ชีวิตกับตัวเลข

โดย สุภัทธา สุขชู
นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

ก่อนที่ปรารถนาจะเริ่มทำงานที่ต้องเกี่ยวข้องกับตัวเลข เงินๆ ทองๆ แต่ญาณศักดิ์กลับมีประสบการณ์ใกล้ชิดกับเรื่องนี้มาแทบจะเรียกได้ว่าตั้งแต่เกิดเลยทีเดียว

ญาณศักดิ์เป็นลูกคนที่ 4 ในครอบครัวชาวจีนที่มีลูกรวมกัน 12 คน บิดาของเขามีภรรยา 2 คน โดยตัวเขาเป็นลูกภรรยาคนแรก และมีพี่น้องร่วมท้อง 9 คน ด้วยความที่เป็นครอบครัวใหญ่ ชื่อสกุลจึงแตกเป็น 2 สาย คือ มโนมัยพิบูลย์ และมโนมัยวิบูลย์

ปู่ของญาณศักดิ์เริ่มสร้างตัวจากกิจการโรงรับจำนำ โดยมีบิดาของเขาเป็นผู้ช่วยขยายกิจการจนใหญ่เพียงพอที่ปู่จะแบ่งสมบัติให้ลูกๆทุกครอบครัวแยกกันออกไปตั้งตัว โดยบิดาของญาณศักดิ์ออกมาทำธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ก่อนเปิดกิจการร้านขายทองในเวลาต่อมา

ตั้งแต่อยู่ชั้นประถมปีที่ 5 ที่โรงเรียนเซนต์คาเบรียล ญาณศักดิ์มักวุ่นอยู่กับการช่วยงานในโรงรับจำนำของปู่ พออายุได้ 15-16 ปี ทั้งเขาและพี่น้องมักใช้วันหยุดช่วยพ่อทำงานหน้าไซต์งานก่อสร้าง บางครั้งหากพ่อไม่ว่าง เขาจะคอยตรวจรับวัสดุก่อสร้าง หรือหิ้วเงินไปจ่ายค่าแรงคนงานแทนพ่อ

จนปี 2527 ขณะที่ยังเรียนอยู่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รัฐบาลโดยสมหมาย ฮุนตระกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังประกาศลดค่าบาท ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างของบิดาประสบปัญหาถึงขั้นต้องตัดสินใจปิดกิจการ

แม้ทางบ้านจะลำบาก แต่ด้วยเหตุที่ญาณศักดิ์ไม่เคยใช้ชีวิตกินเที่ยวเหมือนเด็กวัยรุ่นทั่วไป เพราะเป็นนักกีฬาบาสเกตบอลโรงเรียนมาตั้งแต่ชั้นประถมจนถึงในรั้วจุฬาฯ ญาณศักดิ์จึงไม่รู้สึกเดือดร้อนมากนักเพราะไม่มีค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นด้านอื่น

ตั้งแต่เด็กญาณศักดิ์ฝันอยากมีธุรกิจส่วนตัว ระหว่างเรียนวิศวะที่จุฬาฯ บิดาเริ่มเปิดร้านขายทอง เมื่อเรียนจบด้วยเกียรตินิยมอันดับ 2 แทนที่จะร่วมงานกับปูนซิเมนต์ไทยซึ่งเรียกตัวเขามาแล้วในทันที ญาณศักดิ์ตัดสินใจลองไปทำงานในร้านทองของพ่อซึ่งยังคงเป็นธุรกิจกงสี แต่ทำได้ไม่นานเขาก็เริ่มเอ่ยปากขอปันพื้นที่เล็กๆ ตรงหัวมุมภายในร้าน เพื่อเปิดเป็นร้านขายทองของตนเองขึ้นมาอีกแห่งหนึ่ง โดยชักชวนญาติพี่น้องอีก 2-3 คนมาช่วยกันทำ

หลังใช้เวลา 3 เดือน วางระบบบัญชีให้ร้านทองที่ตั้งขึ้นเอง ญาณศักดิ์จึงเริ่มทำงานที่ฝ่ายการตลาด บริษัทปูนซิเมนต์ไทย แต่ยังเข้ามาดูแลร้านทุกวันหยุด ว่าไปแล้วธุรกิจของเขาไปได้ค่อนข้างดี เพราะรายได้ที่มาจากร้านนี้คือทุนที่ญาณศักดิ์ใช้ส่งเสียน้องชายอีก 2 คนให้เรียนจนจบหมอ

ส่วนปรารถนาเป็นลูกสาวคนสุดท้องของ ศ.นพ.กำจัด มงคลกุล เธอมีพี่ชาย 2 คน โดยคนกลางซึ่งเธอสนิทสนมที่สุด คือปัณฑิต มงคลกุล ปัจจุบันเป็นผู้ช่วยปริญญ์ จิราธิวัฒน์ CFO ของเซ็นทรัล กรุ๊ป

เธอจบชั้นมัธยมปลายจากโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ เรียนต่อปริญญาตรีคณะบริหารธุรกิจและการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หลังเรียนจบจึงเข้าทำงานกับ USAID ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งขององค์การสหประชาชาติ และเรียน MBA ที่ธรรมศาสตร์ไปพร้อมๆ กัน

ในชั้นเรียน MBA คือที่ที่เธอได้พบกับญาณศักดิ์ ซึ่งปูนซิเมนต์ไทยส่งเข้ามาเรียน ก่อนจะได้รับทุนไปเรียน MBA ต่อที่มหาวิทยาลัยอินเดียนา วิทยาเขตบูมมิงตัน สหรัฐอเมริกา ในอีก 1 ปีต่อมา

ทั้งคู่แต่งงานกันเพียงไม่กี่เดือนก่อนที่ญาณศักดิ์จะบินไปเรียนต่อสหรัฐอเมริกา โดยปรารถนาตัดสินใจพักการเรียนปริญญาโทไว้ชั่วคราว เพื่อไปอยู่ด้วย

เมื่อกลับมาเมืองไทย ญาณศักดิ์เข้าทำงานต่อที่ปูนซิเมนต์ไทย ก่อนย้ายข้ามวงการมาอยู่กับบริษัทหลักทรัพย์เจเอฟ ธนาคม และบริษัทหลักทรัพย์บัวหลวง

ส่วนปรารถนากลับเข้าเรียนต่อปริญญาโทจนจบ และเริ่มทำงานในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายบัญชีและการเงิน บริษัทไทยอินเตอร์แอร์พอร์ต ก่อนย้ายมาอยู่กับเซ็นทรัลพัฒนา และไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จนได้รับโปรโมตขึ้นเป็น CFO เมื่อปี 2541


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.