสนามบินนี้ไปสร้างสนามบินแห่งใหม่ให้โอ่อ่าอลังการที่สุดในโลกซึ่งปัญหาไม่ได้อยู่ตรงนั้นหากแต่จะใช้สิ่งที่มีอยู่แล้วอย่างไร ให้เกิดประโยชน์สูงสุดมากกว่า
ด้วยเหตุนี้การปรับปรุง Narita Airport ครั้งใหญ่จึงเป็นการตกผลึกความคิดที่ลงตัวทั้งในแง่ของงบประมาณและระยะเวลาที่ใช้ สถาปัตยกรรมภายนอกของสนามบินอาจยังดูเชยและโบราณแต่ภายในอาคารโดยสารได้รับการออกแบบใหม่ในบรรยากาศที่ให้ความรู้สึกผ่อนคลายและเป็นกันเอง ซึ่งอย่างน้อยผู้โดยสารสามารถสัมผัสถึงความพิถีพิถันในการออกแบบนี้ได้จากการเลือกใช้เก้าอี้แบรนด์ Herman Miller ที่มีดีไซน์เรียบง่ายและให้ความสบาย คลายเมื่อยเมื่อได้นั่งมากกว่าจะมาคำนึงถึงแต่สนนราคาของเก้าอี้
พื้นที่ใช้สอยที่เพิ่มขึ้นกว่า 440,000 ตารางเมตร เกิดจากการสร้าง no.5 Satellite เสริมเข้าที่ South Wing ทำให้กว้างขวางขึ้น 2.4 เท่าตัวมี gate เพิ่มขึ้น 8 แห่งสำหรับเป็นประตูงวงช้างเชื่อมสู่เครื่องบิน 37 ประตูอันรวมถึงทางต่อพิเศษที่ทำเพื่อใช้เชื่อมกับเครื่อง Airbus 380 ที่จะประเดิมใช้โดย Singapore Airlines
ยิ่งไปกว่านั้น Narita Nakamise บนเนื้อที่ 3,500 ตารางเมตร เป็น duty-free ที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น อยู่ที่ชั้น 3 บริเวณ departure area ซึ่งรวบรวมเอาร้านค้าแบรนด์เนมระดับโลก อาทิ RALPH LAUREN, EMPORIO ARMANI, COACH, BVLGARI, TIFFANY และยังย่อเอา Akihabara ศูนย์รวมเครื่องใช้ไฟฟ้าปลอดภาษีให้เลือกช็อปก่อนขึ้นเครื่อง
พร้อมกันนั้นได้จัดระเบียบการบินใหม่โดยรวมสายการบินในกลุ่มเดียวกันมาไว้ใกล้กันช่วยลดความคับคั่งของการจราจรทางอากาศและเพิ่มความสะดวกในการประสานงานระหว่างสายการบิน กล่าวคือพื้นที่ North Wing ใน Termainal 1 ใช้เป็นที่ทำการของกลุ่ม Sky Team ในขณะที่ Star Alliance นำทีมโดยเจ้าบ้าน ANA จัดไว้ที่ South Wing ส่วนใน Terminal 2 เป็นกลุ่มของ One World นำทีมโดยเจ้าบ้าน JAL*
นอกจากนี้ยัง integrate เอา Domestic Terminal สำหรับสายการบิน ANA ไว้ที่ Terminal 1 และสำหรับสายการบิน JAL จัดไว้ที่ Terminal 2 อำนวยความสะดวกในการต่อเครื่องไปสู่เมืองต่างๆ ทั่วญี่ปุ่น
หัวใจสำคัญของยุทธศาสตร์พัฒนา e-JAPAN Program อยู่ที่การนำเสนอนวัตกรรมการสื่อสารล้ำสมัยมาใช้เพิ่มมาตรฐานการบริการเพื่อก้าวไปสู่ e-Airport ที่สะท้อนความเป็นประเทศผู้นำทางด้าน IT ของโลก ซึ่งจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน เช่น กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงคมนาคม บริษัทท่องเที่ยว บริษัทโทรคมนาคม บริษัทขนส่ง ที่ต้องพัฒนาไปในทางเดียวกัน
ส่วนหนึ่งที่สำเร็จเป็นรูปธรรมภายใน Terminal 1 คือระบบ CUSS (Common Use Self-Service) ของสายการบินในกลุ่ม Star Alliance ช่วยลดระยะเวลา Check In และการลดขั้นตอน security check ในการตรวจกระเป๋าเดินทางที่มีความปลอดภัยสูงด้วย EDS (Explosive Detection System) ซึ่งนอกจากจะสะดวกรวดเร็วแล้วยังลดพื้นที่ตั้งโต๊ะแยกต่างหากเพื่อเปิดกระเป๋าผู้โดยสารทีละใบ
อีกไม่นานการเดินทางไปต่างประเทศจะกลายเป็นเรื่องง่ายเพียงปลายนิ้ว ผู้โดยสารสามารถตรวจสอบข้อมูลของสายการบินจองตั๋วเครื่องบิน จองโรงแรมที่พักในต่างประเทศ รวมถึงการขอ VISA (ของบางประเทศที่จำเป็นสำหรับคนญี่ปุ่น) ได้จากอินเทอร์เน็ตบนโทรศัพท์มือถือ
เมื่อตกลงเลือกโปรแกรมการเดินทางเรียบร้อยทางบริษัทท่องเที่ยวจะส่งอีเมลมายังโทรศัพท์มือถือเพื่อยืนยันอีกครั้งก่อนจะชำระเงินผ่านทาง Internet Banking
ทันทีที่ได้รับการยืนยันจากธนาคาร e-Ticket จะถูกส่งเข้าไปเก็บไว้ที่โทรศัพท์มือถือของลูกค้าในขณะเดียวกันทางบริษัทท่องเที่ยวก็ส่งข้อมูลการเดินทางของลูกค้ารายนั้นไปยัง Immigration Authority ที่กระทรวงการต่างประเทศโดยอัตโนมัติ ก่อนวันเดินทาง บริษัทขนส่งจะมารับกระเป๋าเดินทางที่บ้าน เพื่อบันทึกข้อมูล e-Ticket ผ่าน infrared ของโทรศัพท์มือถือและออก e-Tag ติดกระเป๋า สำหรับ early check in นำไปเก็บไว้ที่สนามบิน
ดังนั้นสิ่งจำเป็นในวันเดินทางจึงเหลือเพียง carry bag, passport และโทรศัพท์มือถือ นอกจากนี้สายการบินจะคำนวณเวลา เส้นทางที่ใกล้และประหยัดที่สุดส่งเป็นอีเมลโดยอัตโนมัติไปยังผู้โดยสารอีกครั้งก่อนออกจากบ้าน
เมื่อถึงสนามบินก็สามารถตรงไปยัง Automated Check In Kiosk แล้วเข้า security gate ได้ทันทีซึ่งส่งข้อมูล e-Boarding Pass ในโทรศัพท์มือถือจะถูกส่งจาก security gate ไปยัง Immigration Authority ของสนามบิน
ในอนาคตอันใกล้เมื่อระบบทุกอย่างลงตัว ท่าอากาศยานแห่งนี้จะกลายเป็น e-Airport ที่สมบูรณ์แบบแห่งแรกในโลกและนี่ก็คือสิ่งที่ NARITA Naritai**
* ยกเว้น Air New Zealand ที่เป็นสมาชิก Star Alliance แต่ยังอยู่ที่ Terminal 2
** คำว่า Naritai ในภาษาญี่ปุ่นแปลตรงตัวได้ว่า "อยากจะเป็น"
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|