"วีนิไทย" ก้าวผงาด ซี.พี.จะเอาอะไรมาโค่นไทยพลาสติกฯ


นิตยสารผู้จัดการ( มิถุนายน 2538)



กลับสู่หน้าหลัก

วีนิไทย ภายใต้แรงหนุนจากซี.พี.และโซลเวย์ แห่งเบลเยียม ยักษ์ใหญ่ของโลกอุตสาหกรรมพีวีซี กำลังก้าวผงาด และประกาศก้องจะรุกสู่ความเป็นหนึ่งในภูมิภาคอาเซียน เหนือคู่แข่งซึ่งเป็นเจ้าตลาดของไทยอยู่ทุกวันนี้ ไทยพลาสติกฯ คือเป้าหมายด่านแรกที่วีนิไทยจะต้องข้ามไปให้ได้ แต่ดูจะไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เพราะไทยพลาสติกฯ ก็ยังมีความมุ่งมั่นอย่างมาก "เป้าหมายสำคัญสูงสุดอยู่ที่ปี 2547 ซึ่งไทยพลาสติกฯ หวังที่จะมีกำลังการผลิตมากกว่า 1 ล้านตันต่อปี" จับตาดูว่าซี.พี.กับโซลเวย์จะงัดยุทธวิธีใดมาโค่นไทยพลาสติกฯ

การจับมือระหว่างบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ ซี.พี.กับโซลเวย์แห่งเบลเยียมยักษ์ใหญ่อุตสาหกรรมพีวีซีซึ่งติดกลุ่มหนึ่งในสี่ของโลกนั้น มีความตั้งใจที่จะทำให้วีนิไทยเป็นฐานผลิตสำคัญตั้งแต่ต้น

โดยเฉพาะซี.พี.นั้นหวังที่จะให้วีนิไทยเป็นผู้นำของอาเซียนในอุตสาหกรรมนี้ และมองไกลถึงระยะยาวที่ตั้งเป้าหมายสำคัญไว้ว่าจะไม่พึ่งพาวัตถุดิบต่างประเทศ ซึ่งการลงทุนถ้าเต็มโครงการจะใช้เงินราว 1.2 หมื่นล้านบาท

สำหรับความสำคัญของวีนิไทยต่อโซลเวย์ดูจะไม่น้อยหน้า เพราะวีนิไทยเป็นฐานผลิตแห่งเดียวของโซลเวย์ ในภาคพื้นเอเชีย ณ ขณะนี้ โดยหน้านี้โซลเวย์มีโรงงานผลิตพีวีซีอยู่ใน 6 ประเทศ คือ เยอรมนี, เบลเยียม, บราซิล, สเปน, ฝรั่งเศส และอิตาลี

"เมื่อโรงงานเฟส 2 ของวีนิไทยเสร็จสมบูรณ์ จะทำให้วีนิไทยเป็นหนึ่งในโรงงานของเครือโซลเวย์ ที่ผลิตพีวีซีได้อย่างครบวงจร ซึ่งจะทำให้วีนิไทยเป็นผู้นำในการผลิตพีวีซีด้วยต้นทุนที่ต่ำในภูมิภาคนี้" คำกล่าวอย่างมาดมั่นของนายโคลด์ อีฟ มาร์เซล ลูย์เตรล รองประธานกรรมการบริษัทวีนิไทย จำกัด (มหาชน) และหนึ่งในคณะกรรมการบริหารของโซลเวย์แห่งเบลเยียม

ภาพของวีนิไทยดูจะยิ่งใหญ่และให้ความหวังอยู่มาก ประการสำคัญภาพพจน์ชื่อเสียงที่กระจายออกไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงก่อนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้ทำให้ผู้ผลิตรายใหญ่ และรายเดียวของไทยที่ทำการผลิตมากว่า 2 ทศวรรษ ดูเป็นเพียงตัวประกอบในอุตสาหกรรมนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ทั้งที่จริงแล้ว การไม่น่าจะเป็นเช่นนั้นเพราะผ่านมา 3 ปีเต็ม นับจากที่วีนิไทยเริ่มทำการผลิตได้เมื่อเดือนมิถุนายน 2535 จนถึงวันนี้ คู่แข่งที่ทำการผลิตพีวีซี มาแต่เก่าก่อนก็ยังคงเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่ศักยภาพและพัฒนาการไม่เป็นรองวีนิไทยแม้แต่น้อย

เส้นทางสู่ความเป็นผู้นำของภูมิภาคอาเซียนในอุตสาหกรรมผลิตพีวีซีของวีนิไทย จึงน่าที่จะต้องทะยานเหนือคู่แข่งในอุตสาหกรรมที่เป็นรายใหญ่อยู่เดิมนาม "ไทยพลาสติกและเคมีภัณฑ์" เสียก่อนเพราะไทยพลาสติกฯหรือทีพีซี มีแนวทางและความหวังที่จะก้าวเป็นรายใหญ่ในอุตสาหกรรมพีวีซีแห่งอาเซียนไม่แตกต่างจากวีนิไทยเช่นกัน

สำหรับวีนิไทย ปี 2537 ที่ผ่านมานับเป็นปีที่เค้าความสดใสส่อแววชัดขึ้นเมื่อสามารถสร้างกำไรได้เป็นกอบเป็นกำถึงกว่า 255 ล้านบาท ผิดกับ 2 ปีแรกเริ่มที่สร้างขาดทุนสะสมไว้ถึง 575,680,776 บาท แต่นั่นเป็นเรื่องปกติของอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ และว่าไปแล้ววีนิไทยนับเป็นบริษัทที่สามารถสร้างกำไรได้ในเวลาที่สมควร

ยอดขาดทุนสะสมที่ยังคงเหลืออยู่ราว 350 ล้านบาท จึงน่าที่จะหักกลบจนหมดได้ภายในเวลาไม่เกิน 2 ปีจากนี้ ยิ่งสถานการณ์ตลาดพลาสติกโลกที่อยู่ในช่วงขาขึ้นทั้งความต้องการและราคา ขาดทุนสะสมดังกล่าวอาจจะหมดไปภายในปี 2538 นี้ก็เป็นได้ ทั้งนี้วีนิไทยได้ประมาณกำไรสุทธิในปี 2538 นี้ไว้ที่ 473.05 ล้านบาท ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นจะส่งภาพแห่งความสดใสให้กับวีนิไทยอีกอย่างมาก

ความเป็นรายใหม่ที่ทั้งภาพพจน์เรื่องของเทคโนโลยีการผลิต ที่ถือว่าทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งของโลกอุตสาหกรรมพีวีซี การทุ่มเท และความยิ่งใหญ่ของผู้ถือหุ้น ทิศทางนโยบายที่ชัดเจนตั้งแต่ต้น กำลังสะท้อนภาพออกมาเป็นผลการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรม

ในด้านของการผลิตนั้นน่าสนมาก เพราะวีนิไทยสามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้เต็มโครงการภายในระยะเวลาเพียง 6 เดือนหลังจากเริ่มต้นการผลิต ประเด็นนี้นับเป็นความสำเร็จเบื้องต้นทีเดียว เพราะไม่ใช่เรื่องง่ายนัก ถ้าไม่มีแผนงานที่ดีพอ

ปัจจุบันวีนิไทย ทำการผลิตพีวีซี 2 ชนิดด้วยกัน คือ เกรดธรรมดา (Suspension) กำลังการผลิต 115,000 ตันต่อปีและเกรดพิเศษ (Emulsion) กำลังการผลิต 20,000 ตันต่อปี

พีวีซี เกรดธรรมดานั้นจะมีความแข็งแกร่งและทนทาน เป็นวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต อาทิ ท่อน้ำ ท่อร้อยสายไฟ ฟิล์ม แผ่นฟิล์ม ถ้วน้ำ และแผ่นเสียง โดยตลาดพีวีซีเกรดนี้ส่วนใหญ่ใช้ในการผลิตท่อ ที่ใช้ในอุตสาหกรรมการก่อสร้าง

ส่วนพีวีซีเกรดพิเศษซึ่งวีนิไทยทำการผลิตเพียงรายเดียวในประเทศ และยังถือเป็นสินค้าค่อนข้างใหม่สำหรับวงการอุตสาหกรรมพลาสติก เป็นพีวีซีที่เมื่อแปรสภาพแล้วจะมีความเหนียวแน่น และยืดหยุ่นสูง เหมาะสำหรับนำไปใช้ในการผลิตกระเบื้องยาง หนังเทียม วอลเปเปอร์ วัสดุเคลือบรถและของเล่นเด็กต่างๆ ทั้งนี้ตลาดใหญ่ของพีวีซีเกรดพิเศษนี้คืออุตสาหกรรมผลิตหนังเทียม ซึ่งวีนิไทยแย่งส่วนแบ่งตลาดพีวีซีเกรดพิเศษมาได้ถึง 42% จากเดิมที่ผู้ใช้จะนำเข้ามาจากต่างประเทศทั้งหมด

ธาดา เศวตศิลา ผู้ช่วยรองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายการตลาดและการขาย กล่าวถึงพีวีซีเกรดพิเศษว่าเป้นพีวีซีที่มีความซับซ้อนในการผลิตมากกว่าพีวีซีเกรดธรรมดา แต่เนื่องจากบริษัทมีนโยบายใช้ความหลากหลายของสินค้าเป็นจุดขายประการหนึ่ง เพื่อต่อสู้ในตลาดจึงทำการผลิตพีวีซีเกรดพิเศษขึ้นมา ซึ่งช่วงแรกการผลิตพีวีซีเกรดพิเศษนี้จะขึ้นอยู่กับความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก

อย่างไรก็ดี แนวโน้มในอนาคตคาดว่าความต้องการพีวีซีเกรดพิเศษนี้จะมีมากขึ้น ทั้งจากการขยายตัวของลูกค้าเดิม และจากลูกค้ารายใหม่ที่หันมาสั่งซื้อจากบริษัทแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ เนื่องจากเริ่มเชื่อมั่นคุณภาพการผลิตของบริษัท

"แนวโน้มของตลาดพีวีซีเกรดพิเศษ ค่อนข้างดี แต่จะเพิ่มสัดส่วนความต้องการจนมากกว่าเกรดธรรมดาหรือไม่นั้นคงต้องใช้เวลาอีกหลายปีจึงจะตอบได้ว่าทิศทางเป็นอย่างไร ส่วนผู้ผลิตในไทยรายอื่นที่ยังไม่มีการผลิตนั้นเข้าใจว่ายังไม่พร้อมและที่ผ่านมาไม่ได้ให้ความสำคัญ แต่เมื่อเราทำแล้ว ก็เข้าใจว่าอีกไม่นานเขาคงจะทำตามมา ซึ่งขณะนี้ก็ได้ข่าวว่าเขากำลังจะทำและมีโครงการออกมาแล้ว"

สำหรับกำลังการผลิตพีวีซีของวีนิไทยที่กล่าวถึงข้างต้นนั้น ปรากฏว่าเมื่อถึงเวลาผลิตจริงกลับสามารถทำได้เกินกำลังการผลิตที่วางไว้ โดยปี 2537 ที่ผ่านมาผลิตได้เกินประมาณ 10% โดยเป็นการผลิตพีวีซีเกรดธรรมดา 130,000 ตันต่อปี และพีวีซีเกรดพิเศษ 23,000 ตันต่อปี จึงทำให้วีนิไทยมีกำลังการผลิตรวมทั้งสิ้น 153,000 ตันต่อปี ซึ่งกำลังการผลิตนี้จะเป็นกำลังการผลิตไปจนถึงสิ้นปี 2539

ส่วนแผนงานการขยายกำลังการผลิตนั้น ขณะนี้วีนิไทยได้วางแผนงานไว้จนถึงปี 2542 โดยในปี 2540 จะขยายกำลังการผลิตพีวีซีเพิ่มขึ้นอีก 90,000 ตันต่อปี และในปี 2542 จะเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นอีก 90,000 ตันต่อปี ซึ่งรวมแล้ว ในปี 2542 วีนิไทย จะมีกำลังการผลิตพีวีซี ทั้งสิ้น 333,000 ตันต่อปี ซึ่งในปี 2540 นั้นวีนิไทย คาดหมายว่าจะสามารถขึ้นเป็นผู้นำตลาดได้ หรืออย่างน้อยจะสามารถครองส่วนแบ่งตลาดได้ราวครึ่งต่อครึ่งกับคู่แข่งที่มีเพียงรายเดียวในประเทศ ทั้งนี้กำลังการผลิตทั้งหมดนั้นจะเน้นการทำตลาดในประเทศเป็นหลัก เพื่อสร้างฐานให้แกร่งก่อนที่จะทำการส่งออกในอนาคต ซึ่งเป็นแผนระยะยาว

โครงการสำคัญที่ทำให้วีนิไทยมั่นใจมากว่าจะก้าวผงาดเหนือคู่แข่งได้ในอนาคตคือ การเป็นผู้ผลิตอย่างครบวงจร

โครงการเฟส 2 ของวีนิไทยจะเป็นการลงทุน เพื่อผลิตวัตถุดิบทดแทนการนำเข้า ใช้เงินลงทุนทั้งสิ้น 4,500 ล้านบาท แบ่งเป็น 2 ส่วน คือส่วนแรกเป็นการลงทุนเพื่อผลิตคลอรีน (Electrolysis Plant) 87,500 ตันต่อปี ซึ่งใช้เงินลงทุน 2,000 ล้านบาท โดยการนำเกลือบริสุทธิ์จากบริษัทเกลือพิมาย ซึ่งวีนิไทยถือหุ้นอยู่ 36.8% มาผสมกับน้ำ แล้วผ่านกระบวนการแยกน้ำด้วยไฟฟ้า (Electroysis) ซึ่งจะทำให้ได้คลอรีนและโซดาไฟ โดยคลอรีนที่ได้ทั้งหมดจะนำมาใช้ในการผลิตสารวีซีเอ็ม (Vinyl Chlorife Monomer) ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตพีวีซี ส่วนโซดาไฟ ประมาณ 98,600 ตันต่อปีที่ได้นั้นถือเป็นผลพลอยได้ซึ่งจะทำการส่งจำหน่ายให้อุตสาหกรรมที่ต้องการใช้ต่อไป

ส่วนที่ 2 จะใช้เงินลงทุน 2,500 ล้านบาทเป็นการผลิตสารวีซีเอ็ม (VCM Plant) ประมาณ 140,000 ตันต่อปี โดยการนำคลอรีนที่ได้จากการผลิตกับสารโอเลฟินส์ที่ยังคงสั่งซื้อจากบริษัทไทยโอเลฟินส์ มาผลิตเป็นสารวีซีเอ็มเพื่อป้อนโรงผลิตพีวีซีต่อไป ซึ่งการผลิตทั้งหมดนี้อยู่ในพื้นที่โรงงานเดียวกันของบริษัทซึ่งตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง

"เมื่อโครงการผลิตสารวีซีเอ็ม ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณเดือนตุลาคม 2538 นี้ เริ่มป้อนให้กับโรงพีวีซี จะทำให้วีนิไทยกลายเป็นผู้ผลิตพีวีซีที่มีต้นทุนต่ำเมื่อเทียบกับผู้ผลิตรายอื่นในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์" ธาดากล่าว

อย่างไรก็ดี โครงการเฟส 2 นี้จะยังเป็นการสารวีซีเอ็มเพื่อป้อนการผลิตพีวีซีที่มีกำลังการผลิตราว 153,000 ตันต่อปีเท่านั้น ส่วนโครงการขยายกำลังการผลิตพีวีซีที่วางแผนไว้นั้น จะยังคงนำเข้าสารวีซีเอ็มจากต่างประเทศเช่นเดิม ทั้งนี้วีนิไทยวางแนวทางว่า หลังจากโรงงานผลิตพีวีซีในส่วนขยายเปิดทำการไปแล้วประมาณ 2 ปี จึงจะเริ่มเปิดทำการไปแล้วประมาณ 2 ปี จึงจะเริ่มทำการผลิตสารวีซีเอ็มด้วยตนเองตามไป ซึ่งจะเป็นลักษณะเช่นนี้ตลอดไปทุกส่วนขยาย เหตุผลก็เพราะเป็นการลงทุนที่รัดกุมและลดความเสี่ยงมากกว่าการลงทุนพร้อมกันทีเดียว

แผนงานที่ชัดเจนทำให้ภาพความยิ่งใหญ่ของฐานผลิตแห่งแรกในเอเชียของเครือข่ายโซลเวย์แห่งนี้โดดเด่นขึ้นมาอย่างมาก ซึ่งทำให้ดูเหมือนว่ากลบความเป็นเจ้าตลาดอย่างไทยพลาสติกและเคมีภัณฑ์ลงได้อย่างราบคาบ

แต่กระนั้น ใช่ว่าไทยพลาสติกฯ จะกลายเป็นบริษัทอุตสาหกรรมพีวีซีที่หมดอนาคต ตรงข้ามกลับจะยิ่งมีอนาคตมากขึ้นด้วยซ้ำ เพราะจากการทำธุรกิจที่ไร้คู่แข่งมานานนับสิบปี เมื่อถึงคราวที่จะต้องมีคู่แข่ง โดยเฉพาะคู่แข่งที่ต้องการผงาดเหนือตนเองด้วยแล้ว จึงต้องหาหนทางเพื่อคงความเป็นเจ้าตลาดต่อไป ประการสำคัญกลับเป็นแรงบีบให้ไทยพลาสติกฯ ต้องปรับตัวเองให้ทันสมัยและใหญ่โตขึ้น

ว่ากันจริงๆ แล้ว เมื่อย้อนกลับไปดูในช่วงแรกที่ไทยพลาสติกฯ เริ่มทำการผลิตใหม่ๆ นั้น หนทางของไทยพลาสติกฯ ค่อนข้างจะหนักหนาพอสมควร และกล่าวได้ว่ามากมายกว่าวีนิไทย เนื่องจากเป็นผู้ผลิตรายแรกในยุคที่อุตสาหกรรมปิโตรเคมียังเป็นเรื่องใหม่สำหรับคนไทยอยู่มาก นั่นไม่เท่าไร ที่ยิ่งกว่าคือ ลูกค้า ซึ่งแน่นอนต้องเป็นตลาดในประเทศ ที่ยังไม่ค่อยเชื่อถือเรื่องคุณภาพพีวีซีที่ผลิตในประเทศเท่าไรนัก เหตุเพราะไม่ใช่ว่าการผลิตของไทยพลาสติกฯ จะไม่ได้คุณภาพ แต่เนื่องจากเป็นของใหม่ในยุคนั้น ยังไม่มีใครคาดคิดกันว่าเมืองไทยจะกลายมาเป็นแหล่งสำคัญของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีเช่นทุกวันนี้ได้

ถ้ามองในมุมนี้จะเห็นว่าการมองอนาคตของกลุ่มผู้ลงทุนและก่อตั้งไทยพลาสติกฯ น่าจะมีสายตาที่ยาวไกลจนไม่น่าที่จะถูกวีนิไทยโค่นได้โดยง่ายในช่วงระยะเวลาเพียงไม่กี่ปี

"เราเริ่มต้นแข่งขันกับสิ่งที่ส่งมาจากต่างประเทศ ซึ่งเริ่มแรกคนไม่แน่ใจว่าทำเองจะสู้ต่างชาติซึ่งทำมานานแล้วได้หรือไม่ จึงขึ้นอยู่ที่คุณภาพของสินค้าที่เราผลิต ความจริงแล้วทันทีที่เราทำ ก็ต้องใช้แนวทางจากต่างประเทศ ผลิตภัณฑ์ที่ได้มาต้องมีการควบคุมคุณภาพ เป็นประเด็นที่ให้ความสำคัญมาก สิ่งที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือการบริการลูกค้า ซึ่งเราก็ผ่านมาได้ด้วยดี" วิไลพรรณ เอื้อชูเกียรติ กรรมการผู้จัดการ บริษัทไทยพลาสติกและเคมีภัณฑ์ จำกัด (มหาชน) กล่าว

วิไลพรรณยังให้มุมมองว่า ทุกวันนี้อุตสาหกรรมปิโตรเคมีของไทยก้าวหน้าไปมาก และไม่เป็นรองใครในเอเชีย

สำหรับไทยพลาสติกฯ เธอกล่าวว่าที่จริงแล้วการที่บริษัทพัฒนาตัวเองมาโดยตลอดนั้นไม่ใช่เพื่อแข่งขันกับบริษัทผู้ผลิตในประเทศเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการแข่งขันกับผู้ผลิตทั่วโลก

"เราแข่งขันกับผู้ผลิตทั่วไป ทั่วโลก คือจริงๆ แล้วเราเริ่มคิดที่จะแข่งขันในระดับนานาชาติมานานแล้ว เราคิดว่าตำแหน่งของเราดีที่สุดในด้านพีวีซี อย่างอื่นเราไม่ทราบและเราคิดว่าวันหนึ่งข้างหน้า การค้าเสรีต้องเกิดขึ้น แต่จะไม่ส่งผลในทางลบต่อเรา เพราะเราคิดว่าเราพร้อมหรืออย่างน้อยก็ยังมีเวลาพอที่จะพัฒนาตัวเองและคิดว่าถ้าเราไม่พร้อมคนอื่นก็ไม่พร้อมกว่าเราแน่"

ปัจจุบันไทยพลาสติกฯ ทำการผลิตพีวีซี 280,000 ตันต่อปี และวีซีเอ็มซึ่งเป็นวัตถุดิบอีก 140,000 ตันต่อปี แม้จะยังไม่จัดเป็นผู้ผลิตพีวีซีอย่างครบวงจรทั้งหมด แต่ก็นับว่าก้าวหน้าไปกว่าวีนิไทย ซึ่งโครงการผลิตสารวีซีเอ็ม ยังอยู่ระหว่างก่อสร้างโรงงาน

แผนงานขยายกำลังการผลิตของไทยพลาสติกฯ ดูจะเดินอยู่เหนือวีนิไทยโดยตลอดในช่วง 5 ปีจากนี้ (ดูตารางเปรียบเทียบแผนการขยายกำลังการผลิตระหว่างวีนิไทยกับไทยพลาสติกฯ) เริ่มจากแผนงานที่เรียกว่าส่วนขยายไลน์ 7 ในพื้นที่โรงงานที่จังหวัดระยอง ซึ่งจะใช้เงินลงทุนราว 1,200 ล้านบาท โครงการนี้จะเป็นการขยายกำลังการผลิตพีวีซีอีก 100,000 ตันต่อปี ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จกลางปี 2539 หลังจากนั้นจะใช้เวลาทดลองเดินเครื่องประมาณ 3 เดือนก่อนผลิตจริง และในปี 2540 วางแผนที่จะขยายกำลังการผลิตวีซีเอ็มเพิ่มขึ้นอีก 300,000 ตันต่อปี

การขยายกำลังการผลิตนั้น ไทยพลาสติกฯ ให้เหตุผลว่า เพื่อเป็นการสนองความต้องการของตลาดในประเทศไม่ให้ขาดแคลนซึ่งขยายตัวประมาณ 15% ที่สำคัญก็เพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาดที่มีอยู่ประมาณ 65% ไว้ให้ได้ นอกจากนี้ยังเป็นการขยาย เพื่อการส่งออกไปยังตลาดอินโดจีน โดยเฉพาะเวียดนามด้วย สุดท้ายการเพิ่มกำลังการผลิตก็เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและลดต้นทุนการผลิต ซึ่งถือเป็นการเตรียมพร้อมสำหรับการแข่งขันในระดับภูมิภาคและระดับโลก ซึ่งเป็นเป้าหมายอันดับหนึ่ง ที่ไทยพลาสติกฯ ตั้งความหวังว่าจะเป็นโรงงานผลิตพีวีซีที่มีกำลังการผลิตมากที่สุดในประเทศและภูมิภาคเอเชียอาคเนย์

ซึ่งถ้าเป็นไปตามแผนงานที่วางไว้ ณ ขณะนี้กำลังการผลิตพีวีซีของไทยพลาสติกฯ ในปี 2543 จะมีถึง 670,000 ตันต่อปี และจะมีกำลังการผลิตวีซีเอ็ม 440,000 ตันต่อปี

แต่เป้าหมายสำคัญสูงสุดอยู่ที่ปี 2547 ซึ่งไทยพาสติกฯ หวังที่จะมีกำลังการผลิตมากกว่า 1 ล้านตันต่อปี

แผนงานด้านตลาดของไทยพลาสติกฯ ในระยะหลายปีที่ผ่านมา ได้เริ่มทดลองการส่งออกควบคู่ไปกับการทำตลาดในประเทศ แม้ว่าการส่งออกยังมีปริมาณไม่มากนักก็ตาม โดยปริมาณการส่งออกของไทยพลาสติกฯ ไปยังประเทศในภูมิภาคนี้ เช่น เวียดนาม, พม่า, มาเลเซีย, บังกลาเทศ และศรีลังกา จะมีประมาณ 50,000 ตันต่อปี โดยส่งไปยังเวียดนามมากที่สุดถึงราว 30,000 ตันต่อปี

เฉพาะที่เวียดนาม ไทยพลาสติกฯ ให้ความสำคัญเป็นพิเศษเพราะเล็งเห็นว่าการขยายตัวมีมาก โดยเข้าไปตั้งบริษัท VietThai Plastchem โดยไทยพลาสติกฯ ถือหุ้น 66% ที่เหลือถือหุ้นโดย Vietnamm Plastic Corporation เพื่อทำการผลิตพีวีซีเม็ด กำลังการผลิต 6,000 ตันต่อปี คาดว่าโครงการนี้จะเริ่มได้ภายในปีนี้

นอกจากนี้ ยังได้ร่วมกับกลุ่มมิตซุย และกลุ่มบริษัทเวียดนาม ตั้งบริษัท Vietnam Plastics and Chamicals Corporation เพื่อทำการผลิตพีวีซีผง กำลังการผลิต 80,000 ตันต่อปี โดยสัดส่วนการถือหุ้นคือ 24%, 46% และ 30% ตามลำดับ ทั้งนี้โครงการผลิตพีวีซีผงคาดว่าจะเริ่มต้นในปี 2540

มองถึงศักยภาพ แผนงานขยายกำลังการผลิต ทั้งของวีนิไทยและไทยพลาสติกฯ จะเห็นว่ามีอนาคตสดใสทั้งคู่ แต่ถ้ามาดูตัวเลขสถิติการวิเคราะห์ถึงปริมาณความต้องการใช้พีวีซีในประเทศจนถึงปี 2543 จะพบว่า สถานการณ์ของทั้งสองผู้ผลิตจะต้องห้ำหั่นกันอย่างถอยไม่ได้แม้แต่ก้าวเดียว ถ้าตัดสินใจเปิดศึกระหว่างกัน เพราะปริมาณความต้องการภายในประเทศมีไม่เพียงพอกับกำลังการผลิตที่ทะลักออกมา ที่สำคัญไม่มีใครคาดได้ว่ากำลังการผลิตพีวีซีของโลกช่วงนั้นจะอยู่ในระดับล้นตลาดหรือไม่ ซึ่งน่าจะคาดเดาได้ว่า จะต้องมีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด หรืออาจจะทั้งคู่ ต้องตัดใจยอมชะลอโครงการไว้บ้าง ซึ่งสถานการณ์เช่นนั้น ไทยพลาสติกฯ น่าจะได้เปรียบ

การทาบรัศมีไทยพลาสติกฯ ของวีนิไทย ไม่ใช่อยู่ที่ความต้องการใช้พีวีซีในประเทศเป็นเช่นไรเท่านั้น แต่ยังคงขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของตลาดโลก ซึ่งส่งผลให้ระดับราคาพลาสติกทุกชนิดไม่เว้นแม้พีวีซีผันผวนหนัก ประเด็นนี้ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ว่าจะบริหารอย่างไร และถ้ามองถึงความได้เปรียบก็ยังยากเพราะแม้ไทยพลาสติกฯ จะมีประสบการณ์ที่อยู่ในตลาดมานานกว่าวีนิไทย แต่ต้องไม่ลืมว่าผู้หนุนอยู่ข้างหลังวีนิไทย คือ โซลเวย์

ถ้าเป็นช่วงก่อนปี 2536 ย่อมมองได้ว่าไทยพลาสติกฯ โดดเดี่ยว ไร้พันธมิตรที่พอจะเสริมบารมีให้ตนเองไม่ด้อยกว่าวีนิไทย ที่อยู่ใต้เงาของโซลเวย์และซี.พี.ได้

แต่นับจากปูนซิเมนต์ไทย เข้าถือหุ้นในไทยพลาสติกฯ แล้ว ได้ทำให้ช่องทางการตลาดของไทยพลาสติกฯ โดดเด่นขึ้นมาทันที จากสายสัมพันธ์ที่ปูนซิเมนต์ไทยมีกับกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงเรื่องการสูญเสียลูกค้าไปได้พอสมควร

เมื่อมองสรุปอย่างรอบด้านแล้วต้องยอมรับว่าอุตสาหกรรมปิโตรเคมีของไทยเติบโตมาอย่างที่คาดไม่ถึง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการผลิตและตลาดพีวีซี จนกระทั่งรายใหม่ได้เกิดขึ้น และตั้งเป้าหมายสำคัญที่จะโค่นเจ้าตลาดเดิมให้ได้

ถึงตรงนี้ ต้องจับตาว่าวีนิไทยจะโค่นไทยพลาสติกและเคมีภัณฑ์ เพื่อผงาดเป็นเจ้าตลาดของไทยและภูมิภาคนี้ได้อย่างไรและด้วยกลยุทธ์ใด



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.