An Oak by the window...No Free Lunch

โดย ธวัชชัย อนุพงศ์อนันต์
นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

สำหรับหลายๆ คนที่ติดตามความเคลื่อนไหวของวงการอินเทอร์เน็ตและไมโครซอฟท์ รวมถึงกลุ่มพันธมิตรที่ไม่เอาไมโครซอฟท์ อาจจะคุ้นกับ "โอเพ่นซอร์ส (Open Source)" ในช่วงหลายๆ ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในช่วงที่บรรยากาศของการไม่เอาไมโครซอฟท์ขึ้นถึงจุดสูงสุดซึ่งเป็นที่มาของโอเอสประเภทโอเพ่นซอร์สโดยเฉพาะอย่างยิ่งลีนุกซ์ (Linux) และบราวเซอร์ทางเลือกอย่างไฟร์ฟอกซ์ (Firefox)

โอเพ่นซอร์สเป็นการทำให้การสร้างซอฟต์แวร์ขึ้นมา รวมถึงการขยาย, เพิ่มเติม หรือจัดการอะไรอีกมากมายกับซอฟต์แวร์นั้นขึ้นอยู่กับการสนับสนุนของโปรแกรมเมอร์มากหน้าหลายตาจำนวนมาก โดยโปรแกรมที่เป็นผลจากการทำงานร่วมกันนั้นจะไม่มีใครเป็นเจ้าของที่ชัดเจน และทุกคนมีสิทธิ์ที่จะเข้ามาใช้ได้โดยไม่ต้องเสียเงิน สิทธิ์เพียงหนึ่งเดียวที่ซอฟต์แวร์นี้รักษาไว้ก็คือ การคงไว้ซึ่งการที่ทุกคนสามารถนำไปใช้งานและปรับปรุงดัดแปลงได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ

โอเพ่นซอร์สจริงๆ แล้วไม่ได้หมายความเฉพาะถึงเรื่องซอฟต์แวร์เท่านั้น ยังครอบคลุมไปถึงสูตรยา, การตัดต่อทางพันธุกรรม, สารสนเทศชนิดต่างๆ และสิ่งประดิษฐ์อีกมากมาย โอเพ่นซอร์สจริงๆ จึงเป็นเรื่องกว้างขวางและลึกซึ้ง โอเพ่นซอร์สมีส่วนในพัฒนาการทางเทคโนโลยีของโลกมาอย่างยาวนานแม้ประเด็นเรื่องลิขสิทธิ์และสิทธิบัตรจะเพิ่งได้รับความสนใจในระยะหลังนี้ก็ตาม

การเติบโตแบบก้าวกระโดดของเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลหรือพีซี ก็มีสาเหตุมาจากการเปิดให้ข้อมูลเกี่ยวกับตัวเครื่องและซอฟต์แวร์ที่ใช้ในเครื่องไอบีเอ็มพีซียุคแรกๆ เป็นโอเพ่นซอร์สเช่นกัน ในเมื่อทุกอย่างเปิดฟรีให้ทุกคนได้ศึกษา, ทำความเข้าใจ และลอกเลียนแบบ กอปรกับในเวลานั้นอุปสงค์ ต่อเครื่องพีซีมีสูงมากจนทำให้ไอบีเอ็มเองไม่สามารถตอบสนองอุปสงค์ได้อย่างเพียงพอ การเปิดช่องว่างของตลาดให้ผู้ผลิตหน้าใหม่เข้าสู่วงการจึงไม่ใช่เรื่องน่าห่วงเท่าไรนัก นั่นรวมถึงหน้าใหม่ในตอนนั้นอย่างเดลล์ (Dell) แม้ภายหลังไอบีเอ็มจะพบว่าส่วนแบ่งตลาดของตนเริ่มลดลงและเริ่มที่จะสร้างกำแพงกีดกันผู้เข้าสู่ตลาดใหม่ๆ บ้าง แต่ก็สายเกินไปแล้ว อานิสงส์จากโอเพ่นซอร์สของไอบีเอ็ม ทำให้วงการคอมพิวเตอร์พัฒนาก้าวหน้ารวดเร็วที่สุดเมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์ทางด้านเทคโนโลยีอื่นๆ ซึ่งส่งผลถึงพัฒนาการของอินเทอร์เน็ตด้วย ในขณะที่เดลล์กลายมาเป็นผู้ผลิตเครื่องพีซีอันดับหนึ่งของโลกไปแล้วในปัจจุบัน ส่วนไอบีเอ็มตัดสินใจขายส่วนงานพีซีให้แก่เลโนโวของประเทศจีนไปในที่สุด

คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ โอเพ่นซอร์สมีประโยชน์อะไรสำหรับผู้ที่คิดค้นผลิตภัณฑ์แล้วเปิดโอกาสให้คนอื่นๆ เข้ามาดูรายละเอียดการทำงานทุกสิ่งทุกอย่างทั้งๆ ที่มนุษย์ผู้ยังคงไว้ซึ่งกิเลสน่าจะหวงไว้หาประโยชน์แต่เพียงผู้เดียว

หนทางสร้างรายได้ของโอเพ่นซอร์สในวงการผู้พัฒนาซอฟต์แวร์มีหลายทาง ทางหนึ่งเรียกว่า Dual License Strategy ซึ่งเป็นการสร้างซอฟต์แวร์ขึ้นมาสองเวอร์ชั่น เวอร์ชั่นแรกเป็นโอเพ่นซอร์สให้ทุกคนสามารถ นำเอาซอร์สโค้ดไปใช้ประโยชน์ได้ ส่วนอีกเวอร์ชั่นหนึ่งสำหรับขาย โดยทั้งสองเวอร์ชั่น ก็ต่างพึ่งพาอาศัยกัน โดยเจ้าของซอร์สโค้ดตัวจริงสามารถอาศัยไอเดียต่างๆ ที่เกิดขึ้นเพื่อนำมาพัฒนาเวอร์ชั่นสำหรับขายเพื่อสร้างรายได้ให้แก่ตน Red Hat ซึ่งเป็นลีนุกซ์ประเภทหนึ่งเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนโดยพัฒนาเวอร์ชั่นโอเพ่นซอร์สเรียกว่า Fedora และเวอร์ชั่นเพื่อขายเรียกว่า Red Hat Enterprise Linux

Cell Phone Strategy เป็นแนวทางที่ยืมแนวคิดการทำการตลาดของบริษัทโทรศัพท์มือถือ ที่จะแจกเครื่องฟรีเพื่อแลกกับการทำสัญญาเพื่อใช้งานเครือข่ายของลูกค้า ซึ่งเป็นรายได้ที่สูงกว่ากำไรส่วนต่างของการขายโทรศัพท์มือถือหลายเท่าตัว มิดเดิ้ลแวร์อย่าง JBoss เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนซึ่ง JBoss มีลูกค้าซื้อบริการสนับสนุนการใช้งานจำนวนมาก

การสร้างเครือข่ายพาร์ตเนอร์หรือที่เรียกว่า Ecosystem Strategy แม้จะเป็นแนวทางเก่าๆ ที่บริษัทยักษ์ใหญ่มากมายใช้มานานแล้วเพื่อการผูกขาดตลาดอย่างสมบูรณ์ แต่แนวทางนี้จะเป็นยุทธศาสตร์เสริมเพื่อทำให้การสร้างผลกำไรของโอเพ่นซอร์สยั่งยืนยิ่งขึ้น Red Hat ร่วมกับพาร์ตเนอร์อย่างออราเคิล (Oracle) เพื่อครองตลาดฐานข้อมูลบนลีนุกซ์อย่างสมบูรณ์แบบ

สำหรับประโยชน์ที่เกิดแก่ผู้บริโภคคงไม่ต้องพูดถึงกัน เพราะทุกวันนี้มีประจักษ์พยานที่เป็นผลิตผลจากโอเพ่นซอร์สมากมาย สองในสามของเว็บไซต์ล้วนอาศัย Apache เป็นเว็บเซิร์ฟเวอร์ วิกิพีเดีย (Wikipedia) สารานุกรมบนอินเทอร์เน็ตที่ได้รับความนิยมอย่างสูงและมีผู้เข้าไปอ่านในแต่ละวันมากกว่าเว็บไซต์ของหนังสือพิมพ์ที่ทรงอิทธิพลอย่างสูงอย่างนิวยอร์กไทม์ (New York Times) เสียด้วยซ้ำ ซึ่งวิกิพีเดียก็อาศัยความร่วมมือร่วมใจกันของประชาชนทั่วโลก นอกจากนี้ยังมีโครงการนำร่องเพื่อพัฒนายาเพื่อช่วยรักษาโรคในประเทศยากจนทั่วโลกด้วยเช่นกัน

จึงอาจจะกล่าวได้ว่า โอเพ่นซอร์ส สำหรับผู้ประกอบการธุรกิจแล้วเป็นทั้ง "โอกาส" และ "การคุกคาม" ที่เกิดขึ้นในเวลาเดียวกัน

นอกจากนี้ประเด็นสำคัญอีกข้อที่เกิดขึ้นก็คือ ไม่มีการประกันว่าโอเพ่นซอร์สนั้นๆ จะยั่งยืนเพียงไรและการสร้างนวัตกรรมที่เกิดขึ้นจะก้าวหน้าไปทางใด เนื่องจากมันเป็นโอเพ่นซอร์สทำให้ไม่มีใครสามารถแน่ใจว่าคุณภาพของผลิตภัณฑ์นั้นๆ จะเป็นอย่างไรในอนาคต การกำหนดลิขสิทธิ์หรือสิทธิบัตรน่าจะเป็นแรงจูงใจที่ดีกว่า นอกจากนี้ยังมีความเป็นห่วงเป็นใยเกี่ยวกับการนำโอเพ่นซอร์สไปใช้ในทางที่ผิด เช่นกรณีที่เกิดกับวิกิพีเดียในการเขียนวิพากษ์วิจารณ์คนอื่นหรือ การให้ข้อมูลที่ผิดๆ ซึ่งประธานาธิบดีบุชเองก็เคยถูกผลกระทบมาแล้ว

หนทางหนึ่งในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในวงการซอฟต์แวร์คือ การปรับปรุง GPL (General Public License) ซึ่งเป็นเอกสารทางกฎหมายเพื่อรับรองการมีอยู่ของซอฟต์แวร์แจกฟรีทั้งหลาย การปรับปรุงนี้จะทำให้ลิขสิทธิ์หรือไลเซนส์นี้สามารถจัดการเกี่ยวกับเรื่องสิทธิบัตรและบริการออนไลน์ได้ นอกจากนี้ความสำเร็จที่เกิดขึ้นแก่โอเพ่นซอร์สเนื่องจากหลายๆ คนเห็นแล้วว่าโอเพ่นซอร์สไม่ใช่เรื่องเด็กเล่นอีกต่อไป นั่นทำให้โครงการโอเพ่นซอร์สหลายๆ โครงการเริ่มจัดระบบการบริหารจัดการในแบบเดียวกับที่บริษัทต่างๆ ทำกัน เช่นเดียวกับการเขียนซอฟต์แวร์ก็ไม่ได้อาศัยแกนหลักที่เป็นอาสาสมัครอีกแล้ว แต่เป็นกลุ่มคนจ้างมาโดยบริษัทที่มองว่าสามารถจะหาประโยชน์จากซอฟต์แวร์นี้ได้ นั่นทำให้โครงการโอเพ่นซอร์สที่ไม่สามารถรับความ เสี่ยงที่เกิดขึ้นกับโครงการโอเพ่นซอร์ส ทั่วๆ ไปได้ต้องยุติหรือยกเลิกไปในที่สุด ซึ่งเห็นได้จากโครงการโอเพ่นซอร์สกว่า 130,000 โครงการที่แสดงไว้ใน SourceForge.net ซึ่งเป็นฮับของโครงการซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สทั่วโลก นั้น มีเพียงไม่กี่ร้อยโครงการที่ยังคงดำเนินการอยู่ และไม่กี่โครงการที่สามารถ กลายเป็นซอฟต์แวร์ที่ใช้ประโยชน์ได้

สำหรับโครงการโอเพ่นซอร์สที่เรียกว่าประสบความสำเร็จ และสร้างความหวั่นไหวให้กับผลิตภัณฑ์ที่ต้องเสียเงินทั้งหลายที่เด่นๆ ก็มี เช่น

ไฟร์ฟ็อกซ์ บราวเซอร์ คู่แข่งของไออี (Internet Explorer) ของไมโครซอฟท์ที่มีส่วนแบ่งตลาดในสหรัฐอเมริกา 14 เปอร์เซ็นต์ และในยุโรป 20 เปอร์เซ็นต์ โดยไฟร์ฟ็อกซ์ พัฒนาขึ้นจากซากศพของซอร์สโค้ดของเนสเคป (Netscape) ซึ่งเคยพ่ายแพ้สงครามบราวเซอร์ให้แก่ไออีมาก่อนหน้านี้ ทุกวันนี้มูลนิธิ Mozilla เป็นคนดูแลโค้ดและจ้างนักพัฒนาซอฟต์แวร์มาช่วยเขียนเต็มเวลาจำนวนมาก

MySQL เป็นซอฟต์แวร์ฐานข้อมูลโอเพ่นซอร์สที่หลายบริษัทใช้งาน รวมถึงกูเกิ้ล, ยาฮู และ Travelocity ด้วย MySQL อาศัยโมเดลการสร้างรายได้แบบ Cell Phone Strategy โดยการพัฒนาซอฟต์แวร์ขึ้นมาสำหรับแจกและขายสัญญาการดูแลหลังการติดตั้งและการสนับสนุนการใช้งาน ปัจจุบันบริษัทมีลูกค้า 8,000 ราย ที่เสียค่าใช้จ่ายประมาณ 1-10 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับที่ต้องจ่ายให้กับซอฟต์แวร์ฐานข้อมูลที่ไม่ใช่โอเพ่นซอร์สอื่นๆ อย่างไรก็ตามทุกหนึ่งรายที่จ่ายเงินจะมีอีก 1,000 คน ที่ใช้เวอร์ชั่นฟรี ซึ่งทาง MySQL ก็มองว่าจะเป็นการสร้างความคุ้นเคยให้กับผู้ใช้และจะกลายมาเป็นลูกค้าของพวกเขาในอนาคต นอกจากนี้พวกเขายังได้รับรายงานปัญหาจากการใช้งานและไอเดียใหม่ๆ ในการพัฒนาซอฟต์แวร์ตัวนี้ฟรีๆ จากผู้ใช้เหล่านี้ด้วย ปัจจุบันบริษัทจ้างนักพัฒนา 60 คน ซึ่งกระจายอยู่ในประเทศต่างๆ 25 ประเทศ โดยที่ 70 เปอร์เซ็นต์ของคนเหล่านี้ทำงานอยู่ที่บ้าน

สำหรับวงการอื่นๆ ที่เริ่มอาศัยแนวทางของโอเพ่นซอร์สบ้างแล้ว เช่น CAMDIA ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านวิจัยที่ไม่แสวงหากำไรของประเทศออสเตรเลียได้ริเริ่มโครงการทางด้านไบโอเทคโนโลยีที่เปิดโอกาสให้นักวิจัยใดๆ สามารถใช้เทคนิคต่างๆ เช่น การกำหนดตำแหน่งของยีนในพืชได้ฟรีโดยมีข้อแม้ว่าจะต้องแชร์ข้อมูลพัฒนาการใดๆ ที่เกิดขึ้นให้รับรู้ด้วย โดย CAMDIA ได้พัฒนาระบบเพื่อให้นักวิจัยสามารถใช้งานเพื่อทำงานร่วมกันและเข้าถึงข้อมูลได้ โดยทาง CAMDIA จะคัดเลือกนักวิจัยโดยดูจากปัจจัยหลายๆ อย่างเช่น ประสบการณ์, ตำแหน่งงาน และผลงาน เพื่อประกันผลสำเร็จของการวิจัยที่จะเกิดขึ้น

คำถามที่สำคัญเกี่ยวกับอนาคตของโอเพ่นซอร์สก็คือ นวัตกรรมอันเกิดจากโอเพ่นซอร์สจะยืนยาวในอนาคตข้างหน้าหรือไม่ นั่นหมายถึงจะต้องมีอะไรใหม่ๆ ขึ้นมาให้ชาวโลกได้จดจำ ทุกวันนี้โอเพ่นซอร์สมีจุดเด่นที่สำคัญที่สุด คือ มันเป็นของฟรี แต่ก็ทำให้โอเพ่นซอร์สติดอยู่กับกับดักของตนเองนั่นคือ โอเพ่นซอร์สทำทุกอย่างที่ซอฟต์แวร์เสียเงินทำได้ แต่เพราะพวกมันเป็นของฟรี นั่นทำให้โอเพ่นซอร์สสามารถเข้าช่วงชิงส่วนแบ่งตลาด ได้อย่างง่ายดาย แต่ปัญหาก็คือ ยังไม่มีอะไรใหม่ในระดับที่สร้างความจดจำได้ อย่างลีนุกซ์ก็ทำทุกอย่างที่โอเอสเสียเงินทำได้ในราคาที่ถูกกว่ามาก แต่แค่นี้ไม่เพียงพอ

นอกจากนี้ความร่วมมือร่วมใจของอาสาสมัครในการตรวจสอบ ให้ไอเดียใหม่ๆ และช่วยพัฒนาจะอยู่ยืนยงหรือไม่ ในอนาคตโอเพ่นซอร์สอาจจะต้องเผชิญกับปัญหาผลตอบแทนทางเศรษฐกิจและแรงจูงใจที่จะลดน้อยถอยลงไป

อย่างไรก็ดี นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลอย่าง Ronald Coase กล่าวว่า ปกติบริษัทจะจัดการกิจกรรมใดๆ ภายในเองถ้าต้นทุนการจ้างงานจากข้างนอกผ่านตลาดสูงกว่า แต่โอเพ่นซอร์สเข้ามาเปลี่ยนแปลงทุกอย่าง ในโลกที่ต้นทุนการสื่อสารข้อมูลต่ำลงๆ โลกที่ทุกๆ คนสามารถทำงานร่วมกันได้แม้แต่ละคนอยู่นั่งอยู่ห่างกันคนละซีกโลกก็ตาม นั่นทำให้โอเพ่นซอร์สมีสถานะที่มั่นคงในฐานะรูปแบบหนึ่งของธุรกิจยุคใหม่

ในขณะที่โอเพ่นซอร์สพยายามทำตัวเองให้เป็นบริษัทมากขึ้น เหล่าบริษัทต่างๆ กลับพยายามใช้แนวทางของโอเพ่นซอร์สในการจัดการบริหารมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น บริษัทโตโยต้าได้จัดทีมงานของตนในรูปแบบที่กระจายการบริหารออกจากส่วนกลาง, มีความยืดหยุ่นในการทำงานมากขึ้น และให้แต่ละหน่วยย่อยมีอิสระในตัวเอง ซึ่งเป็นรูปแบบเดียวกับที่ชุมชนคนรักลีนุกซ์เป็นอยู่ เช่นเดียวกับที่หลายๆ องค์กรพยายามสอดแทรกแนวทางนี้เข้าไป

โอเพ่นซอร์สคือการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมการทำธุรกิจครั้งสำคัญและมีผลในการเปลี่ยนแปลงโมเดลการสร้างรายได้ของบริษัทในวงการไอทีหลายๆ ราย เหมือนที่คอลัมน์นี้เคยกล่าวถึงกลยุทธ์ใหม่ๆ ของไมโครซอฟท์ในการรับมือกับของฟรีมาแล้ว แต่ต้องไม่ลืมว่า โลกนี้ไม่มีอะไรฟรี เพราะกิจกรรมทุกอย่างมีต้นทุนของทุกอย่างมีราคา และวันหนึ่งในอนาคตอันใกล้โอเพ่นซอร์ส ก็จะต้องสะท้อนต้นทุนออกมาให้เห็นในทางใด ทางหนึ่งแน่นอน

อ่านเพิ่มเติม

1. "Open, but not as usual," The Economist, 16 March 2006

2. "The economics of sharing," The Economist, 3 Feb 2005

3. Benkler, Y. (2004), "Sharing Nicely : On Shareable Goods and the Emergence of Sharing as a Modality of Economic Production," Yale Law Journal, November 2004

4. Moczar, L. (2005), "The Open Source Monopoly," GALATEA Information Strategies, http://www.galatea.com/ opensource.html

5. Moczar, L. (2005), "The Economics of Commercial Open Source," GALATEA Information Strategies, http:// www.galatea.com/economics.html

6. Johnson, J. P. (2001), "Economics of Open Source Software," 1999 MIT Ph.D. dissertation.

7. Dwyer, G. P. (1999), "The Economics of Open Source and Free Software," Federal Reserve Bank of Atlanta

8. Lerner, J. and Tirole, J. (2000), "The Simple Economics of Open Source," National Bureau of Economic Research, Working Paper 7600, http://www.nber.org/papers/w7600

9. Evans, P. and Wolf, B. (2005), "Collaboration Rules," Harvard Business Review, Vol.83 (7), July/August 2005.


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.