Inside เรื่องเงินๆ ทองๆ ของครอบครัวนักการเงิน

โดย สุภัทธา สุขชู
นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

เมื่อชีวิตทำงานของทั้ง ญาณศักดิ์ และปรารถนา มโนมัยพิบูลย์ ต้องคร่ำเคร่งอยู่กับตัวเลขตลอดเวลา จึงน่าสนใจว่าทั้งคู่มีมุมมองในเรื่องเงินๆ ทองๆ อย่างไร

เชื่อว่าหลายคนคงเคยตั้งคำถามอยู่ในใจกันบ้างล่ะว่า เมื่อญาณศักดิ์ และปรารถนา มโนมัยพิบูลย์ เลิกงานกลับบ้านในแต่ละวันนั้น ทั้งคู่เคยคุยเรื่องตัวเลข เงิน ทอง ตลาดหุ้นกันบ้างหรือไม่

เพราะตลอดชั่วโมงทำงานของแต่ละวันนั้น ทั้งเขาและเธอต้องใช้สมองและเวลาส่วนใหญ่ครุ่นคิดในเรื่องเหล่านี้ เพราะเป็นงานประจำที่ทั้งคู่เลือก

ครอบครัวของญาณศักดิ์และปรารถนา สามารถเรียกได้เต็มปากว่าเป็นครอบครัวนักการเงิน

ญาณศักดิ์เป็นกรรมการผู้อำนวยการ (President) ของบริษัทหลักทรัพย์บัวหลวง (BLS) แขนขาสำคัญในธุรกิจหลักทรัพย์ของธนาคารกรุงเทพ ซึ่งถือหุ้นใหญ่อยู่ในบริษัทหลักทรัพย์แห่งนี้ถึง 56.34% (ณ วันที่ 27 เมษายน 2549) นอกจากนี้ยังเป็นโบรกเกอร์ที่มีส่วนแบ่งการตลาด มูลค่าการซื้อขายหุ้นในแต่ละวันติด 1 ใน 10 อันดับแรก

ส่วนปรารถนาเป็นกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน (CFO) ของบริษัทไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล (MINT) บริษัทในเครือไมเนอร์ กรุ๊ป ที่ดูแลธุรกิจด้านโรงแรมและอาหาร

ทั้ง BLS และ MINT เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ในแง่ความรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้น ทั้งญาณศักดิ์และปรารถนาในฐานะผู้บริหาร มีภาระต้องดูแลสินทรัพย์รวมถึง 18,502.29 ล้านบาท และยอดรายได้รวม 11,267.78 ล้านบาท (ณ วันที่ 31 มีนาคมที่ผ่านมา BLS มีสินทรัพย์รวม 2,413.80 ล้านบาท ส่วน MINT มีสินทรัพย์รวม 16,088.49 ล้านบาท และ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2548 BLS มีรายได้รวม 824.94 ล้านบาท ส่วน MINT มีรายได้รวม 10,442.84 ล้านบาท)

แต่ในฐานะส่วนตัว นโยบายทางการเงินภายในครอบครัวของทั้งคู่มีข้อตกลงกันอย่างชัดเจนว่าต้องจัดการแบบแยกกระเป๋ากันอย่างเด็ดขาด เหตุเพราะทั้งคู่ต่างก็มีงานทำ

ปรารถนาเคยพูดทีเล่นทีจริงว่า แม้ว่าตำแหน่งงานในบริษัท เธอเป็น CFO แต่ถ้าภายในบ้านแล้ว เธอเป็น CEO

ทุกวันนี้ครอบครัวญานศักดิ์และปรารถนามีค่าใช้จ่ายหลักคือ การวางอนาคตทางการศึกษาให้กับปูรณ์ ลูกชายคนเดียววัย 15 ปี และบ้านอีก 1 หลังที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง

บ้านหลังนี้ถือเป็นการลงทุนก้อนใหญ่ของทั้งคู่ ในการสร้างสินทรัพย์ถาวรให้กับลูกชายคนเดียว ซึ่งกำลังเรียนอยู่ (อ่านรายละเอียดในล้อมกรอบ "ความหวังในอนาคต")

ภาระการดูแลค่าใช้จ่ายเหล่านี้ดูเหมือนจะตกหนักอยู่ที่ญาณศักดิ์มากกว่าปรารถนา

"เราไม่เคยคุยกันเรื่องเงินเลย เพราะแยกกระเป๋ากันเด็ดขาด เรื่องนี้เราจึงไม่ยุ่งกัน แต่ตอนนี้มีเรื่องบ้าน ค่าใช้จ่ายก็ค่อนข้างใหญ่ เลยต้องมาคุยกันล่ะ คุณญาณศักดิ์บอกว่าตอนนี้ยังไหว ก็ให้รับผิดชอบไปก่อน" ปรารถนาเล่ากับ "ผู้จัดการ"

แต่เหตุผลสำคัญน่าจะมาจากบุคลิกส่วนตัวของญาณศักดิ์ที่เป็นคนมัธยัสถ์ชนิดหาตัวจับยาก ผิดกับปรารถนา

ว่ากันว่าสมัยที่ทั้งคู่แต่งงานกันใหม่ๆ และไปใช้ชีวิตอยู่ที่สหรัฐอเมริกา ญาณศักดิ์มักตัดคูปองลดราคาที่ห้างสรรพสินค้าต่างๆ มักนำมาลงโฆษณาไว้ตามหน้าหนังสือพิมพ์เก็บไว้ จนเมื่อถึงเวลาที่จะต้องไปจับจ่าย ก็จะนำคูปองเหล่านี้ไปใช้เป็นส่วนลด

"บางทีซื้อของ เราก็ไม่เคยดูหรอกว่าราคาเท่าไร จะซื้ออะไรก็หยิบใส่ๆ ทางเขาก็หยิบออกๆ ไปเอาที่มันลดราคามาใส่แทน" ปรารถนาบอก

เธอวิเคราะห์ค่าใช้จ่ายของสามีในแต่ละเดือนให้ "ผู้จัดการ" ฟังว่า เมื่อหักค่าใช้จ่ายประจำรวมกับเงินที่ญาณศักดิ์ต้องส่งให้มารดาทุกเดือนออกไปแล้ว เขาน่าจะมีวงเงินใช้จ่ายจริงๆ ตกเดือนละประมาณ 5,000 บาท เท่านั้น

"ตั้งแต่อยู่กันมา ไม่ค่อยเห็นเขาจะซื้ออะไรเลย นอกจากของกิน เพราะคุณญาณศักดิ์ เป็นคนชอบกิน"

ส่วนญาณศักดิ์บอกถึงเรื่องเดียวกันว่า วงเงินค่าใช้จ่ายจริงๆ ของเขาตกประมาณ 20% ของเงินเดือนที่ได้รับ ส่วนที่เหลือจะเก็บออมไว้ในรูปต่างๆ ตามสภาพตลาดแต่ละช่วง

"อย่างช่วงนี้ตลาดหุ้นไม่ค่อยดี อาจต้องลดน้ำหนักการลงทุนตรงนี้ลงมาบ้าง เพื่อหันไปดูตราสารหนี้ซึ่งดอกเบี้ยค่อนข้างสูง"


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.