หนึ่งเดียวใน mai

โดย น้ำค้าง ไชยพุฒ
นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

อะไรเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้บริษัทซอฟต์แวร์เฮาส์เล็กๆ แห่งนี้สามารถก้าวเข้าไปเป็นบริษัทซอฟต์แวร์คนไทยเพียงหนึ่งเดียวที่
จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ mai ได้เกือบสองปีแล้ว และมีทีท่าว่าจะเติบโตเป็นบริษัทคนไทยที่ก้าวเข้าไปแข่งขันในระดับภูมิภาคในอีกเร็ววันนี้

แม้จะประกาศว่าเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ mai (Market for Alternative Investment : mai) ในหมวดธุรกิจขนาดกลาง ตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม 2547 ก็ตาม แต่บริษัท โซลูชั่น คอนเนอร์ (1998) จำกัด (มหาชน) หรือ scl ก็น่าจะเป็นบริษัทผู้ดำเนินกิจการด้านการผลิตซอฟต์แวร์จำหน่ายเพียงหนึ่งเดียวที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งนี้ ไม่รวมบริษัทในหมวดเดียวกันที่ดำเนินกิจการทั้งขายฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ หรือแม้แต่การบริการรับติดตั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์เอาไว้ด้วยกันมากกว่า

โดยปกติแล้วโซลูชั่น คอนเนอร์ (1998) ไม่เป็นที่รู้จักของคนทั่วไปมากนัก นอกจากบุคคลที่คลุกคลีอยู่ในวงการพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อธุรกิจ หรือแม้แต่ซอฟต์แวร์ดูแลงานเอกสาร จนกระทั่งล่าสุด โซลูชั่น คอนเนอร์ (1998) เปิดตัวอย่างเป็นทางการต่อสาธารณชนในฐานะผู้จัดทำรายการ "ไอทีนิวส์" ออกอากาศทางช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์ เมื่อเดือนที่ผ่านมา

ด้วยความที่เป็นคนหนุ่มและผ่านประสบการณ์ล้มเหลวในการทำธุรกิจพัฒนาซอฟต์แวร์ ในบริษัทชื่อคล้ายคลึงกันเมื่อครั้งยุคเศรษฐกิจฟองสบู่แตกมาแล้ว ทำให้นิทัศน์ มณีศิลาสันต์ ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการ ผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทในเวลาเดียวกัน ได้เรียนรู้การทำธุรกิจด้านซอฟต์แวร์ในมุมมองที่ต่างจากคนที่มีเงินทุนหนา และมองธุรกิจนี้อย่างฉาบฉวย

นิทัศน์และภรรยามีอาชีพเป็นโปรแกรมเมอร์ ได้ลงทุนทำธุรกิจซอฟต์แวร์ และตั้งชื่อใหม่เป็นโซลูชั่น คอนเนอร์ (1998) อย่างเช่นทุกวันนี้ ทั้งคู่เป็นผู้บริหารของบริษัท จนถึงวันนี้ โดยมีเพื่อนร่วมวงการอย่างชัชพงศ์ มัญชุภา ปัจจุบันรั้งตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการด้านการตลาดและการจัดการ เข้ามาช่วยเหลือหลังจากตั้งบริษัทได้ไม่นานนัก

เริ่มต้นบริษัทมีสมาชิกเพียง 6 คน หลังจากฟันฝ่าอุปสรรคในการทำตลาดด้วยการเดินออกไปหาลูกค้าด้วยตนเอง ตลอดจนศึกษาแนวโน้มของซอฟต์แวร์ที่องค์กรต่างๆ สนใจว่าไม่ได้มีเฉพาะระบบบัญชีเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ทำให้หลังจากนั้นไม่กี่ปีบริษัทก็ประสบความสำเร็จในแง่ของยอดขายเกิน 50 ล้าน และสามารถเข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ mai ได้สำเร็จ โดยใช้เวลาในการเจรจากับคณะกรรมการของตลาดเกือบปี

กลายเป็นบริษัทที่ดำเนินกิจการด้วยการพัฒนาซอฟต์แวร์ขายเพียงอย่างเดียวที่สามารถเข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งนี้ได้สำเร็จ และจากการกระจายหุ้นในตลาดนั่นเอง ทำให้บริษัทสามารถขยายกิจการให้เติบโตได้

ปัจจุบันโซลูชั่น คอนเนอร์ (1998) มีพนักงานกว่า 60 ชีวิต มีรายได้ที่รับรู้ในช่วงไตรมาสที่ผ่านมามากกว่ารายได้ทั้งปีของปีที่ผ่านมากว่า 50 เปอร์เซ็นต์

บริษัทยังคงดำเนินกิจการทุกอย่างที่เกี่ยวเนื่องกับการพัฒนาซอฟต์แวร์อยู่หลายรูปแบบ ทั้งรับพัฒนาระบบงานตามความต้องการของลูกค้า เช่น ระบบงานลงทะเบียน นักศึกษา ระบบการเงิน ระบบงบประมาณ ระบบพัสดุไปจนถึงระบบบริหารศูนย์รถยนต์

ขณะที่โซลูชั่น คอนเนอร์ (1998) ประสบความสำเร็จในการจับซอฟต์แวร์ของตัวเองลงกล่องและวางขายตามร้านค้าได้สำเร็จ ซึ่งหลายคนปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นสูตรสำเร็จอย่างหนึ่งที่ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ต้องไปถึง

ซอฟต์แวร์หรือโปรแกรมสำเร็จรูปที่ชื่อ Benefit ถูกนำมาใส่กล่องและแบ่งแยกออกเป็นหลายประเภท แล้วแต่ความต้องการของลูกค้า อาทิ ระบบบัญชีและระบบบริหารร้านค้าปลีก บริษัทเลือกที่จะขายขาดโดยในกล่องจะบรรจุทั้งวิธีการติดตั้งและวิธีการใช้งานเสร็จสรรพในตัว

เช่นเดียวกับโปรแกรมสำเร็จรูปที่เรียก ว่า Benefit e-Office 2000 ที่แบ่งออกเป็นทั้งโปรแกรมระบบจัดเก็บเอกสารอิเล็กทรอนิกส์โปรแกรมระบบสืบค้นงานเอกสารบนอินเทอร์เน็ต โปรแกรมระบบติดตามงานเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ สารบรรณ และโปรแกรมจัดเก็บค้นหาเอกสารผ่านสื่อบันทึกข้อมูล วางขายในรูปแบบของกล่องซอฟต์แวร์สำเร็จรูปเช่นเดียวกัน

โดยซอฟต์แวร์ ทั้งหมดมีจุดเด่นอยู่ที่ทำงานอยู่บน Web based ทั้งหมด เพื่อรองรับการใช้งานซอฟต์แวร์ในอนาคต ซึ่งมีแนวโน้มจะใช้งาน กันบน Web based เสียเป็นส่วนใหญ่

ไม่นับรวมการขายเครื่องมือในการสร้างซอฟต์แวร์แบบต่างๆ หรือที่เรียกว่า Tools ที่บริษัทคิดค้นเองและนำออกขาย เพื่อเป็นการสร้างมูลค่าให้กับเครื่องมือของตนด้วย

ไปจนถึงการกระจายความเสี่ยงให้กับธุรกิจ ด้วยการตัดสินใจเตรียมแตกไลน์บริษัทในเครือ โดยถือหุ้นทั้งหมด เพื่อทำธุรกิจนำเข้าและส่งออกซอฟต์แวร์ของตนไปยังต่างประเทศ โดยเริ่มงานแรกด้วยการเจรจาการค้ากับคู่ค้าในประเทศมาเลเซีย ที่สนใจจะให้พัฒนาสินค้าในกลุ่ม e-Office ให้มีภาษาท้องถิ่นคือ ภาษามลายู และเป็นผู้จัดจำหน่ายในประเทศมาเลเซีย ก่อนรุกไปยังประเทศอื่นๆ ที่สนใจต่อไป

ตลอดจนการก้าวมาเป็นผู้จัดทำรายการไอทีทางโทรทัศน์ และการทำธุรกิจเว็บไซต์เพื่อแลกเปลี่ยนสิ่งของหรือบราเธอร์ระหว่างบริษัทเอกชนหรือหน่วยงานซึ่งซื้อแฟรนไชส์ชื่อเว็บไซต์มาจากต่างประเทศในเร็ววันนี้อีกด้วย

โซลูชั่น คอนเนอร์ (1998) เป็นหนึ่งในตัวอย่างของบริษัทซอฟต์แวร์ของไทยที่เติบโตมาจากการเป็นบริษัทซอฟต์แวร์เฮาส์เล็กๆ แต่ด้วยความตั้งใจ มุ่งมั่น และสร้างจุดแข็งให้กับธุรกิจของตน ตลอดจนกระจายความเสี่ยงในการทำธุรกิจออกไปในโอกาสและจังหวะที่พอเหมาะ ทำให้บริษัทซอฟต์แวร์เฮาส์เล็กจะกลายเป็นซอฟต์แวร์เฮาส์ขนาดใหญ่ได้อย่างไม่ยากนัก


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.