|
80 ปี Bang & Olufsen
โดย
สุภัทธา สุขชู
นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
การที่แบรนด์ของ Home Entertainment ซึ่งได้ชื่อว่ามีราคาแพงลิบลิ่วจะได้รับความเชื่อถือมายาวนานเกือบ 100 ปี คงไม่ได้มีจุดเด่นเพียงแค่เทคโนโลยี หรือดีไซน์เท่านั้น
เครื่องเล่น CD ดีไซน์เก๋ร่วมสมัย โปร่งใส โชว์ให้เห็นจังหวะและกลไกการเปลี่ยนเพลงจากแผ่นหนึ่งไปยังแผ่นอื่น 6 แผ่น ตั้งอยู่บนสแตนด์อะลูมิเนียม เปลี่ยนอารมณ์เครื่องใช้ให้ดูเป็นงานประติมากรรม ถัดไปไม่ไกล ทีวีจอพลาสมาสีดำขับให้เด่นด้วยกรอบอะลูมิเนียมประดับผนังห้องราวภาพเขียนศิลปิน ส่วนลำโพงสไตล์มินิมัลลิสต์ทรงกระบอกเพรียวบางถูกตั้งโชว์กลางห้อง ดูผิดวิสัยลำโพงทั่วไปที่มักถูกซ่อนให้ไกลสายตาแขก
นี่คือบรรยากาศทั่วไปที่หาดูได้ในห้องนั่งเล่นราคาแพงของสาวก Bang & Olufsen แบรนด์ผู้ผลิตสินค้า Home Entertainment System รายใหญ่จากประเทศเดนมาร์ก
แม้ราคาสินค้าจะสูงลิบลิ่ว ตัวอย่างเช่น เครื่องเล่น CD ราคาเกือบครึ่งล้าน ทีวีพร้อมเซตลำโพงราคากว่าล้าน หรือชุดลำโพงหลากหลายรูปแบบที่มีสนนราคาเริ่มต้นเหยียบ 3 หมื่นไปจนถึงเรือนแสน แต่เหตุใดสินค้าของ B&O ก็ยังได้รับความนิยมจากผู้ใช้ทั่วโลก จนสามารถสืบทอดตำนานความหรูมาได้นานร่วม 80 ปี
แนวคิดในการดีไซน์และปรัชญาในการทำงานของ B&O คือคำตอบสุดท้าย
"เวลาเปิดทีวี คุณภาพของภาพและการมองเห็นเป็นเรื่องสำคัญ แต่เวลาที่ปิดทีวี ดีไซน์ของทีวีกลายเป็นสิ่งสำคัญขึ้นมาทันที ไม่เช่นนั้นทีวีก็กลายเป็นแค่กล่องดำที่ทำลายความงามของห้อง" เป็นมุมมองของ David Lewis ดีไซเนอร์ระดับโลก หัวหน้าแผนกดีไซน์ของ B&O ที่มีต่อบทบาทของทีวีในห้องนั่งเล่น
แนวคิดที่มองว่าดีไซน์และฟังก์ชันต้องโดดเด่นไปพร้อมกัน จึงเป็นบรรทัดฐานการทำงานที่ทำให้ดีไซเนอร์และผู้เชี่ยวชาญทางด้านเทคนิคต้องร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดตั้งแต่ขั้นตอนแรกในการผลิตสินค้าใหม่ ซึ่งปรัชญาการทำงานเช่นนี้เองที่สั่งสมกลายเป็นคุณสมบัติสินค้า นั่นคือ Craftsmanship และ Integration ที่เพิ่มความเป็นอมตะให้กับ B&O มาจนทุกวันนี้
"สินค้าของเราถูกสร้างขึ้นด้วยความเข้าใจในลูกค้าของเรา พวกเป็นคนมีเงินแต่ไม่มีเวลาเพราะต้องทำงานหนักมาก พวกเขารู้ต้องการความแตกต่างและรู้ว่าตัวเองต้องการอะไร ถ้าต้องพักผ่อนอยู่บ้าน เขาก็ต้องการความสะดวกที่สุด พื้นฐานธุรกิจของเราก็คือ ทำให้โฮมเอ็นเตอร์เทนเมนต์ของเขาง่ายขึ้นและสมบูรณ์แบบขึ้นด้วย total solution จากสินค้าเรา" แคร์ล เลียง ผู้จัดการทั่วไป รีเทลและการตลาด เอเชียแปซิฟิก บริษัทแบงแอนด์โอลูฟเซ่น กล่าวในวันแถลงข่าวครบรอบ 80 ปีที่สยามพารากอน
ลำโพง BeoLab 5 ที่ออกแบบตั้งแต่ 3 ปีก่อน ได้นำเทคโนโลยี Acoustic Lens Technology ที่ให้เสียงราวกับยกวงออร์เคสตรามาเล่นที่บ้าน หรือ Adaptive Bass Control เทคโนโลยีแก้ปัญหาคุณภาพเสียง ระดับเสียง bass เสียงคมชัด และตำแหน่งจัดวางที่อาจทำให้เสียงไม่สม่ำเสมอ โดยลำโพงจะส่งสัญญาณไปวัดขนาดห้อง วัสดุกรุผนัง เฟอร์นิเจอร์ในห้อง เพื่อคำนวณหาแรงสั่นสะเทือนในแต่ละทิศทาง เพื่อให้เกิดระดับเสียงชัดเจนและสม่ำเสมอเท่ากันทั่วห้อง
BeoVision 6 ทีวีแอลซีดีที่มีเครื่องเล่นดีวีดี built-in มาพร้อมกับเทคโนโลยี anti-reflection ซึ่งช่วยลดปัญหาหน้าจอสะท้อนแสงไม่ว่าจะดูในช่วงเวลาแสงใดก็ตาม ในตัวเครื่องยังมีลำโพงคุณภาพเสียงชั้นดี built-in อยู่ที่ฐาน หลายรุ่นมี Dolby digital & surround sound system ซึ่งเป็นระบบเสียงที่นิยมใช้ในโรงหนัง ช่วยเติมเต็มอารมณ์โฮมเธียเตอร์ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
เหล่านี้คือโซลูชั่นที่เป็นผลิตผลทางความคิดของ B&O ที่ต้องผ่านการระดมสมองจากดีไซเนอร์ตั้งแต่ 5-10 คน ร่วมกับช่างเทคนิคและผู้เกี่ยวข้องในการทดลองระบบอีกนับร้อย
กว่าจะออกมาเป็นสินค้าใหม่แต่ละชิ้น B&O ต้องอาศัยการวิจัยจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นวิจัยทางด้านเทคโนโลยีด้านดีไซน์ ยังรวมถึงการศึกษาและวิเคราะห์พฤติกรรมตลาด ซึ่งผลการวิจัยทั้งหมดจะต้องผสมกันออกมาเป็นสินค้าใหม่ที่ "breakthrough" ทางด้านดีไซน์ เทคโนโลยี และพฤติกรรมการใช้งานของผู้บริโภคที่ช่วยให้ง่ายขึ้น
เช่น BeoSound 9000 เครื่องเสียงที่โชว์ให้เห็นซีดีพร้อมกัน 6 แผ่น ซึ่งช่วยให้ผู้ใช้ไม่ต้องเปลี่ยนแผ่นบ่อยๆ บวกกับความไม่เห็นด้วยของเดวิดเมื่อ 10 กว่าปีก่อน ที่ว่าเครื่องเล่นมักซ่อนแผ่นซีดีไว้ และผลศึกษาพบว่า คนส่วนใหญ่จะมีเพลงโปรดไม่มาก และแต่ละครั้งมักฟังเพลงไม่เกิน 5-6 แผ่น แต่ถึงกระนั้น BeoSound 9000 ก็ยังสามารถเก็บเพลงในหน่วยความจำได้มากถึง 200 แผ่น รวมถึงต่อเข้า PC และเป็นวิทยุได้ด้วย
"ผู้ผลิตหลายรายมุ่งผลิตสินค้าที่เน้นเทคโนโลยีสมัยใหม่ แข่งกันออกสินค้าให้เร็วกว่าและบ่อยกว่า หลายครั้งที่ปรับปรุงเพียงเล็กน้อยแล้วก็รีบออกรุ่นใหม่ โดยลืมไปว่าสิ่งที่ปรับไม่ได้ทำให้คุณสมบัติสินค้าดีขึ้น แต่ B&O เราใช้ระยะเวลาวิจัย สำรวจ ค้นหาจนกว่าจะพบ feature ใหม่ที่ลูกค้าต้องการจริงๆ แล้วพัฒนาดีไซน์และเทคโนโลยีขึ้นมาเป็นสินค้าใหม่ ซึ่งทำให้สินค้าเรามี lifespan ที่นาน" แคร์ล เลียง ให้ความเห็น
อาจดูเหมือนเป็นข้ออ้างแต่ก็ให้เหตุผลที่ B&O ออกสินค้าใหม่ได้เพียง 5 ชิ้นต่อปี พร้อมกับสะท้อนจุดยืนที่แตกต่างกับ Sony, Samsung, Panasonic, Toshiba และแบรนด์เครื่องเสียงอื่นได้ดีทีเดียว
อีกจุดเด่นของ B&O คือการผนวก ไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ ที่หนีไม่พ้นวิถีชีวิตออนไลน์เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในประสบการณ์ดูหนังฟังเพลง โดยเครื่องเสียงรุ่นหลังๆ ของ B&O นอกจากฟังวิทยุ FM/AM ได้แล้ว ทุกเครื่องยังเชื่อมต่อกับ PC โหลดเพลงจากอินเทอร์เน็ต ก๊อบปี้ไฟล์จากฮาร์ดดิสก์ แผ่นซีดี หรือ MMC และ SD card ได้หลายพันเพลง
ความโดดเด่นและร่วมสมัยทั้งด้านดีไซน์และฟังก์ชันการใช้งาน ทำให้ผู้รักเครื่องเสียงพากันหลงใหล B&O จากเดนมาร์ก กระจายไปทั่วยุโรปแล้วข้ามฝั่งไปโด่งดังในอเมริกา และกระจายมาเอเชียและทั่วโลก
โรงแรมหรูหลายแห่งในยุโรปและเครือใหญ่อย่าง Starwood เลือกใช้สินค้า B&O เพื่อเพิ่มความหรูเป็นพิเศษ และสินค้าหลายตัวของ B&O ยังเข้าไปอยู่ในพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัย (Museum of Modern Art) ในมหานครแห่งศิลปะและแฟชั่นอย่างนิวยอร์กอีกด้วย
"ปัญหาในโลกที่เต็มไปด้วยการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยี ก็คือมีเทคโนโลยีมากมายให้เราได้เลือกใช้เกินความต้องการ บ่อยครั้ง แทนที่เทคโนโลยีเหล่านั้นจะช่วยทำให้ชีวิตง่ายขึ้น มันกลับทำให้สับสนขึ้นไปอีก" เดวิดให้ความเห็น ก่อนจะถึงข้อสรุป "โลกยุคนี้ เราควรกลับไปสู่ไอเดียดั้งเดิม ทำให้ง่าย แล้วก็ลบ technology mess ออกให้หมด"
ทั้งหมดนี้ก็คือวิถีทางที่ทำให้ B&O ยืนหยัดข้ามยุคสมัยมาได้อย่างภาคภูมิบนปรัชญา พื้นฐานที่ว่า "B&O is for those who consider taste and quality before price"
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|