The Generations

โดย ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์
นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

นอกจากจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญสำหรับการขยายตัวของเครือเซ็นทรัลแล้ว เซ็นทรัลเวิลด์ยังเป็นโครงการที่มีการผสมผสานผลงาน และแหล่งถ่ายทอดประสบการณ์ของคนในครอบครัว "จิราธิวัฒน์" ระหว่างรุ่นต่อรุ่น และระหว่างรุ่นที่ 2 สู่รุ่นที่ 3

"จิราธิวัฒน์" เป็นครอบครัวใหญ่ ปัจจุบันจำนวนสมาชิกในครอบครัวนี้มีรวมกันทั้งสิ้นกว่า 170 คน ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องวางระบบการจัดการเรื่องราวภายในครอบครัวอย่างเป็นระบบ โดยแยกเรื่องการวางกำลังคนเข้าไปสู่หน่วยธุรกิจต่างๆ ของเครือเซ็นทรัลทั้ง 5 กลุ่มออกจากกันโดยเด็ดขาด

เรื่องราวของครอบครัวให้อยู่ภายใต้การดูแลของ family counsil (อ่าน "จิราธิวัฒน์ รากฐานของตระกูลที่เป็นระบบ" นิตยสารผู้จัดการ ธันวาคม 2543 หรือ www.gotomanager.com ประกอบ)

ส่วนเรื่องงาน โดยภาพกว้างระดับนโยบายให้อยู่ภายใต้การดูแลของคณะกรรมการบริหาร (Executive Committee : Ex Com) ของเซ็นทรัล กรุ๊ป

ส่วนระดับล่างลงมา ให้อยู่ภายใต้การตัดสินใจของ CEO ของแต่ละกลุ่ม

แต่ที่ชัดเจน คือการวางกำลังคนในครอบครัวเพื่อลงยังตำแหน่งต่างๆ ให้ยึดจากความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ และผลงานเป็นหลัก ไม่ยึดติดกับรุ่น หรือว่าเป็นลูกของใคร หรือเคยมีแบ็กกราวน์อยู่ในกลุ่มธุรกิจไหนมาก่อน

คนที่มีความสามารถเข้าตา Ex Com อาจถูกโยกย้ายข้ามกลุ่ม เพื่อไปรับงานที่ตรงกับความสามารถของเขาหรือเธอมากกว่า

วัลยา จิราธิวัฒน์ เป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับกรณีนี้

วัลยา เป็น "จิราธิวัฒน์" รุ่น 2 ช่วงปลาย เธอเป็นบุตรีคนที่ 21 (ในจำนวนทั้งหมด 25 คน) ของเตียง ที่เกิดกับวิภา จิราธิวัฒน์

หลังเรียนจบปริญญาโท สาขาบริหารธุรกิจ จากมหาวิทยาลัยฮาร์ทฟอร์ด สหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2528 เธอเริ่มงานกับกลุ่มค้าปลีก (CRC) และทำงานอยู่ในกลุ่มนี้มาตลอด จนถึงสิ้นปี 2547 จึงค่อยย้ายมาอยู่ CPN

"วันที่เรียนจบ พี่สัมฤทธิ์บอกเลยให้รีบกลับบ้าน เรียนจบวันนี้ พรุ่งนี้ก็รีบแพ็กกระเป๋ากลับบ้านแล้ว มาถึงเมืองไทย วันรุ่งขึ้นก็ออกไปทำงานต่อเลย ไม่ได้พักร้อนเลย เด็กสมัยนี้จะได้อย่างน้อย 1 เดือน แต่ของเรา วันนี้เรียนจบ พรุ่งนี้กลับบ้าน วันรุ่งขึ้นทำงาน เพราะตอนนั้นคนไม่มี คนน้อยมาก" เธอบอก

บุคลิกของวัลยาเป็นคนชอบงานท้าทาย ตอนอยู่กับกลุ่มค้าปลีกเธอเป็นคนดูแลกิจการซูเปอร์มาร์เก็ต จนในภายหลังได้แยกตัวออกมาเป็นอีก 1 หน่วยธุรกิจ คือ Tops

แต่ผลงานที่โดดเด่นและเข้าตา Ex Com มากที่สุดคือตอนที่เธอผลักดันโครงการ เซ็นทรัล เฟสติวัล ที่จังหวัดภูเก็ต ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเธอเป็นคนดูแลโครงการนี้ตั้งแต่เริ่มต้นจนจบ และเปิดให้บริการได้ในเดือนกันยายน 2547

จุดสำคัญของโครงการนี้คือเป็นการลงทุนสร้างศูนย์การค้าด้วยตนเองครั้งแรกของ CRC เพราะขณะนั้น CPN ซึ่งน่าจะเป็นหลักกำลังวุ่นวายอยู่กับโครงการเซ็นทรัลเวิลด์ จนไม่มีเวลาและกำลังคนเพียงพอที่จะแบ่งไปดูแลโครงการนี้

ความสำเร็จของโครงการเซ็นทรัล เฟสติวัล ภูเก็ต ทำให้ Ex Com ตัดสินใจดึงเธอให้ย้ายกลุ่มจาก CRC มาอยู่ CPN ในตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่รับผิดชอบโครงการเซ็นทรัลเวิลด์โดยเฉพาะ

"เสร็จจากที่ภูเก็ต ทางผู้ใหญ่ก็เลยขอตัวมา ขอให้ย้ายบริษัทจาก CRC มาอยู่ CPN เราก็ยินดี ก็ดีใจว่าผู้ใหญ่เห็นถึงความสามารถ และความตั้งใจของเรา และคงจะพอใจในผลงานที่เราทำมา"

ทุกวันนี้วัลยาเข้ามาช่วยงานสุทธิเดชในการจัดการให้การก่อสร้างโครงการเซ็นทรัลเวิลด์ ตลอดจนการตกแต่ง วางแผนผังร้านค้า เป็นไปตามคอนเซ็ปต์ที่ได้ถูกวางเอาไว้ตั้งแต่ต้น

กรณีของวัลยาอาจตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิงกับกรณีของชาติ จิราธิวัฒน์ บุตรชายคนโตของสุทธิชาติ รองประธานเครือเซ็นทรัล

เพราะขั้นตอนการเข้ามาทำงานใน CPN ของชาติ ไม่แตกต่างจากการสมัครงานของคนทั่วไปที่ต้องเขียนใบสมัคร กรอกรายละเอียดประวัติการศึกษา การทำงาน ผ่านการสอบสัมภาษณ์ ซึ่งเขาต้องเล่าแนวคิด ว่ามีแนวทางการทำงานอย่างไรกับตำแหน่งงานที่สมัคร โดยมีกอบชัย และคณะกรรมการสอบเป็นผู้สัมภาษณ์

พื้นฐานการศึกษาปริญญาตรีด้านการตลาด จาก Trinity College และปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจจาก INSEAD ตลอดจนประสบการณ์ในฐานะผู้จัดการฝ่ายการตลาดของ Marks & Spencer ในกลุ่ม CRC และผู้จัดการผลิตภัณฑ์แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ของ CMG ทำให้คนนอกหลายคนอาจมองว่า เขาไม่จำเป็นต้องผ่านขั้นตอนเหล่านี้ก็ได้

แต่เขาก็จำเป็นต้องผ่าน

งานหลักของชาติในโครงการเซ็นทรัลเวิลด์วันนี้ คือการชักชวนให้เจ้าของสินค้าแบรนด์ดังต่างๆ ซึ่งเป็นที่นิยมของชาวต่างชาติ ทั้งสินค้าแฟชั่นและอาหาร แต่ยังไม่เคยมีสาขาในประเทศไทย ให้มาเปิดสาขาในศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์เป็นแห่งแรก

ซึ่งถือเป็นภารกิจสำคัญ เพราะแบรนด์เหล่านี้ถือเป็นจุดขายหลักของโครงการเซ็นทรัลเวิลด์อีกจุดหนึ่ง สำหรับใช้ในการก้าวกระโดดออกไปเป็น International Player ของเครือเซ็นทรัลในต่างประเทศ

ณ วันนี้ในจำนวนพนักงานที่มีอยู่กว่า 1,600 คน ใน CPN เป็นคนในตระกูล "จิราธิวัฒน์" เพียง 8 คนเท่านั้น (รายละเอียด ดู "จิราธิวัฒน์" ที่อยู่ใน CPN ประกอบ)

แม้ว่าระบบการจัดวางสับเปลี่ยนกำลังคน ซึ่งมี Ex Com และ CEO ของกลุ่มคอยดูแล แต่กระบวนการถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ของคนจากรุ่นสู่รุ่น รูปแบบการถ่ายทอดผ่านการทำงานจริง ยังถือเป็นสูตรสำเร็จของคนในครอบครัวนี้ ที่ใช้กันมาตั้งแต่ยุคเริ่มต้น

หากนับจากยุคที่เตียง จิราธิวัฒน์ เริ่มต้นสร้างกิจการ โดยมีสัมฤทธิ์ วันชัย และสุทธิพร ลูกชาย 3 คนแรก เป็นเรี่ยวแรงหลัก สัมฤทธิ์ วันชัย และสุทธิพร คือผู้ที่ต้องถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ต่อไปยังน้องๆ อย่างสุทธิเกียรติ สุทธิชาติ หรือสุทธิธรรม

เมื่อเข้าสู่ยุคของการขยายตัว สุทธิชาติคือผู้ถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ทางด้านค้าปลีกให้กับทศ ขณะที่สุทธิธรรมถ่ายทอดความรู้ประสบการณ์เรื่องศูนย์การค้าลงมาสู่สุทธิเดช และกอบชัย ส่วนสุทธิชัย (บุตรชายคนโตของเตียงกับบุญศรี) ที่ถ่ายทอดประสบการณ์ด้านการเงิน ให้กับปริญญ์ (ลูกชายของสัมฤทธิ์ พี่ชายของทศ ซึ่งปัจจุบันเป็น CFO ให้กับเครือเซ็นทรัล)

มาถึงในยุคนี้ ซึ่ง CPN กำลังดำรงบทบาทสำคัญในการเป็นหัวหอกของการขยายตัวของเครือเซ็นทรัล โดยเฉพาะการออกไปสู่ต่างประเทศ สุทธิเดชก็กำลังทำหน้าที่ถ่ายทอดประสบการณ์ในการวางคอนเซ็ปต์ศูนย์การค้า และดูแลการก่อสร้างให้เป็นไปตามคอนเซ็ปต์ที่วางไว้ให้กับน้องอย่างวัลยา และหลานคือชนวัฒน์ เอื้อวัฒนะสกุล (ลูกชายของมุกดา (จิราธิวัฒน์ และเสรี เอื้อวัฒนะสกุล) รวมถึงอิศเรส (ลูกชายของสุทธิศักดิ์) และสรรคนนท์ ลูกชายของเขาเองที่กำลังจะเข้ามาทำงานในฝ่าย Business Development ในอีกไม่ถึง 2 เดือน ข้างหน้า

ฝ่ายนี้นับว่าเป็นฝ่ายที่น่าจับตา เพราะนอกจากจะเป็นผู้คุมคอนเซ็ปต์ของศูนย์การค้าที่จะเกิดขึ้นใหม่ต่อไปในอนาคตแล้ว พื้นฐานการศึกษาของผู้บริหารจากครอบครัว "จิราธิวัฒน์" ที่เข้ามาอยู่ในฝ่ายนี้ก็หลากหลายและตรงกับสายงานมากที่สุด

โดยชนวัฒน์ถือเป็นคนในครอบครัวจิราธิวัฒน์คนที่ 2 ที่มีพื้นฐานการศึกษามาทางด้านวิศวกรรม (อีกคนหนึ่งคือ พงศ์ ศกุนตนาค ลูกชายของลิดา (จิราธิวัฒน์) กับพิชัย ศกุนตนาค ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ซีอาร์ซี เพาเวอร์ รีเทล ที่ดูแลห้าง Home Work ของกลุ่มค้าปลีก)

สรรคนนท์ที่กำลังจะเข้ามาใหม่ก็เป็นสถาปนิก ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญในการออกแบบก่อสร้างศูนย์การค้าในอนาคต

ขณะที่สุทธิภัคกำลังถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ทางด้านการขายให้กับชาติ

ปริญญ์ในฐานะกรรมการบริหาร-การเงินของ CPN อีกตำแหน่งหนึ่งก็กำลังถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ให้กับไท (น้องของชาติ) และน่าจะเป็นประสบการณ์ที่เข้มข้น เพราะ CPN เป็นบริษัทเดียวในเครือที่ต้องอาศัยวิศวกรรมทางการเงินสูงที่สุด

กระบวนการเชื่อมต่อ knowhow ระหว่าง Generations จึงเป็นจิ๊กซอว์สำคัญ สำหรับการขยายตัวของเครือเซ็นทรัลในยุคที่ 3 คือการก้าวกระโดดออกไปสู่ต่างประเทศ ที่กำลังจะมาถึงในอีกไม่นานนี้


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.