ภารกิจแรกของอภินันทน์ สุมนะเศรณี

โดย น้ำค้าง ไชยพุฒ
นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

แม้การบินไทยเพิ่งจะได้เรืออากาศโทอภินันทน์ สุมนะเศรณี มานั่งเก้าอี้กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ หรือดีดี คนที่ 14 เป็นที่เรียบร้อย เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา แต่ปัญหาที่หมักหมมอยู่ในองค์กรแห่งนี้ก็ยังคงอยู่

หลังงานแถลงข่าวและพิธีเซ็นสัญญาจ้างเรืออากาศโทอภินันทน์ สุมนะเศรณี ให้เป็นกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ หรือดีดี ของบริษัทการบินไทย เสร็จเรียบร้อย เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2549 ท่ามกลางสักขีพยานเต็มห้อง โดยเฉพาะทายาทของผู้ก่อตั้งสายการบินไทย

อภินันทน์ ดีดีคนใหม่ ก็เริ่มงานแรกด้วยการเป็นประธานงานเปิดภาพเขียน ผู้ก่อตั้ง "การบินไทย" ซึ่งจัดแสดงไว้บริเวณโถงชั้น 1 ของอาคารสำนักงานใหญ่ พร้อมกับทายาทผู้ก่อตั้งที่เดินทางมาร่วมงานด้วยตลอดทั้งวัน ก่อนเริ่มออกงานอื่นๆ อีกหลายครั้งในวันต่อมา

อภินันทน์ในวัย 57 ปี ดำรงตำแหน่งรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายปฏิบัติการเป็นตำแหน่งสุดท้าย ก่อนได้รับเลือกให้เป็นดีดีคนล่าสุด หลังจบการศึกษาจากโรงเรียนนายเรืออากาศ ก็เริ่มเข้าปฏิบัติงานกับการบินไทยในตำแหน่งนักบินที่ 3 เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2518 จนถึงปัจจุบันก็ย่างเข้าสู่ปีที่ 31 แล้ว

ความที่เป็นลูกหม้อของการบินไทยมากว่า 30 ปี และคลุกคลีในฐานะกัปตันของสายการบินไทยมายาวนาน ตลอดจนแสดงวิสัยทัศน์ต่อคณะกรรมการสรรหาแบบที่เขาบอกว่า "เข้าตา" ทั้งกรรมการและนายกรัฐมนตรี ณ เวลานั้น ทำให้คะแนนของเขาเข้าวิน และชนะใจจนได้เลือกเป็นดีดีในที่สุด

หากนับจำนวนดีดีการบินไทยทั้งสิ้น 14 คน และ 5 คนในบรรดาดีดีที่ได้รับตำแหน่งหลังจากที่การบินไทยปลดแอกจากกองทัพอากาศ มาดำเนินการในฐานะ รัฐวิสาหกิจที่มีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ จนกลายเป็นบริษัทมหาชนจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย อภินันทน์ถือว่าเป็นดีดีคนเดียวของการบินไทยที่มาจากคนในสายนักบินโดยตรง ตั้งแต่ร้อยตำรวจโทฉัตรชัย บุญยะอนันต์ นักเรียนเก่าอังกฤษที่เติบโตมาจากบริติช แอร์เวย์ จนกระทั่งได้รับการแต่งตั้งเป็นดีดีการบินไทยคนแรกในยุคที่การบริหารงานในการบินไทย พ้นมือของกองทัพอากาศ ที่เต็มไปด้วยประสบการณ์ด้านการตลาดการบินอย่างหาตัวจับยากคนหนึ่งของไทย

ตามมาด้วยธรรมนูญ หวั่งหลี ลูกหม้อของการบินไทยคนแรกที่สามารถไต่เต้าขึ้นไปถึงตำแหน่งระดับผู้บริหารสูงสุด โดยเข้ามารับตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ต่อจากฉัตรชัย บุญยะอนันต์ เมื่อปลายปี 2536 แต่เขาผู้นี้เติบโตมาจากสายการเงินและบัญชีมาตลอดระยะเวลากว่า 30 ปีก่อนได้รับตำแหน่งดีดีในที่สุด

จนถึงยุคพิสิฐ กุศลาไสยานนท์ ที่โตมาจากตำแหน่ง สายวางแผน ก่อนถูกปลดระวางให้นักการตลาดอย่างกนก อภิรดี มานั่งเก้าอี้ดีดีการบินไทยแทน และเป็นดีดีการบินไทยคนแรกที่มาจากคนนอก

ด้วยความที่เป็นคนในเป็นกัปตัน และทำงานคลุกคลีอยู่กับเส้นทางการบินมาตลอดระยะเวลาหลายสิบปี จนเชื่อได้ว่า เขาน่าจะเป็นคนที่รู้ซึ้งถึงปัญหาที่อยู่ลึกๆ ของการบินไทยได้ดีไม่แพ้คนอื่น โดยเฉพาะหากมองในฐานะพนักงานการบินไทยเอง

ขณะที่มุมมองทางการตลาดที่แฝงอยู่ในตัวของอภินันทน์ถึงขนาดที่สมใจนึก เองตระกูล ประธานกรรมการบริหาร ออกปากว่า

"มีคนนอกเข้ามาก็ fail บ้างเหมือนกัน ดังนั้นผมมีความมั่นใจว่าคนในอย่างกัปตันอภินันทน์ไม่ใช่เป็นเพียงแค่นักบินที่ดีเท่านั้น แต่ยังมี marketing mind set ที่ดีด้วย น่าจะนำมา daily operation ผ่านไปได้"

อภินันทน์จึงเป็นความหวังใหม่ของทั้งบอร์ดและพนักงานการบินไทยที่รอคอยการแก้ไขปัญหาที่สั่งสมมานานในการบินไทย ไม่น้อยในเวลานี้

ตามธรรมเนียมของผู้บริหารใหม่ของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นบริษัทที่ถูกจัดอันดับให้อยู่ใน SET 100 และ SET 50 คือการออกไปพบปะกับนักลงทุนทั้งภายในและต่างประเทศ เพื่อแสดงวิสัยทัศน์และสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนเหล่านั้น

แต่สำหรับอภินันทน์ โจทย์แรกของเขาหลังจากที่เข้ารับตำแหน่งไม่ต่างอะไรกับการเข้ามาปัดกวาดบ้านที่รกรุงรังอยู่

"ผมได้เปรียบคนอื่นตรงที่รู้ว่าจุดไหนเป็นจุดด้อย จุดไหนเป็นจุดแข็ง ดังนั้นผมจะทำงานได้ง่ายกว่า ผมก็แก้จุดด้อยและเสริมจุดแข็ง ซึ่งผมเองได้กล่าวเอาไว้ในการแสดงวิสัยทัศน์ว่า ผมจะสร้างความมั่นคงให้กับสายการบิน ในธรรมชาติลึกๆ แล้วคนที่มีความรู้เกี่ยวกับอุตสาหกรรมการบิน ผมเชื่อว่าสิ่งนี้จะเป็นสิ่งแรกที่เขาจะต้องทำ ไม่ใช่เรื่องการบริการที่ดีเพียงอย่างเดียว หรือการบินไปทุกเส้นทางและแม้แต่การมีเครื่องบินที่ดีที่สุดเพียงเท่านั้น" เขากล่าวกับ "ผู้จัดการ" หลังเข้ารับตำแหน่งใหม่ได้ไม่ถึงเดือน

โจทย์เรื่องข้อด้อยของสายการบินแห่งชาติแห่งนี้ อภินันทน์ว่าคงหนีไม่พ้นเรื่องโครงสร้าง ด้วยความที่เป็นรัฐวิสาหกิจ โครงสร้างการบริหารที่ติดขัดอยู่กับระเบียบราชการ การจะผ่านเรื่องใดๆ แต่ละครั้ง มักต้องใช้คนเซ็นชื่อกำกับยาวนับสิบชื่อ ส่งผลถึงความล่าช้าในการทำงานและการตัดสินใจ อย่างชัดเจน อาทิ การจัดตารางการบิน เปลี่ยนแปลงเส้นทางการบินต้องได้รับการแก้ไขให้ตรงกับความต้องการและทันท่วงทีกับสถานการณ์

เขายอมรับว่าระบบรัฐวิสาหกิจนั้นไม่สามารถรื้อ หรือทำการ re-engineering ระบบย่อมทำไม่ได้ หนำซ้ำอาจจะก่อให้ปัญหาเกิดความซับซ้อนและยุ่งยากกว่าเดิม

ผลงานแรกของอภินันทน์ในความพยายามแก้ไขปัญหาเรื่องโครงสร้างที่ทับซ้อนและยุ่งยากจนตัดสินใจดำเนินธุรกิจล่าช้าที่เห็นชัดเจนมากที่สุดในวันนี้คือ การพยายามให้อำนาจการตัดสินใจแก่ BU (Business Unit) นั้นโดยตรง และลดโครงสร้างในการตัดสินใจไม่ให้ซับซ้อน โดยการยุบและรวมบางหน่วยงานเพื่อให้เกิดความเหมาะสมกับสถานการณ์ และเกิดอำนาจการตัดสินใจที่รวดเร็ว

อภินันทน์ยังเข้าไปแก้ที่หัว เพื่อให้หางไม่ส่าย ด้วยการเข้าไปพูดคุยกับผู้บริหารระดับสูงเพื่อให้เกิดบทบาทในการทำงานที่เปลี่ยนไปจากเดิม

"COO หรือ Chef Operation Officer ซึ่งในปัจจุบันการบินไทยเรียกว่า DO หรือรองกรรมการผู้อำนวย การใหญ่ ฝ่ายปฏิบัติการ ผมเองไม่อยากจะเรียก DO เพราะผมต้องการเปลี่ยนจากการทำงานแค่ Job description มาเป็นการเรียก COO ซึ่งกลายเป็นทำงานตามบทบาท ซึ่งจะครอบคลุมเนื้อหาการทำงานได้มากกว่าเดิมเหมือนกัน ผมเองก่อนหน้านี้เป็น DD ตอนนี้ไม่ใช่ บทบาทผมคือ CEO เช่นเดียวกันกับ CFO และ CMO ซึ่งหากให้บทบาทกับแต่ละคนแล้ว ก็ทำให้การทำงานง่าย ถือเป็นการแก้ที่หัว" อภินันทน์บอก

"ต้องรุก ฉับพลัน เด็ดขาด" คือนโยบายและยุทธศาสตร์ของการบินไทยในแนวความคิดของดีดีคนใหม่ และเป็นที่มาของแนวความคิดในการแก้ไขปัญหาความไม่แน่นอนในเรื่องการใช้สนามบินแห่งใหม่ และการใช้สนามบินดอนเมืองควบคู่กันไป ซึ่งอาจจะมีความเป็นไปได้ด้วยในเวลาเดียวกัน

อภินันทน์เป็นเจ้าของความคิดในการเปิดตัวสายการบินใหม่เพื่อทำธุรกิจการบินในประเทศและประเทศใกล้เคียง ในชื่อสายการบินเอื้องหลวง เพื่อลดปัญหาการแบกรับภาระค่าใช้จ่ายจากการเช่าพื้นที่สนามบินสุวรรณภูมิให้กับเครื่องบินที่ต้องบินในประเทศ ซึ่งมีต้นทุนสูงกว่าสนามบินดอนเมืองหลายเท่าตัวในกรณีที่รัฐประกาศให้สายการบินต้นทุนต่ำสามารถใช้สนามบินดอนเมืองไปพร้อมกับสายการบินสุวรรณภูมิ

เขาบอกว่า ไม่เพียงแต่ช่วยให้ค่าใช้จ่ายในการเช่าสนามบินลดลง แนวความคิดในการก่อตั้งสายการบินใหม่ซึ่งการบินไทยถือหุ้น 100 เปอร์เซ็นต์นี้ยังจะช่วยในเรื่องการแยกบัญชีและลดค่าใช้จ่ายระหว่างการบินในประเทศและต่างประเทศชัดเจน เพราะที่ผ่านมาการบินไทยต้องประสบปัญหาตัวเลขบัญชีของเส้นทางบินในประเทศซึ่งขาดทุนมักกลบตัวเลขบัญชีสวยๆ ของเส้นทางบินระหว่างประเทศเสียทุกครั้งไป

ทุกวันนี้อภินันทน์มีกองเอกสารบนโต๊ะคอยให้เซ็นและพิจารณานับร้อย ต้องออกงานแถลงข่าวเพื่อเปิดตัวและการบินไทยไปในเวลาเดียวกัน ขณะที่เขายอมรับว่าแทบไม่มีเวลาเดินทางไปพบปะคู่ค้าหรือไปต่างประเทศเพื่อดูงานอะไรมากนัก นอกจากการอยู่กับที่ทำงาน เพราะภารกิจส่วนใหญ่อยู่ที่การ "ปัดกวาดบ้าน" ให้สะอาดที่สุดเสียก่อน ซึ่งเขาก็ยอมรับว่าต้องใช้เวลากวาดนานทีเดียว


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.