อาวุธใหม่โทรีเซนไทย

โดย ณัฐวัฒน์ หอมจิตต์
นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

2 ปีที่ผ่านมาถือว่าเป็นยุคทองของธุรกิจเรือสินค้า จากการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจโลก ผลักดันให้อัตราค่าระวางเรือปรับตัวสูงขึ้นชนิดก้าวกระโดด ช่วยให้ผลการดำเนินงานของบริษัทเรือสินค้าพุ่งขึ้นตามไปด้วย

โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทหนึ่งที่ได้ประโยชน์จากปรากฏการณ์ดังกล่าว เห็นได้จากผลการดำเนินงานงวดปี 2547 และ 2548 ของบริษัท ซึ่งรายได้จากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นในอัตรา 119% และ 42% ตามลำดับ เช่นเดียวกับกำไรสุทธิที่เพิ่มขึ้นถึง 331% และ 37%

อย่างไรก็ตาม ค่าระวางเรือที่ปรับลดลงอย่างรวดเร็วส่งผลให้ผลการดำเนินงานของโทรีเซนไทยฯ ในปีนี้ทรุดลงตามไปด้วย ถึงแม้รายได้งวด 6 เดือนแรกจะยังคงเพิ่มขึ้นแต่เมื่อ หักค่าใช้จ่ายแล้วกำไรสุทธิกลับลดลงกว่า 44% (ดูรายละเอียดผลการดำเนินงานจากตารางประกอบ)

รายได้ของโทรีเซนไทยฯ ที่ผ่านมา ได้จากค่าระวางเรือในสัดส่วนเกินกว่า 90% มาโดยตลอด ในขณะที่ธุรกิจเดินเรือมีวัฏจักรขึ้นลง เพื่อลดผลกระทบจากการแกว่งตัวของผลดำเนินงานในช่วงขาลงของธุรกิจ โทรีเซนไทยฯ จึงได้ขยายการลงทุนไปสู่ธุรกิจเกี่ยวเนื่องอื่นๆ โดยเฉพาะบริการเรือขุดเจาะปิโตรเลียมกลางทะเล ผ่านทางบริษัท เมอร์เมด มาริไทม์ จำกัด

เมอร์เมด มาริไทม์ ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2526 ให้บริการในธุรกิจพาณิชยนาวี ครอบคลุมตั้งแต่การบำรุงรักษาแพชูชีพและอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยในทะเล การตรวจสอบสภาพเรือใต้ผิวน้ำ งานบริการเทคนิคใต้น้ำโดยใช้นักประดาน้ำหรือเครื่องตรวจสอบระบบรีโมตคอนโทรล และในปีที่ผ่านมาได้ขยายธุรกิจไปสู่บริการเรือขุดเจาะปิโตรเลียมกลางทะเล ด้วยการซื้อเรือขุดเจาะปิโตรเลียม 2 ลำ ในเดือนเมษายนและกรกฎาคม

โทรีเซนไทยฯ เข้าถือหุ้นเมอร์เมด มาริไทม์ ตั้งแต่ปี 2538 และปีที่ผ่านมาได้เพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นเป็น 63.14%

"การลงทุนในเมอร์เมดฯ เป็นยุทธศาสตร์ของทีมบริหาร เพราะธุรกิจขนส่งจะขึ้นๆ ลงๆ เมอร์เมดฯ จะเป็นตัวช่วยให้รายได้ของเราสม่ำเสมอ ขึ้น" นุช กัลยาวงศา ผู้อำนวยการฝ่ายบัญชี/การเงิน โทรีเซนไทยฯ กล่าว

โทรีเซนไทยฯ เชื่อว่าธุรกิจดังกล่าวมีอนาคตดี จากแนวโน้มของธุรกิจพลังงานที่มีทีท่าว่าจะอยู่ในช่วงขาขึ้นไปอีกหลายปี ประกอบกับเรือขุดในลักษณะเดียวกับที่เมอร์เมดฯ ดำเนินการอยู่ ซึ่งเป็นเรือขุดที่ใช้ในทะเลที่มีคลื่นลมสงบและมีความลึกของทะเลไม่มากนักมีเพียง 22 ลำทั่วโลกเท่านั้น จึงน่าจะได้ผลตอบแทนคุ้มค่าการลงทุนภายในไม่เกิน 6 ปี ขณะนี้เรือทั้ง 2 ลำ มีลูกค้าเช่าไปจนถึงไตรมาส 4 ของปี 2552 แล้ว โดยอัตราค่าเช่าเรือดังกล่าวในปัจจุบันอยู่ในช่วงวันละ 40,000-44,000 เหรียญ และจะเพิ่มขึ้นเป็นวันละ 55,000 เหรียญในปี 2552

ผลการดำเนินงานของเมอร์เมดฯ ในงวดไตรมาส 2 สร้างส่วนแบ่งรายได้ให้กับโทรีเซนไทยฯ 607 ล้านบาทและมีส่วนแบ่งกำไรสุทธิ 83 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดไตรมาสแรกที่มีส่วนแบ่ง 341 ล้านบาท และ 52 ล้านบาทตามลำดับ และคาดการณ์ว่ายอดรายได้รวมของเมอร์เมดฯ ในปีนี้จะมีถึง 3,000 ล้านบาท

"ปีหน้าเมอร์เมดฯ จะมี growth ประมาณ 20% และคาดว่าในอีก 2-3 ปีข้างหน้าสัดส่วนรายได้ จากเมอร์เมดฯ จะเพิ่มขึ้นเป็น 30% ของรายได้ทั้งหมด" นุชกล่าว

นอกจากเมอร์เมดฯ แล้ว โทรีเซนไทยฯ ยังให้ความสำคัญกับธุรกิจต่อเนื่องจากการขนส่งทางเรือเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจขนถ่ายสินค้าและลอจิสติกส์ ซึ่งขณะนี้มีโกดังให้เช่าอยู่ที่แหลมฉบัง ชลบุรี ซึ่งกำลังหาพื้นที่ก่อสร้างโกดังเพิ่มขึ้น รวมทั้งยังให้ความสนใจในธุรกิจศูนย์กระจายสินค้า (Distribution Center) อีกด้วย

สำหรับธุรกิจเดินเรือซึ่งเป็นธุรกิจหลักนั้น ผู้บริหารโทรีเซนไทยฯ เชื่อว่า อัตราค่าระวางในปีนี้ได้มาถึงจุดต่ำสุดแล้ว โดยช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ค่าระวางเฉลี่ยวันละ 11,000 เหรียญ และในไตรมาส 3 น่าจะเพิ่มขึ้นอีกวันละ 200-300 เหรียญ ซึ่งเป็นเรื่องปกติของธุรกิจ เพราะไตรมาส 3 และ 4 ถือเป็นช่วงที่ตลาดมีความต้องการสูง

กลยุทธ์สำคัญประการหนึ่งในการบริหารกองเรือของโทรีเซนไทยฯ คือ การแบ่งเรือออกให้บริการ 3 ลักษณะในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน ได้แก่ การให้บริการแบบประจำเส้นทาง (Liner Service) การเช่าเหมาลำเป็นเที่ยว (Voyage Charter) และการให้เช่าเหมาเป็นระยะเวลา (Time Charter) โดยขณะนี้มีลูกค้าในส่วนของประจำเส้นทางคิดเป็นสัดส่วน 35-40% และการเช่าเหมาเป็นระยะเวลาอีก 42%

"การที่เราแบ่งสัดส่วนอย่างนี้ เวลาที่ค่าระวางตกเราก็ยังมีฐานลูกค้า liner อยู่กับเราอย่างน้อย 500-600 ล้านบาท ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นก็ไม่กระทบมาก เพราะลูกค้า 42% ที่เป็นการเช่า time charter ลูกค้าเป็นคนจ่ายค่าน้ำมันเอง"

ปัจจุบันกองเรือของโทรีเซนไทยฯ มีจำนวน 46 ลำ คิดเป็นระวางบรรทุกสินค้า กว่า 1.2 ล้านเดทเวทตัน มีอายุเฉลี่ยประมาณ 17 ปี คาดว่าในปีหน้าจะต้องซื้อเรือมาทดแทนที่ขายไปคิดเป็นขนาดระวาง 60,000 เดทเวทตัน


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.