นับตั้งแต่พฤศจิกายนปี 2537 เป็นต้นมา นักบริหารเงินทุกคนแทบไม่มีใครคาดคิดว่าค่าเงินดอลลาร์
ซึ่งเป็นเงินสกุลหลักของโลกจะเสื่อมค่าได้อย่างรวดเร็วอย่างน่าใจหาย จากระดับที่กว่า
100 เยนถูกเทขายจนลงมาเหลือ 80.10 เยนต่อดอลลาร์ต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์ค่าเงินดอลลาร์
เมื่อวันที่ 10 เมษายนที่ผ่านมา
วิกฤติการณ์ค่าดอลลาร์อ่อนตัวลงครั้งนี้ส่งผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เพราะระบบอัตราแลกเปลี่ยนแปลงของไทยเป็นระบบตะกร้าเงินผูกติดกับดอลลาร์ถ้าดอลลาร์อ่อนตัวลงเมื่อเทียบกับเยน
และมาร์กค่าเงินบาทก็จะอ่อนตัวลงไปด้วย แต่ทั้งนี้เงินบาทยึดกับดอลลาร์เพียง
80% เท่านั้นจึงทำให้ค่าเงินบาทลดลงน้อยกว่า ดังนั้นโดยเปรียบเทียบแล้วจะทำให้ค่าเงินบาทแข็งขึ้นเมื่อเทียบกับค่าดอลลาร์
ตามปกติค่าเงินบาทถูกกำหนดโดยกองทุนรักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยน ที่ทำหน้าที่คำนวณสูตรกำหนดค่าเงินบาทตามน้ำหนักสกุลเงินในตะกร้าเงินทุกวัน
และจะประกาศค่าเงินบาทกลางทุกเช้าก่อนที่จะเปิดตลาดค้าเงินในประเทศ ซึ่งนับตั้งแต่ระยะเวลาที่ดอลลาร์อ่อนตัวลงอย่างต่อเนื่อง
ค่าเงินบาทแข็งตัวขึ้นมาโดยตลอดจาก 25.1 บาทต่อดอลลาร์ เดือนมกราคม และทยอยปรับตัวแข็งขึ้นตามค่าดอลลาร์ที่ทำลายสถิติค่าต่ำสุดลงมาเรื่อยๆ
จนล่าสุดวันที่ 10 เมษายน ค่าเงินบาทแข็งเป็นประวัติการณ์ที่ 24.54 บาทต่อดอลลาร์
การปล่อยให้ค่าเงินบาทมีความเคลื่อนไหวในลักษณะนี้ ทำให้หลายฝ่ายแสดงความกังวลว่าธนาคารชาติควรที่จะมีมาตรการออกมา
เพื่อช่วยเหลือเงินบาทไม่ให้แข็งขึ้นตามค่าดอลลาร์โดยการปรับสูตรตะกร้าเงินตามที่ไอเอ็มเอฟเสนอ
หรือการปรับเงินทุนสำรองทางการเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบจากวิกฤติการณ์ค่าดอลลาร์
อย่างไรก็ตาม ถ้าพิจารณาความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทตามดอลลาร์ในช่วงที่เกิดวิกฤติการณ์นั้น
จะมีข้อสังเกตว่าไม่ว่าดอลลาร์จะผันผวนรุนแรงอย่างไร เงินบาทก็ยังคงมีเสถียรภาพและค่อยๆ
ปรับตัวตามแนวโน้ม และในบางวันที่ค่าดอลลาร์อ่อนตัวลงมาเป็นจุดต่ำสุดครั้งใหม่ติดกัน
สองวันแต่ค่าเงินบาทยังคงอยู่ที่ระดับเดิม และมีการเปลี่ยนแปลงค่าเงินเพิ่มขึ้นเพียง
3-4 สตางค์เท่านั้น
ฝ่ายวิจัยบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ซิทก้าให้คำอธิบายว่า ค่าเงินบาทที่เคลื่อนไหวอยู่นี้
เป็นค่าที่ไม่แข็งตัวตามสูตรตะกร้าเงินอย่างแท้จริง แต่เป็นค่าที่ทุนรักษาระดับธนาคารชาติแทรกแซง
กำหนดให้อ่อนตัวกว่าที่ควรจะเป็น เพราะนโยบายการกำหนดค่าเงินบาทของธนาคารชาติมุ่งเน้นที่จะส่งเสริมเรื่องการส่งออกเป็นหลัก
ทั้งนี้เพราะการส่งออกเป็นพลังขับเคลื่อนที่สำคัญให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวในอัตราที่สูง
โดยจะเห็นว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจในปี 2537 อัตรา 8.5% เป็นอัตราที่ธนาคารชาติประมาณการใหม่หลังจากที่ตั้งประมาณไว้ว่าทั้งปีจะขยายตัวเพียง
7.8% ด้วยเหตุผลว่าการส่งออกขยายตัวเกินคาดจากที่ตั้งเป้าไว้ 16.7% แต่การส่งออก
ณ สิ้นปี 2537 ขยายตัวสูงถึง 19.7% มูลค่า 1,102,500 ล้านบาท
ถ้าหากการส่งออกได้รับความกระทบกระเทือนจากอัตราแลกเปลี่ยน โดยราคาสินค้าไทยแพงขึ้น
เพราะค่าเงินบาททที่แข็งกว่าดอลลาร์ และที่สำคัญถ้าหากค่าเงินบาทแข็งกว่าค่าเงินของประเทศในกลุ่มเพื่อนบ้านแถบอาเซียนด้วยกันแล้ว
จะทำให้ไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขันทางการค้ากับประเทศเหล่านี้ทันที
ดังนั้นจึงเป็นเรื่องจำเป็นที่ทุนรักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยนธนาคารชาติ
ต้องยื่นมือเข้ามาพยุงค่าเงินบาทไว้ไม่ให้ค่าเงินบาทแข็งตัวอย่างรวดเร็ว
เพราะนอกจากจะกระทบต่อการส่งออกแล้วตลาดการเงินในประเทศก้จะผันผวนแล้วยังส่งผลต่อเสถียรภาพของค่าเงินบาท
ซึ่งเป็นสิ่งที่พึงรักษาไว้เพื่อจูงใจให้มีกระแสเงินทุนไหลเข้ามาลงทุนเพื่อชดเชยเงินออมของประเทศที่มีน้อยกว่าการลงทุน
จากสถิติในวันที่ 5 มกราคม 2537 ดัชนีค่าเงินบาทแสดงการคำนวณค่าเงินบาทจากตะกร้าเงินตามสูตรจึงมีค่าเท่ากับ100
แต่ต่อมาค่าดัชนีปรับตัวลดลงต่ำกว่า 100 แสดงว่าการคำนวณค่าเงินบาทนั้นไม่เป็นไปตามสูตรตะกร้าเงินโดยมีการกำหนดค่าเงินบาทให้อ่อนกว่าค่าตามสูตรที่แท้จริง
ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการอาวุโสธนาคารแห่งประเทศไทยในฐานะผู้จัดการกองทุนรักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยนกล่าวว่า
ปัจจุบันการกำหนดค่าเงินบาทจะไม่ใช้ตามสูตรตะกร้าเงินเพียงอย่างเดียว แต่จะต้องพิจารณาการซื้อขายตราต่างประเทศในตลาดไทย
รวมทั้งภาวะเศรษฐกิจและแนวโน้มด้วย
สำหรับภาวะในขณะธนาคารชาติ แนะนำให้ผู้ที่ต้องเกี่ยวข้องกับเงินตราต่างประเทศ
ควรที่จะซื้อบริการคุ้มครองความเสี่ยงของธนาคารพาณิชย์ เพื่อป้องกันการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน
และถ้าเป็นไปได้ธุรกิจที่ไม่มีความชำนาญด้านอัตราแลกเปลี่ยน ควรที่จะกู้เป็นเงินสกุลบาทมากกว่าที่จะเห็นแก่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ต่างประเทศที่
แม้ว่าจะต่ำกว่ากู้เงินบาทครึ่งต่อครึ่งแต่ถ้าเทียบกับความเสี่ยงของความผันผวนแล้วไม่คุ้มที่จะเสี่ยง
และควรที่จะเชื่อมั่นให้มากที่สุดว่าระบบตะกร้าเงินที่ใช้อยู่ขณะนี้ลดแรงกระทบจากภายนอกประเทศได้เป็นอย่างดีที่สุดแล้ว